ศิลปะแห่งการลองผิดลองถูกของ 2 หัวหอกแห่งการทำแอนิเมชั่นไทยแท้ เรื่อง ๙ ศาสตรา

ศิลปะแห่งการลองผิดลองถูกของ 2 หัวหอกแห่งการทำแอนิเมชั่นไทยแท้ เรื่อง ๙ ศาสตรา

ศิลปะแห่งการลองผิดลองถูกของ 2 หัวหอกแห่งการทำแอนิเมชั่นไทยแท้ เรื่อง ๙ ศาสตรา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปฐมบทของภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง ๙ ศาสตรา เริ่มต้นขึ้นง่ายๆ เมื่อเพื่อนกลุ่มหนึ่งที่ล้วนแล้วแต่เป็นคนรักหนังกันทั้งก๊วน อยากลงขันกันทำแอนิเมชั่นดีๆ สักเรื่องไว้ประดับเมืองไทย โดยสมาชิก 2 คน อย่าง เหว่ง – ภูศณัฏฐ์ การุณวงศ์วัฒน์ และณัฐ ยศวัฒนานนท์ เป็นเจ้าของ Igloo Studio ที่ถนัดงานด้านแอนิเมชั่นอยู่แล้ว เพื่อนๆ จึงลงขันกันโดยตั้งงบเริ่มต้นไว้ที่ 30 ล้านบาท ระดมสรรพกำลังทั้งสมองและแรงงานตามประสาคนไม่มีความรู้ด้านการทำหนัง และมีประสบการณ์ทำภาพยนตร์เป็นศูนย์ จะว่าอาศัยลูกบ้าล้วนๆ ก็คงใช่ ที่ทำให้ทุกคนไว้ใจซึ่งกันและกัน ยอมทุ่นทุนสร้างจนตัวเลขเงินลงทุนบานปลายไปจบที่ 230 ล้านบาท และทีมงานที่เริ่มต้นเพียงหนึ่งหยิบมือ ก็งอกเงยขึ้นเป็น 200 กว่าชีวิต กว่าจะได้มาซึ่งผลผลิตในชื่อ ๙ ศาสตรา เรื่องราวของเด็กหนุ่มธรรมดา ที่ฝึกปรือวิชามวยไทย เพื่อนำไปต่อกอบกู้อาณาจักรคืนมาจากราชันย์แห่งยักษา โดยเดินทางไปกับผองเพื่อนร่วมชะตากรรม ที่เต็มไปด้วยความสนุก ดราม่า และผจญภัยครบรส

ณัฐ ยศวัฒนานนท์, กันย์ พันธุ์สุวรรณ, อภิเษก วงศ์วสุ และภูศณัฏฐ์ การุณวงศ์วัฒน์

พล็อตสุดแฟนตาซีที่แทรกไว้ด้วยกลิ่นอายแบบไทยในมาตรฐานอินเตอร์เต็มพิกัด สื่อไว้ซึ่งใจความหลักที่ว่า “ปาฏิหาริย์ก่อเกิดจากศรัทธา” ซึ่งตรงกับเรื่องราวการเดินทางตลอด 4 ปีของทีมงานสร้างภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนี้เป็นที่สุด พิสูจน์ได้จากบทสนทนาของ เปา – อภิเษก วงศ์วสุ และ กันย์ พันธุ์สุวรรณ รั้งตำแหน่งโปรดิวเซอร์และผู้กำกับ ตามลำดับ ที่เอาเข้าจริงแล้ว พวกเขาต่างก็แบ่งงานกันทำอย่างเท่าเทียม เพื่อให้ผลลัพธ์ของหยาดเหงื่อแรงใจออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด

ตลอด 4 ปี ที่พวกคุณทุ่มเททำหนังแอนิเมชั่นเรื่องนี้ เป็นการทำงานด้วยความรู้สึกแบบไหน

เปา – โดยส่วนตัวผมรู้สึกตลอดเวลาว่าของเราดี มั่นใจ ขายได้แน่ แต่คนไทยจะเปิดใจยอมรับมากขนาดไหน อันนี้เราบอกไม่ได้ เราไม่รู้ ขึ้นอยู่กับเขา แต่สำหรับเรา เราทำดีที่สุดแล้ว สมบูรณ์ที่สุด เพราะเราใส่ทุกอย่าง ทั้งบทภาพยนตร์ที่ให้ไรอัน ฮิลล์ Script Doctor มืออาชีพมาช่วยปรับให้กระชับและมีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น สกอร์ในหนังก็ได้คอมโพสเซอร์ระดับโลกอย่าง ไรอัน ชอร์ (คอมโพสเซอร์ซีรีส์ชุด Star Wars Forces of Destiny) มาแต่งเพลงให้ตั้งแต่ต้นจนจบ

กันย์ – ผมไม่ได้จะบอกว่ามั่นใจหรือเปล่า แต่เราพยายามทำให้ดีและสมบูรณ์ที่สุด ผลลัพธ์ของฝั่งเราที่ออกมามันดีแล้ว เป็นหนังที่สนุก เอนเตอร์เทน ทุกคนดูได้ตั้งแต่เด็ก 5 ขวบขึ้นไป ผู้ใหญ่ก็ดูได้ แต่ตอนนี้ต้องรอดูผลลัพธ์ว่าทุกคนจะให้โอกาสพวกเราในการยอมใช้เวลากับหนังเรื่องนี้สัก 2 ชั่วโมงไหม เพื่อดูว่าเราได้ทุ่มเทขนาดไหน

เปา - อภิเษก วงศ์วสุ

ทำไมต้องมีผู้กำกับถึง 3 คน

กันย์ - จริงๆ แล้วทุกคนใน Exformat Films เป็นผู้กำกับทั้งหมด 3 คนนี้เป็นแค่ตัวแทน ด้วยความที่เราไม่เคยทำหนังกันมาก่อน เราเลยไม่ได้มีมุมมองว่าการให้เครดิตท้ายเรื่องต้องเป็นคนนั้นคนนี้ เราทำทุกอย่างด้วยกัน นั่งคุยกันทุกรายละเอียดว่าฉากนี้เอาไหม ตรงนี้ดีหรือยัง ฉากนี้ควรจะมีเพลงแบบนี้ ตรงนี้ควรจะเศร้า คุยกันแล้วโหวตว่าไดเรกชั่นของหนังจะเป็นยังไงดี ดังนั้น ทุกคนจึงเป็นทั้งผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ และเอ็กเซกคิวทีฟโปรดิวเซอร์

เปา - ทางทีมน้องๆ ใน อิกลู สตูดิโอ จะมีเวลา 1 อาทิตย์ในการพัฒนาชิ้นงาน แล้วทุกวันศุกร์เราจะมาคุยกัน เรามีนัดเจอกันทุกวันศุกร์ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มโปรเจคท์นี้ มาตลอด 5 ปี เพื่อมานั่งดูกันว่าฉากนี้ต้องเป็นแบบนี้ ตัดแบบนี้ไม่ได้ ภาพต้องเล่าเรื่องแบบนี้ คุยกันว่าอะไรเอาหรือไม่เอา

กันย์ – ด้วยความที่เราไม่เคยทำหนังกันมาก่อน บางครั้งผมก็จะไปคุยกับพี่ณัฐเรื่องบท ส่วนพี่เปาก็จะไปดูเรื่องของเพลง พี่เปิ้ล (ศิโรตม์ เสตะพันธุ) ดูเรื่องงบประมาณกับพี่เหว่ง กระจายงานกันทำ ในรูปแบบของทีมที่เป็นยูนิทเดียวกัน

เปา – ทีมเราไม่มีฟอร์แมท ไม่เหมือนคนอื่นที่ผู้กำกับต้องทำหน้าที่นี้ โปรดิวเซอร์ต้องทำหน้าที่นี้ แต่ทุกคนช่วยกันทำทุกหน้าที่ เรามีสิทธิ์มีเสียงทุกอย่าง

กันย์ กับไรอัน ชอร์

กันย์ - อย่างเช่นเรื่องของดนตรีประกอบ ตอนแรกพี่ไก่ (สุธี แสงเสรีชน) บอกว่ามิวสิคสกอร์ควรใช้ไลฟ์ออเคสตร้า 60 นาทีก็พอ แต่พอผมไปคุยกับ ไรอัน ชอร์ เขาบอกว่าแอนิเมชั่นมันเริ่มต้นมาจากมิวสิคัล จึงต้องมีเพลงประกอบทั้งเรื่อง หน้าที่ของผมจึงเป็นการไปคุยกับทุกคนว่า เราต้องอัดไลฟ์ออเคสตร้ากันทั้งเรื่อง เพราะเหตุผลเป็นแบบนี้ๆ ผู้ใหญ่เองเขามีประสบการณ์กันเยอะมาก และมีไอเดียของตัวเอง เราจึงต้องหาวิธีมาเจอกันตรงกลางให้ได้ ผมก็ต้องช่วยฝั่งสตูดิโอด้วย อย่างฉากที่พระเอกต้องเล่นไคท์เซิร์ฟบนน้ำทะเล เราก็ต้องเพิ่มเงินอีกล้านนึง ต้องซื้อโปรแกรมเพิ่ม และในการเรนเดอร์จังหวะนึงต้องใช้เวลา 3 วัน เราก็ต้องหาคนอีกหนึ่งคนที่สามารถเรนเดอร์ตรงนี้ได้ ซึ่งทีมเราไม่มี เมื่อรีครูทคนมาทำงานเพิ่ม เงินเดือนก็ต้องเพิ่มตามไปด้วย คราวนี้ผู้ใหญ่เขาไม่เข้าใจหรอกครับว่า ลงเงินไปตั้งล้านกว่าบาท ทำไม 1 อาทิตย์ถึงทำหนังได้แค่ 7 วินาที ในขณะที่ฝั่งสตูดิโอก็จะใช้ตรรกะการทำงานอีกแบบ ต่างฝ่ายต่างก็จะไม่เกตกัน ผมต้องพยายามพูดให้เขาเข้าใจกันและกัน ซึ่งตัวผมเองก็ต้องไปรีเสิร์ชมาเยอะพอสมควร โดยมี  Google กับ You Tube นี่แหละครับ ช่วยได้

หรืออย่างตัวที่แพงที่สุดกลับกลายเป็นนกอินทรี ที่ทีมงานต้องหยิบปีกไก่ขึ้นมาดูว่าข้อต่อและการทำงานของกระดูกแต่ละชิ้น เขาจะได้วางกระดูกในตัวนกได้ เรื่องของดีเทลเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องทำให้สมจริงที่สุด

เหล่านี้คือรายละเอียดที่พวกคุณไม่ปล่อยให้หลุดไปแน่ๆ

กันย์ - 2 ปีแรก เราทำหนังออกมาได้ 7 นาที และดูกันอยู่แต่ในจอเล็กๆ ตลอดเวลา จนตัดสินใจว่าต้องเช่าโรงพารากอน เพื่อดูว่าภาพแตกไหม เอฟเฟคท์ดีพอรึยัง ทำให้เราได้เห็นว่าควอลิตี้งานของเรายังดีไม่พอ เช่น ตอนเดินขาของตัวละครยังลอยอยู่นิดนึง เส้นผมยังล้ำเข้าไปในผิว ฉากฝนตกมีลมพายุ แต่กลับไม่มีน้ำสะท้อนในผิวเลย ก็ต้องกลับไปแก้กันใหม่ ช่วงที่เราเริ่มขยับควอลิตี้ของเราให้เท่ากับมาตรฐานที่ตั้งไว้ พี่เหว่งก็จะปวดหัวตรงนี้ เพราะต้องเพิ่มคน เพิ่มอุปกรณ์ เพิ่มเวลา และคุยกันว่าทำยังไงกันดี จาก 30 ล้านบาท ยอดเงินทุนทะลุไปถึง 230 ล้านบาทแล้ว

เงินเป็นสิ่งที่ทำให้เครียดแค่ไหน ถ้าเทียบกับความมั่นใจในการทำสิ่งที่รู้ว่าออกมาดีแน่นอน

 เปา – เอาเงินไปลงทุน ยังไงก็เครียดอยู่แล้ว เพราะเราไม่ได้กู้ และไม่ได้มีสปอนเซอร์ พอจะต้องลงเงินแต่ละทีก็ถามกันเอง เฮ้ย มีใครลงบ้าง ถามว่าเครียดไหม ก็เครียด แต่ไม่ได้ขนาดนั้น เพราะโปรเจคท์นี้เราทำด้วยกัน raise ไปด้วยกัน เพื่อนบางคนที่ลงเงินอาจจะไม่ได้ลงมาดูในแง่การทำงานด้วยตัวเอง แต่เราก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เขาอินเวสท์ลงไป

กันย์ – ถ้าเกิดเป็นคนอื่น เขาน่าจะแตกแยกกันไปนานแล้ว แต่เราอยู่ด้วยความรัก ทุกคนเป็นครอบครัว เป็นเพื่อนกัน ลงขันกันทำ ทุกวันที่เราอยู่ด้วยกันคือ ความสุข เหมือนซื้อเวลาเพื่ออยู่ด้วยกัน ถามว่ามีการทะเลาะกันไหม ไม่เคยมี หลังจากถกเถียงกันในที่ประชุมเสร็จก็กินข้าวเฮฮาปาร์ตี้ยิ้มแย้มกัน เราต่างรู้กันอยู่แล้วว่าแอนิเมชั่นเรื่องนี้เป็นไดรฟ์ของพวกเรา เวลาต้องเพิ่มเงินลงทุนจึงเหมือนกับว่า มาไกลกันขนาดนี้แล้ว อีกนิดนึง ทำให้มันดีเถอะน่า เราไม่มีทางปล่อยงานที่ไม่ดีออกไป หรือทำแค่ครึ่งๆ กลางๆ

งานนี้เหมือนเป็นการระดมคนเก่งทุกภาคส่วนมาช่วยกันทำงาน คิดว่าอะไรทำให้ทุกคนอยากมาช่วยงานพวกคุณ ที่ไม่เคยทำหนังกันมาก่อน

เปา – เรามีความเป็นเพื่อนกันมากกว่า เริ่มตั้งแต่ณัฐที่เพิ่งเขียนบทเป็นครั้งแรก ก็ชวนเพื่อน (ศุภกร เหรียญสุวรรณ มือเขียนบทแห่งค่ายเอ็กแซกท์) มาช่วยเขียนด้วย พอได้บทออกมา 12 chapter ก็เอาไปพี่โจ้ (ดารกา วงศ์ศิริ นักเขียนบทละครเวที เจ้าของบริษัท ดรีมบ็อกซ์ จำกัด) มาช่วยดูเรื่องแคสติ้ง พี่โจ้ก็แนะนำพี่ไก่ (สุธี แสงเสรีชน) มาเป็นมิวสิกไดเร็กเตอร์ ให้ อย่างนี้เป็นต้น

๙ ศาสตรา เหมือนเป็นจิ๊กซอที่คุณช่วยกันต่อไปเรื่อยๆ มีช่วงไหนที่ต้องล้มกระดาน แล้วเริ่มต่อใหม่เลยไหม

เปา - มันไปได้เรื่อยๆ แต่มีช่วงนึงที่เป็นจุดเปลี่ยนพอสมควร คือ ช่วงแรกๆ ที่เราได้ทีเซอร์สั้นๆ มาอันนึง เราก็เอาไปให้เพื่อนของกันย์ที่เป็นไดเรกเตอร์ที่เกาหลีดู เขาก็บอกว่าควอลิตี้มันดีไม่พอ บทก็ไม่ได้สนุกขนาดนั้น แต่เราก็ไม่ได้ท้อ ก็กลับมาปรับใหม่ นั่นคือจุดเปลี่ยนพอสมควร เราเปลี่ยนไดเรกชั่นของภาพจากที่ไม่ได้ละเอียดขนาดนี้ จนเป็นแบบนี้

กันย์ - มันจะมีแบบนี้เรื่อยๆ อย่างเราเอาหนังไปขายที่จีน เขาก็แนะนำว่าตัวเมนต้องเป็นคนจีน ทำให้เราต้องเปลี่ยนตัวนางเอกจากที่ตอนแรกเป็นชาวฮอลันดามาเป็นชาวจีน หรือทางโซนี่บอกหนังยาวเกินไป เราก็ตัดหนังให้สั้นลง มันมีจุดเปลี่ยนตลอดเวลา 

เปา - ด้วยความที่เราไม่รู้ เขาว่าอะไรดี แล้วเราเห็นว่าเมกเซนส์ เราก็ทำตาม แต่บางอย่างก็ไม่ อย่าง เรื่องคนพากย์ ในเชิงมาร์เกตติ้ง เขาบอกว่าต้องใช้ดาราพากย์สิ จะได้เป็นหน้าหนัง ตอนแรกเราก็เผลอคล้อยตามอยู่พักนึง หรือว่าแม่งจะจริงวะ อาจจะขายได้ ก็ไปติดต่อทาบทามดาราคนโน้นคนนี้ แต่ในที่สุดเราก็กลับมาที่นักแสดงดั้งเดิมของเราอย่าง ไต้ฝุ่น (กนกฉัตร มรรยาทอ่อน) ซึ่งเขาเริ่มกับเรามาตั้งแต่แรก และคาแร็กเตอร์ของอ๊อด ก็ถูกเขียนขึ้นจากตัวไต้ฝุ่น จึงมีความคล้ายกันมาก ทั้งการเป็นเด็กต่างจังหวัด และการพูดการจา

กันย์ - ตอนที่เราเลือกไต้ฝุ่น เขาเพิ่งเข้าวงการ ยังใหม่มาก เหมือนอ๊อดตอนเด็กๆ จนตอนนี้เขาอยู่ในวงการมาระดับนึง เราเห็นความเติบโตของเขาเหมือนในหนัง ยิ่งอยู่กับเขาบ่อยๆ ยิ่งคิดว่าเขาเหมือนอ๊อดไปเรื่อยๆ ตอนที่ดรีมบ็อกซ์เลือกนักแสดง เขาเลือกคนที่เข้ากับคาแร็กเตอร์ คนที่จะเล่นให้สมจริงที่สุด ไม่ได้เลือกคนที่คิดว่าจะได้เรตติ้งดี เราเลือกคนที่มีเวลาให้เรา เพราะเขาไม่ได้พากย์แค่วันเดียวจบ เขาต้องแสดงและพากย์อยู่กับเราตลอด 3 ปี วันนี้แสดง 2 ชั่วโมง ทีมงานไปแอนิเมท จากนั้นค่อยอัดเสียงพากย์ ถ้าปากไม่ซิงค์ก็ต้องกลับมาอัดใหม่ ด้วยความที่เป็นงานที่ต้องใช้เวลา เราไม่รู้ว่าคนอื่นจะช่วยเราได้มากขนาดนี้รึเปล่า

สมาชิกวงออเคสตร้าที่ร่วมบรรเลงเพลงให้ ๙ ศาสตรา

เวิร์ดดิ้งสำคัญในหนังที่บอกว่า ปาฏิหาริย์ก่อเกิดจากศรัทธา เหมือนมาจากพวกคุณทุกคน ที่ไม่ยอมล้มเลิกไปเสียก่อน

เปา – ส่วนปาฏิหาริย์จะเกิดขึ้นรึเปล่ามันก็อีกเรื่องนึง

อะไรคือปาฏิหาริย์สำหรับพวกคุณ

เปา – อย่างแรก ขอให้หนังคืนทุนก่อน อย่างที่สอง อยากให้คนไปดูเยอะๆ หนังเรื่องนี้น่าจะสร้างบรรทัดฐานใหม่ได้ ไม่ใช่แค่วงการภาพยนตร์ แต่สำหรับทุกวงการ ทั้ง Music Industry, Sound Effect, Animation แม้กระทั่งวิธีทำมาร์เกตติ้ง

กันย์ – ตอนนี้เราอยากให้อ๊อดกับเพื่อนๆ ใน ๙ ศาสตรา เป็น New Hero ของประเทศไทย ญี่ปุ่นหรืออเมริกามีฮีโร่ของตัวเอง แล้วทำไมที่ประเทศไทยจะมีบ้างไม่ได้ เราอยากให้คนเห็นว่าเมืองไทยก็ทำได้ ส่วนเรื่องเงิน ถ้าหนังเรื่องนี้ไม่ได้เงิน ไม่รู้ว่าใครจะกล้าทำอีกรึเปล่า และถ้าหนังเรื่องนี้ได้ทุนคืน มีกำไรนิดหน่อย ผมเชื่อว่านักลงทุนก็จะกล้ามาลงทุนในธุรกิจนี้มากขึ้น

ทำหนังอย่างที่อยากทำเสร็จสิ้นแล้ว ติดใจการทำหนังขึ้นมารึยัง

เปา - ตอนหลังมันไม่เกี่ยวกับเม็ดเงินที่เราจะได้แล้วนะ มันคือความท้าทาย มันคือการเอาชนะอะไรบางอย่าง ถ้าเกิดทุกอย่างเป็นไปอย่างที่เราคิดก็ถือว่าเราทำสำเร็จ

กันย์ - เราพยายามทำหนังเรื่องนี้ให้ดีที่สุด ได้ตังค์หรือไม่ได้ตังค์เป็นอีกเรื่องนึง เรารู้สึกว่าเราทำหนังให้สนุกที่สุดแล้ว ทำเสร็จแล้วตื่นเต้นไหม ตื่นเต้นเหมือนเล่นไพ่ เราเห็นไพ่ในมือ ลุ้นแค่ว่าเราป๊อกหรือเราจะเด้ง

เปา - มันหมือนเราเล่นดัมมี่มากกว่า เราถือไพ่อยู่ แล้วคาดเดาว่าอีกคนแม่งจะมีเปล่าวะ เราแม่งจะน็อกรึเปล่า

กันย์ - ฟีลลิ่งประมาณนั้นเลย เหมือนเราทำหนังมา 4-5 ปี แล้วมาลุ้นกันแค่ 2 อาทิตย์ หรือ 10 วันด้วยซ้ำ           

ถึงตอนนี้ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นเช่นไร Sanook เชื่อว่าคุณค่าของภาพยนตร์ที่ดีก็คือ การหยิบมาดูอีกกี่ครั้งก็จะยิ่งทรงคุณค่ามากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ซึ่ง ๙ ศาสตรา ประกอบด้วยคุณสมบัติที่ว่าอย่างครบถ้วนสมบูรณ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook