บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ทุนวิจัย หวังส่งเสริมให้คนหันมาดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น
บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ทุนวิจัย เพื่อส่งเสริมให้คนหันมาดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น โดยระบุว่าแอลกอฮอล์มีผลดีกับสุขภาพ
สำนักข่าว The New York Times, Wired และ Stat ตีพิมพ์การสืบสวนสอบสวนพบว่า บริษัทขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พยายามใช้ข้อสันนิษฐานทางวิทยาศาสตร์ ที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ได้รับการพิสูจน์แล้วมาโน้มน้าวให้คนมองเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยคาดหวังให้คนดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น
รายงานดังกล่าวระบุว่าเจ้าหน้าที่ในสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ ที่ดูแลเรื่องโทษของแอลกอฮอล์และการเสพติดแอลกอฮอล์ หรือ NIAAA พยายามชักชวนผู้บริหารบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้สนับสนุนเงินทุนการศึกษาทดลองทางการแพทย์เกี่ยวกับ 'การดื่มแอลกอฮอล์แบบปานกลาง' โดยคาดว่า ผลการศึกษานี้อาจสรุปออกได้ว่าการดื่มแอลกอฮอล์แบบนี้จะปลอดภัยและลดความเสี่ยงการเกิดโรคต่างๆ
ทั้งนี้ NIAAA ต้องพึ่งพาเงินทุนจากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำนวนมหาศาล เพื่อทำการทดลองระยะยาว ซึ่งต้องใช้เงินมาก ดังนั้น ผู้บริหารบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงได้รับอนุญาตให้ช่วยเลือกนักวิทยาศาสตร์ และดูการออกแบบการทดลองได้ด้วย ซึ่งหากมีนักวิทยาศาสตร์บางคนที่ตีพิมพ์ผลวิจัยที่ส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พวกเขาจะถูกเจ้าหน้าที่ NIAAA ต่อว่าและตัดออกมาโครงการรับทุนวิจัยนี้
แม้นักวิทยาศาสตร์หลายคนจะยืนยันว่าตนเองทำงานโดยอิสระ แต่ผลการศึกษาพบว่า งานวิจัยที่ได้รับเงินทุนจากอุตสาหกรรมอาหารจะสรุปผลวิจัยที่เป็นผลบวกทางธุรกิจกับผู้ให้ทุนมากกว่าวิจัยที่ไม่ได้ทุนจากอุตสาหกรรมนี้ 4 - 8 เท่า งานวิจัยที่ได้รับทุนจากอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งยังมีแนวโน้มจะปิดบัง ข้อมูลเชิงลบ เช่น การวิจัยที่บริษัทยาให้ทุน มักจะถูกตีพิมพ์น้อยว่าวิจัยที่ได้รับเงินจากแหล่งทุนอื่นๆ
นายเดวิด เจอร์นิแกน อาจารย์จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ของมหาวิทยาลัยบอสตันกล่าวว่าผู้ให้ทุนวิจัยนี้มีส่วนได้ส่วนเสียกับผลวิจัย ซึ่งจะส่งเสริมให้คนใช้สินค้านั้นมากขึ้น จึงถือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนที่เห็นได้ชัดเจน นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องมีภาควิทยาศาสตร์ที่เป็นอิสระ
อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พยายามทำให้ผลวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้พาดหัวข่าวบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นวิจัยที่ระบุว่า การดื่มไวน์แดงดีต่อหัวใจ หรือการดื่มแอลกอฮอล์อย่างเหมาะสมจะทำให้มีชีวิตยืนยาวกว่าการไม่ดื่มแอลกอฮอล์เลย ซึ่งการเห็นข่าวในเชิงบวกเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บ่อยๆ จะทำให้ทัศนคติของคนเปลี่ยนไป
ผลสำรวจของ Gallup เมื่อปี 2558 พบว่า ชาวอเมริกัน 1 ใน 5 คนเชื่อว่าการดื่มแอลกอฮอล์แบบ 'ปานกลาง' จะดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้ว และความเชื่อนี้เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเป็นการเชื่อมโยงการดื่มแอลกอฮอล์เข้ากับไลฟ์สไตล์สุขภาพ
ขณะที่ มิเชล ฟานเดลเลน ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมตนเองและพฤติกรรมการกินจากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย ระบุว่า การดื่มแบบ 'ปานกลาง' เป็นคำที่คลุมเครือ และสุดท้ายผู้ดื่มจะนิยามคำว่า 'ปานกลาง' ตามใจตนเอง แม้บางวิจัยจะระบุว่า 'ปานกลาง' ในที่นี้คือ 1 แก้วต่อวันสำหรับผู้หญิง และ 2 แก้วต่อวันสำหรับผู้ชาย โดยในปี 2559 มีการวิเคราะห์ผลการวิจัย 87 ชิ้นเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างการดื่มแบบ 'ปานกลาง' กับการมีชีวิตยืนยาวพบว่า วิจัยเหล่านี้ไม่นับรวมคนที่เคยดื่มแอลกอฮอล์แล้วเลิกดื่มไปแล้ว ซึ่งทำให้ผลการวิจัยไม่รอบด้าน
การศึกษาคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 600,000 คนจาก 19 ประเทศร่ำรวย พบว่าความเสี่ยงเสียชีวิตจากสาเหตุต่างๆ เริ่มเพิ่มขึ้นหลังจากที่คนดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 100 กรัมต่อสัปดาห์ หรือประมาณ 7 แก้ว ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณที่ผลวิจัยต่างๆ ระบุว่าเป็นปริมาณการดื่มแบบ 'ปานกลาง' สำหรับผู้หญิง หรือเพียงครึ่งหนึ่งของการดื่มแบบ 'ปานกลาง' สำหรับผู้ชาย