คำว่า “ศิลปิน” ในมุมมองของคนแต่ละยุคเป็นอย่างไร?
ศิลปินเป็นกลุ่มบุคคลที่สามารถแสดงแนวความคิดต่างๆ ให้ออกมาในรูปแบบลักษณะต่างๆ ทั้งในด้านงานวาด งานปั้น โดยศิลปินมีมาตั้งแต่อดีต และยังสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เรามาดูกันว่า มุมมองและการให้นิยามของคำว่า ศิลปินในแต่ละยุค แต่ละสมัยเป็นอย่างไร
ยุคหิน ก่อนประวัติศาสตร์: ศิลปิน เหมือนนักประกอบพิธีกรรม
ภาพเขียนยุคแรกเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยยุคหินก่อนประวัติศาสตร์ ที่มนุษย์ยังอาศัยอยู่ในถ้ำ ส่วนมากจะวาดเป็นรูปทรงง่ายๆ รูปคน รูปสัตว์ สันนิษฐานว่าวาดเพื่อประกอบพิธีกรรมก่อนที่จะออกไปล่าสัตว์ (ที่ตีความกันไปแบบนั้น เพราะส่วนใหญ่รูปวาดจะไม่ได้ถูกวาดในที่ที่พบเห็นง่ายๆ แต่จะซ่อนไว้ในหลืบ ที่ลึกๆ หน่อย) และจะเป็นรูปคนและสัตว์ที่จะออกไปล่า
เมื่อคิดกันไปแบบนั้นแล้ว นักโบราณคดีจึงตั้งข้อสังเกตว่า นักวาดภาพสมัยก่อน ไม่ต่างอะไรจากหมอผี เลยทีเดียว คล้ายๆ กับว่าเล่นทางไสยศาสตร์ไปด้วย ปลุกใจคนที่ออกไปล่าสัตว์ อะไรประมาณนั้น
ยุคเรอเนสซองส์: ศิลปินเหมือนสมบัติ เชิดชูฐานะ
จะว่าไปแบบนั้นก็ไม่ผิด ถ้าใครเคยได้ยินเรื่องของศิลปินในยุคนั้นอยู่บ้าง จะเห็นว่าส่วนใหญ่แล้วศิลปินไม่ได้ทำงานออกมาเร่ขาย หรือเอางานเข้าหอศิลป์กันเองเพื่อหาเงิน แต่ศิลปินเหมือนเป็นพนักงานมนุษย์เงินเดือนของตระกูลดังๆ รวยๆ ในยุโรป ที่ทำงานรับค่าจ้างและวาดภาพเพื่อตระกูลนั้นๆ ซึ่งเวลาเราได้เห็นประวัติของภาพวาดจากศิลปินดังๆ ในสมัยนั้น ก็มักจะได้รู้เรื่องราวของตระกูลผู้จ้างวาดภาพไปด้วย จนเหมือนเป็นค่านิยมอีกอย่างหนึ่งของคนรวยที่จะต้องมีศิลปินประจำตระกูลไว้เพื่อวาดภาพตามสั่ง เพื่อเชิดชูฐานะของตัวเองอีกด้วย
ยุคโมเดิร์นอาร์ต ศิลปินคือนักทดลอง
ในช่วงที่ศิลปะสัจนิยมถึงทางตัน คือใครๆ ก็ทำได้หมดแล้ว ศิลปินที่พอจะมีแนวทาง ความคิด และทฤษฎีของตัวเอง ก็เริ่มจะค้นหาหนทางเพื่อความแตกต่าง อย่างเช่นโมเน่ต์ผู้นำลัทธิประทับใจ (Impressionism Art)
แต่การทดลองและอยากจะหาอะไรใหม่ๆ ของศิลปินก็ไม่ผ่านการยอมรับเสมอไป อาจจะเคยเห็นกันมาบางกับโถฉี่ของดูชองป์ที่โดนวิจารณ์กันไปในด้านลบต่างๆ นานา แต่ใครจะไปคิดว่าร้อยปีผ่านไป อะไรก็กลายเป็นงานศิลปะได้
ศิลปินทำงานถวายศาสนาพุทธ
ย้อนมาประวัติศาสตร์ศิลปะของไทย เราก็จะเจอแต่ศิลปะที่ทำเพื่อศาสนาพุทธเท่านั้น เพราะถือเป็นความเชื่อที่ยึดเหนี่ยวหลักของประเทศไทย ตั้งแต่สมัยทวาราวดีเป็นต้นมา ซึ่งศาสนาพุทธและศิลปะต่างๆ ที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ไทยสมัยก่อนมีรากฐานมาจากอินเดียทั้งสิ้น จะนิยมวาดแบบอุดมคติ 2 มิติแบบที่เราเห็นกันในผนังวัด ประติมากรรม สถาปัตยกรรมก็ล้วนแล้วแต่อุทิศเพื่อศาสนาทั้งนั้น
ศิลปิน ก็คืออาชีพที่ไส้แห้ง
ได้ยินกันชินหูเลยในบรรดาผู้ใหญ่ ที่จะชอบพูดว่าเรียนศิลปะ จบมาเป็นศิลปินแล้วจะไส้แห้ง ไม่มีเงินกิน ซึ่งในยุคหนึ่งก็ถือว่าจริงถ้าจะเรียกแบบนั้น มีศิลปินไม่กี่คนที่จะโดดเด่นขึ้นมาได้ ยิ่งช่วงที่ต้องผ่านวิกฤตการเมือง เศรษฐกิจ สิ่งสำคัญสิ่งรองจึงถูกตัดออกไป แน่นอนว่า งานศิลปะ เป็นหนึ่งในนั้น
ศิลปิน เหมือนกิ้งก่า นักปรับตัว
เมืองไทยสมัยนี้ก็เห็นๆ กันอยู่ว่าเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ขนาดที่ว่าหอศิลป์ใจกลางเมืองยังต้องโดนตัดงบเพื่อเอาไปทำอย่างอื่น ศิลปะถือเป็นความจำเป็นระดับรองลงมา ไม่ใช่ปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต จึงเป็นกลุ่มแรกๆ ที่โดนลดความสำคัญลง
แล้วศิลปินในยุคนี้จะอยู่ยังไง?
แน่นอนว่าทุกอย่างต้องมีการปรับตัว สำหรับคนที่มาในสาย Fine Art ติสต์แตกเต็มตัวก็ต้องลดอุดมการณ์ลงเพื่อมาทำงานประจำ ควบคู่ไปกับการทำสิ่งที่ชอบนั่นคือวาดรูป แต่นั่นเป็นพฤติกรรมที่สวนประโยคที่ว่า จบมาเป็นศิลปินแล้วจะไส้แห้ง นั่นคือ การมีทุนในชีวิตเป็นรายได้ประจำเดือน ไม่มีใครไส้แห้งหรอก ถ้าขยันและรู้จักปรับตัว
ศิลปะเป็นอีกหนึ่งศาสตร์ที่สามารถชี้วัดความเจริญของประเทศนั้นๆ แน่นอนว่าความสำคัญมันรองจากอย่างอื่นอยู่แล้ว แต่ถ้าประเทศไหนที่เฟื่องฟูด้านศิลปะแล้ว ก็ตีความได้เลยว่าอย่างอื่นที่สำคัญกว่าศิลปะนั่นต้องเจริญรุ่งเรืองแน่นอน
น่าเสียดายก็แต่ประเทศไทยที่ต้องลดความสำคัญของศิลปะลงไปอีก (จากที่มีน้อยอยู่แล้ว) เป็นอีกข้อสังเกตที่ทำให้เห็นว่า เรายังมีด้านอื่นอีกเยอะที่สำคัญกว่าศิลปะให้ไปพัฒนาก่อน ก็ได้แต่หวังว่าจะก้าวหน้ากันสักที