อยากรู้ไหม ว่าทำไมผีอำ

อยากรู้ไหม ว่าทำไมผีอำ

อยากรู้ไหม  ว่าทำไมผีอำ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คนที่เคยถูก “ผีอำ “จะเจอเหตุการณ์นี้ตอนหลับ นั้นแสดงว่าผีอำเกี่ยวข้องกับการนอน ดังนั้น ก่อนที่จะกล่าวถึงสาเหตุ ของการเกิดภาวะผีอำ เรามาทำความเข้าใจกับเรื่องการนอนหลับ ตามหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์กันก่อน

โดยปกติการหลับของคนเราแบ่งเป็น ๒ ลักษณะ คือ
๑. ลักษณะแบบตาไม่กระตุก ( non – rapid eye movement sleep หรือ non – REM หรือ synchronized sleep )
๒. ลักษณะแบบตากระตุก ( rapid eye movement sleep หรือ desynchronized sleep หรือ fast wave sleep )

เมื่อคนเราเริ่มหลับ การหลับจะเริ่มด้วยแบบตาไม่กระตุกก่อน ประมาณ ๖๐ – ๙๐ นาที แล้วเปลี่ยนเป็นแบบตากระตุกประมาณ ๕ – ๑๐ นาที แล้วจะเปลี่ยนเป็นแบบตาไม่กระตุกใหม่ สลับกันไปเรื่อย ๆ เช่นนี้ โดยช่วงที่หลับแบบตาไม่กระตุกจะสั้นลง ๆ และช่วงที่หลับแบบตากระตุกจะยาวขึ้น ๆ เมื่อใกล้ตื่น
โดยเฉลี่ยช่วงที่หลับแบบตาไม่กระตุก รวมทั้งหมดจะประมาณ ร้อยละ ๗๕ – ๘๐ ของเวลาหลับทั้งหมด ส่วนช่วงที่หลับแบบตากระตุก รวมทั้งหมดจะประมาณร้อยละ ๒๐- ๒๕ และการหลับช่วงสุดท้ายก่อนที่จะตื่นขึ้นตามธรรมชาตินั้นจะเป็นการหลับแบบตากระตุก

การหลับแบบตาไม่กระตุก
การหลับแบบตาไม่กระตุก แบ่งออกได้เป็น ๔ ลักษณะ ตามลักษณะของคลื่นไฟฟ้าสมอง คือ
ระยะที่ ๑ เป็นระยะที่คลื่นไฟฟ้า สมองเริ่มช้าลง เป็นระยะที่ปลุกให้ตื่นได้ง่าย แม้เพียงแค่เรียกชื่อเบา ๆ แตะตัวเบา ๆ หรือปิดประตูเบา ๆ
ระยะที่ ๒ เป็นระยะที่คลื่นไฟฟ้า สมองช้าลงอีก และเป็นลักษณะคลื่นหลับ เป็นระยะที่ปลุกให้ตื่นได้ยากขึ้น
คนที่อยู่ในระยะที่ ๑- ๒ คือคนที่กำลังจะหลับ หรือ หลับ ๆ ตื่น ๆ ซึ่งตาจะกลอกไปมาช้า ๆ ในขณะที่หลับอยู่ซึ่งการหายใจในช่วงนี้จะไม่สม่ำเสมอและอาจจะมีการหยุดหายใจเป็นพัก ๆ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
ระยะที่ ๓ เป็นระยะที่คลื่นไฟฟ้า สมองช้าและใหญ่ขึ้นอย่างมาก และพบคลื่นไฟฟ้าสมองแบบนี้อย่างน้อยร้อยละ ๒๐ แต่ไม่เกินร้อยละ ๕๐ ของคลื่นไฟฟ้าสมองที่บันทึกได้ ระยะนี้กินเวลาเพียงไม่กี่นาที ก็จะเข้าระยะที่ ๔
ระยะที่ ๔ เป็นระยะที่คลื่นไฟฟ้า สมองที่ช้าลงและใหญ่มากนี้จะพบได้เกินร้อยละ ๕๐ และระยะนี้จะกินเวลา ประมาณ ๒๐- ๔๐ นาที
ระยะที่ ๓ -๔ นี้ เป็นระยะที่คนหลับลึก หลับสนิท ตาทั้ง ๒ ข้างหยุดการเคลื่อนไหว การหายใจจะเปลี่ยนเป็นแบบสม่ำเสมอและหายใจช้าลง ๆ หัวใจ ( ชีพจร ) จะเต้นช้าลง ๆ ความดันเลือดจะลดลง ๆ กล้ามเนื้อจะอ่อนตัวลง แต่ไม่ถึงขั้นอัมพาต
การหลับที่เข้าสู่ระยะที่ ๓ -๔ นี้ เป็นระยะที่ปลุกให้ตื่นได้ยาก คนที่หลับอยู่ในระยะนี้ ถ้าถูกปลุกอย่างรุนแรงจนตื่นจะมีอาการสับสนเลอะเลือน ละเมอเพ้อพก หรือจำในสิ่งที่ตนเองทำไปไม่ได้เลยอย่างเช่น การเดินละเมอ ปัสสาวะรดที่นอน หรือขบเขี้ยวเคี้ยวฟันขณะหลับ
ประมาณกันว่าในคืนหนึ่ง ๆ คนเราจะมีการพลิกตัว ขยับตัวหรือเปลี่ยนท่าทางการนอนอย่างน้อย ๘ – ๙ ครั้ง เมื่อลักษณะการหลับเปลี่ยนจากแบบหนึ่งไปเป็นอีกแบบหนึ่ง ( จากแบบตาไม่กระตุกเป็นแบบตากระตุก )

การหลับแบบตากระตุก
การหลับแบบตาไม่กระตุก เป็นการหลับที่คลื่นไฟฟ้าสมองมีลักษณะเหมือนกับในขณะที่ตื่นอยู่ การหลับแบบนี้เป็นการหลับที่ประกอบด้วยการกระตุก ( การเคลื่อนไหวเร็ว ๆ ) ของตาทั้ง ๒ ข้างเป็นพัก ๆ ภายใต้หนังตาที่หลับอยู่ ช่วงนี้การหายใจจะไม่สม่ำเสมอและช้าลงกว่าแบบตาไม่กระตุก มีการหายใจทางท้อง ( หายใจโดยใช้กระบังลม ) เป็นสำคัญ กล้ามเนื้อทั่วร่างกายจะเอนตัวลงมากเหมือนเป็นอัมพาต ยกเว้นกล้ามเนื้อตาที่ยังทำงานให้ตากระตุกเป็นพัก ๆ
ในขณะที่หลับแบบตากระตุกนี้ เป็นช่วงที่ปลุกให้ตื่นได้ง่าย หรือบางคนก็อาจจะตื่นเอง และมักจะจดจำความฝันต่างๆ ในช่วงก่อนตื่นได้ ( เพราะฝันในช่วงที่หลับแบบตากระตุกนี้ )

ผีอำ......หรือผีจริง

ตอนเป็นเด็กผู้เขียนเคยได้ยินผู้ใหญ่รุ่นก่อน ๆ พูดให้ได้ยินอยู่บ่อย ๆ ว่าอย่านอนหลับตอนเวลาโพล้เพล้ หรืออย่านอนขวางประตูเดี๋ยวจะถูก “ ผีอำ “ ความจริงตัวเองก็นอนหลับในช่วงเวลาเย็น บ่อยๆ แต่ไม่เคยถูกผีอำสักที
วันหนึ่งเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ก็ได้เจอสภาวะผีอำเป็นครั้งแรก ( และครั้งเดียว ) ในชีวิต ตอนนั้นเผลอหลับไปในช่วงใกล้ค่ำ แถมยังนอนขวางกลางประตูห้องอีกต่างหาก แล้วในขณะที่กำลังจะตื่นเพราะมีความรู้สึกว่าตัวเองนอนหลับหลายชั่งโมงแล้ว ก็พยายามจะลุกขึ้น แต่ขยับตัวไม่ได้ แขน ขาทำไมถึงอ่อนเปลี้ย ไปหมด แล้วก็เห็นคนมายืนคร่อมศีรษะอยู่
ตอนนั้นผู้เขียนกลัวมาก คิดว่าถูกผีเจ้าที่หลอก พยายามตะโกนร้องให้คนช่วย แต่ไม่มีใครได้ยิน สักพักก็รู้สึกตัวตื่น ทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนเกิดขึ้นจริง เล่าให้คนในบ้านฟัง เขาก็บอกว่านั้นแหละถูกผีอำเข้าให้แล้ว แต่ที่ไม่มีคำตอบให้คือ สิ่งที่เราเจอนั้นมันคือผีจริงหรืออะไรกันแน่
เวลาผ่านไปนานมาก......นานจนลืม วันหนึ่งมีคนมาถามว่ามีข้อมูลเรื่องผีอำไหม ช่วยหาให้หน่อยซิ ผู้เขียนก็ไปค้นคว้าและสอบถามผู้รู้ ( เพราะอยากรู้คำตอบเหมือนกัน ) ก็ได้ความว่าเรื่องนี้ต้องไปคุยกับจิตแพทย์ และจิตแพทย์ที่เป็นผู้ไขข้อข้องใจเรื่องผีอำให้เราทุกคนได้ทราบ ก็คือ นายแพทย์ เทอดศักดิ์ เดชคง ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาบริการสุขภาพจิต สำนักพัฒนาบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

“ผีอำเป็นปัญหาในการนอน เป็นความผิดปกติในการนอน คือการนอนมีหลายประเภท เช่น นอนปกติ นอนแล้วฝัน ฝันร้าย หรืออยู่ดีๆ ก็ร้องขึ้นมา ซึ่งเราจะเจอในเด็ก ส่วนฝันร้ายเจอได้ทุกอายุ
ผีอำนั้นเป็นสภาวะที่คล้าย ๆ กับการฝัน เพราะขณะที่ถูกผีอำคนคนนั้นจะอยู่ในสภาวะที่ขยับตัวไม่ได้ ต้องเข้าใจนิดนึงนะครับว่า มันจะมีสภาวะการหลับที่เราเรียกว่า non-REM ซึ่งช่วงนั้นเวลานอนตาเราไม่ได้กลอก เพราะฉะนั้นเรายังพอมีกำลังขยับตัวได้ พลิกตัวได้ ช่วงเวลานั้นถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เราจะลุกขึ้นมาได้
แต่ในภาวะหลับตาแบบตากระตุก ( REM sleep ) จะมีการฝัน กล้ามเนื้อต่าง ๆ จะผ่อนคลายหมด ขยับตัวไม่ได้ยกเว้นต้องตื่น คำว่าตื่น หมายถึงต้องมีการเขย่าตัวรุนแรง แล้วในช่วงเวลานั้นถ้ามีสิ่งเร้าอะไรที่มาทำให้เราไม่สบาย เช่น อาจจะมีหมอนข้างมาวางอยู่บนตัวหรือขา หรืออาจจะนอนในท่าที่ไม่สบายนักก็จะมีการแปลภาวะนั้นเป็นความไม่สบาย แล้วบางทีก็ไปผูกเรื่องกับความฝัน ทำให้เขาอยากจะออกจากสถานการณ์นั้น แต่ว่าทำไม่ได้เพราะกล้ามเนื้อมันคลายไปหมดแล้ว
เพราะฉะนั้นในภาวะอย่างนั้น ก็จะเป็นสภาวะที่เขาจะรู้สึกเหมือนกับว่าใครมากดทับเขา มันเป็นสภาวะที่หลีกหนีไปไม่ได้ แต่สักพักนึงเขาจะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง คนถูกผีอำ ยังไงก็ตามไม่ตายหรอก ! ต้องฟื้นมาแน่ แต่สิ่งที่เขาจะกลัวก็คือ เป็นแล้วอาจจะเป็นอีก ซึ่งเราเจอได้บ่อย ๆ “

โรคทางกายหรือโรคทางใจ
ประเด็นนี้คิดว่าหลายคนคงอยากทราบเหมือนกันว่า “ผีอำ “ เกี่ยวข้องกับโรคทางด้านจิตใจ หรือโรคทางร่างกายบ้างหรือเปล่า ซึ่งเรื่องนี้คุณหมอเทิดศักดิ์ได้ให้คำอธิบายว่า

“ ผีอำโดยทั่วไปมักจะเกี่ยวข้องกับการนอน และสัมพันธ์กับสถานการณ์ ในชีวิตประจำวัน เช่น สถานการณ์ที่ทำให้เขากังวล ตื่นเต้น พูดได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่คนจะถูกผีอำได้ ไม่ใช่ความผิดปกติทางจิตใจอะไรหรอก เป็นเพียงตะกอนความคิดที่เกิดจากชีวิตประจำวัน บางคนหาทางออกไม่ได้ ก็ไปออกในช่วงที่นอน เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าคนคนนั้นเริ่มมีภาวะความเครียด แล้วเดี๋ยวร่างกายก็ปรับสมดุลของมันไปเอง ไม่มีที่นอนแล้วผีอำทุกวัน ไม่ถือเป็นโรค ไม่มีอะไรน่ากลัวแล้วมันจะหายเอง
ยกเว้นบางรายที่เป็นมาก พวกนี้แสดงว่าปัญหาเยอะ แล้วมักจะเก็บไปฝัน ซึ่งบางคนอาจจะมาในแง่ฝันร้าย คือว่าถ้าฝันร้ายแล้วหลับสนิท เขาก็จะเล่นไปในฝันนั้นแหละ แต่ถ้าตื่นขึ้นมานิดนึงก็จะรู้สึกว่า เอ๊ะ ! ทำไมขยับตัวไม่ได้ คือ ครึ่งหลับครึ่งตื่น กำลังเคลิ้ม ๆ เหมือนจริง นั้นคือสภาวะของผีอำ “

การรักษาภาวะ “ผีอำ “
ตามธรรมชาติ คนทั่วไปจะต้องเคยโดนผีอำกันมาบ้าง แต่อาจจะจำไม่ได้แล้ว “ ผีอำ “ มักจะนานๆ เป็นสักครั้ง แล้วก็หายไปเอง แต่สำหรับคนที่เป็นบ่อย ๆ คุณหมอ เทอดศักดิ์ บอกว่าในทางจิตเวชก็มีวิธีช่วย

“ วิธีการง่าย ๆ คือการผ่อนคลายความเครียด นั้นคือก่อนนอนสัก ๑- ๒ ชั่งโมง อย่าไปทำอะไรที่มันตื่นเต้น ( เช่น ดูโทรทัศน์ เล่นเกมส์ ) ก่อนนอนอาจจะอาบน้ำอุ่น หรือดื่มนมอุ่น ๆโดยเฉพาะนมถั่วเหลือง จะทำให้หลับสบายขึ้น หรืออาจจะใช้วิธีสะกดจิตเข้าช่วยโดยการโปรแกรมจิตใหม่ก็จะช่วยได้
กรณีที่มีอาการมาก ๆ เราก็มียาให้เหมือนกัน เป็นพวกยาคลายเครียด หรือยาต้านเศร้า ซึ่งจะทำให้เขาหลับสนิทขึ้นโดยไม่ฝันมากนัก คือคนที่ผีอำจะฝันปนอยู่ด้วย เราก็ทำความฝันนั้นให้น้อยลง อาการผีอำก็จะลดลงเหมือนกัน หลักง่าย ๆ เวลาโดนผีอำให้นอนเฉย ๆ สักพักอาการจะหายไปเอง “

ส่วนความเชื่อที่ผู้ใหญ่มักเตือนว่า อย่านอนเวลาโพล้เพล้นั้น เกี่ยวข้องกับ “ ผีอำ “ อย่างไรเรื่องนี้มีคำอธิบายที่เป็นวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว

“ เวลาเย็น ๆ หรือเวลา โพล้เพล้ มันเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของแสง คือธรรมชาติของคนในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของแสงนั้นเป็นสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งที่ทำให้มีปัญหาในการนอน คือถ้าเรานอนตอนกลางคืน หรือกลางวันไปเลยจะไม่ค่อยมีปัญหา สิ่งที่ผู้ใหญ่พูดเป็นสิ่งที่ถูกต้องนะ เพราะไม่ใช่เรื่องผีอำย่างเดียวหรอกอาจจะนอนฝันร้ายก็ได้ เพราะว่าหลับไม่สบาย หลับไม่สนิท “

เพราะฉะนั้น ถ้าใครไม่อยากเจอสภาวะ “ ผีอำ “ ก็ต้องทำใจให้สบายก่อนนอน โดยอาจจะสวดมนต์ไหว้พระ แล้วคิดแต่เรื่องดี ๆ เพียงเท่านี้ก็จะทำให้การนอนของเราในแต่ละคืน จะได้เป็นการพักผ่อนที่แท้จริง

การหลับ คือการหยุดพักของร่างกายชั่วคราวโดยไม่รู้สึกตัว ซึ่งนอกจากความฝันแล้ว ยังเกิดอาการต่าง ๆ ได้หลายลักษณะ ในขณะที่คนเรานอนหลับ เช่น ละเมอ เดินละเมอ ฝันร้าย ปัสสาวะขณะหลับ นอนกัดฟัน โขกศีรษะขณะหลับ ผีอำ องคชาตแข็งตัวจนเจ็บ ปวดศีรษะ และอื่นๆ เช่น หอบเหนื่อย เจ็บแน่นหน้าอกกลางคืน เม็ดเลือดแดงแตกขณะหลับ หรือขย้อนขณะหลับ เป็นต้น
ปฏิกิริยาต่าง ๆ เหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นได้กับคนบางคนซึ่งไม่ใช่เรื่องประหลาดมหัศจรรย์หรือถูกผีเข้า อย่างที่เข้าใจผิดกันมานานแล้ว

ข้อมูลจาก
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 284
คอลัมน์: เรื่องน่ารู้
นักเขียนหมอชาวบ้าน: ธารดาว ทองแก้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook