“โอตาคุ” เพราะความสุขมีหลายรูปแบบ : ตอนที่1
เมื่อท่วงทำนอง “Koisuru Fortune Cookie” กลายเป็นเนื้อเพลงที่ติดหูคนไปทั่วประเทศไม่ได้จำกัดวงเฉพาะคนที่ชอบฟังเพลงแนวนี้ ทำให้วัฒนธรรมรูปแบบใหม่ในการฟังเพลงแบบ “ศิลปินไอดอล” กลายเป็นของแปลกตาสำหรับสังคมไทยตั้งแต่งานจับมือ ไปจนถึงคนที่เรียกตัวเองว่า “โอตะ” (ย่อมาจาก โอตาคุ) อันหมายถึงแฟนคลับของศิลปินในรูปแบบนี้
ซีรี่ส์บทสัมภาษณ์ความสุขแบบ “โอตาคุ” ชนิดสามตอนจบ จะพาชาว Tonkit360 ไปนั่งคุยกับคนที่ประกาศตนว่าเป็นโอตะตัวจริงเสียงจริง อย่าง “จอม” จารุวัชร ปาลิโพธิ ที่อยากจะบอกคุณว่า “อย่าตัดสินพวกเขาว่าเป็นแค่คนชอบดูหนังโป๊ญี่ปุ่นเพราะความสุขมันมีหลายรูปแบบ”
ตอนที่ 1 “รักจะเป็นโอตะไม่จำเป็นต้องอยู่สายเปย์”
เราจะพาชาว Tonkit 360 ไปรู้จักกับ “จอม” จารุวัชร ปาลิโพธิ ชายหนุ่มธรรมดาที่ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าเขาคือ “โอตะคุ” ตัวจริงเพราะชื่นชอบและติดตามผลงานของวงพี่ AKB48 (AKB ย่อมาจาก ย่านอากิฮาบาระในญี่ปุ่นและเป็นศูนย์รวมของทุกสิ่งสำหรับคนที่เรียกตนเองว่าโอตาคุ)
การเริ่มต้นชีวิตโอตาคุ หรือที่ต่อจากนี้เราจะเรียกว่า “โอตะ” ของ “จอม” นั้นเกิดขึ้นในช่วงที่ไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นถึง 4 ปีเต็ม ก่อนกลับมารับตำแหน่ง Procurement assistant manager ให้กับบริษัทเอกชนของญี่ปุ่น เมื่อกลับมาอยู่เมืองไทยการติดตามและเป็นโอตะของวงน้องตระกูล 48 อย่าง BNK48 ด้วยจึงไม่ใช่เรื่องแปลก บรรทัดต่อจากนี้เรามาทำความรู้จักกับ “จอม”กับชีวิตการเป็น “โอตะ” ของเขากันดีกว่า
เริ่มต้นมาเป็นโอตะได้อย่างไร
เดิมผมทีไม่ค่อยสนใจวงการบันเทิงทั้งของไทยและต่างประเทศ แต่ช่วงที่ผมไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น ตอนปลายปี 2012 บังเอิญมีเพื่อนที่เขาสนใจวงการไอดอล แล้วเขาอยากไปดูคอนเสิร์ตสักครั้ง ซึ่งเขาก็กังวลว่าบรรยากาศในการดูคอนเสิร์ตที่ญี่ปุ่นจะเป็นยังไง ก็เลยจ่ายเงินให้ผมไปดูเป็นเพื่อน ทำให้ผมได้ไปดูคอนเสิร์ตไอดอลครั้งแรก หลังจากนั้นเขาก็ออกเงินชวนผมไปดูด้วยอีก 3-4 ครั้ง จนเขาไปคนเดียวได้แล้ว แต่พอถึงเวลานั้นจริงๆ เราเองก็เริ่มมีความผูกพัน เริ่มกลายเป็นโอตะของวง AKB48 แล้ว
เป็นโอตะต้องเปย์จริงไหม
จริงๆ แล้วในมุมของโอตะเองก็จะมีทั้งสายเปย์และสายเชียร์ ส่วนตัวผมมองว่า เราอาจจะมีเมมเบอร์ที่เราชื่นชม เราอยากจะ Support เขา ให้กำลังใจเขาผ่านการซื้อสินค้า ซื้ออัลบั้ม หรือการเข้าไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ซึ่งก็จะมีทั้งฟรีและที่ต้องเสียค่าใช้จ่าย นับเป็นส่วนหนึ่งของการให้กำลังใจ แต่คนที่อาจจะชอบเพลงอย่างเดียว การเข้าไปดู Youtube เยอะๆ เพื่อเพิ่มยอดวิว โดยที่ไม่ต้องเปย์ก็ทำได้ ถือเป็นการสนับสนุนและให้กำลังใจศิลปินไอดอลทางหนึ่งเหมือนกัน
ความชื่นชอบแบบ โอตะ ในญี่ปุ่นกับไทยแตกต่างกันไหม
หลักๆ แล้ว วัฒนธรรมการชื่นชอบไอดอลของทั้ง 2 ประเทศไม่ต่างกัน โอตะทั้ง 2 ประเทศก็ให้กำลังใจน้องๆ และทุกคนก็พยายามศึกษามารยาท ข้อปฏิบัติต่างๆ ยกตัวอย่างคือ นอกจากงาน Event จับมือ โอตะก็จะไม่ถูกเนื้อต้องตัวไอดอล หรือหากเราไปเจอไอดอล ในที่สาธารณะ ผมก็ยังไม่เห็นใครที่เข้าไปขอน้องเขาถ่ายรูป ซึ่งเป็นข้อห้ามของทางค่ายอยู่แล้ว แต่ของไทยจะมีกรณีอย่างตู้ปลา ดิจิตอลไลฟ์สตูดิโอของ BNK48 ตั้งอยู่ที่เอ็มควอเทียร์ ซึ่งเราจะได้เห็นน้องเขาใกล้ๆ ผ่านกระจก
แต่ทางผู้จัดการวง (จ๊อบซัง) อาจจะยังไม่เข้มงวดกับโอตะในไทยมากนัก เพราะเราจะเห็นว่าโอตะพากันยกกล้องถ่ายรูปขึ้นมาถ่ายจนคนข้างหลังมองไม่เห็น จริงๆ แล้วที่ญี่ปุ่นเขามองว่า ภาพลักษณ์ของวงไอดอลเป็นสินค้าของบริษัท ดังนั้นเขาไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป เรื่องนี้เคร่งครัดมาก เพราะถ้ามีรูปออกไปไม่ดี เขาควบคุมตรงนี้ยาก ข้อดีก็คือทำให้ที่ญี่ปุ่นไม่มีปัญหาเรื่องโอตะสายตากล้องที่จองที่ข้างหน้าเพื่อถ่ายรูปแล้วบังคนข้างหลังแบบที่ไทยกำลังเป็นอยู่ ดังนั้นความต่างเลยเป็นเรื่องของความเข้มงวด ที่ญี่ปุ่นจะมีความเข้มงวดเรื่องกฎระเบียบกับบรรดาโอตะมากกว่าในไทย
คุณจอมกับอุปกรณ์การเชียร์ AKB48 ที่ประเทศญี่ปุ่น
คิดว่าสังคมมองโอตะอย่างไร
ช่วงแรกผมจะถูกถามเยอะมาก ว่าโอตะคืออะไร? น่ากลัวไหม? สำหรับผม โอตะคือโอตะ ไม่ใช่สิ่งที่จะมาตัดสินว่าดีหรือไม่ดี โอตะก็คือรูปแบบหนึ่งของการเป็นแฟนคลับ แต่ด้วยความที่เดิมทีคำว่าโอตะอาจถูกใช้ในความหมายที่ไม่ดี บางคนเลยรู้สึกไม่ค่อยดีกับคำว่าโอตะ แต่เวลาที่ผ่านไปหนึ่งปี พฤติกรรมของโอตะในไทยเอง ทำให้หลายๆ คนในสังคมเริ่มไม่มองลบ เริ่มมองว่าสิ่งที่เรียกว่าโอตะก็เหมือนกับคนที่ไปให้กำลังใจกลุ่มไอดอล คิดว่าสังคมเข้าใจตรงนี้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่ 100% จริงๆ ก็อยากให้สังคมค่อยๆ ศึกษาเรื่องนี้ไป
“ในส่วนของโอตะเอง ผมว่ามันเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้เราได้แนะนำตัวเอง ว่าเราไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี แต่เราคือแฟนคลับที่มีวินัย ไปไหนก็ไม่ได้ไปทำอะไรเลอะเทอะ หรือไม่ได้มีความรุนแรง”
รู้สึกอย่างไรเวลาที่มีคนมาตัดสินว่าโอตะเป็นพวกที่ชอบดูหนังโป๊ญี่ปุ่น
พูดกันตามตรงแรกๆ เราก็ไม่พอใจอยู่แล้ว แต่พอเวลาผ่านไป อย่างแรกเลย เรารู้ตัวเองว่าสิ่งที่เราทำ สิ่งที่ชอบอยู่คืออะไร เราได้กำลังใจจากน้องๆ ไอดอล ยิ่งตอนที่ไปอยู่ญี่ปุ่น ผมไปอยู่คนเดียว เราก็ได้รับกำลังใจจากตรงนี้ ในทางกลับกัน เราก็ไปให้กำลังใจไอดอลด้วย ดังนั้นผมรู้สึกว่าคนที่ว่าโอตะแบบนั้น เขาแค่ไม่เข้าใจเราเฉยๆ เราไม่จำเป็นต้องไปโกรธ ถ้าเขารับฟัง เราก็ต้องอธิบายว่าเรามีความสุขยังไงกับสิ่งที่เราทำ หรือสิ่งที่เราทำคืออะไร และเราได้อะไรจากตรงนี้ พอผ่านไปนานๆ เข้า เราก็เรียนรู้ที่จะอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ดีขึ้นเรื่อยๆ
อยากบอกอะไรกับคนที่ไม่เข้าใจโอตะ
สำหรับคนที่ไม่ทราบว่าโอตะคืออะไร หรือหลายคนอาจมองโอตะว่าเป็นกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมไม่ค่อยดี ถ้ามีโอกาสไปร่วมกิจกรรม หรือหากได้ลองพูดคุยกับคนที่เป็นโอตะดู ก็จะทำให้คุณได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ รวมถึงสิ่งที่พวกเราเป็นมากขึ้น และอาจจะเข้าใจได้ว่า จริงๆ แล้วความสุขมันมีได้หลายแบบ ความสุขของคุณอาจจะเป็นแบบอื่น แต่ความสุขของเราก็คือเรื่องนี้ ซึ่งการได้เข้ามาเป็นแฟนคลับของ BNK48 หรือไอดอลกลุ่มใดก็ตาม มันเป็นการหาความสุข เป็นการเติมเต็มความรู้สึกที่อาจจะขาดกำลังใจของเรา และในทางกลับกัน น้องๆ หลายคน ที่เพิ่งเริ่มเป็นนักร้อง เพิ่งเริ่มเป็นไอดอล เขาก็ต้องการกำลังใจเหมือนกัน สิ่งที่พวกเรากำลังทำมันเป็นเหมือนกับการให้กำลังใจกันและกัน และเราก็มีความสุขไปด้วยกันในกลุ่มของโอตะและไอดอล