คุยกับ "ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ" นักการเมืองรุ่นใหม่กับความฝันพัฒนาสังคมไทย
ราว 5 ปีที่แล้วในสังคมไทยได้มีโอกาสรู้จักไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ ในฐานะหลานชายของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เพียงชั่วข้ามคืน จากใบหน้าที่ละม้ายคล้ายคลึงกับอภิสิทธิ์ ผู้เป็นน้าชาย นั่นจึงทำให้ชื่อของไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ เริ่มถูกจับตามองตั้งแต่วันนั้น ทั้งในฐานะของหลานอดีตนายกรัฐมนตรี เด็กหนุ่มหน้าตาดี หรือแม้แต่ว่าที่นักการเมืองรุ่นใหม่ในอนาคต
ก่อนที่ต้นปี 2561 ชื่อของไอติม พริษฐ์ กลับมาอยู่บนพื้นที่สื่ออีกครั้ง ในฐานะนักการเมือง "ยังบลัด" หรือนักการเมืองสายเลือดใหม่ของพรรคเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ แข่งกับนักการเมืองหน้าใหม่ ทั้งจากพรรคอนาคตใหม่ภายใต้การนำของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล และวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคคนใหม่ของชาติไทยพัฒนา แล้วในห้วงเวลาเดียวกันนั้น ไอติม ก็สร้างความฮือฮาอีกครั้ง ด้วยการสมัครเข้าเป็นทหารกองประจำการผลัดที่ 1 ของกองทัพบก
เมื่อมีโอกาสได้พบกัน Sanook Men จึงเลือกชวนคนรุ่นใหม่ผู้นี้ มาร่วมสนทนา พูดคุยถึงการเป็นนักเรียนประจำในต่างแดน การตัดสินใจเดินเข้าสู่แวดวงการเมือง และเรื่องของฟุตบอลโดยเฉพาะสโมสรลิเวอร์พูล
เชื่อว่า คงมีหลายคนสงสัย และอยากทราบถึงที่มาของชื่อไอติม
มีสองเหตุผลครับ เหตุผลแรก ผมมีพี่ชายชื่ออะตอม แล้วคุณพ่อคุณแม่ก็อยากให้ลูกชายอีกคนหนึ่ง ก็คือผมมีชื่อที่คล้องจองกัน เหตุผลที่สอง คุณพ่อคุณแม่คิดว่า ถ้ามีโอกาสเรียนต่อหรือได้ทำงานต่างประเทศ ก็อยากให้มีชื่อที่แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ อะตอม ก็เลยมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่าทอม (Tom) ส่วนไอติม ก็มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า ทิม (Tim) ครับ แต่พอผมได้ไปเรียนที่อังกฤษในฐานะนักเรียนทุนตอนอายุ 13 ปี เพื่อนที่อังกฤษก็เรียกผมด้วยชื่อจริงแทนมากกว่า
ย้อนกลับไปเรื่องของนักเรียนทุน ตอนนั้นทุนที่ได้เป็นทุนอะไร
ตอนนั้นผมได้ทุนของโรงเรียนมัธยมอีตัน คอลเลจ (Eton College) ซึ่งที่จริงทุนนี้เรียกว่า King's Scholarships คล้ายกับทุนเล่าเรียนหลวงไทย เพียงแต่ว่า ทุนที่ผมได้รับนั้น เป็นทุนเล่าเรียนจากกษัตริย์เฮนรี่ที่ 6 (King Henry VI) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนอีตัน
อันที่จริงคนภายนอก มักจะมองว่า โรงเรียนอีตันเป็นโรงเรียนลูกคนรวย ซึ่งก็เป็นความจริงส่วนหนึ่ง แต่ว่านโยบายของโรงเรียนอีตัน คอลเลจ คือในทุกๆ ปี จะมีนักเรียนจำนวน 15 คน จาก 250 คน สามารถเข้ามาเล่าเรียนโดยขอรับทุนของกษัตริย์เฮนรี่ที่ 6 โดยที่ทุนดังกล่าวเป็นเงินทุนที่มาจากดำริของกษัตริย์เฮนรี่ที่ 6 ตั้งแต่สมัยก่อตั้งโรงเรียนซึ่งจะเปิดโอกาสให้คนที่สนใจจะได้รับทุนนี้ เข้าไปสอบชิงทุน โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฐานะ ตอนนั้นผมก็ตัดสินใจเสี่ยงไปลองสอบดู ผลก็คือ ผมได้เป็นนักเรียนทุนดังกล่าว
อยากให้ลองเล่าให้ฟังหน่อยว่า การที่เป็นเด็กอายุ 13 ปี แต่ต้องไปเรียนโรงเรียนประจำ ทั้งยังเป็นโรงเรียนประจำในต่างประเทศ มันมีความยากในการปรับตัวอย่างไร
ปรับตัวพอสมควรครับ โดยเฉพาะปีสองปีแรกเป็นช่วงเวลาที่ยากมาก อย่างแรกเลยก็คือเรื่องของภาษา เพราะตอนที่เรียนที่นั่นแรกๆ ภาษาอังกฤษผมยังไม่แข็งแรงมากนัก ทำให้การสื่อสารกับเพื่อนก็ไม่คล่องแคล่วนัก แต่ก็โชคดีอยู่หน่อย คือโรงเรียนเขามองเรื่องศักยภาพความคิดมากกว่าเรื่องของภาษา
อย่างที่สอง เป็นเรื่องของวิชาใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเรียนมาก่อนในประเทศไทย เช่นภาษาฝรั่งเศส ภาษาละติน รวมถึงวิชาเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ ซึ่งมันเป็นเนื้อหาที่เราไม่คุ้นเคย จึงทำให้เราเรียนตามหลังเพื่อนๆ ในห้องเรียน
อย่างที่สาม ก็เป็นเรื่องของโรงเรียนประจำ ทุกๆ คนต้องใช้ชีวิตแบบที่มีวินัยมากๆ และต้องบริหารเวลาด้วยตัวเอง ซึ่งแรกๆ ผมก็ไม่ค่อยคุ้น แต่พออยู่สักพักก็ชอบ
ส่วนสิ่งที่น่าสนใจของโรงเรียนอีตัน ก็คือ โรงเรียนแห่งนี้ไม่ได้มุ่งเน้นด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว พอเรียนเสร็จโรงเรียนจะเปิดโอกาสให้นักเรียนไปศึกษาเพิ่มเติมในสิ่งที่ตัวเองสนใจ เปิดโอกาสให้เรียนนอกห้องเรียนมากขึ้น เช่น ถ้าใครชอบเรื่องการละคร ก็มีให้ไปศึกษาเรื่องละครได้ ใครอยากเล่นดนตรีก็ไปเล่นดนตรี รวมถึงโรงเรียนยังมีการเชิญวิทยากรภายนอกให้นักเรียนไปเข้าฟัง โดยที่วิทยากรก็จะมีตั้งแต่นักการเมือง นักเขียน เป็นต้น ซึ่งผมคิดว่า ความทรงจำของผมเกี่ยวกับโรงเรียนอีตัน มักจะเป็นเรื่องการเรียนนอกห้องเรียนมากกว่าในห้องเรียน
อยากให้ย้อนกลับไปมองสมัยที่เรียนมัธยมที่อังกฤษ ไอติมเป็นนักเรียนแบบไหน
แน่นอนครับว่า การที่เรียนในโรงเรียนประจำ แล้วก็มีเพื่อนสนิทที่เป็นผู้ชาย อยู่ด้วยกัน กิน-นอน 24 ชั่วโมง ยังไงก็ต้องมีวีรกรรมสนุกสนานอยู่บ้างครับ ส่วนตัวผมคิดว่า ผมเรียบร้อยในระดับหนึ่งนะ แต่ในกลุ่มผมก็จะมีเพื่อนตัวแสบ ซึ่งอาจจะเรียกว่า ผมเป็นเด็กเรียบร้อยที่อยู่ในกลุ่มค่อนข้างแสบ (หัวเราะ)
จำได้ว่า ตอนนั้นผมเป็นหัวหน้าบ้าน แบบเดียวกับในแฮร์รี่ พอตเตอร์น่ะครับ หน้าที่ของผมในการเป็นหัวหน้าบ้านตอนนั้น ก็ต้องคุมพฤติกรรมของเพื่อนตัวเอง ทำหน้าที่เหมือนเป็นตัวกลางระหว่างเพื่อนกับครูหัวหน้าบ้าน
ในฐานะที่เป็นนักเรียนที่มีระบบบ้านเหมือนในแฮร์รี่ พอตเตอร์ คิดว่าหมวกคัดสรรจะเลือกไอติมไปอยู่ในบ้านหลังไหน
ถ้าเปรียบเทียบกับในแฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็คงเปรียบได้กับนักเรียนบ้านเรเวนคลอ (Ravenclaw) เพราะตอนนั้นผมอยู่บ้านนักเรียนทุน ซึ่งก็ตรงกับเรเวนคลอที่มีชื่อเสียงด้านการเรียนครับ
หลังจากเรียนจบที่อีตัน แล้วก็ไปเรียนต่ออ็อกซ์ฟอร์ด คณะปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ สุดท้ายแล้วต้องทำงานด้านการเมืองรึเปล่า
ในรุ่นผมที่จบมา อาจจะเป็นผมคนเดียวที่เข้าไปทำงานการเมือง ซึ่งอันที่จริงคณะปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ เป็นวิชาที่กว้างมาก บางวันอาจจะต้องเรียนเศรษฐศาสตร์ที่เต็มไปด้วยตัวเลข อีกวันหนึ่งเรียนเรื่องปรัชญา ก็ต้องตอบคำถามในสิ่งที่เป็นนามธรรม จับต้องได้ยาก
จากที่เราใช้ชีวิตในอังกฤษ ในประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตย เราได้เรียนรู้อะไรจากในสังคมในอังกฤษบ้าง
ในทางทฤษฎีอังกฤษและไทยมีความเหมือนกันในแง่ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพียงแต่ในแง่ทางปฏิบัติแล้ว ในไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่อังกฤษ คุณภาพของโรงเรียนและโรงพยาบาลมีความใกล้เคียงกัน ทำให้คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งลูกไปเรียนโรงเรียนที่ใกล้บ้านได้เลย เช่นเดียวกันถ้าหากมีใครเจ็บป่วย ก็จะส่งไปที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ซึ่งในประเทศอังกฤษสามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะมาตรฐานของสถานศึกษาและสถานพยาบาลมีคุณภาพใกล้เคียงกัน แต่ในประเทศไทย ถ้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงเปิดเทอม คุณพ่อคุณแม่ก็จะพากันส่งไปที่โรงเรียนชื่อดังแห่งนั้นแทบทั้งสิ้น เวลาที่ผมไปเยี่ยมคุณพ่อคุณแม่ที่ทำงานในโรงพยาบาลจุฬาฯ ก็จะเห็นปัญหาคือ คนไข้จำนวนมากจะต้องใช้เงินเยอะมาก เพื่อเดินทางเข้ามารักษาตัวในกรุงเทพ
ทั้งหมดนั้นจึงทำให้ผมเกิดความคิดและข้อสงสัยตั้งแต่เด็กๆ ว่า ในเมื่อระบบการปกครองของอังกฤษและไทย มีความเหมือนกัน แต่ทำไมผลลัพธ์ที่ออกมาจึงต่างกัน?
เจอแนวทางที่จะลดความเหลื่อมล้ำแล้วหรือยัง
มีครับ ผมคิดว่า เป็นเรื่องของงบประมาณที่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมาก ทำให้หลายคนต้องมุ่งหน้าเข้ามาหางานในกรุงเทพ แน่นอนว่า เรื่องการกระจายความเจริญไปทั่วประเทศ เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา แต่อันดับแรกต้องมีการกระจายอำนาจเต็มรูปแบบ ให้แต่ละจังหวัดสามารถเลือกตั้งผู้ว่าราชการโดยตรง แทนการจัดสรรจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งผมมองว่า การที่แต่ละจังหวัดมีผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ก็น่าจะทำให้คนที่เป็นผู้ว่าฯ เป็นคนที่มาจากในพื้นที่ เพราะสามารถทราบถึงปัญหาของท้องถิ่นได้ดีกว่า
ขั้นตอนที่สอง เทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยได้เช่นกัน ครั้งหนึ่งผมเคยไปทำโปรเจกต์ให้กับโรงเรียนในประเทศแถบแอฟริกา เป็นโรงเรียนเอกชนที่มีค่าเทอมเท่าๆ กับโรงเรียนของรัฐ มีโรงเรียนใหญ่ในเมืองหลวง แล้วก็มีโรงเรียนในเครือข่ายอยู่ในชนบท ทีนี้เงื่อนไขก็คือว่า จะทำอย่างไรให้โรงเรียนในชนบทมีคุณภาพเท่ากัน เพราะต้องยอมรับว่า พอเป็นโรงเรียนในชนบทการจะหาครูก็ทำได้ยากกว่าเมืองหลวง รัฐก็เลยให้แท็บเล็ตแก่ครูทุกคนในเครือข่าย โดยส่วนกลางสามารถตรวจสอบได้ว่า ครูผู้สอนทำการสอนเร็วหรือช้าเกินไป มีการเร่งบทเรียนให้จบเร็วเกินไปรึเปล่า สอนจบบทเรียนหรือไม่ คราวนี้ทางส่วนกลางก็สามารถวัดผลได้ว่า การเรียนการสอนของครูในชนบทเป็นอย่างไรบ้างเทียบกับส่วนกลาง ซึ่งตรงนี้ผมก็คิดว่า น่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำลงได้ครับ
นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปผนวกใช้ในแง่ของสาธารณสุขก็ทำเหมือนกัน เช่น Tele Health สมมติว่า มีศูนย์ X-Ray ในต่างจังหวัด แต่อยากปรึกษาหมอที่กรุงเทพ ก็สามารถทำได้ด้วยเทคโนโลยีครับ
ในระหว่างที่กำลังคุยกันขณะนี้ อีกไม่กี่วันข้างหน้า ไอติมจะต้องเข้าไปรับราชการทหาร มีอะไรที่กังวลเป็นพิเศษหรือไม่
ไม่มีครับ แต่ผมก็ได้ยินข่าวเรื่องน่าสลดใจหลายครั้ง ผมก็หวังว่า กรณีนั้นจะไม่เกิดขึ้นกับผม ซึ่งผมคิดว่า การเกณฑ์ทหารก็ไม่จำเป็นต้องมาพร้อมกับความรุนแรงที่เกินเหตุ
อย่างไรก็ดี ผมก็คาดหวังว่า ความน่าสลดใจจากการเกณฑ์ทหารจะไม่เกิดขึ้นอีก แต่ถ้ามันเกิดเหตุน่าสลดใจขึ้นจริงๆ สุดท้ายแล้วก็จำเป็นต้องมีกระบวนการตรวจสอบที่โปร่งใส และต้องมีผู้รับผิดชอบตามบทลงโทษของกฎหมาย
คาดหวังอะไรจากการเป็นทหาร
แน่นอนว่า ผมไม่ต้องการเป็นทหารอาชีพ แต่สิ่งที่ผมคาดหวังไว้จากการสมัครรับราชการทหาร ก็คือ การได้พบปะผู้คนมากหน้าหลายตา หลากสาขาวิชาชีพ ปูมหลังที่แตกต่าง และได้เรียนรู้ชีวิตคนไทยอย่างใกล้ชิดมากขึ้น นอกเหนือจากคนในครอบครัว
นอกจากนี้อย่างที่ทราบ ผมไปเรียนมัธยมที่ต่างประเทศ จึงทำให้ไม่ได้ลงเรียนเป็นนักศึกษาวิชาทหาร (นศท.) ซึ่งผมก็ลองค้นข้อมูล พบว่า คนที่ลงเรียนเป็นนักศึกษาวิชาทหารในประเทศไทยมีราวๆ 25% ของประเทศ และก็กระจุกอยู่ที่กรุงเทพและตามหัวเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น ส่วนจังหวัดเล็กๆ ถ้าจะเรียนก็ต้องเดินทางเข้ามา แล้วก็เสียค่าใช้จ่ายเยอะ ตรงนี้ผมก็มองว่า เป็นปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ
อย่างไรก็ดี ผมยอมรับว่า ยังไม่ตกผลึกในเรื่องของการมีหรือไม่ควรมีการเกณฑ์ทหาร แต่ผมก็มองว่า เป็นคำถามที่น่าสนใจเหมือนกันครับ
หลังออกจากปลดประจำการ นอกจากงานการเมืองแล้ว ไอติม อยากทำอะไรเป็นพิเศษ
อันที่จริง ผมเคยทำงานมาแล้ว 2 ปีครึ่ง ให้กับบริษัทที่ปรึกษาเชิงนโยบายทางกลยุทธ์ให้กับรัฐบาลและเอกชนในต่างประเทศที่มีออฟฟิศทั่วโลก ตัวอย่างงานที่ผมทำ เช่น ถ้ารัฐบาลสักประเทศหนึ่งต้องการผลักดันให้ประชาชนใช้บริการขนส่งสาธารณะ บริษัทที่ทำผมทำอยู่ก็จะเข้าไปให้คำปรึกษา พร้อมกับวางกลยุทธ์ว่าจะต้องทำอย่างไร ถึงจะผลักดันให้สำเร็จ หรือบริษัทที่ต้องการไปเปิดตลาดในต่างประเทศ ผมก็จะวิเคราะห์ว่า ควรที่จะไปประเทศไหน แต่ที่ผ่านมา ผมมักจะทำโปรเจกต์ที่เกี่ยวกับงานของรัฐบาล ในเรื่องของการให้คำปรึกษาเรื่องสาธารณสุข หรือโทรคมนาคม เป็นต้น
จากประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมา จึงอยากลองใช้ความรู้เหล่านี้ไปในด้านการพัฒนาประเทศครับ ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายในประเทศไทย ถ้าผมเปลี่ยนข้อกฎหมายเพียงนิดเดียวให้คนเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้ ผมว่าตรงนี้ มันจะเป็นการสร้างความสุขให้กับคนหลายๆ คน เหมือนกับรัฐให้เกียรติความรักของเขา และยังได้ประโยชน์เรื่องของภาษี ประกันสุขภาพ หรือการกู้ร่วม ผมว่ามันสามารถสร้างผลประโยชน์ให้แก่ประชาชนได้อย่างชัดเจน
การทำงานบริษัทที่ปรึกษาเชิงสังคม เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สนใจการเมืองรึเปล่า
ใช่ครับ โดยแบ่งเป็นสองด้านนะครับ ด้านแรกทำให้ผมมีประสบการณ์ในหลายอุตสาหกรรมจากในหลายประเทศ จนสรุปเป็นบทเรียนที่สามารถนำมาใช้กับประเทศไทยได้ ด้านที่สอง บริษัทที่ผมเข้าไปทำงาน จะรับเด็กจบใหม่ที่มีทักษะการคิด การวิเคราะห์ที่ดี โดยทุกๆ 2-3 เดือน จะมีการหมุนเวียนให้พนักงานได้ทำงานในโปรเจกต์อื่นๆ ของบริษัท ซึ่งแต่ละโปรเจ็คนั้น จะได้ทำงานร่วมกับซีอีโอของบริษัท หรือปลัดกระทรวง แน่นอนว่า ความท้าทายในการทำงานก็คือ เราจะให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าของบริษัทอย่างไร ซึ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์ที่ได้จากการทำงาน โดยเฉพาะจากคนที่มีประสบการณ์มากๆ แล้วเราในฐานะเด็กจบใหม่จะเติมเต็มสิ่งที่ต้องการได้มากน้อยแค่ไหน
โดยสรุปก็คือ จากประสบการณ์การทำงานทำให้ผมได้องค์ความรู้ในหลายๆ อุตสาหกรรมและฝึกทำงานร่วมกับคนที่มีประสบการณ์ ซึ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับงานการเมืองครับ
ถ้าให้มองตัวเองในฐานะของคนธรรมดาที่ชื่อไอติม กับไอติมที่เป็นนักการเมือง มีความแตกต่างมากน้อยแค่ไหน
แตกต่างแน่นอนครับ ไอติมที่เป็นคนทำงาน หรือทำงานด้านการเมือง จะเป็นคนที่มีความจริงจังมาก ถ้ามีโทรศัพท์เรื่องงานผมก็จะลุกออกไปจากวงทันที หรือบางคนที่เริ่มรู้จักผมจากการทำงานมาก่อน ก็จะมองว่า การที่จะทำงานกับผมได้ จะต้องรู้ความเคลื่อนไหวของโลก หรือไม่ก็ต้องไปอ่านนิตยสารดิอีโคโนมิสต์ (The Economist) เพื่อรู้ถึงความเป็นไปในวงเศรษฐกิจ แต่พอรู้จักผมอีกด้านหนึ่งที่ไม่ใช่ด้านของการทำงาน ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พริษฐ์ เป็นคนอย่างนี้เหรอ?
เป็นคนยังไง?
เป็นคนไร้สาระครับ ค่อนข้างกวน บ้าบอล เฮฮา ชอบเล่นมุก ซึ่งบางทีก็แป้กบ้าง ตลกบ้าง
เมื่อครู่ก็บอกว่า บ้าบอลมาก เชียร์ทีมไหนเป็นพิเศษ
ผมเป็นแฟนบอลลิเวอร์พูลตั้งแต่เด็กครับ แล้วก็เตะฟุตบอลมาบ้างในตำแหน่งกองหน้า ซึ่งตอนที่ยังเรียนในไทย ตัวผมก็ค่อนข้างเล็กครับ ทีนี้พอย้ายไปอังกฤษ ขนาดตัวของผมที่เล็กอยู่แล้ว พอเทียบขนาดกับเด็กอังกฤษ ตัวผมก็ยิ่งเล็กไปกว่าเดิม ดังนั้นผมจึงชื่นชอบไมเคิล โอเว่น ซึ่งเป็นกองหน้าที่ตัวเล็ก แต่ก็นั่นแหละ สุดท้ายแล้วโอเว่น ก็ทรยศทีม (โอเว่น ย้ายไปร่วมทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในปี 2009 ซึ่งแมนฯยูฯ ถือเป็นทีมคู่ปรับของลิเวอร์พูล จึงถือว่า เป็นการทรยศแฟนบอล -ผู้สัมภาษณ์) แต่เราก็ยังยึดมั่นกับสโมสรลิเวอร์พูล เพราะฟุตบอลเป็นกีฬาประเภททีมครับ
นอกจากนี้เวลาที่ผมเครียดๆ เรื่องงาน ก็เป็นฟุตบอลนี่แหละที่ทำให้ลืมความเครียดลงไปได้
แล้วฟุตบอลไทย ได้ดูบ้างไหม?
แน่นอนครับ ผมเชียร์ทั้งลิเวอร์พูล และทีมชาติไทย ที่จริงผมไปดูบอลที่ราชมังคลากีฬาสถานบ่อยครับ ซึ่งก็ยังคาดหวังว่า บอลไทยจะได้ไปเตะฟุตบอลโลกสักครั้ง ส่วนฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย ผมก็ดูครับ ล่าสุดก็ได้ไปเตะฟุตบอลโลกแล้ว
คุณมีวิธีจัดการความเครียดอย่างไร โดยเฉพาะตอนนี้ที่โลกโซเชียลร้อนระอุเหลือเกิน
ดูฟุตบอลก็วิธีหนึ่งครับ ส่วนกระแสในโลกโซเชียล ไม่ว่ายังไงก็ต้องมีด้านที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แรกๆ ก็ยังไม่คุ้นชินในการรับมือกับโลกโซเชียลมากนัก เวลาเห็นอะไรที่ไม่โอเคก็จะนอยด์ แต่ช่วงหลังผมก็พยายามยึดมั่นในหลักการที่ว่าถ้าคอมเมนต์เชิงลบมันไม่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง หรือเป็นเรื่องที่ผมควบคุมไม่ได้ เช่น ผมเป็นลูกหลานใคร ผมก็จะตัดมันออกไป แต่ว่าถ้าเป็นข้อมูลเชิงลบที่ว่า ผมควรลองมองในอีกหลายๆ มุม อันนี้ผมจะรับฟัง แล้วยิ่งถ้ามันช่วยในการพัฒนาประเทศได้ ผมก็จะนำมาเติมเต็มความคิดครับ
เวลาว่างชอบทำอะไร
ก็ยังเป็นฟุตบอลครับ (หัวเราะ) ตั้งแต่เล่นฟุตบอล ดูฟุตบอล เล่นเกมฟุตบอล แล้วคืนวันเสาร์ผมจะเครียดมาก เพื่อนผมชอบเตะบอลคืนวันเสาร์ ซึ่งผมต้องเลือกว่า ระหว่างเตะฟุตบอลหรือดูฟุตบอลจะเลือกอันไหนดี บางทีไปเตะฟุตบอลก็คิดว่าน่าจะเลือกดูฟุตบอล พอเลือกที่จะดูฟุตบอลก็เสียดายที่ไม่ได้เตะฟุตบอล แต่ช่วงนี้ก็ไม่ได้เครียดเรื่องนี้เท่าไหร่ครับ เพราะไม่ค่อยมีเวลาที่จะไปเตะหรือนั่งดูเลย
ย้อนกลับไปนิดหนึ่ง ไอติมบอกว่า คนที่อาจจะคุยกับไอติมรู้เรื่องได้ ต้องอ่าน ต้องศึกษาข้อมูลมาเยอะ โดยส่วนตัวแล้ว ไอติมเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือหรือเปล่า
ผมเป็นคนชอบอ่านข่าวสารครับ ผมจำได้ว่า ตอนเด็กๆ เวลาที่มีงานหนังสือ ผมก็จะไปกวาดหนังสือโดราเอม่อน แต่ไม่ใช่หนังสือโดราเอม่อนแบบที่เป็นตอนๆ นะครับ แต่เป็นหนังสือโดราเอม่อนที่ให้ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับไดโนเสาร์ พอโตขึ้นก็เปลี่ยนไปฟังข่าวสาร หรือการดูสารคดีมากกว่าครับ โดยเฉพาะสารคดีการเมือง ประวัติศาสตร์ สงคราม หรือแม้แต่สารคดีใต้ทะเล ที่ทำให้ผมทึ่งมากๆ ว่าเขาไปถ่ายได้ยังไง
แล้วภาพยนตร์ที่ชอบล่ะ
ชอบเหมือนกันครับ โดยเฉพาะงานของคริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) หนังโปรดของผมถ้าดังหน่อยก็ The Dark Knight และ Inception แต่ที่ชอบที่สุด ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่า มีคนเคยดูมากน้อยแค่ไหนก็คือเรื่อง The Prestige เป็นเรื่องเกี่ยวกับนักมายากลสองคน (นำแสดงโดยคริสเตียน เบล และ ฮิวจ์ แจ็คแมน -ผู้สัมภาษณ์) ที่เป็นคู่แข่งกัน ซึ่งตอนจบของเรื่องก็เป็นอะไรที่คาดไม่ถึง ผมชอบภาพยนตร์ในลักษณะนี้ครับ
ขอถามถึงเรื่องดนตรีที่ชอบบ้าง ชอบฟังดนตรีแนวไหนเป็นพิเศษ
ขอออกตัวก่อนว่า ถ้าเป็นชั่วโมงทำงาน ผมชอบเพลงที่ไม่มีเนื้อร้อง เพราะไม่งั้นผมจะเสียสมาธิ ดังนั้นเพลงที่เลือกฟังจะเป็นเพลงคลาสสิค แต่ผมก็ไม่ได้เป็นแฟนเพลงคลาสสิคนะครับ อาศัยการเสิร์ชจากยูทูบมากกว่า แล้วก็ผมชอบฟังเพลงของฮานส์ ซิมเมอร์ (Hans Zimmer) ซึ่งอันนี้เพื่อนผมจะค่อนข้างแปลกใจ อย่างในช่วงสอบผมจะเปิดเพลงของฮานส์ ซิมเมอร์ ดังมากๆ เหมือนกับเป็นการสร้างอารมณ์ให้กับตัวเอง ทำให้การทบทวนหนังสือสอบเป็นอะไรที่ตื่นเต้น ราวกับกำลังไปออกรบ ทำสงคราม ผมเลยชอบฟังแบบนั้น
ถ้าเพลงที่มีเนื้อร้องตอนเด็กๆ ก็เป็นวงบอดี้สแลม ที่ผมมีโอกาสได้ดูคอนเสิร์ตที่อังกฤษ เพราะถ้าดูในเมืองไทย มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก แต่พอดูที่อังกฤษก็มีคนดูแค่หลักร้อยคน ทำให้เรามีโอกาสได้ฟังอย่างใกล้ชิด ถ้าเป็นศิลปินฝรั่งก็เป็นเอ็ด ชีแรน (Ed Sheeran) กับโคลด์เพลย์ (Coldplay) ซึ่งตอนนี้ผมยังเสียดายมากเลยครับ ที่ไม่ได้ไปดูคอนเสิร์ตของวงโปรด
นอกจากนี้ ผมมีความแปลกอยู่อย่างหนึ่ง สมมติว่า ผมฟังเพลงนี้ตอนอายุ 14 ปี ความจำของผมจะขึ้นอยู่กับเพลงนั้น ถ้าผมคิดถึงช่วงเวลาในชีวิตนั้น ไม่ว่าจะเหตุการณ์อะไรก็ตาม เพลงที่ผมชอบฟังในช่วงนั้นมันก็จะดังขึ้นมา เหมือนกับความทรงจำผมฝังไปกับเพลงนั้นๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่แปลกอยู่เหมือนกันครับ
และนี่คือความในใจทั้งหมดของนักการเมืองรุ่นใหม่ ผู้มีฝันอยากลดช่องว่างทางสังคม ด้วยประชาธิปไตยและเทคโนโลยี
อ่านเพิ่มเติม: เปิดใจ “ไอติม พริษฐ์” นักการเมืองหนุ่มน้อย แห่ง F4 การเมืองไทย