รัฐบาลญี่ปุ่นเผย อัตราการฆ่าตัวตายของชาติลดต่ำลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 8
รัฐบาลญี่ปุ่นได้เปิดเผยรายงานอย่างเป็นทางการเมื่อวันอังคารที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา หลังพบว่าอัตราการฆ่าตัวตายของคนญี่ปุ่นลดลงในปี 2017 โดยรายงานตัวเลขอยู่ที่พบการฆ่าตัวตาย 16.8 คนต่อประชากร 100,000 คน ลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 และอยู่ในอัตราที่ต่ำลงเทียบเท่ากับปี 1978 ย้อนหลังไปถึง 40 ปีเลยทีเดียว
เมื่อพิจารณาจำนวนผู้เสียชีวิตที่เกิดการฆ่าตัวตายที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมา 8 ปี พบว่าปี 2017 มีจำนวนทั้งสิ้น 21,321 ราย ลดลง 576 รายจากปีก่อนหน้า แต่แม้ว่าตามรายงานจะลดลงก็ตาม ประเทศญี่ปุ่นก็ยังคงเป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าประเทศอื่นๆ
พร้อมกันนี้ รายงานดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นประเด็นที่น่ากังวลอยู่ที่การฆ่าตัวตายในกลุ่มวัยรุ่น พบว่าเพิ่มขึ้น 0.2 จุด อยู่ที่อัตรา 2.6 คนต่อ 100,000 คน คงที่อยู่เช่นนี้ตั้งแต่ปี 1998 โดยเหตุจูงใจ 3 อันดับยอดนิยมพบว่าเป็นเรื่องโรงเรียน สุขภาพ และปัญหาในครอบครัวนั่นเอง
เมื่อสถานการณ์การฆ่าตัวตายในกลุ่มวัยรุ่นเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลจึงเร่งออกโครงการและมาตรการในการบรรเทาปัญหาผ่านการให้คำปรึกษาทาง Social Media เพื่อป้องกันและลดอัตราการฆ่าตัวตายที่อาจเกิดขึ้นได้
ทั้งนี้ ข้อมูลของโครงการที่รัฐบาลลงมือทำผ่าน Social Media ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มียอดผู้ใช้บริการให้คำปรึกษาทั้งสิ้น 7,469 ราย โดยร้อยละ 42.7 เป็นกลุ่มเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เรียกว่าเป็นจำนวนที่สูงอย่างน่าตกใจเมื่อพิจารณาจากอายุ และร้อยละ 39.4 อยู่ในช่วงอายุ 20s ปีนั่นเอง
เมื่อพิจารณาในภาพรวมก็ดูเป็นเรื่องน่าดีใจที่อัตราการฆ่าตัวตายลดลงอย่างต่อเนื่องได้ถึง 8 ปีติดต่อกัน แต่ในรายละเอียดแล้วกลับสะท้อนภาพที่น่ากังวลว่าสังคมญี่ปุ่นอันแสนวุ่นวายและเต็มไปด้วยการแข่งขันนี้ ไม่ได้เริ่มต้นที่กลุ่มวัยทำงานเท่านั้น แต่กลับขยายขอบเขตภาวะความเครียดและความกดดันมากขึ้นในกลุ่มเยาวชนที่มีอายุยังไม่ถึง 20 ปีเสียด้วยซ้ำ จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ญี่ปุ่นจะต้องเผชิญ