ผลวิจัยชี้ การดำน้ำ ส่งผลให้มีสุขภาพดีขึ้น
ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ระบุว่า การดำน้ำจะช่วยให้เรามีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ขณะที่แนวปะการังก็กำลังถูกคุกคามจากสิ่งมีชีวิตอย่างหนู เช่นกัน
วารสารวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมเผยแพร่ผลงานวิจัย ระบุว่า การดำน้ำและการว่ายน้ำเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาทางการแพทย์ เนื่องจากความเงียบใต้ท้องทะเลและความไร้น้ำหนัก จะทำให้เรารู้สึกถึงการปลดปล่อย โดยอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตจะลดลงและเข้าสู่สภาวะของการทำสมาธิ ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายของมนุษย์เป็นอย่างมาก
งานวิจัยชิ้นดังกล่าวยังระบุถึงประโยชน์ของการดำน้ำ ดังนี้
1. ช่วยปรับปรุงระบบการหายใจ ซึ่งการดำน้ำจะขึ้นให้เราฝึกการหายใจ เพื่อให้ปอดทำงานดีขึ้น โดยเหมาะกับผู้ที่กำลังเลิกบุหรี่ หรือเพิ่งจะเลิกสูบบุหรี่ที่ต้องการรักษาปอดของตนเอง
2. ช่วยให้มีความสุขมากขึ้น โดยการดำน้ำแบบสน็อกเคิลจะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเอนโดฟิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้มีความสุขมากขึ้น
3. การดำน้ำจะช่วยรักษาอาการกลัวที่แคบและทึบ เนื่องจากเมื่อเราอยู่ใต้น้ำ เป็นเสมือนโลกที่ไร้พรมแดน และการดำน้ำแบบสน็อกเคิลจะทำให้เห็นโลกใต้น้ำที่กว้างออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
อย่างไรก็ตามการดำน้ำแบบสน็อกเคิลอาจจะหายไป หากแนวปะการังถูกทำลาย ทีมนักวิจัยชีววิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัยแลนคาสเตอร์ ประเทศอังกฤษระบุว่า ปัจจุบันปะการังทั่วโลกกำลังถูกคุกคามและถูกทำลายจากสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสารพิษจากภาคเกษตรกรรม และนอกจากนี้หนูเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ระบบนิเวศทางทะเลเสียหายเช่นกันโดยเฉพาะแนวปะการัง เนื่องจากมันเป็นตัวการในการทำให้นกทะเลหายไป
ทีมนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า นกทะเลนั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่ตัวช่วยที่ทำให้ต้นไม้บนชายฝั่งเจริญเติบโตเท่านั้น แต่มันยังมีส่วนช่วยในการรักษาแนวปะการังด้วย โดยศึกษาจากเกาะที่มีหนู 6 เกาะ และเกาะที่ไม่มีหนูอีก 6 เกาะ มาเปรียบเทียบกัน ซึ่งการศึกษาพบว่า แนวปะการังที่มีนกทะเลอาศัยอยู่นั้นอุดมสมบูรณ์ มีปลาและสาหร่ายทะเลเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับแนวปะการังของเกาะที่ไม่มีนกทะเล
ดร.แนนซี่ โนวล์ตัน นักชีววิทยาแนวปะการัง ผู้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในงานวิจัยชิ้นนี้ต่างเห็นว่า หนูเป็นหนึ่งในตัวปัญหาที่เป็นอันตรายต่อแนวปะการังทั่วโลก แม้ว่าการค้นพบดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อหนู แต่นี่ก็เป็นแนวทางหนึ่งในการที่จะรักษาแนวปะการัง