ฟีเจอร์ "หาคู่เดต" ของเฟซบุ๊ก ผู้ใช้งานอาจมีแต่คนอายุ 40 ปีขึ้นไป
ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ฟีเจอร์หาคู่เดตของเฟซบุ๊กอาจมีผู้ใช้หลักเป็นคนอายุ 40 ปีขึ้นไป ในขณะที่คนหนุ่มสาวอาจยังระมัดระวังเรื่องความเป็นส่วนตัว หลังมีข่าวฉาวว่าเฟซบุ๊กขายข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้
ในงาน F8 มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กได้แถลงว่า เฟซบุ๊กกำลังจะมีฟีเจอร์ใหม่ ซึ่งเป็นฟีเจอร์หาคู่ โดยกล่าวว่า เฟซบุ๊กต้องการให้ผู้ใช้ได้สร้างความสัมพันธ์ที่ยืนยาว ไม่ได้เป็นเพียงการหาคู่นอนชั่วคราวเท่านั้น ภายหลังการประกาศเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ ก็ส่งผลให้หุ้นของแอปพลิเคชันหาคู่อย่าง ทินเดอร์ ร่วงลงอย่างหนัก เนื่องจากเฟซบุ๊กมีสมาชิกเป็นของตัวเองอยู่มากกว่า 2 พันล้านบัญชีทั่วโลก และการเปิดตัวฟีเจอร์นี้เท่ากับว่า ประกาศตัวเป็นคู่แข่งอย่างเป็นทางการ
ทางด้าน เมเรดิธ โกลเดน ที่ปรึกษาด้านการหาคู่ในนครนิวยอร์กมองว่า ผู้ใช้ฟีเจอร์ใหม่ของเฟซบุ๊กส่วนใหญ่น่าจะเป็นคนที่หย่าร้างและคนที่มีอายุ มากกว่า 40 ปี และมีแนวโน้มว่าจะไม่ได้ใช้โซเชียลมีเดียอื่นๆ เพราะแม้จะมีคนโสดหลายล้านคนทั่วโลกที่ต้องการหาแฟน แต่ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่กล้าใช้แอปฯ หาคู่ ถึงแม้ฟีเจอร์ใหม่ของเฟซบุ๊กมีลักษณะคล้ายกับแอปพลิเคชันหาคู่อื่นๆ แต่จุดเด่นของเฟซบุ๊กคือการที่หลายคนรู้สึกคุ้นเคยกับเฟซบุ๊กในฐานะที่เป็น แอปฯ ที่ไว้ใช้พูดคุยกับเพื่อนอยู่แล้ว ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านไปใช้ฟีเจอร์หาคู่ในเฟซบุ๊กจึงน่าจะเป็นไปอย่างราบรื่น
Pew Reserch Center เปิดเผยรายงานว่า การหาคู่บนโลกออนไลน์เริ่มได้รับความนิยมในกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี โดยคนอายุมากกว่า 55 - 65 ปีที่ใช้แอปฯ หาคู่มีเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปี 2013 มาเป็นร้อยละ 12 ในปี 2017 แต่การหาคู่ออนไลน์ก็ยังได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้แก่ คนอายุ 18 - 24 ปีคิดเป็นร้อยละ 27 ของผู้ใช้ทั้งหมด
ที่ผ่านมา ตลาดแอปฯ หาคู่สามารถทำกำไรได้อย่างงดงาม โดยเฉพาะช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งบริการหาคู่ต่างๆ มักเก็บเงินผู้ใช้สำหรับการเป็นสมาชิกพรีเมียมได้ประมาณ 10 - 60 ดอลลาร์ต่อเดือน (320 - 1,900 บาท) จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เฟซบุ๊กจะกระโดดเข้ามาในตลาดนี้ เพียงแต่ในเวลานี้ยังไม่มีความแน่ชัดว่า เฟซบุ๊กจะมีการเรียกเก็บค่าบริการหรือไม่ และถ้ามีค่าบริการจะเรียกค่าบริการรายเดือนละเท่าไร
เมื่อเฟซบุ๊กประกาศฟีเจอร์ใหม่ ก็ถือเป็นการตัดโอกาสพ่อค้าคนกลางอย่างแอปฯ หาคู่ทั้งหลายที่มักเชื่อมต่อบัญชีเข้ากับเฟซบุ๊ก แต่ผู้ช่วยศาสตราจารย์เชลซี เรย์โนลด์ส จากมหาวิทยาลัยมลรัฐแคลิฟอร์เนียที่กำลังศึกษาเรื่องการหาคู่ออนไลน์มองว่า ฟีเจอร์นี้ก็อาจเป็นข่าวร้ายสำหรับคนที่ไม่ต้องการหาคู่ในเครือข่ายคนรู้จักของตัวเอง
ผศ.เรย์โนลด์สอธิบายว่า ฟีเจอร์หาคู่ของเฟซบุ๊กจะคำนวณอัลกอริธึมจากการกดไลค์ กิจกรรมที่เข้าร่วม หรือกลุ่มที่อาจช่วยให้คนเชื่อมโยงกันได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นคนที่มีความสนใจคล้ายๆ กันในบริบทของโลกออนไลน์ แต่บางคนอาจไม่สนใจที่จะสานสัมพันธ์ในเชิงชู้สาวกันบนโลกจริง เช่น คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งทำงานบางคนอาจใช้บัญชีเฟซบุ๊กเพื่อการสร้างตัวตนด้านการงานอาชีพ เข้าร่วมกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับวิชาการ คนทำสื่อ หรือกิจกรรมด้านความหลากหลายทางเพศ ซึ่งแม้จะมีความมุ่งมั่นตั้งใจในเรื่องทั้งหมดนี้ แต่อาจไม่ต้องการนัดเจอคนที่อยู่ในเครือข่ายการทำงานของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม หลังข่าวฉาวเรื่องเฟซบุ๊กขายข้อมูลผู้ใช้มากกว่า 87 ล้านคนให้ Cambridge Analytica ไปใช้ในการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 ก็น่าจะทำให้คนหนุ่มสาวที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีสมัยใหม่เริ่มระวังตัวเองกันมากขึ้น จนอาจจำกัดการใช้งานเฟซบุ๊กลง และมีโอกาสที่จะมองข้ามหรือไม่สนใจใช้งานฟีเจอร์ใหม่ "หาคู่เดต" อีกด้วย