น้ำจากฝักบัวเสี่ยงโรค
เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เรามักไม่ค่อยใส่ใจกันเท่าไหร่ แต่หลายคนก็ไม่รู้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ค้นพบว่ามีแบคทีเรีย มายโคแบคทีเรียเอเวียม (Mycobacterium Avium) สะสมอยู่ในหัวฝักบัวมากกว่าบริเวณอื่น เนื่องจากสภาวะที่เหมาะสม ทั้งความชื้นอุณหภูมิและไม่มีแสง ช่วยทำให้แบคทีเรียชนิดนี้สร้างไบโอฟิล์ม (Biofilms) ที่ทำหน้าที่คล้ายตัวยึดจับเกาะกับฝักบัว ทำให้กำจัดออกยาก แบคทีเรียดังกล่าวเป็นสาเหตุของโรคปอด ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อย ไอแห้ง ไอเรื้อรัง หายใจลำบากและหมดแรง
ผลจากการศึกษาจากโรงพยาบาลยิวแห่งชาติ พบว่ามีการติดเชื้อในปอดเพิ่มมากขึ้นในสหรัฐอเมริกา เมื่อมีการหายใจหรือสำลักเข้าไป และยังชี้ว่าปริมาณที่พบในฝักบัวนั้นมีมากกว่าปริมาณที่พบในน้ำจากก๊อกของบ้านทั่วๆ ไป 100 เท่า และการพ่นฝอยของน้ำจากฝักบัวเป็นสาเหตุสำคัญในการทำให้เชื้อกระจายตัวไปในอากาศและเข้าสู่ปอดได้ง่าย เชื้อดังกล่าวเป็นอันตรายต่อผู้ที่มีโรคทางพันธุกรรมที่ก่อให้เกิดโรคในปอดและทางเดินอาหาร ภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเอดส์ และผู้ที่บำบัดมะเร็ง หรือเพิ่งปลูกถ่ายอวัยวะ ส่วนคนที่ร่างกายแข็งแรงไม่ใช่สิ่งที่กังวลมากนัก
การหลีกเลี่ยงสำคัญ อยู่ที่การเลือกใช้ฝักบัวที่เป็นโลหะ เพราะจุลินทรีย์จะเติบโตได้ยากกว่าฝักบัวพลาสติก นอกจากนี้ ยังควรหมั่นทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ และก่อนจะเปิดใช้ฝักบัวควรปล่อยน้ำที่ค้างทิ้งก่อนเสมอ
ที่มา
คอลัมน์ สรรหามาขยาย
ประชาชาติธุรกิจ