อยากเป็นศิลปิน? จงดื้อด้าน จงเชื่อมั่น จงเป็นตัวของตัวเอง ข้อคิดจาก "ปาล์ม Instinct"
หลายคนอาจไม่รู้จักชื่อ ปรียวิศว์ นิลจุลกะ แต่ถ้าเอ่ยนาม “ปาล์ม Instinct” เชื่อว่า ทุกคนต้องร้องอ๋อ แล้วพลันนึกถึงเพลง “โปรดส่งใครมารักฉันที” หนึ่งในเพลงฮิตตลอดกาลของวง Instinct
ที่น่าสนใจกว่านั้น ปาล์ม ปรียวิศว์ หรือปาล์ม Instinct ไม่ได้มีบทบาทของการเป็นนักดนตรีเพียงอย่างเดียว แต่ในอีกด้านหนึ่งแล้ว น้อยคนนักที่จะทราบว่า ปาล์มมีความเป็น “จิตรกร” อยู่ในตัวอย่างเต็มเปี่ยม และเคยจัดนิทรรศการเดี่ยวของตัวเองมาแล้วถึงสองครั้ง
Sanook! Men มีโอกาสได้พบกับปาล์ม ปรียวิศว์ ที่งานแถลงข่าวการประกวดจิตรกรรมยูโอบี ครั้งที่ 9 จึงถือโอกาสนี้ ชวนปรียวิศว์มองย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นศิลปิน แรงขับเคลื่อนในการทำงานศิลปะ และข้อคิดของคนที่จะเป็นศิลปิน
ปรียวิศว์ บอกว่า ตัวเขาเป็นเด็กนักเรียนมัธยมสายวิทยาศาสตร์ แต่ความต้องการลึกๆ แล้วเขาต้องการและอยากทำงานด้านศิลปะมาโดยตลอด นั่นจึงเป็นเหตุให้ชีวิตเกิดการหันเหเปลี่ยนผันจากนักเรียนที่มีโอกาสมุ่งหน้าเรียนต่อปริญญาตรีในคณะที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ มาเป็นนักศึกษาของคณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกจิตรกรรม ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
แน่นอน เมื่อคำว่า "ศิลปะ" ถูกเอ่ยขึ้น คำว่า "ไส้แห้ง" หรืออาชีพที่ไม่สามารถเลี้ยงตัวได้ ก็มักจะปรากฏคู่กันเสมอราวกับเป็นเงาของกันและกัน เพียงแต่เรื่องราวของปาล์ม ปรียวิศว์ อาจโชคดีกว่าใครหลายคนสักหน่อย นั่นเป็นเพราะผู้เป็นพ่อและแม่ หาได้คัดค้านการตัดสินใจเพื่ออุทิศตัวเข้าสู่การเป็นจิตรกร เพียงแต่ว่าผู้เป็นลุงนั้น กลับไม่เห็นด้วยในการตัดสินใจดังกล่าว
“ก็เหมือนมุมมองคนทั่วไป ลุงของผม เขาก็ไม่อยากให้ผมลำบาก เพราะด้วยมุมมองที่ว่า การเป็นศิลปิน หรือทำงานศิลปะ มันหาเลี้ยงชีพตัวเองได้ยาก ลุงของผมจึงอยากให้ผมทำอาชีพอื่นที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ดีกว่า ซึ่งตอนนั้นลุงผมอยากให้เป็นสจ๊วต” ปรียวิศว์ ย้อนความหลัง “เพียงแต่ท้ายที่สุดแล้วส่วนลึกของจิตใจ ยังโหยหาการเป็นศิลปิน และการทำงานศิลปะ”
มันเป็นความจริงที่ว่า การทำงานด้านศิลปะอาจไม่มีความมั่นคงทางรายได้ แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่า มันยังชีพไม่ได้เลย เพียงแต่ต้องขยันทำงาน อดทนกับงานศิลป์ที่อยากนำเสนอ ภาพที่วาดออกไป มันก็ต้องมีทั้งที่ขายได้ ขายไม่ได้ มันเป็นเรื่องปกติ ปรียวิศว์ กล่าวเสริม
เมื่อคำคัดค้าน ทัดทานของผู้เป็นลุงไม่อาจทำให้เส้นทางการเป็นศิลปินหยุดชะงักลง หากมองย้อนกลับไป ปรียวิศว์ รู้สึกดีใจที่เขาตัดสินใจจากสัญชาตญาณของตัวเอง เชื่อมั่นในความดื้อด้าน และตัดสินใจทุกอย่างจากพื้นฐานของความเป็นตัวของตัวเอง เพื่อตามความฝันสู่การเป็นศิลปิน
“ตามความเห็นของผม ใครก็ตามที่อยากจะเป็นศิลปิน จงเชื่อมั่น จงเป็นตัวของตัวเอง แม้พ่อแม่ หรือญาติพี่น้องจะคัดค้านก็ตาม เพราะสุดท้ายชีวิตเป็นของเรา ไม่ว่ายังไงชีวิตเรา เราก็ต้องกำหนดด้วยตัวเอง”
ขณะเดียวกัน การที่ใครสักคนหนึ่งไม่กล้าที่จะตัดสินใจเป็นศิลปิน ด้วยเหตุผลที่ว่า การเป็นศิลปินนั้น ไม่สามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ ตามความเห็นของปรียวิศว์ เขาไม่เห็นด้วย
“หากคุณกลัวว่า การเป็นศิลปินจะทำให้ไม่มีกิน จนทำให้คุณไม่กล้าอยากจะตามความฝัน วันหนึ่งคุณตายไป แล้วมานึกย้อนหลังว่า ทำไมวันนั้นถึงไม่เป็นศิลปินล่ะ อย่ากลัวเลย ชีวิตเราเกิดมายังไงมันก็ต้องตาย เลือกตามทางที่คุณอยากจะทำเถอะ”
ในที่สุด ปรียวิศว์ ก็ได้ทำงานด้านศิลปะที่เขารัก อีกทั้งยังมีอีกด้านหนึ่งของอาชีพด้วยการเป็นฟรอนต์แมนของวง Girl ก่อนที่จะฟอร์มวงใหม่กับ Instinct ที่มีเพลง “โปรดส่งใครมารักฉันที” และ “ขอโทษ...หัวใจ” ที่เพียงแค่ดนตรีดังขึ้นมานิดเดียว ก็เป็นอันรู้กันว่า นี่คือเพลงของวง Instinct
ฟังเพลงของวง Instinct ได้ที่นี่
กระนั้นเส้นทางการเป็น “ศิลปิน” ของปรียวิศว์ ไม่ได้มีจุดเริ่มต้นจากการที่เข้าเรียนในคณะศิลปกรรมศาสตร์ ระดับอุดมศึกษา หากแต่ขอบเขตความสนใจของคำว่า ศิลปะ กลับเกิดขึ้นมาตั้งแต่เด็ก โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ด้วยซ้ำว่า อะไรที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความสนใจงานด้านศิลปะ
“ผมชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็ก พอรู้ตัวก็ชอบการวาดรูปไปแล้ว” ปรียวิศว์ พยายามทวนความจำ “ผมจำไม่ได้ นั่นแหละผมชอบการวาดภาพตั้งแต่จำความได้”
ต่อจากนั้น เมื่ออายุสัก 7-8 ขวบ ลายเส้นของศิลปินตัวน้อยที่ชื่อปรียวิศว์ ก็เปลี่ยนไป โดยหันมาเริ่มให้ความสนใจลายเส้นแบบไทยๆ ขณะเดียวกันก็ชื่นชอบตัวละครในชุดรามเกียรติ์ ได้แก่ หนุมาน พระราม รวมถึงทศกัณฐ์
“ถ้าย้อนกลับไป ความสนใจลายเส้นแบบไทย น่าจะมาจากการที่ได้ดูภาพยนตร์หนุมานปะทะ 7 ยอดมนุษย์ ผมคิดว่านั่นน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผมหลงใหลงานลายไทย ช่วงวันหยุดก็จะใช้เวลาไปวัดพระแก้ว เพื่อดูงานจิตรกรรมฝาผนัง ดูงานศิลปะที่อยู่ในนั้น”
การทำงานศิลปะด้วยลายเส้นแบบไทยๆ ก็ยังดำเนินต่อไป โดยได้รับอิทธิพลจากงานของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ผู้เปรียบเสมือนไอดอลของคนที่มีใจรักด้านศิลปะ แต่ท้ายที่สุดแล้ว เส้นทางด้านศิลปะจะดำเนินต่อไปได้ ก็จำเป็นต้องพัฒนาลายเส้นในแบบฉบับที่เป็นตัวของตัวเอง “มิเช่นนั้นแล้ว ก็เสมือนว่า กำลังเดินตามในวิถีทางของคนอื่น”
สิ่งสำคัญคือต้องเริ่มหาตัวตนใหม่ ปรียวิศว์ เน้นย้ำในเรื่องนี้ แน่นอนว่า การจะเริ่มหาตัวตนได้นั้น จะต้องเริ่มคุยกับตัวเองเสียก่อนว่า อยากทำงานศิลปะในทิศทางใด
วุฒิกร คงคา ศิลปินที่ได้ชื่อว่าเป็นอาจารย์ของปรียวิศว์ เคยให้คำแนะนำสั้นๆ แต่กินใจว่า “งานศิลปะเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ต้องไปทำให้มันยาก หรือซับซ้อน ไม่จำเป็นต้องทิ้งปรัชญาให้คนมาตีความ” นั่นคือสิ่งที่นักร้องนำวง Instinct นำคำแนะนำของผู้เป็นอาจารย์ กลับไปครุ่นคิดต่อ
“ปาล์ม ปรียวิศว์ นิลจุลกะ เป็นใคร” เขาตั้งคำถามกับตัวเอง “ใช่ เป็นนักร้อง เป็นนักร้องต้องทำอะไรบ้าง อ๋อ! ทำเพลง เล่นคอนเสิร์ต เจอแฟนเพลง เจอกรุ๊ปปี้”
กระทั่งเขาพบว่า เช่นนั้นแล้วลองทำงานศิลป์ที่ใช้เซ็กซ์เป็นแรงขับดัน กอปรกับการที่ปรียวิศว์ เคยไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงประถม จึงทำให้ซึมซับวัฒนธรรมป็อปของญี่ปุ่น ทั้งมังงะและขบวนการ 5 สี แล้วด้วยสีสันที่มาจากวัฒนธรรมญี่ปุ่น เลยกลายเป็นแรงบันดาลใจที่ส่งต่อแนวคิดบางอย่างมาเป็นงานศิลปะดังที่เห็นในนิทรรศการ Mr. Sexman และ Siam Rangers: เป็นฮีโร่มันเหนื่อย
“งานนิทรรศการ Mr. Sexman ของผมเมื่อหลายปีก่อน มันเป็นความรู้สึกนึกคิดของตัวผู้ที่กำลังเมียงมองตัวเมีย แม้ภายนอกอาจจะดูดีภูมิฐาน แต่ลึกๆ ในจิตใจแล้ว ตัวผู้ทุกคนก็มีความเป็น Mr. Sexman แอบซ่อนอยู่”
หลังเสร็จสิ้นงาน Mr. Sexman งานชิ้นต่อไปที่ถูกหยิบยกมาทำ ก็คือ งานที่เกี่ยวข้องกับตำรวจ ที่คนไทยมีประสบการณ์ร่วมกันมาแซะ แซว ในชุด Siam Rangers: เป็นฮีโร่มันเหนื่อย ซึ่งถ้าสังเกตจากตัวผลงาน จะพบว่า งาน Siam Rangers มีความเป็นขบวนการ 5 สีอย่างเด่นชัด ทั้งหมดนั้นมาจากการซึมซับวัฒนธรรมป็อปในวัยเด็ก
“งาน Siam Rangers ตอนที่คิดคอนเซ็ปต์ของงานนี้ มันเริ่มมาจากการที่เรารู้สึก ‘อิน’ กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งก่อน อย่างเรื่องตำรวจเราก็ลองสำรวจดูว่า ความเป็นตำรวจเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร คิดว่าคนทั่วไปเจออะไรบ้าง อีกทั้งช่วงนั้นก็เกิดปรากฏการณ์การเมืองสีเสื้อ และการทำงานของตำรวจช่วงนั้นไม่ค่อยเป็นกลางนัก”
“แต่เพื่อความเป็นธรรม งานชุด Siam Rangers ก็สะท้อนมุมมองของตำรวจทั้งด้านดีและไม่ดีนะ คือ อาชีพตำรวจมันก็น่าเห็นใจตรงที่ ถ้าทำดีก็แค่เสมอตัว ถ้าทำชั่วก็โดนด่า” ปรียวิศว์ ย้ำอีกครั้งในเรื่องนี้
จากการเริ่มทำงานศิลปะชิ้นแรกมาจวบจนวันนี้ ตลอด 10 ปีในวงการศิลปะ ปรียวิศว์ ยอมรับว่า ทุกครั้งที่เริ่มต้นทำงานชิ้นใหม่ มักจะมีความแตกต่างจากงานชิ้นแรกๆ เสมอ เขาให้เหตุผลว่า เป็นเพราะประสบการณ์ที่พบเจออยู่ในห้วงเวลาที่ต่างกัน งานชิ้นแรกอาจมีประสบการณ์อย่างหนึ่ง แต่งานชิ้นใหม่ อาจมีประสบการณ์ชีวิตเพิ่มมากขึ้น ทำให้มุมมอง การนำเสนอในชิ้นงานศิลปะจึงค่อยๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงตามลำดับ
“เวลาเราแก่ตัวขึ้น มุมมองในการรังสรรค์งานศิลปะก็ย่อมเปลี่ยนไป” ปรียวิศว์ ยกตัวอย่างเพิ่มเติมว่า ในอดีต งานศิลปะของเขาจะออกไปในแนวทางประชดสังคม แต่เมื่ออายุมากขึ้น ก็เจอะสิ่งที่กระตุกต่อมความคิด เพราะสุดท้ายแล้วมันก็ไม่ได้ช่วยอะไรสังคมเลย ซ้ำร้าย กลับทำให้มุมมองที่มีต่อเขากลายเป็นคนขี้แขวะ ขี้แซะ
“เรื่องมุมมองของศิลปะกับประสบการณ์ชีวิต ก็เหมือนภาคดนตรีนะ หลังๆ ผมก็ไม่ได้แต่งเพลงอกหักเหมือนแต่ก่อน อยากนำเสนอมุมมองอย่างอื่นบ้าง แต่ก็เข้าใจว่า เพลงประเภทอกหักแต่ยังรักเธอเป็นสิ่งขายได้ดีเสมอในวงการเพลงไทย ทำให้ผมก็ต้องพยายามแอบๆ สอดแทรกมุมมองใหม่ๆ เข้าไปในเพลงอกหักเหล่านั้น ยกตัวอย่างเพลงล่าสุดของผม ชื่อเพลง 'ขอโทษ...หัวใจ' ก็เป็นไปในลักษณะนั้น ประมาณว่า ต่อให้คุณอกหักแต่คุณก็ต้องดูแลหัวใจของตัวคุณนะ ซึ่งเพลงนี้จุดประสงค์สำคัญก็คือให้คนฟังได้ลองเก็บสาระจากเพลง แล้วกลับไปลองคิดถึงชีวิตของตัวเอง”
คำถามสุดท้าย เป็นคำถามที่ Sanook! Men อยากทราบ เมื่อศิลปินหมดไฟ ควรทำอย่างไร?
“สำหรับศิลปินที่หมดไฟ ถ้าเป็นตัวผมคิดว่า ให้ลองทิ้งงานไปสักระยะ เริ่มต้นออกเดินทางไปยังที่ใหม่ๆ ออกไปท่องเที่ยว ลองทำกิจกรรมแปลกๆ ที่ไม่เคยทำ และพยายามที่จะไม่ปฏิเสธโอกาสในการทำสิ่งใหม่ๆ”