จตุรงค์ สุขเอียด ตอบคำถามสำคัญในวันที่ว่ากันว่า ‘วงการข่าวกำลังจะล่มสลาย’

จตุรงค์ สุขเอียด ตอบคำถามสำคัญในวันที่ว่ากันว่า ‘วงการข่าวกำลังจะล่มสลาย’

จตุรงค์ สุขเอียด ตอบคำถามสำคัญในวันที่ว่ากันว่า ‘วงการข่าวกำลังจะล่มสลาย’
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“วงการข่าวกำลังจะล่มสลาย” คำพูดทำนองนี้ดูเหมือนจะถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายคนตื่นตระหนก หลายคนโวยวาย หลายคนไม่มั่นใจและไม่เข้าใจว่า มันจะเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร ในเมื่อข่าวอยู่รอบตัวเราตลอดเวลา ยังไม่นับการเข้ามาของโซเชียลมีเดียและทีวีดิจิตอลที่ขยับขยายช่องทางการสื่อสารให้เพิ่มขึ้นอีกมากมาย เกิดอะไรขึ้นกับคนทำงานสายงานข่าวที่เคยได้ชื่อว่า เป็น 'ฐานันดรสี่' ผู้ชี้นำสังคม เหตุใดเราจึงมีแต่ข่าวซุบซิบใต้เตียงดารา หรือข่าวดราม่าที่ไม่นำพาไปไหนมากกว่าความสะใจของแต่ละฝ่าย ทั้งที่การเข้ามาของเทคโนโลยีอย่างกูเกิ้ล เฟซบุ๊ก สมาร์ทโฟน ก็น่าจะควรนำข่าวขยับขยายเพดานไปสู่ที่ทางใหม่ๆ

“เหมือนมีหมาหลายตัว ช่วยกันเห่า ช่วยกันเฝ้า แต่กลายเป็นว่า หมากลับไปเฝ้ากันอยู่แค่ประตูเดียว คนร้ายก็อาจจะแอบเข้ามาทางข้างหลัง” นักข่าวสายแข็งคนหนึ่งของวงการอย่าง ‘จตุรงค์ สุขเอียด’ ว่าแบบนั้น 

‘จตุรงค์ สุขเอียด’ เป็นที่รู้จักจากรายการข่าวเจาะชื่อดังเมื่อครั้งอดีตอย่าง 'ถอดรหัส', รายการข่าวอย่าง 'ข่าว 3 มิติ' และ 'คนเฝ้าข่าว' ที่ยังนำเสนอประเด็นต่างๆ ของสังคมได้เข้มข้น  mars นั่งลงพูดคุยกับเขา พร้อมความสงสัยในย่อหน้าบนๆ ลองฟังทัศนะเจือน้ำเสียงจริงจัง และพินิจแววตามุ่งมั่นของคนที่เชื่อในการงานของตน 

นักข่าวเลือกข้างได้ไหม

ได้ แต่ต้องไม่แสดงออก เช่น นักข่าวหลายคนก็ชอบพรรคการเมืองพรรคนั้นพรรคนี้ แต่ส่วนตัวผมไม่ชอบการเมือง ไม่มีนักการเมืองในดวงใจเลยแม้แต่คนเดียว แต่รู้ว่านักข่าวด้วยกันมีคนนิยมพรรคการเมืองบางพรรค บางนโยบาย นักข่าวชอบใครสักคนเป็นการส่วนตัวได้ แต่เอาความชอบส่วนตัวมาพูดหรือมานำเสนอ หรือต่อเติมเพื่อทำให้น้ำหนักเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นักข่าวที่ดีจะไม่เอาเรื่องส่วนตัวมาพูดในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีก็ตาม เรื่องการเมืองก็เหมือนกัน

จัดลำดับความสำคัญของเรื่องที่จะเลือกทำข่าวอย่างไร

อันดับหนึ่งคือความทุกข์ร้อนต่อชีวิต หรือต่อครอบครัว ประสบการณ์ทำให้เราเลือกได้ง่ายขึ้น อย่างมีเรื่องถนนพัง ถ้าไม่ไปตอนนี้ อาจจะเดินทางลำบากหน่อย ไฟดับอาจรอก่อนได้ หรือเรื่องฉ้อโกงที่ไม่ได้เป็นภัยต่อชีวิต เป็นเรื่องของทรัพย์สิน ไม่ได้คอขาดบาดตาย หรือเรื่องเพื่อนบ้านเสียงดัง มันเป็นเรื่องของความรำคาญ แต่ถ้าเรื่องที่เป็นภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งเร่งด่วนเราต้องหยิบขึ้นมาแทรกก่อน 

หลังจากการเข้ามาของโซเชียลมีเดีย หรือทีวีดิจิตอล ที่ทำให้มีช่องทางการนำเสนอมากขึ้น ทำให้สื่อข่าวเปลี่ยนแปลงไปในแง่ไหนบ้าง

จริงๆ แล้วการมีสื่อมากๆ มันดี เพราะจะทำให้เกิดการตรวจสอบกันเองของนักข่าว อย่างเมื่อก่อนจะมีกรณีนักข่าวไปขอเงิน เพื่อจะลงหรือไม่ลงหรือบิดเบือนข่าว แต่พอมีนักข่าวมากๆ อย่างไรคนที่จ่ายเขาก็ให้ได้ไม่หมดหรอก ยิ่งมีนักข่าวมาก คนก็ยิ่งทำอะไรที่ไม่ถูกต้องได้ยากขึ้น นี่เป็นข้อดี เหมือนมีหมาหลายตัว ช่วยกันเห่า ช่วยกันเฝ้า แต่กลายเป็นว่า หมากลับไปเฝ้ากันอยู่แค่ประตูเดียว คนร้ายก็อาจจะแอบเข้ามาทางข้างหลัง ตอนนี้สื่อโซเชียลมีเดียมาเฝ้าหมาอีกทีหนึ่ง มาตลบหลังสื่ออีกที เป็นตัวตรวจสอบและสะท้อนสื่อด้วย แต่ก่อนสื่อด้วยกันจะไม่ค่อยตรวจสอบ ไม่ค่อยยุ่งกัน เรื่องของใครของมัน เด็กบ้านเอ็งผิดข้าไม่ยุ่ง เด็กบ้านข้าผิดเอ็งอย่ายุ่ง แต่เดี๋ยวนี้ประชาชนเป็นคนตรวจสอบสื่อ คนที่เป็นสื่อจริงๆ คือประชาชนที่ใช้โซเชียลมีเดีย เป็นสื่อที่เร็ว ทำหน้าที่ได้เร็วกว่านักข่าว ด่วนกว่านักข่าว แต่เขาอาจขาดการเชื่อมโยงข้อมูลที่ดีกว่านักข่าว มิติใหม่ของนักข่าวคือต้องเป็นผู้เชื่อมโยงจากการแชร์ของคนคนหนึ่งไปสู่อีกเรื่องราวหนึ่ง วิเคราะห์หรือนำเสนอว่า เรื่องที่เขาแชร์มามีต้นสายปลายเหตุอย่างไร ควรแก้ไขอย่างไร ทำให้การแชร์นั้นมีประโยชน์ นักข่าวมีหน้าที่ต้องทำข้อมูลให้ครบถ้วน อัพเกรดขึ้นมา มีภูมิรู้มากขึ้น แทนที่สังคมจะได้เห็นข้อความเดียว แชร์ภาพเดียว ก็เกิดเรื่องราว เป็นภาพใหญ่ขึ้นมา ถ้าทำแบบนี้ไม่ได้คุณจะแพ้โซเชียลมีเดีย คุณจะตกงาน นักข่าวที่จะอยู่ต่อไปได้คือคนที่มองเห็นว่า ข้อมูลนั้นๆ จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้อย่างไร โซเชียลมีเดียมันส่งไปถึงคนกลุ่มเดียว แต่นักข่าวตรวจสอบความถูกต้องให้ได้ รู้ทางออกของปัญหา เพื่อนำไปสู่การแก้ไขได้

มองว่าสื่อข่าวกำลังอยู่ในช่วงขาลงอย่างที่คนพูดถึงเรื่องวิกฤตทีวีดิจิตอลไหม

ไม่ๆ ทีวีดิจิตอลมันเป็นลูกโป่ง เดิมไม่ใช่ลูกโป่งแบบนี้ วิกฤตสื่อคืออยู่ๆ ลูกโป่งก็แตก ลูกโป่งที่สร้างปลอมๆ ขึ้นมาแค่หายไป นักข่าวที่ทำข่าวอย่างจริงจังมาตลอดยังอยู่ แต่นักข่าวที่โป่งพองขึ้นมา ทำงานปีสองปีแล้วอัพตัวเองเป็น บก. เป็นผู้บริหารหรือมีโปรไฟล์สูงๆ เงินเดือนมากๆ จะหมดไป มันเหมือนเราเคยมีวัด 6 วัด แล้วอยู่ๆ มีการตั้งวัดขึ้นมาอีก 14 วัด แต่วัดทุกวัดต้องมีเจ้าอาวาสและมีพระลูกวัดจึงจะครบองค์สวดใช่ไหม ทีนี้พอวัดมันเยอะขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว พระเลยมีไม่พอ ก็ไปเกณฑ์คนมาบวชกัน ตั้งเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งคนที่ยังไม่แตกพรรษา จะไปเทศน์ให้ใครฟังได้ อาจจะไปดึงพระหรือเณรจากวัดหนึ่งขึ้นมาตั้งเป็นเจ้าอาวาส นั่นก็เป็นธรรมะของสามเณร คนที่เป็นพระเถระอยู่แล้วเขาดูรู้ว่ามันเป็นการสร้างวัดขึ้นมาเพื่อต้องการเงินบริจาค ต้องการทำให้วัดรวยขึ้น ไม่ใช่ประโยชน์ที่สังคมจะได้ การประมูลทีวีดิจิตอลไม่ได้เกิดจากการที่สังคมขาดสื่อนะครับ เกิดจากนายทุนต้องการเงินจากโฆษณา เพียงแต่องค์ประกอบในสัญญาระบุว่าต้องมีข่าว 30-50% ไง มันเกิดจากธุรกิจ ไม่ได้เกิดจากการที่ประชาชนไม่มีที่ร้องเรียน ดังนั้นมันไม่ใช่ขาลง เพราะนักข่าวจริงๆ ไม่ขึ้นไม่ลง เขาทำของเขาไปเรื่อยๆ 

สื่อข่าวยังเป็นฐานันดรสี่ที่ชี้นำสังคมได้อยู่ไหม

เราไม่ได้เรียนนิเทศศาสตร์มา แต่เคยได้ยินคนพูดว่านักข่าวเป็นอาชีพพิเศษ เราถามว่าพิเศษอย่างไร เขาก็บอกว่ามีสิทธิ์ในการเข้าไปตรวจสอบตรงไหนก็ได้ แต่จริงๆ แล้วไม่จริงครับ นักข่าวต้องเข้าไปตรวจสอบอย่างเปิดเผยเท่านั้น เช่นบ้านนี้เรารู้ว่ามีปัญหา แต่ปัญหาส่วนตัวเราไม่เกี่ยว เข้าไม่ได้ ใครมีปัญหากับคนอื่นก็ร้องเรียนมา แต่ถ้าเขาไม่เปิดประตูให้ เราก็เข้าไปไม่ได้ ผมเห็นบ้านคุณจับสุนัขมาฆ่า จริงหรือเปล่า ถ้าบริสุทธิ์ใจขอเข้าไปดูหน่อย คนจะได้สบายใจ แต่ถ้าเขาบอกว่าไม่ได้ เราจะพยายามติดต่อบ้านที่แจ้งมา ว่าเจ้าของบ้านปฏิเสธที่จะให้เราเข้าไป เรามีหน้าที่แค่นี้ แต่ถ้าเราอยากเข้าไปให้ได้ ต้องไปติดต่อตำรวจให้ออกหมายค้น แล้วเราก็ขอเข้าไปด้วย

จิตวิญญาณของนักข่าวเมื่อยี่สิบสามสิบปีก่อนกับตอนนี้ไม่ได้แตกต่างกัน?

เรื่องจิตวิญญาณมันวัดกันไม่ได้ เราคิดว่านักข่าวส่วนใหญ่ที่มาทำอาชีพนี้ เขารู้อยู่แล้วว่าข่าวคืออะไร สิ่งที่เขาทำไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องส่วนรวม ซึ่งนักข่าวส่วนใหญ่มีอุดมการณ์ มีจิตวิญญาณอยู่แล้ว จะไปบอกว่าใครมีมากมีน้อยไม่ได้ ต้องดูว่าเขาทำอะไรและอย่างไร

มองกว้างๆ ในภาพใหญ่ ในฐานะคนที่ทำข่าวคลุกคลีกับปัญหาต่างๆมานาน มองว่าอะไรคือปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

มันอาจเหมือนกับที่ใครหลายคนคิดว่าทำไมชีวิตเราแย่ เราจน ทำไม่มีใครมาช่วยให้เรารวย แต่เราอาจไม่เคยถามตัวเองเลยว่า เราทำอะไรให้ตัวเองบ้างหรือยัง คนไทยมักชอบโทษว่าตัวเองไม่รวย จน ตกงาน เพราะเศรษฐกิจไม่ดี ผู้บริหารประเทศจัดการไม่ดี ทั้งที่เราหางานให้ตัวเราเองได้ สร้างฐานะให้ตัวเองได้ Know How เรามีอยู่กับตัวเอง เขาไม่ได้ห้ามเรานี่ เราโทษคนอื่น เราโทษองค์กร ขณะที่ไปต่างจังหวัด คนเขาก็ยังทำสวนทำนาของเขาไป โดยไม่ต้องมานั่งโทษรัฐบาลว่าจะพาเขาไปล่มจมที่ไหน แค่เขาทำงาน ก็มีกินมีใช้ในแบบของเขาไป แน่นอนว่า เศรษฐกิจควบคุมโดยกลไกของรัฐ แต่พอเศรษฐกิจไม่ดีก็จะมองแค่ว่ากลไกของรัฐไม่ดี แต่จริงๆ แล้ว มันจำเป็นไหมที่ต้องพึ่งพาองค์กรขนาดนั้น ทำไมเราไม่ลงจากตึกไปพัฒนา Know How พัฒนาโปรไฟล์ของเรา สร้างตัวเราขึ้นมา เรายังเกาะตึกไว้ ไม่กล้าทิ้งห้องแอร์ ไม่กล้าทิ้งคอมพิวเตอร์ ไม่กล้าเดินไปสู่โลกของเราเอง มีคนอีกเยอะที่ไม่รอรัฐบาล เดินหน้าพัฒนาตัวเขาไป การเปลี่ยนแปลงสังคมต้องเปลี่ยนที่ตัวเรา

มนุษย์ไม่เสพข่าวได้ไหม

ข่าวเหมือนอาหาร เราจำเป็นจะต้องรู้แม้กระทั่งเวลาเราเดินทางไปหน้าปากซอยว่า ถนนเส้นนี้มันมีปัญหาอะไรไหม เป็นหลุมเป็นบ่อหรือเปล่า หรือข้างหน้ามีรถชนกันอยู่ห้ามผ่านไหม นั่นก็คือข่าว เพื่อนโทรมาบอกว่าสุขุมวิทรถติดก็คือข่าว แม้ไม่อ่านจากสื่อ แต่การสื่อสารระหว่างกันก็คือข่าว ชีวิตเราประกอบด้วยข่าวอยู่แล้ว เราพูดกันก็คือข่าว ข่าวไม่จำเป็นต้องไปเสพจากสำนักข่าว ข่าวคือสิ่งที่เราแลกเปลี่ยนกัน เราไม่แลกเปลี่ยนกันเลยได้ไหม ได้ แต่จะเป็นแบบนั้นต่อเมื่อเรานิพพานไปแล้ว ไม่ต้องรับรู้อะไรแล้ว แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่น ข่าวก็จะอยู่ในทุกลมหายใจของเรา
 
เรื่อง : ฆนาธร ขาวสนิท
ภาพ : พาณุวัฒน์ เงินพจน์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook