จากเด็กสกลนครสู่สถาปนิกผู้พิชิตรางวัลระดับโลก "หนุ่ย – รติวัฒน์ สุวรรณไตรย์"

จากเด็กสกลนครสู่สถาปนิกผู้พิชิตรางวัลระดับโลก "หนุ่ย – รติวัฒน์ สุวรรณไตรย์"

จากเด็กสกลนครสู่สถาปนิกผู้พิชิตรางวัลระดับโลก "หนุ่ย – รติวัฒน์ สุวรรณไตรย์"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“เราต้องเป็นคนไทยที่ไปประสบความสำเร็จในเวทีโลก” หลายคนอาจเคยคิดประโยคนี้อยู่ในใจ แต่หนทางกว่าจะไปสู่ความสำเร็จได้นั้นช่างเต็มไปด้วยความยากลำบาก หลายคนท้อถอย หลายคนเปลี่ยนเส้นทาง แต่ ‘คุณหนุ่ย – รติวัฒน์ สุวรรณไตรย์’ คือคนสถาปนิกไทยที่พิสูจน์ให้เห็นว่าคำกล่าวนี้เป็นจริงได้ไม่ไกลเกินเอื้อม !

คุณหนุ่ย – รติวัฒน์ สุวรรณไตรย์ กับรางวัล German Design Award 2018 ที่ถือว่าเป็นรางวัลด้านการออกแบบซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

ผลงานออกแบบบ้าน Marble House ที่เพิ่งได้รับรางวัล German Design Award 2018 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ผลงานออกแบบอาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท วนชัยกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับรางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยาม

German Design Award 2018 สาขา Residence คือรางวัลล่าสุดที่คุณหนุ่ย-รติวัฒน์ ได้เดินทางไปรับที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี พร้อมกับภรรยา คุณปราง-วรรณพร สุวรรณไตรย์ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ด้วยความโดดเด่นของผลงานที่สวยสะดุดตาของ Mabel House บ้านที่ใช้กระเบื้องลายหินอ่อนในการสร้างให้ตอบโจทย์การอยู่อาศัยและยังงดงามราวกับประติมากรรมที่แสนลงตัว นับเป็นการการันตีความสำเร็จของคุณหนุ่ยในวงการสถาปนิกให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น แต่กว่าจะก้าวมาถึงความสำเร็จระดับโลกเช่นนี้ อดีตหนุ่มน้อยจากสกลนครก็ต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่น้อย

จุดเริ่มต้นสู่เส้นทางสายสถาปนิก

“ผมเองยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าเริ่มต้นจากตรงไหน แต่ความที่เราเป็นเด็กที่วาดรูปได้เก่ง คุณแม่ซึ่งตอนนั้นเป็นอาจารย์ ก็คงจะเห็นว่าเรามีอะไรที่พิเศษกว่าเพื่อนๆ พอคุณแม่สอบชิงทุนเพื่อจะไปเรียนต่างประเทศได้ ท่านก็เลยหิ้วผมไปด้วย ตอนนั้นผมอายุประมาณ 11 ขวบ ก็เลยได้ไปเรียนไฮสคูล น่าจะเป็นตรงนี้ที่เป็นจุดที่ทำให้ผมได้เห็นโลก จากที่เคยวิ่งเล่นในสวน อยู่ในทุ่ง ไปอยู่ที่นั่นมันเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ เรารู้สึกว่ามันตื่นตาตื่นใจมาก เราขึ้นลิฟต์ครั้งแรกที่นั่น เราได้เห็นการอยู่อาศัยเมืองหนาวแล้วเราก็รู้สึกว่าทุกอย่างมันมีเหตุผล มีความสวยงาม มีความเจริญ เราก็คิดว่าวันหนึ่งเราอยากเอาสิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เราสัมผัสแล้วประทับใจ นำมาสร้างใหม่ ก็อาจจะเป็นเหตุผลที่ตอนนี้ผมสนใจทำงานพวกตึกสูงมาก แล้วก็มีโปรเจกต์ที่เป็นอาคารสูงเยอะเเยะเลย”

ได้เผชิญโลกกว้างแต่ครอบครัวต้องแยกออกเป็นสองส่วน

“ใช่ครับ ตอนนั้นครอบครัวก็เหมือนแยกออกเป็นสองส่วน ตอนนั้นคุณพ่อคุณแม่มีลูกสามคน ก็มีผมกับน้องชายที่โตหน่อยก็เลยได้เดินทางไปกับคุณแม่ด้วย น้องสาวที่ยังเล็กมากจึงยังอยู่กับคุณพ่อ ก็จะเป็นช่วงที่ค่อนข้างลำบาก เพราะว่าไม่ได้อยู่ด้วยกัน แล้วค่าใช้จ่ายก็สูง ถึงคุณแม่จะได้ทุนแต่ว่าหิ้วลูกไปเรียนสองคนก็ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่เป็นภาระเพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ผมรู้สึกซาบซึ้งมากที่คุณพ่อคุณแม่อดทนจนผ่านมาได้ เพราะมันทำให้เราได้เห็นโลก ได้มีประสบการณ์ ทำให้เราใช้ภาษาอังกฤษได้แบบไม่กลัวฝรั่ง ทำงานกับชาวต่างชาติได้อย่างไม่เคอะเขิน รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่มีค่ามาก”

ความประทับใจและพรสวรรค์ที่มีอยู่ในตัว ทำให้เมื่อคุณหนุ่ยต้องกลับมาสอบเอ็นทรานซ์ที่ประเทศไทย จึงสามารถสอบเข้าที่คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สำเร็จ และเป็นจุดเริ่มต้นในเส้นทางการเป็นสถาปนิกแบบเต็มตัวในเวลาต่อมา

พิสูจน์ตัวตน

“ตอนที่เรียนจบใหม่ๆ ตอนนั้นไม่มีงานที่เมืองไทยเลย ผมเรียนจบในช่วงที่เศรษฐกิจลอยตัว เลยต้องไปทำงานที่สิงคโปร์อยู่สามปี ผมจำภาพตัวเองนั่งทำงานค้างคืนจนพระอาทิตย์ขึ้น พอเราเห็นพระอาทิตย์ขึ้นเราก็เบรคแล้วก็นั่งแท็กซี่กลับไปที่อพาร์ตเมนต์ อาบน้ำเปลี่ยนชุด แล้วก็กลับมานั่งทำงานต่อ เพื่อนก็ทักว่าเรามาถึงเช้าจัง เราก็คิดในใจว่าจริงๆ เรายังไม่ได้นอนเลย เราแค่กลับไปอาบน้ำไปเปลี่ยนชุดเฉยๆ จำได้ว่าเราใช้ชีวิตแบบนี้เป็นปกติ ทำอยู่หลายครั้งเลย ตลอดสามปีเราก็ใช้ชีวิตแบบนี้ ทุ่มพลัง ทุ่มจิตวิญญาณ เต็มที่”

คุณหนุ่ย-รติวัฒน์ และคุณปราง-วรรณพร สุวรรณไตรย์

คู่ชีวิต

“ผมกับคุณปรางจบสถาปัตย์จุฬาฯ ทั้งคู่ เขาเป็นรุ่นน้องในคณะอายุห่างจากผมสามปี ตอนอยู่ในคณะแทบจะไม่เคยพูดกันเลย มารู้จักและสนิทกันมากตอนที่อยู่สิงคโปร์ ซึ่งเราได้ไปทำงานแล้วก็ใช้ชีวิตอยู่ที่นู่นในช่วงเวลาพร้อมๆ กัน ก็เลยรู้จักกันมากขึ้น จนได้คบหาเป็นแฟน พอกลับมาเมืองไทยก็แต่งงานกัน เป็นช่วงเดียวกับที่ผมจะเริ่มเปิดออฟฟิศผมเองด้วย

“จำได้ว่าตอนที่ออฟฟิศครบรอบ 10 ปี ผมออกหนังสือเล่มเล็กๆ ตั้งชื่อว่า A marriage of architecture and landscape เพราะผมเป็นสถาปัตย์ เป็น Architecture สายตรง ปรางเป็น Landscape เป็นภูมิสถาปนิก งานของเรามันก็จะอยู่ด้วยกันเสมอ บ้านและพื้นที่รอบบ้านทั้งหมดก็รวมมาเป็นหนึ่งเดียว เวลาเราเสนองานกับลูกค้าเราก็จะให้สถาปัตย์กับภูมิสถาปนิก กลมกลืนกันไปในภาพเดียวเลย ซึ่งถือว่าเป็นจุดเเข็งของบริษัทเรา”

คุณหนุ่ยและคุณปราง ภรรยาคู่ชีวิต ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทในเครือบริษัทสถาปนิกโอเพนบอกซ์ จำกัด (ภาพถ่ายโดย SC Asset)

แตกต่างแต่ลงตัว

“จริงๆ การใช้ชีวิตคู่ด้วยกันแล้วก็ทำงานด้วยกัน ก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง ตอนนี้เราผ่านมา 14 ปี ออฟฟิศที่ทำก็ประสบความสำเร็จดี คือเราจะต้องจัดการหลายๆ เรื่องที่ให้ลงตัว เพราะเราก็เรียกว่าเก่งในสายของตัวเอง จึงจัดสภาพแวดล้อมไม่ให้เราต้องชนกันทางความคิดแรงๆ บ่อยๆ

ตอนแต่งงานกันใหม่ๆ ตอนนั้นมันแย่มาก เราเช่าสถานที่กึ่งๆ อพาร์ตเมนต์แล้วกั้นห้องไว้ใช้อยู่อาศัยเองส่วนหนึ่ง อีกส่วนก็เป็นออฟฟิศ พอเดินทะลุประตูออกมาก็สามารถถึงบ้านได้เลย เราก็คิดว่ามันจะดี จะได้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง แต่ปรากฏว่าชีวิตช่วงนั้นพังมาก งานและชีวิตส่วนตัวใกล้ชิด ปะปนกันไปหมด ใช้ชีวิตอยู่อย่างนั้นหลายปีมาก จนตอนที่เราคิดจะปิดบริษัทเราค่อยย่อส่วนมา ก็ไปต่อเติมบ้านเป็น home office เล็กๆ ก็ยังทำเหมือนเดิมเลย คือมีห้องที่เป็นห้องนอนเป็นบ้านของเรา แปะอยู่กับ office แต่มันดีขึ้นคือ เราชัดเจนระหว่างพื้นที่ที่ทำงานกับพื้นที่ที่เป็นบ้าน แยกออกมาให้เป็นคนละสถานที่เลย ให้มันเป็นการเดินทางเล็กน้อยแต่ว่าไม่ต้องไกลมาก เพียงแค่นี้ก็รู้สึกเเล้วว่า เรื่องงานจบอยู่ในตึกเดียวในออฟฟิศตรงนี้ เรากลับบ้านก็ถือว่าเป็นสามี ภรรยากัน ใช้สถานที่เป็นตัวกำหนดแทน ทุกอย่างก็ลงตัวมากขึ้น”

ภาพบางส่วนของผลงานออกแบบมากมายที่นับเป็นความสำเร็จของบริษัทในเครือบริษัทสถาปนิกโอเพนบอกซ์ จำกัด นับจากก่อตั้งตลอด 14 ปี ที่ผ่านมา

ผลงานที่ภาคภูมิใจ

“จริงๆ ผลงานที่เราทำมาตลอด 10 ปี มีที่ผมภูมิใจอยู่หลายชิ้น เพราะทุกชิ้นมีเรื่องราว แต่ละชิ้นเหมือนเราพรินต์ชีวิตของเจ้าของออกมา เราพยายามสร้างสิ่งที่เป็นตัวตนของเจ้าของบ้านให้มากที่สุด เช่นบ้านหลังหนึ่งที่เราทำเมื่อประมาณแปดปีที่แล้ว ในเมืองไทยไม่ค่อยมีใครรู้จัก แต่ว่าที่ต่างประเทศก็ชอบมีคนเอาไปลงหนังสือ เป็นบ้านตากอากาศอยู่ในป่า ไม่ใช่งานราคาสูงมาก แต่เจ้าของรักบ้านหลังนี้มาก เพราะมันเป็นบ้านที่แทรกไปอยู่ระหว่างต้นไม้ได้อย่างลงตัว และตอบโจทย์ที่เขากำชับผมตั้งแต่วันแรกว่าเขาจะไม่ตัดต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว จะไม่ย้ายหินเลยแม้แต่ก้อนเดียว

หรืออีกผลงานที่ผมภูมิใจ ก็คือบ้านหินอ่อนที่มันสื่อถึงตัวตนของเจ้าของบ้านซึ่งเขาขายวัสดุก่อสร้าง (บุญถาวร) เราเลือกใช้วัสดุที่เขารู้สึกภูมิใจ ที่เขาอยากจะทำตลาดกับมันตอนนั้น เรารู้สึกว่าเราทำสำเร็จตามเป้าหมายทุกอย่าง”

ผลงานออกแบบโครงการเพลินวานหัวหิน ที่ได้รับรางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยาม และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ

“เพลินวาน” สร้างสี่เดือน รีเสิร์ชสองปี

“ผลงานที่ใช้เวลาเยอะจริงๆ คือที่ ‘เพลินวาน’ เราสะท้อนคาแร็กเตอร์ของเจ้าของคือ คุณก้อย-ภัทรา สหวัฒน์ โดยตัวเพลินวานเป็นบุคลิกด้าน play เขามีความฝัน เขาเคยมีสิ่งที่ประทับใจในวัยเด็ก เครื่องเล่นที่เคยเล่น บรรยากาศของงานวัดที่เคยชอบ เราเลยสื่อสารโดยเอาสิ่งนี้ที่มันอยู่ในหัว อยู่ในความทรงจำออกมาให้คนได้สัมผัส ซึ่งตอนนั้นเราใช้เวลา research และ design 2 ปีเต็ม เราเดินทางไปต่างประเทศ ไปญี่ปุ่น นำไอเดียมาผสมรวมกันแล้วก็กลั่นออกมาให้เป็นภาพว่าประสบการณ์นี้ความรู้สึกนี้ มันจะต้องโดนห่อด้วยสถาปัตยกรรมแบบไหน เรียกว่าใช้เวลาก่อสร้างจริงๆ เฟสแรกทำแค่สี่เดือนเอง แต่ว่าออกแบบสองปีก็เลยเรียกว่าเป็นสิ่งที่ผมทำแล้วรู้สึกว่ามันพิเศษมาก”

ด้านมืดของชีวิต

“มีอยู่ช่วงหนึ่งประมาณสี่ปีที่แล้ว อาจจะเป็นเพราะความกลัวจากการที่เราทำงานในวงการธุรกิจแล้วเรารู้สึกว่ามันมีความโหดร้ายแฝงอยู่ ทำงานแล้วถูกเอาเปรียบ ถูกโกง แม้ว่าตอนนั้นเราสร้างผลงานที่ดีๆ ออกมาแต่ว่าทางบริษัทไม่ได้ผลกำไรเลย เลยตัดสินใจกลับไปที่บ้านเกิดของผมที่สกลนคร

“เราซื้อที่ดินเล็กๆ ปลูกกระต๊อบใช้ชีวิตพอเพียง ก็เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ไม่ดี เพียงแต่ว่าพอได้ทดลองไปทำจริงๆ เรารู้สึกว่ามันไม่เหมาะกับเรา คือตัวผมเองและภรรยาไม่ได้มีประสบการณ์เกี่ยวกับการทำสวนมาก่อนเลย พ่อแม่ก็เป็นข้าราชการ มันเลยทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำเนี่ย มันเหมือนเป็นการหนีจากอะไรบางอย่าง

“ตอนนั้นเละไปหมดเลย นั่งร้องไห้กับภรรยากันสองคนว่าอันนี้เป็นชีวิตที่เราอยากได้จริงๆ หรือ ความรู้ที่ครูอาจารย์ให้เรามา ความไว้เนื้อเชื่อใจที่ลูกค้ารายใหญ่มอบหมายให้ เราจะทิ้งสิ่งพวกนี้ไปหมดเหรอ ก็เลยตัดสินใจกลับมาใหม่ แล้วก็มารันบริษัทเดิม คราวนี้ก็รับคำปรึกษาจากผู้ใหญ่ ได้กำลังใจกลับขึ้นมาอีกครั้ง มีพลังขึ้น จนตอนนี้ผมก็สร้างบริษัทใหม่ แล้วก็เติบโตกว่าเดิมหลายเท่า ช่วงนี้มีผลงานที่กำลัง launch อย่างเช่น ศาลาแดงวัน  ซึ่งถือเป็น ultra-luxury  การมอบหมายให้ทำงานนี้ถือว่าได้รับการไว้วางใจมาก  แล้วก็จะมีบ้านของผู้ใหญ่อยู่หลายท่าน เช่นจากครอบครัวสหวัฒน์ ตระกูลจิราธิวัฒน์ จนวันนี้เราเติบโตแข็งแรงกลับมาอีกครั้งหนึ่ง มีการตั้งเป้าหมายในชีวิตขึ้นใหม่ เราจะต้องเป็นคนไทยที่ไปประสบความสำเร็จในเวทีโลก จะต้องออกไปปักธง แล้วก็ไปสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ การที่เราได้รางวัลตอนต้นปีที่ผ่านมาเหมือนเป็นก้าวแรก จากครั้งนี้เป็นต้นไปเราต้องตั้งใจมากขึ้น ที่เพื่อจะประกาศว่าคนไทยก็มีทีมผลงานระดับมืออาชีพที่มีคุณภาพ”

คุณหนุ่ย ขณะยืนมองอาคารโครงการศาลาแดงวัน คอนโดมิเนียมที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จ

บทเรียนชีวิต

“ที่เราหมดพลังไป อาจจะเป็นเพราะว่าผมมองงานออกแบบที่ตัวเองรักมาก ชอบตั้งแต่ยังไม่รู้จักคำว่าสถาปนิกด้วยซ้ำ ตอนเด็กเราก็นั่งวาดรูปอย่างสนุกสนานตั้งแต่ ป.1 ป.2  จนตอนนี้เราก็นั่งวาดรูปเหมือนเดิม แต่ว่าเราทำมันเป็นอาชีพ แล้วเราก็หลงลืมไป กลับไป treat มันเหมือนกับว่ามันเป็นงานออฟฟิศเพื่อหาเลี้ยงชีพธรรมดา เหมือนกับว่าไม่ได้ปักธงอะไร ไม่ได้ตั้งเป้าหมายให้มันมีความชัดเจน ให้มันมีความยิ่งใหญ่  พอตอนนี้เราเริ่มมีเป้าหมายก็สามารถที่จะใช้ชีวิตในการทำงานให้มีพลังมากขึ้น

ภาพกิจกรรมการภาวนาที่ประเทศอินเดีย นอกเหนือจากการช่วยเหลืองานออกแบบเพื่อพุทธศาสนา สิ่งที่คุณหนุ่ยและคุณปรางยึดถือเป็นหนึ่งในภาระกิจหลักของชีวิตตลอดเวลาที่ผ่านมา

“อีกอย่างคือต้องเชื่อว่าการที่เราทำสิ่งที่รักมันสามารถอยู่กับเราได้ตลอดชีวิต เราต้องมองให้ถูก ว่ามันไม่ใช่งานที่มีแต่ด้าน negative ที่ใครบอกกันว่า งานสถาปนิกเป็นงานรับใช้นายทุน ทำแล้วก็ serve ได้เฉพาะคนรวย จริงๆแล้วมันไม่จริงเลยคือเราทำงานให้กับบริษัทที่ทำคอนโดในราคาปกติที่ทุกคนซื้อหาได้ เราสามารถที่จะทำให้งานทุกชิ้นเป็นงาน master piece  ได้หมดเลย มันอาจจะไม่ใช่ master piece ในลักษณะที่เป็นงานที่ออกไปได้รับรางวัล แต่ว่าสำหรับผม เมื่อคนเข้าไปใช้งานแล้วเขามีความสุข อย่างคนที่ซื้อคอนโดสักหลังหนึ่ง เขาเลี้ยงดูครอบครัวได้จนโต แล้วพอครอบครัวขยับขยายเขามีสิทธ์ิที่จะขายต่อเป็น asset ที่ดีเพราะว่าได้รับการตกแต่งมาดี ก็ถือว่ามันเป็น master piece แล้ว ดังนั้นผมคิดว่าเราในฐานะสถาปนิกมี potential ที่จะสร้าง master piece ได้ทุกวัน สร้างงานที่เราภูมิใจกับตัวเองได้ทุกวัน”

ฝากถึงเด็กรุ่นใหม่

“เริ่มก้าวแรกก็ต้องมองก่อนว่าเรารักมันจริงๆหรือเปล่า สองก็คือเรารักแล้วเราถนัดจริงไหม ลองขีดเขียนอะไรเล่นๆ เรารู้สึกมีความสุขไหม อาจจะยังไม่ต้องดูรูปร่างเป็นอาคาร แต่ถ้าการนั่งวาดเส้นแล้วเราถามตัวเองในใจว่า มันเกิดความสงบ เป็นความสุขในนั้น อย่างนี้เป็นการเริ่มต้นที่ดีแล้ว ในขั้นต่อไปก็แน่นอนว่าต้องเตรียมตัวที่จะสอบเข้ามาเพื่อเรียนวิชาชีพนี้ มีทางเลือกเยอะนะครับทั้งในและต่างประเทศตอนนี้”

“จริงๆ แล้วดีกรีเป็นเรื่องเล็กเหมือนกันนะ แต่สำหรับวิชาชีพนี้มันจะต่างจากงานอาร์ตที่สร้างผลงานโดยใช้ความรู้สึกล้วนๆ งานของสถาปนิก มันต้องการวิทยาศาสตร์ ต้องการเทคนิค เพื่อให้มันเกิดขึ้นในโลกของความเป็นจริงได้ ทำยังไงให้มันตั้งอยู่ได้ ให้ก่อสร้างได้ เราต้องรู้มากพอที่จะสามารถ apply มันต่อได้ แล้วก็ support การใช้ชีวิตของคนได้”

“บ้าน” ที่ดีในมุมมองของสถาปนิกมือรางวัล

“บ้านที่ดีสำหรับผมมีอยู่สามอย่าง อันแรกคือบ้านต้องเป็นที่ที่เรารู้สึกผ่อนคลาย เราทิ้งตัวที่ตรงนั้นแล้วเราสบายใจ รู้สึกสงบ สอง ต้องรู้สึกถึงพลัง อันนี้กลับกัน พอเราลืมตาขึ้นมาตอนเช้า บ้านก็เป็นส่วนหนึ่งที่ให้พลังกับเรา วิวตอนตื่นนอนที่เราเห็นทุกเช้าก่อนจะออกไปเจอโลกข้างนอก ต้องทำให้เราพร้อมทุกเช้า อย่างสุดท้าย บ้านจะต้องเป็นที่ที่เป็นบุคลิกของเราด้วย”

คุณหนุ่ยและคุณปรางพาทีมงานออกแบบในบริษัท ร่วมเดินทางไปดูงานออกแบบสถาปัตยกรรมระดับโลกทุกๆปี
ปัจจุบันคุณหนุ่ยยังคงไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนางานออกแบบใหม่ๆ ที่โดดเด่นและสร้างสรรค์  ภายในบ้านหลังใหญ่อย่าง Open box ซึ่งคุณหนุ่ยได้สร้างขึ้นมาอย่างมั่นคง เป็นดังบ้านที่บ่มเพาะสถาปนิกฝีมือเยี่ยมของประเทศไทยอีกหลายชีวิต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook