“ฟู้ดสไตลิสต์” กับศิลปะในการตกแต่งอาหาร
ฟู้ดสไตลิสต์ (Food Stylist) คืออะไร
หน้าที่ของฟู้ดสไตลิสต์ (Food Stylist) คือ ตกแต่งอาหารให้สวยงาม ชวนรับประทาน ส่วนใหญ่มักทำงานร่วมกับเชฟ ในการแต่งจานเพื่อถ่ายภาพประชาสัมพันธ์ แน่นอนว่าหน้าตาอาหารที่สวยงามขึ้นนี้ จะทำให้สามารถเพิ่มราคาอาหารให้สูงขึ้นตามไปด้วย
ฟู้ดสไตลิสต์ที่ดี ควรจะรักในการทำอาหาร เข้าใจธรรมชาติของวัตถุดิบ และวิธีการปรุงที่แตกต่างกัน มีความคิดสร้างสรรค์ พิถีพิถันใส่ใจในรายละเอียด และรักการเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา ส่วนในต่างประเทศนั้น นอกจากฟู้ดสไตลิสต์ จะมีหน้าที่ออกแบบตกแต่งเมนูเด็ดตามร้านอาหารแล้ว
เอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละคน ยังสามารถต่อยอดออกไปนอกร้านได้ด้วย เช่น ไปปรากฏตามสื่ออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำสไตลิ่ง และจัดหาพร็อพในฉากภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์โฆษณา อินเทอร์เน็ต เป็นต้น ไปจนกระทั่งถึงการออกแบบแพกเกจจิง การเขียนตำรา และการสอนทำอาหารอีกด้วย
หน้าตาของอาหารกับหลักจิตวิทยา
ในยุคที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาท ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนหันมาสนใจการถ่ายภาพมากขึ้น แม้แต่กับอาหารจานที่จะรับประทาน และเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อาหารจับจอง ครองพื้นที่บนโลกโซเชียลมีเดียได้เป็นจำนวนมาก คงเป็นเพราะมันคือเรื่องง่ายแก่การเข้าถึงสำหรับทุกคน ทั้งยังเป็นวิธีที่ผู้คนใช้บอกเล่าไปยังคนอื่นๆ ว่ากำลังทำอะไรอยู่อีกด้วย
ซึ่งภาพถ่ายอาหารถูกจูงใจ โดยความต้องการเผยแพร่เรื่องราวในชีวิตประจำวันสู่สาธารณะ และการโพสต์ภาพเมนูจานเด็ด ยังเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอตัวเองผ่านโลกโซเชียล เพราะภาพของอาหารที่ดูยั่วยวน ชวนน้ำลายไหลเหล่านั้นสามารถสร้างภาพลักษณ์ให้คนอื่น ๆ มองเราในเชิงบวกได้ รวมไปถึงการต้องการการยอมรับ ในภาพถ่ายอาหารเป็นภาพที่โชว์ว่าจานนี้เราทำเอง เพื่อส่งเสริมความภูมิใจในตัวเองด้วย
และอีกแง่ก็คือหน้าตาของอาหารค่อนข้างมีผลต่อการสั่งอาหารมาก ๆ เช่นกัน เพราะถ้าหากอาหารดูน่ารับประทาน มีสีสันที่สดใสสวยงาม ก็จะทำให้คนเลือกที่จะสั่งอาหารนั้นๆ และที่สำคัญคือเวลาที่เราสั่งอาหารมาทาน เราไม่ได้หวังแค่ว่าจะทานให้มันเสร็จๆ ไป เราจะคำนึงถึงสัมผัสทั้ง 5 ด้วยนั่นก็คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
หลักการจัดอาหารให้ดูน่ารับประทาน
1. สร้างโครงร่าง เริ่มต้นจากการวาดรูป และสเกตช์ให้เห็นภาพจานอาหาร ที่ต้องการค้นหาแรงบันดาลใจจากรูปภาพหรือสิ่งของต่าง ๆ เลือกหยิบส่วนผสมที่ต้องการเน้นวางลงไปบนจาน และใช้พื้นที่ว่างให้เป็นประโยชน์ เพื่อทำให้การตกแต่งอาหารดูเรียบง่าย
2. สร้างสมดุลบนจาน เล่นสี รูปทรงและเนื้อพื้นผิว เพื่อให้มั่นใจว่าคนที่รับประทาน จะไม่รู้สึกว่าเยอะเกินไป และการจัดตกแต่งอาหาร ไม่ควรกลบรสชาติและประโยชน์ของอาหารนั้นด้วย
3. ใช้ขนาดสัดส่วน ส่วนผสมที่มีปริมาณถูกต้อง และใช้ตัวจานช่วยเติมเต็มให้อาหารดูสมบูรณ์ โดยมีขนาดไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป ใช้สัดส่วนโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และผักที่ถูกต้อง เพื่อสร้างสรรค์อาหารที่ได้สมดุลตามโภชนาการ
4. เน้นส่วนผสมหลักให้มีความโดดเด่นออกมา และให้ความสำคัญกับวัตถุดิบรองอื่น ๆ อย่างเท่าเทียมกัน เช่น ของตกแต่งจาน ซอส และแม้กระทั่งตัวจานเองด้วย
5. การจัดวางแบบคลาสสิก เทคนิคการจัดวางแบบคลาสสิกจะใช้อาหารพื้นฐาน 3 อย่าง คือ แป้ง ผัก และอาหารหลัก ในการจัดวางที่เฉพาะเจาะจง แนวทางง่าย ๆ ในการจัดจานแบบคลาสสิกคือคิดว่าจานอาหารเป็นหน้าปัดนาฬิกา
นอกเหนือจากนี้ ในปัจจุบันยังมีการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาเป็น "ฟู้ดสไตลิสต์" เช่นที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว สาขาศิลปะการประกอบและออกแบบอาหาร Culinary Arts and Design หรือหลักสูตรเชฟ International Program ไปจนถึงโรงเรียนสอนทำอาหารชั้นนำ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีคอร์สนี้เปิดสอนเช่นกัน