ข้อคิดก่อนการตัดสินใจว่าจ้าง Personal Trainer สำหรับการออกกำลังกายส่วนตัว

ข้อคิดก่อนการตัดสินใจว่าจ้าง Personal Trainer สำหรับการออกกำลังกายส่วนตัว

ข้อคิดก่อนการตัดสินใจว่าจ้าง Personal Trainer สำหรับการออกกำลังกายส่วนตัว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ว่ากันว่า เดือนมกราคมเป็นเดือนที่จะมีผู้สมัครใช้บริการฟิตเนส ยิม มากที่สุดในรอบ 12 เดือน และเดือนมกราคมอีกเช่นกัน ก็จะเป็นเดือนที่ยิมเต็มไปด้วยคนออกกำลังกายเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นไม่เกิน 2-3 เดือน จำนวนผู้มาออกกำลังกายก็จะค่อยๆ ลดลง 

แน่นอน การที่จำนวนผู้มาใช้บริการฟิตเนส ยิม ลดลง เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ง่ายว่า ทำไมจำนวนผู้มาออกกำลังกายในยิมแต่ละแห่งจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นั่นเป็นเพราะเดือนมกราคมเป็นเดือนที่ผู้คนจะตั้งเป้าหมายใหม่ๆ ในแต่ละปี ก่อนที่เป้าหมายที่เคยตั้งไว้จะค่อยๆ เลือนรางหายไปกลายเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในชีวิต ซึ่งเราอาจคาดหมายว่า สาเหตุหลักน่าจะมาจากความขี้เกียจ การเปรียบเทียบขนาดร่างกายของเรากับคนที่เล่นมาก่อนในยิม ซึ่งอาจมีขนาดร่างกายที่ใหญ่กว่า จนทำให้บางคนไม่กล้ากลับไปเล่นฟิตเนส ความไม่สันทัดในการใช้งานเครื่องเล่น รวมถึงไม่มีเพื่อนร่วมออกกำลังกาย

อันที่จริงปัญหาดังกล่าวก็สามารถที่จัดการได้ง่ายๆ เพียงแต่จำต้องใช้เงินเป็นตัวช่วยในการแก้ปัญหา นั่นก็คือ การว่าจ้างเทรนเนอร์ส่วนตัว หรือ Personal Trainer (PT)  ทั้งนี้ เป็นเพราะการว่าจ้างเทรนเนอร์จะช่วยฝึกสอนผู้เล่นให้สามารถออกกำลังกายได้อย่างถูกวิธี สามารถยกดัมเบล-บาร์เบล ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย จนถึงการจัดโปรแกรมออกกำลังกายและการรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับผู้เล่น และที่สำคัญจะไม่ทำให้รู้สึกเปล่าเปลี่ยวเดียวดายในระหว่างการออกกำลังกาย

ด้านการเลือกเทรนเนอร์สำหรับเป็นตัวช่วยในการออกกำลังกาย หากว่ากันตามตรงแล้ว จำเป็นต้องคิดคำนึงหลายด้าน โดยต้องเริ่มจากความน่าเชื่อถือของเทรนเนอร์ ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก และเป็นสิ่งที่ไม่ควรลังเลในการตัดสินใจเลือกเทรนเนอร์สักคนอีกด้วย เมื่อเราตัดสินใจที่จะมีเทรนเนอร์ส่วนตัวแล้ว เราจำเป็นต้องสอบถามอย่างตรงไปตรงมาว่า เทรนเนอร์ที่เราตัดสินใจจะว่าจ้างเคยผ่านการอบรมในระดับไหนมาก่อน มีเครดิตความน่าเชื่อถือหรือไม่ เพราะเราต้องไม่ลืมว่า การออกกำลังกายอย่างเวทเทรนนิ่ง ถึงที่สุดแล้วก็มีความอันตรายซ่อนอยู่ ดังนั้นเราไม่ควรจะเสี่ยงกับเทรนเนอร์ที่ยังไม่ผ่านการอบรม และมีประสบการณ์น้อยเกินไป

พร้อมกันนี้ การว่าจ้างเทรนเนอร์ ก็ไม่ควรที่จะ 'เร่งรีบ' เกินไป แต่ควรที่จะใช้เวลาศึกษา และคอยสังเกตดูว่า เทรนเนอร์แต่ละคนมีลักษณะการเทรนลูกค้าเป็นอย่างไร สามารถโน้มน้าว หรือสร้างแรงจูงใจในการออกกำลังกายได้ดีเพียงใด นอกจากนี้ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจ้าง ก็ควรมีการพูดคุยสักประมาณหนึ่ง โดยการพูดคุยที่ว่านี้ เพื่อศึกษานิสัยใจคอ รวมถึงมีปรัชญาในการออกกำลังกายตรงกันหรือไม่ เนื่องจากเทรนเนอร์แต่ละคนอาจมีความถนัด หรือ Specialties คนละอย่าง เทรนเนอร์บางคนอาจเก่งเรื่องของการลดไขมันส่วนเกิน บางรายอาจเก่งในเรื่องของการปั้นกล้ามเนื้อสำหรับลงแข่งเพาะกาย หรือเทรนเนอร์บางคนเป็นสายกีฬา ถนัดในการสร้างกล้ามเนื้อ เพื่อให้เหมาะสมกับกีฬาที่เราเล่นเป็นประจำ

เมื่อสามารถตกลงปลงใจในการเลือกเทรนเนอร์ได้แล้ว สิ่งสำคัญอย่างท้ายๆ ที่จะต้องนำประกอบการตัดสินใจ ก็คือ เรื่องตารางเวลาของเราและเทรนเนอร์จะต้องตรงกัน หากไม่ตรงกันก็ต้องคุยกันตั้งแต่เนิ่นๆ ว่า ช่วงเวลาใดที่เป็นตรงกลางในการฝึกซ้อมสร้างกล้ามเนื้อ เพื่อให้ทุกฝ่ายสะดวกใจในการร่วมงานมากที่สุด

อย่างไรก็ดี สิ่งสุดท้ายที่ต้องคำนวณก็คือ เรื่องของราคาค่าตัวของเทรนเนอร์ ถ้ามีเงินมากเพียงพอก็คงไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่ถ้าการว่าจ้างเทรนเนอร์จะเข้ามาเบียดบังทำให้เงินการใช้เงินของเราขาดสภาพคล่อง ก็คงเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องหมั่นศึกษา หาความรู้เพิ่มเติม ทั้งจากการดูจากแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ เช่น YouTube รวมถึงการขอคำปรึกษาจากคนที่เล่นมานานในยิม พร้อมกับการฝึกฝนด้วยตัวเองเท่านั้นครับ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook