หนังสือ 8 เล่มหล่อหลอมตัวตนจนเป็น Elon Musk นี่แหละ Tony Stark ในโลกความเป็นจริง

หนังสือ 8 เล่มหล่อหลอมตัวตนจนเป็น Elon Musk นี่แหละ Tony Stark ในโลกความเป็นจริง

หนังสือ 8 เล่มหล่อหลอมตัวตนจนเป็น Elon Musk นี่แหละ Tony Stark ในโลกความเป็นจริง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ย้อนหลังไปสัก 10 ปีที่แล้ว ถ้าหากเอื้อนเอ่ยชื่อสตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) อดีตซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งแอปเปิล (Apple) บริษัทที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกเทคโนโลยี ใครไม่เคยได้ยินชื่อนี้ นับว่าเชยสุดๆ

ทว่าถ้าเป็นในช่วง 5 ปีหลัง ชื่อของอีลอน มัสค์ (Elon Musk) ผู้ร่วมก่อตั้งระบบการจ่ายเงินยอดฮิตในปัจจุบันอย่างเพย์พาล (Paypal) ก่อนที่จะขายธุรกิจส่วนนี้ไปให้อีเบย์ (eBay) และปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้งโครงการอวกาศสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) และรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเทสล่า (Tesla)

ทั้งอีลอน มัสค์ และสตีฟ จ็อบส์ ต่างมีหลายสิ่ง หลายอย่าง ที่มีความละม้ายคล้ายคลึง ตั้งแต่การเป็นผู้มีมันสมองอันบรรเจิดในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้แก่โลกใบนี้ การเป็นกลุ่มคนที่ช่ำชองด้านเทคโนโลยีชนิดหาตัวจับยาก พลางเข้าใจในสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ

อย่างไรก็ดี ‘ความเหมือนกัน’ ระหว่างสตีฟ จ็อบส์ และอีลอน มัสค์ ไม่ได้มีเพียงเท่านี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เป็นความเหมือนกันของคนทั้งคู่ นั่นคือ ทั้งจ็อบส์และมัสค์ ต่างเป็น หนอนหนังสือ’ เหมือนกัน

ที่ผ่านมาอีลอน มัสค์ ได้เคยแนะนำหนังสือที่น่าสนใจ ที่เขาใช้เวลาที่ว่างเว้นจากการทำงานสองบริษัทที่เขาเป็นผู้ดูแลอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสเปซเอ็กซ์ และเทสล่า และนี่คือ หนังสือ 8 เล่มที่เป็นตัวจุดประกาย หล่อหลอมความคิด กระทั่งทำให้โลกได้รู้จักกับชายที่มีชื่อว่า อีลอน มัสค์

The Lord of the Rings เขียนโดย J.R.R. Tolkien

lotrTolkienหนังสือชุด The Lord of The Rings สุดยอดนิยายแฟนตาซี

หนังสือเล่มนี้ เชื่อขนมกินได้เลยว่า คงมีน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักนวนิยายเรื่องนี้ เพราะ The Lord of The Rings เป็นสุดยอดนวนิยายที่ยิ่งใหญ่บนโลกใบนี้ ความเป็นนิยายแฟนตาซี ผสมผสานเข้ากับถ้อยคำที่โทลคีน เลือกขึ้นมา ต่างสอดรับ สอดประสาน ร่วมกัน จนทำให้นวนิยายเรื่องนี้ เป็นดั่งถ้อยคำของกวีที่มีแต่ยอดกวีเท่านั้น ที่จะจารึกมันได้

ครั้งหนึ่งอีลอน มัสค์ เคยให้สัมภาษณ์กับ The New Yorker ถึงความหลงใหลในนิยาย The Lord of The Rings เอาไว้ว่า ในช่วงที่เขายังเด็กนั้น เขาชื่นชอบการอ่านนิยายแฟนตาซี และนิยายวิทยาศาสตร์ ซึ่งภายหลังการได้อ่านสุดยอดหนังสือของโทลคีนเล่มนี้ ทำให้เขาเห็นภาพในอนาคตชัดขึ้น และนิยาย The Lord of The Rings ยังช่วยขัดเกลาความคิดของมัสค์ ให้เกิดความแหลมคม จนเป็นหนึ่งในยอดอัจฉริยะประจำศตวรรษที่ 21

The Foundation เขียนโดย Isaac Asimov

isaacasimovgoodreadsหนังสือชุด The Foundation ของ Isaac Asimov

นอกจาก The Lord of The Rings แล้ว นิยายของ Isaac Asimov ก็เป็นหนึ่งในอีกนวนิยายที่มีอิทธิพลทางความคิดของมัสค์ไม่น้อย จุดเด่นของนิยายชุด Foundation อยู่ตรงที่เป็นการเล่าถึงโลกในยุคที่ดำมืด (dystopia) เมื่ออาณาจักรเดิมที่เคยรุ่งโรจน์ เป็นอันต้องล่มสลายลง บังเกิดแต่ความดิบเถื่อน โหดร้าย นั่นจึงเป็นเหตุให้เหล่าผู้มีชีวิตที่ต้องติดแหง็กในโลกที่โหดร้าย และไร้ซึ่งอารยะ จำต้องสรรค์สร้างสิ่งใหม่ตั้งแต่ฐานราก เพื่อยุติยุคสมัยอันดำมืดลงเสียที

ด้วยเหตุดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ถ้าหากอีลอน มัสค์ จะค้านหัวชนฝา ประเด็นผลักดันการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ซึ่งมันสามารถถูกนำไปปรับใช้เป็นอาวุธสงคราม ก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งที่สาม และอาจกลายเป็นจุดจบของมวลมนุษยชาติในภายหลัง

Benjamin Franklin: An American Life เขียนโดย Walter Isaacson

benAmazonBenjamin Franklin: An American Life เขียนโดย Walter Isaacson

ครั้งหนึ่งอีลอน มัสค์ เคยกล่าวว่า เบนจามิน แฟรงคลิน เป็นหนึ่งในฮีโร่ของเขา

แน่นอนว่า เบนจามิน แฟรงคลิน ก็เป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญของโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา เขาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อร่างสร้างชาติสหรัฐอเมริกา ร่วมกับจอร์จ วอชิงตัน (George Washington) นอกเหนือจากนี้เบนจามิน แฟรงคลิน ยังได้รับเกียรติให้อยู่บนธนบัตร 100 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นธนบัตรที่มีมูลค่าสูงที่สุด เนื่องจากในช่วงสงคราม American Revolutionary ซึ่งเป็นสงครามระหว่างอเมริกาและเครือจักรภพอังกฤษ และฝรั่งเศส โดยเบนจามิน แฟรงคลินเป็นผู้เก็บเงินทุนสำรองให้กับอเมริกา จึงทำให้ได้รับการยกย่องด้วยการอยู่บนธนบัตรที่มีมูลค่าสูงที่สุดในภายหลัง

ส่วนความประทับใจของอีลอน มัสค์ ที่มีต่อเบนจามิน แฟรงคลินนั้น เขาเคยให้สัมภาษณ์ โดยบอกว่า เบนจามิน แฟรงคลินเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ประกอบการ (entrepreneur) เขาเริ่มต้นจากการไม่มีอะไรเลย ต้นทุนทางสังคมก็ไม่มี ท้ายที่สุดเบนจามิน แฟรงคลินประสบความสำเร็จ และมีความสำคัญต่อสหรัฐอเมริกาอย่างยิ่ง ซึ่งคล้ายกับอีลอน มัสค์ ที่เริ่มต้นจากศูนย์ กระทั่งกลายเป็นผู้มีชื่อเสี่ยงดังเช่นทุกวันนี้

หนังสือ Benjamin Franklin: An American Life ผู้เขียนวอลเตอร์ ไอแซคสัน (ผู้เขียนหนังสือชีวประวัติสตีฟ จ็อบส์) จะพาคุณผู้อ่านสำรวจชีวิตของเบนจามิน แฟรงคลิน ทุกแง่มุม ทั้งในมุมของนักการเมือง นักเขียน นักการทูต นักธุรกิจ และนักวิทยาศาสตร์

Einstein: His Life and Universe เขียนโดย Walter Isaacson

einAmazonEinstein: His Life and Universe เขียนโดย Walter Isaacson

อีกหนึ่งเล่มที่เป็นผลงานของผู้เขียนวอลเตอร์ ไอแซคสัน เพียงแต่เรื่องนี้จะเป็นเรื่องของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของโลก

อีลอน มัสค์ เคยให้สัมภาษณ์กับเควิน โรส ถึงความนิยมชมชอบในหนังสือเล่มนี้ เนื่องจากเป็นหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนสามารถเล่าเรื่องราวของไอน์สไตน์ได้อย่างยอดเยี่ยม และกระเทาะตัวตนในทุกๆ แง่มุมของไอน์สไตน์ออกมา และสิ่งนี้เองจึงเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานของอีลอน มัสค์ อีกด้วย

Structures: Or Why Things Don't Fall Down เขียนโดย J.E. Gordon

coverPenguinหนังสืออีกเล่มที่ขยายขอบเขตความรู้ให้แก่มัสค์

ก่อนหน้าที่อีลอน มัสค์ จะลงมือสร้างธุรกิจสเปซเอ็กซ์ หรือธุรกิจการเดินทางอวกาศขึ้นมา อีลอน มัสค์ ยอมรับว่า เขามีความเข้าใจเกี่ยวกับอวกาศ หรือแม้แต่การสร้างจรวดน้อยมาก นั่นจึงเป็นเหตุให้อีลอน มัสค์ หมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม

แล้วแหล่งความรู้สำคัญของมัสค์ คือ ที่ใดกันล่ะ?

สำหรับอีลอน มัสค์ แหล่งความรู้สำคัญ ก็คือ หนังสือ และด้วยความเป็นหนอนหนังสือที่ว่านี้ ทำให้อีลอน มัสค์ พบกับหนังสือที่มีชื่อว่า Structures: Or Why Things Don't Fall Down ซึ่งเป็นหนังสือที่อธิบายเกี่ยวกับโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างของบ้าน โครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับทางวิศวกรรม ทำไมมันถึงคงทนแข็งแรง รวมถึงโครงสร้างพันธะทางวิทยาศาสตร์

จากองค์ความรู้ที่มีอยู่ภายใน Structures: Or Why Things Don't Fall Down จึงช่วยหล่อหลอม และเสริมสร้างความรู้พื้นฐานให้กับอีลอน มัสค์ กระทั่งบังเกิดธุรกิจที่เรารู้จักกันดีในภายหลังอย่างสเปซเอ็กซ์ นั่นเอง

Superintelligence: Paths, Dangers, Strategies เขียนโดย Nick Bostrom

superintelligenceAmazonSuperintelligence: Paths, Dangers, Strategies หนังสืออีกเล่มที่พูดถึง AI

อย่างที่ทุกคนทราบกันดี อีลอส มัสค์ แข็งขันอย่างมากในการต่อต้านการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้งาน และใจความสำคัญของหนังสือ Superintelligence: Paths, Dangers, Strategies ก็คือการพูดถึงมหันตภัยจากปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งผู้เขียน Nick Bostrom อธิบายว่า การใช้งาน AI จำเป็นต้องใช้งานอย่างระมัดระวัง เพราะ AI สามารถฉลาดกว่ามนุษย์ได้ โดยใช้เวลาไม่นานนัก

ที่สำคัญ ถ้าหากมาถึงวันที่ AI ฉลาดกว่ามนุษย์แล้ว โลกของเราจะเป็นอย่างไร เนื่องด้วยหนังสือเกี่ยวกับ AI ยังไม่ได้มีปริมาณที่มาก กอปรกับ Superintelligence เป็นหนังสือที่คนดังอย่างอีลอน มัสค์ อ่าน จึงทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือขายดีเล่มหนึ่งโดยปริยาย

The Moon Is a Harsh Mistress โดย Robert Heinlein

themoonisaharshmistressgoodreadsThe Moon Is a Harsh Mistress

เล่มถัดไปเป็นหนังสือนวนิยายวิทยาศาสตร์ เขียนโดย Robert Heinlein แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นหนังสือเก่า แต่ก็ยังฉายภาพที่น่าสนใจให้ผู้อ่านที่หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านทุกครั้งไป

ความน่าสนใจของ The Moon Is a Harsh Mistress คือการหยิบโลกดิสโทเปียขึ้นมาเล่า เมื่อมนุษย์ประสบปัญหาประชากรล้นโลก กอปรกับการเติบโตสุดขีดทางด้านเทคโนโลยี ส่งผลให้ประเทศต่างๆ เลือกที่จะส่งนักโทษขึ้นไปจองจำบนดวงจันทร์

ทำไมถึงต้องเป็นดวงจันทร์?

เพราะบนดวงจันทร์นั้น เป็นพื้นที่ที่แห้งแล้ง โหดร้าย ไร้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีพ คนที่อยู่ไม่ได้ก็ล้มตายไป คนที่อยู่ได้ก็อยู่ไป กระทั่งคนที่เหลือรอดบนดวงจันทร์ได้ก่อตั้งสังคมขึ้นมาใหม่ ถึงกระนั้นทรัพยากรที่หาได้บนดวงจันทร์ก็ต้องถูกส่งต่อมายังโลก ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเจ้าอาณานิคมของผู้ที่อาศัยอยู่บนดวงจันทร์

แน่นอนว่า การปกครองของผู้มีอำนาจบนโลก ซึ่งมีความเผด็จการอยู่ในตัวอย่างเต็มเปี่ยม มีหรือที่จะไม่รีดนาทาเร้น และเมื่ออาณานิคมบนดวงจันทร์ถูกกดขี่มากเข้า จากวันเป็นเดือน จากเดือนปี จากปีเป็นหลายสิบปี ในท้ายที่สุดก็เกิดเป็นการปฏิวัติบนดวงจันทร์ เพื่อปลดแอกจากอำนาจของเผด็จการ

นิยายชุด The Culture เขียนโดย Iain M. Banks

theculture

ครั้งหนึ่งอีลอน มัสค์ เคยทวีตถึงนิยายชุด The Culture ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว

จุดเด่นของนิยายเรื่องนี้ คือ แฝงความเป็นไฮเทคไว้อย่างเต็มเปี่ยม และคนที่มาจากสายเทคโนโลยีโดยตรงอย่างมัสค์ ย่อมถูกจริตนิยายชุดเรื่องนี้เป็นพิเศษ

The Culture ได้พาอีลอน มัสค์ และผู้อ่านหนังสือเล่มนี้ เดินทางไปยังโลกอนาคตอีกหลายหมื่นปีข้างหน้า โดยสังคมในโลกยุคอนาคตนั้น มีสภาพสังคมเป็นแบบอนาธิปไตย (anarchist) กล่าวคือ เป็นโลกระบบการปกครองเดิมล่มสลาย ประชาชนไม่เชื่อถือระบบดั้งเดิมที่เคยมีมาก่อน ก่อให้เกิดสภาวะไร้รัฐ ไร้พรมแดน ไม่มีเขตแดนที่ขีดเส้นชัดเจนว่า เขตใดเป็นของใคร ทำให้เกิดกลุ่มก้อนทางสังคมใหม่

พร้อมกันนี้โลกของ The Culture ไม่ได้มีเพียงแค่มนุษย์ แต่จะอุดมไปด้วยมนุษย์เทียม เอเลี่ยนส์ จักรกล ซึ่งจินตนาการของผู้เขียนบรรเจิดมากๆ ทำให้นิยายชุดนี้เป็นหนึ่งในนิยายโปรดของอีลอน มัสค์   

สรุป

จากรายชื่อหนังสือที่อีลอน มัสค์ ‘อ่าน’ จะเห็นได้ว่า ผู้ก่อตั้งสเปซเอ็กซ์และเทสล่า มีขอบเขตการอ่านหนังสือที่กว้างขวางมากๆ ทั้งนิยายแฟนตาซี นิยายวิทยาศาสตร์ ประวัติบุคคลสำคัญของโลก หนังสือด้านเทคโนโลยี รวมถึงด้านวิศวกรรม และด้วยความที่อีลอน มัสค์ อ่านหนังสือกว้างขวาง ทำให้เขาเป็นคนรอบรู้ ฉลาด เปรียบประหนึ่งเป็นปราชญ์แห่งยุคดิจิทัล แล้วในเมื่อคนระดับอีลอน มัสค์ ยังอ่านหนังสือ คุณล่ะ ถ้าอยากเก่ง ลองหยิบหนังสือที่อยู่ใกล้ตัว แล้วอ่านมันดู ไม่แน่ว่า หนังสือเล่มที่คุณกำลังหยิบติดมือมาอยู่นั้น อาจเกื้อหนุนส่งเสริมวิชาชีพ และหน้าที่การงานของคุณก็เป็นได้ครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook