“อาร์ม วิบูลย์” ผมคิดว่าทีวีไม่มีวันตาย แต่ช่วงนี้มันอาจจะเจอสึนามิอยู่
Thailand Web Stat

“อาร์ม วิบูลย์” ผมคิดว่าทีวีไม่มีวันตาย แต่ช่วงนี้มันอาจจะเจอสึนามิอยู่

“อาร์ม วิบูลย์” ผมคิดว่าทีวีไม่มีวันตาย แต่ช่วงนี้มันอาจจะเจอสึนามิอยู่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุยกับผู้บริหาร Search Entertainment  “อาร์ม วิบูลย์ ลีรัตนขจร” ผู้ชายที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของครอบครัวข่าว 3 รับผิดชอบการจัดคอนเสิร์ตทีวี 3 สัญจร และดูแลรายการวาไรตี้ชื่อดัง

นอกจากงานแวดวงทีวี ปัจจุบันเขายังรับหน้าที่ดูแลการตลาดให้กับภาพยนตร์เรื่องนาคี 2 จัดทำปฏิทินครอบครัวข่าว 3 รูปแบบใหม่ ที่เน้นสอนการปฐมพยาบาลให้ถูกวิธี พร้อมกันนี้ Sanook! Men ยังพูดคุยกับเขาเกี่ยวกับสื่อในปัจจุบัน

ปฏิทินครอบครัวข่าว 3 ในปีนี้รูปแบบใหม่เป็นอย่างไร และทำไมถึงคิดอยากจะปรับเปลี่ยนรูปแบบ?

ผมรับดูแลปฏิทินตั้งแต่ปี 52 ก่อนหน้านี้มีรูปแบบเดียว คือ ปฏิทินละคร ผมมาทำแบรนด์ดิ้งให้ครอบครัวข่าว 3 เริ่มมีปฏิทินข่าว แต่ปฏิทินข่าวจะเป็นปฏิทินแจกฟรีไม่มีจำหน่าย ตัวปฏิทินมักจะเกิดจากเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตลอดปีที่ผ่านมาหรือที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีถัดไป ผมยกตัวอย่างในปีที่น้ำท่วม ปลายปี 54 ปี 55 เป็นปฏิทินที่แชร์เกี่ยวกับการให้  นำใจไทย หรือปี 59 ปลายปีในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคตต้นปี ปฏิทินข่าวก็เป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9

ซึ่งพอปลายปี 60 ที่ผ่านมา มีข่าวการจากไปด้วยโรคหัวใจวาย ของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ และ โจ บอยสเก๊าท์ ในส่วนของคุณโจ จะเห็นได้ชัด ว่าก่อนจะจากไปมีเรื่องของการปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการทำ CPR  การปฐมพยาบาล ซึ่งดูเหมือนว่าคนไทย มีความรู้เรื่องนี้ไม่มากพอ ก็เลยตัดสินใจว่าปฏิทินปีนี้ จะเป็นปฏิทินปฐมพยาบาลเบื้องต้น หรือ ปฏิทินช่วยชีวิต โดยที่หยิบยกอาการต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับคนใกล้ชิด 12 อาการ ใส่ไปใน 12 เดือน ทำออกมาเป็นรูปแบบอินโฟกราฟฟิค ซึ่งจะดูง่าย โดยหยิบยกเอาผู้ประกาศข่าว มานำเสนอในแต่ละอาการ เมื่อคุณใช้มือถือถ่ายคิวอาร์โค้ด ก็จะเห็นรายละเอียดเกี่ยวกับการช่วยชีวิตที่ถูกต้อง

ทราบว่าทาง Search Entertainment ดูแลการตลาดให้ภาพยนตร์เรื่อง นาคี 2 ที่จะเข้าฉายในปีนี้ด้วย ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมครับ ว่าดูแลครอบคลุมอะไรบ้าง?

หุ้นส่วนเลยครับ ผู้อำนวยการสร้างจริงๆ คุณประวิทย์ มาลีนนท์ ส่วนคนที่มีหน้าที่ทำโปรดักชั่นทั้งหมดก็บริษัท แอค-อาร์ต เจเนเรชั่น ของพี่ อ๊อฟ พงษ์พัฒน์  ส่วนทางผมก็จะดูทางพีอาร์การทำมาร์เก็ตติ้ง และเรื่องอื่นๆ ทั่วไป งานนี้เป็นการเรียนรู้ใหม่เพราะเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของ Search เราก็ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านนี้ เราทำทีวีตลอดชีวิตก็ถือเป็นการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

คาดหวังอะไรกับการลงมาดูแลเรื่องการตลาดให้กับภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวบ้าง?

ไม่มีความกดดันเลย "ผมมองเรื่องการทำงานเป็นงานศิลปะ ไม่พยายามมองว่ามันต้องดีกว่า แต่มองการทำงาน มันต้องทำเต็มที่" เนื่องจากการทำงานพวกนี้มันต้องมีแรงบันดาลใจ เพราะมันเป็นจินตนาการของผู้กำกับ พอจบละครเรื่องนาคี ก็พบว่ามันสนุกมาก  ก็คุยกับพี่อ๊อฟ ถึงเรื่อง ความเชื่อ ศาสนา เรื่องของพญานาค และชอบเพลงที่ ก้อง ห้วยไร่แต่งในประโยคที่บอกว่า ฮักที่แลกด้วยแหกกฎฟ้า

ความรักที่ แหกกฎฟ้า มันสุดยอดมาก เราพยายามตีความว่ามีอะไรที่แหกกฎฟ้า ภาพยนตร์นาคี 2 ก็จะเป็นจินตนาการของผู้กำกับ ซึ่งนั่นหมายความว่าพี่อ๊อฟ ต้องตีความ ตัวลำเจียกได้อธิษฐานไว้ว่าเขาสู้เจ้าแม่นาคีไม่ได้เพราะเขาเป็นคน  ถ้าเกิดชาติหน้า อยากเกิดเป็นพญานาคบ้าง จะได้มาสู้กับเจ้าแม่นาคี คำอธิษฐานนั้นส่งผลทำให้ยังคงเวียนว่ายตายเกิด ที่เจ้าแม่นาคีจำศีล ตามที่ปู่ศรีสุทโธได้บอกไว้ ตัวพระทศพลที่เป็นพระไปตลอด การเกิดใหม่ของปลาไหลเผือก "คุณต้องไปดูว่าที่สุดของความรักที่แหกกฎฟ้า อาจจะไม่ใช่คนกับพญานาค อาจจะมีเหนือยิ่งกว่านั้น"

ช่อง 3 เป็นสถานีที่มีคนดูหลากหลายกลุ่ม คุณมีวิธีเลือกหรือจัดสรรเนื้อหาอย่างไรให้ถูกใจคนดู?

เอาความชอบก่อน อย่างรายการรีวิวบันเทิง  เราก็เล็งว่า จอห์น วิญญู ว่าใช่ เจิน ณิชชาพัณณ์ ใช่ ถ้ามีครึ่งชั่วโมง  ข่าวบันเทิงสัก 16 ข่าวพอดีบวกแขกรับเชิญ มันจะได้เต็มอิ่ม เราต้องอยากทำก่อน งานพวกนี้เป็นงานศิลปะ ถ้าคุณคิดว่าทำเพื่อกำไรมันไม่สนุกหรอก

อย่าง Davinci เกมถอดรหัส เราฟังเรื่องราวมันสนุก พอมาถ่ายกันมันสนุกมาก เดือนมีนาคมเราจะมีรายการใหม่ The Eye ทายตากัน มันจะมีอะไรให้สนุกอีกแบบหนึ่ง รายการนี้ความคิดเกิดขึ้นมาจากการมีหน้ากากในงานแฟนซี ทดลองตัดหน้ากากดู มันก็ฮาไปอีกแบบ Davinci เกมถอดรหัส ก็จะมีการเปลี่ยนแปลง เวอร์ชั่นที่ 2 พิธีกรก็จะเป็น บอย ปกรณ์

อย่างรายการ 168 ชั่วโมง ซึ่งคุณเป็นพิธีกรนั้นอยู่คู่คนไทยมานาน คุณคิดว่าอะไรทำให้รายการมีผู้ชมต่อเนื่องยาวนานขนาดนี้?

168 ชั่วโมงทำงานมานานมาก ตั้งแต่ปี 39 จริงๆ วัตถุประสงค์ของการทำรายการนี้  เป็นรายการสุดท้าย คือตอนนั้นช่อง 3 ต้องการเชื่อมว่าต่อไปนี้จะเป็นการออกอากาศ 24 ชั่วโมง เขาก็เลยให้เรามาเป็นรายการสุดท้ายมาตี 1 จบ ตี3 เคยจบนานสุด ตี 5 กว่า เราก็ทำมาเรื่อยๆ แต่ก่อนมัน  2.30 ชั่วโมงเลยนะ เวลาก็ค่อยๆ ลดลงมาเรื่อยๆ เหลือครึ่งชั่วโมง เวอร์ชั่นที่ปรับเปลี่ยนหนักๆ คือ  จอนนี่-โบ๊ท ถ่ายในสตูดิโอก็กลายเป็นถ่ายกับฉากบลูสกรีน  มีผมกับน้องซี เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นใน 168 ชั่วโมง

เนื้อหารายการในปัจจุบันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้น อย่างเราไปดู 9 ศาสตรามา เราก็อวยให้ แต่ที่เป็นเสน่ห์ของรายการ ทุกคลิปไม่ได้มีการซื้อขาย คุณขอมาเราจะไปทำต่อ เพราะเราไม่เก็บตังค์ คุณแนะนำมา มีอะไรเจ๋ง เราจะไปทำ ล่าสุดมีฮอลล์เปิดใหม่ เราว่าเจ๋งเราก็โปรโมทให้

12 ปี กับการอยู่เบื้องหลังรายการ เรื่องเด่นเย็นนี้ ปีนี้ตั้งใจปรับเปลี่ยนอะไรบ้างไหม?

ผมมาทำแบรนด์ดิ้งครอบครัวข่าว 3 มาตั้งแต่ปี 48 เริ่มตั้งแต่การเกิดขึ้นของเทคโนโลยี จากนั้นก็พัฒนามาจนเราแชทได้ ข้อมูลข่าวสารต่างๆ เหล่านี้มันจะเป็นเรื่องที่เข้าถึงตัวเราได้ง่าย ข้อมูลในออนไลน์บางทีคุณไม่รู้หรอกว่าข้อมูลเหล่านั้นจริงไหม เพราะอย่างที่เห็นพวกสุขภาพกินน้ำผสมไอ้นู่น ไอ้นี่  เชื่อเหรอ เราก็รู้ว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลดิบ อยากรู้เราต้องไปศึกษาข้อเท็จจริง

Advertisement

ทุกวันนี้ความเร็วสู้ออนไลน์ไม่ได้ แต่ออนไลน์ความถูกต้องก็คงสู้ผมทั้งหมดไม่ได้ เพราะผมสกรีนมาแล้ว คุณคงเห็นข่าวเสียชีวิตของคนดังต่างๆ  ทั่วโลก แล้วคุณแชร์ต่อ จริงๆ ในแง่จรรยาบรรณข่าว พอเกิดเรื่องการเสียชีวิตคุณต้องเช็คทางโรงพยาบาล ให้ทางโรงพยาบาลเป็นคนบอก เราถึงจะรับได้ว่าเสียชีวิตจริง

ในรายการข่าวเราก็ยังคงต้องเป็นความจริง ต้องเป็นสาระสำคัญประจำวัน ผมก็ยังคิดว่าผู้ชมรายการข่าวก็ยังมีอยู่ ทางผม เรตติ้งก็ยังไม่ตกนะ เรื่องเด่นเย็นนี้ ก็ยังคงเป็นรายการข่าวอันดับ 1 ในช่วงเวลา  4-5 โมง ผู้ประกาศเราก็ยังเป็นคนเดิมๆ  ที่ไว้ใจได้  อย่างกีฬาเราก็มี บิ๊กจ๊ะ เศรษฐกิจเราก็มี บัญชา  ข่าวทั่วไปเราก็มี  คุณธีระ คุณวราพร คุณตาล ประวีณมัย คือ คิดว่าก็คงแข็งแรงที่สุด 

คุณปรับตัวอย่างไรในยุคที่สื่อออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ?

เราสนุกกับการที่สื่อออนไลน์เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เทคโนโลยีเก่ามันเติบโตไปพร้อมกับ เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำนำสมัยมากขึ้น เดี๋ยวนี้กล้องเล็กลงแต่ความคมชัดก็ดีขึ้นเรื่อยๆ มือถือยังใช้ได้เลย เทคโนโลยีแบบนี้มีความสำคัญมากๆ  การดูย้อนหลังก็อาจจะเกิดขึ้นในออนไลน์ แต่ในขณะเดียวกัน เนื้อหาหลักๆ สำคัญๆ การลงทุนสูงๆ ก็ยังคงอยู่ในทีวีอยู่ ผมว่ามันต้องไปคู่กัน เรื่องการปรับตัวก็ต้องทำ มันต้องทันยุค ทันสมัย ซึ่งมันเป็นหน้าที่ของสื่ออยู่แล้ว

แล้วกับคำกล่าวที่ว่า สื่อโทรทัศน์ใกล้ตายแล้วล่ะ คุณมีความคิดเห็นอย่างไร?

ไม่จริงหรอก สื่อทีวีเนี่ย ถ้าคุณบอกว่ากำลังจะตายมันก็คงจะเป็นเพราะเยอะเกินไป  มันก็ไม่ได้ต่างจากสมัยที่คุณมีเคเบิลทีวี 3-4 เจ้า ตอนนี้ก็จะเหลือ 1 เจ้า คุณจำสมัยที่มีสี่ห้าร้อยช่องในโทรทัศน์ดาวเทียมเยอะไปหมดได้ไหม มันก็ไม่ใช่ทุกช่องจะอยู่ได้ ยุคนี้ดิจิทัลทีวีมีมากมายหลายช่อง แต่คนดูจริงๆ อาจจะมีไม่เกิน 10 ช่อง ฟรีทีวีมันก็ควรมีไม่เกิน  10 ช่อง

นอกนั้นอาจจะอยู่ได้ แต่เขาจะต้องปรับตัวเหมือนกัน เพื่อจะได้มาอยู่ใน 1 ใน 10 ไม่ใช่เพราะเนื้อหาไม่ดี เม็ดเงินโฆษณาที่มีอยู่กับคนดูมันไม่ได้สนับสนุนกัน ถ้าคุณเป็นเมืองจีนคุณอาจจะมีได้ 30 ช่อง เพราะคนดูเป็นพันล้าน แต่ถ้าคุณมี 27 ช่องกับคน 70 ล้านคน บางทีช่วงที่เหลือถ้าเรตติ้งน้อย เขาต้องขายโฆษณา เขาจะขายยังไง มันขายไม่ได้ก็ต้องไป ผมว่ายังอยู่ ไม่มีทางล้มเลย แต่อนาคตข้างหน้ามันอาจจะออกอากาศคู่ขนานไปแพลตฟอร์มอื่นๆ ด้วย

“ทีวีมันเป็นคอนเทนต์ที่แข็งแรงมากๆ  รองจากภาพยนตร์ สื่อโฆษณาผ่านโทรทัศน์มันก็ยังมีจำนวนมหาศาลอยู่ ท้ายที่สุดช่วงนี้มันอาจจะเจอสึนามิอยู่ แต่พอมันคลี่คลายแล้วมันก็จะเหลือที่มีความชัดเจนอยู่ ทีวีไม่มีวันตาย ภาพยนตร์ก็ไม่มีวันตาย เช่นเดียวกัน”

รายการประเภทไหนที่คุณอยากทำมากที่สุดแต่ยังไม่มีโอกาสได้ทำ?

มีเพียบเลยในสมอง ภาพยนตร์นี่ก็เยอะนะ คอนเสิร์ตก็อีกบานเลย คอนเสิร์ตใหญ่ 4+1 ซุปเปอร์สตาร์ หล่อมากมาก หรืออะไรต่างๆ ก็ยังอยากทำอีก มีทแอนด์กรี๊ด ผมเห็นความสนุก คอนเสิร์ตไทย ผมอยากทำมากๆ เพราะผมอยากต่อสู้ ผมอยากให้บัตรขายหมดใน 10 นาที ซึ่งยังไม่ค่อยมีสักเท่าไหร่ ผมอยากให้มันมีอย่างนี้เยอะๆ

ผมอยากทำมีทแอนด์กรี๊ดให้ไม่น้อยหน้าเกาหลี ที่คุยกับเพื่อนๆ ไว้หลายคน น้องๆ ด้วย ว่าอยากทำให้คนไทยชื่นใจกับคนไทย เงินทองก็ไม่ออกไปไหน มันก็ดีกับพวกเราเอง ตอนนี้ผมเกิดแรงบันดาลใจอยากสร้างภาพยนตร์พิเศษ ก็อยากนำวรรณคดีมาทำเป็นภาพยนตร์เราอยากทำ แต่ทำยังไงให้มันเจ๋ง  ผมก็มีความฝันอยากทำในวัย 48 แต่สุดท้ายผมก็ต้องมีวันรีไทร์

คุณมีปรัชญาการทำงานและการดำเนินชีวิต อย่างไร?

ขยัน ซื่อสัตย์ และกตัญญู แค่ 3 คำเอง ปรัชญาของ Search ที่ทำงานมาเนิ่นนาน  “ขยัน อย่าขยันแบบโง่ๆ ควรจะขยันอย่างชาญฉลาด ศึกษามันก่อนแล้วค่อยทำ ยุคหนึ่งผมให้พนักงานเอาไข่ไปทำไข่ลวก เขาเอาไปใส่ในไมโครเวฟ มันก็แตกหมดสิ”  ไม่ได้ศึกษา คุณต้องศึกษาก่อนที่จะลงมือทำ สุดท้ายคุณก็อาจจะเป็นได้แค่นักฝัน หากคุณไม่ได้ลงมือทำ พอคุณไม่ลงมือทำ มันก็ไม่เกิดเป็นชิ้นงาน สุดท้ายก็มีความ ซื่อสัตย์  เช่น คุณตั้งเป้าว่าอยากผอมแบบ ตูน บอดี้สแลม คุณทำได้อย่างเขาไหม ทำไม่ได้แล้วสุขภาพจะได้แบบเขาไหม

เด็กยุคใหม่ที่อยากประสบความสำเร็จในวงการสื่อมวลชนคุณคิดว่าควรจะมีคุณสมบัติอย่างไร?

เด็กยุคใหม่เท่าที่ผมเห็นนะ เจนวาย ที่มีโอกาสมาฝึกงานกับเรา ผมว่าเขารู้เยอะ แต่การลงมือทำน้อยกว่ารุ่นเจนเอ็กซ์ เจนเอ็กซ์เนี่ยค่อนข้างจะลงมือทำเยอะ แต่อาจจะไม่ค่อยรู้อะไร ที่ผมสัมผัสมานะ ศึกษาน้อยแต่ลงมือทำเยอะ เจนวาย รู้เยอะแต่ไม่ค่อยทำอะไร อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่เป็นแบบนั้น

เพราะฉะนั้น ถ้าอยากประสบความสำเร็จสำหรับน้องๆ รุ่นใหม่ๆ อาจจะตัดสินใจว่าเราต้องการอะไรให้มันชัด ลงมือไปทำอย่างขยัน ข้อแนะนำ คือ ตัดสิ่งที่ไม่สำคัญออกไปบ้าง ยุคนี้สิ่งเร้ามันเยอะกว่าสมัยผมมาก มันง่ายและใกล้ตัว สิ่งที่เหมือนกันทุกสมัยคือมี 24 ชั่วโมง ผมยังนึกชื่นชมคนที่ใช้เทคโนโลยีเป็นนะ เกิดมาสร้างชื่อเสียง สามารถเอาความแข็งแกร่งมาเป็นวิชาชีพได้ สำคัญคือลงมือทำอย่างกล้าหาญ ทุกวันนี้คุณสามารถเป็นเจ้าของสถานีได้ในออนไลน์ ออกอากาศทุกวันก็ได้ ในเฟซบุ๊ก สมัยก่อนไม่ง่ายนะ

เป้าหมายสูงสุดในชีวิตของคุณคืออะไร?

ผมถึงแล้ว “เรื่องเป้าหมายชีวิต ผมถึงตั้งแต่อายุ 18 แล้ว ผมไม่เคยขอตังค์พ่อแม่เลย เป้าหมายมีแค่ว่าผมจะไม่ขอตังค์พ่อแม่” อยู่ได้ด้วยตัวเองแค่นั้นพอ จากนั้นมันก็พัฒนากลายเป็นเริ่มซื้อนาฬิกาได้ด้วยตัวเอง ซื้อสูท ซื้อรองเท้า ซื้อหมวก สิ่งต่างๆ ที่เราอยากได้ ซื้อรถ ซื้อตึก ซื้อบ้าน อะไรก็แล้วแต่ เราทำงานมาเราก็ได้ซื้อ เรามีประสบการณ์ที่ดี เราเคยขาดทุนเป็นร้อยล้าน แก้ไขปัญหา 7 ปี ก็เคยมาแล้ว กว่าจะผ่านวิกฤตแบบนี้ 7 ปี คุณคิดดู

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
kookkak

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบน
เว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่
นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้