“10 ผลเสียต่อสุขภาพ” จากการเล่นสมาร์ทโฟนนานเกินไป
ทุกวันนี้ “สมาร์ทโฟน” เป็นมากกว่าแค่โทรศัพท์ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารกันแล้ว เพราะเราสามารถรับข้อมูลข่าวสาร เสพความบันเทิง ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ถ่ายรูป บันทึกวิดีโอ ได้จากมือถือเพียงเครื่องเดียว นอกจากนี้ ผู้ปกครองบางรายก็ยังใช้สมาร์ทโฟนเป็นเพื่อนแก้เหงาให้บุตรหลาน จนเด็กบางคนติดงอมแงมชนิดที่ไม่ยอมวาง และส่งผลเสียต่างๆ ตามมา ถึงขั้นต้องเข้ารับการผ่าตัด เพราะจ้องจอนานเกินไปจนส่งผลต่อกล้ามเนื้อตาที่ยังไม่แข็งแรง
และนี่คือ 10 ผลเสียที่เกิดขึ้นกับสุขภาพที่หลายคนอาจมองข้าม จากการใช้สมาร์ทโฟนนานเกินไป
1. รบกวนการนอนหลับ
แสงจากจอมือถือหรือแท็บเล็ตที่สว่างๆ ส่งผลต่อการหลั่งฮอร์โมน “เมลาโทนิน” ที่ช่วยควบคุมการนอนหลับ เนื่องจากการปล่อยฮอร์โมนดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับแสงสว่างเป็นสำคัญ การเล่นมือถือก่อนนอนจึงส่งผลต่อการนอนหลับไปด้วย
2. เกิดความเครียด
การใช้สมาร์ทโฟนอยู่ตลอดเวลา เท่ากับว่าเราต้องพร้อมที่จะรับโทรศัพท์ ตอบข้อความต่างๆ ที่แจ้งเตือนเข้ามาจากช่องทางต่างๆ ทั้งไลน์ อีเมล และโซเชียลมีเดียตลอดเวลาด้วยเช่นกัน จึงทำให้เกิดความเครียดได้โดยไม่รู้ตัว
3. ทำลายจอประสาทตา
แสงสีฟ้าจากจอสมาร์ทโฟนสามารถทำลายจอประสาทตา (เรติน่า) จนนำไปสู่โรคจอประสาทตาเสื่อมได้ ซึ่งสูตรที่ใช้กันเพื่อดูแลสุขภาพตา คือ 20-20-20 แบ่งเป็นมองจอแค่ 20 นาที จากนั้นพักสายตามองที่อื่น 20 วินาที โดยมองสิ่งที่อยู่ไกลจากตัวเอง 20 ฟุต เพื่อคลายความล้าจากการใช้สายตา
4. ปวดคอ
ส่วนใหญ่แล้วเวลาที่ก้มมองจอโทรศัพท์เพื่อพิมพ์ข้อความต่างๆ คนเรามักจะก้มคอราว 60 องศา ซึ่งเป็นท่าที่ไม่เหมาะสม เพราะจะส่งให้เกิดอาการปวดคอได้หากก้มเป็นเวลานานๆ
5. พฤติกรรมก้าวร้าว
คนที่ติดการใช้มือถือและไม่ได้ใช้ในเวลาที่ต้องการ มักจะเกิดอาการหงุดหงิด ก้าวร้าว เพราะไม่ได้ดั่งใจ ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กๆ ที่ติดเล่นเกมในสมาร์ทโฟน
6. เสียสมาธิ
การใช้สมาร์ทโฟนเชื่อมต่อกับโซเชียลมีเดีย ส่งผลให้เสียสมาธิได้ เพราะแทนที่จะจดจ่อกับการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ลุล่วง ก็ต้องมาพะวงกับเสียงแจ้งเตือนต่างๆ ที่เข้ามาจนขาดสมาธิ
7. Cellphone Elbow
Cellphone Elbow คือ อาการปวดชา หรือเหน็บชาบริเวณปลายแขนและมือ จากการถือสมาร์ทโฟนด้วยท่าทางที่งอแขนเป็นมุมแคบกว่า 90 องศานานเกินไป ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขก็อาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือเกิดข้องอติดแข็งที่นิ้วนางกับนิ้วก้อยได้
8. นิ้วล็อก
การใช้นิ้วใดนิ้วหนึ่งพิมพ์ข้อความหรือเล่นเกมในมือถือนานเกินไป ส่งผลให้เกิดอาการนิ้วล็อกได้ ซึ่งเกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นที่ใช้ในการงอนิ้วข้อมือตรงบริเวณโคนนิ้ว ทำให้เกิดอาการปวดบวม ส่วนใหญ่มักเป็นกับนิ้วหัวแม่มือที่ใช้งานมากกว่านิ้วอื่นๆ
9. ซึมเศร้าและวิตกกังวล
คนที่ใช้มือถือจนติดมักจะมีอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวลตามมาได้ อันเนื่องมาจากการรอคอยหรือคาดหวังเสียงโทรศัพท์ หรือการตอบกลับข้อความต่างๆ หากวันไหนลืมมือถือมาด้วยก็จะยิ่งรู้สึกเป็นกังวลมากขึ้น
10. ปวดศีรษะ
การใช้สมาร์ทโฟนเป็นเวลานาน จะส่งให้ได้รับรังสีจากคลื่นโทรศัพท์ที่แผ่ออกมามากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งรังสีดังกล่าวส่งผลต่อระบบประสาทด้วยทำให้เกิดอาการข้างเคียงตามมา นั่นคือปวดศีรษะ ปวดไมเกรน หรือบางรายก็อาจจะมีอาการที่รุนแรงกว่านั้น