ป่วยกายใจไม่แพ้! เปิดใจ "นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท" คุณหมอไทยผู้พิชิตดุษฎีบัณฑิต ม.ฮาร์วาร์ด

ป่วยกายใจไม่แพ้! เปิดใจ "นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท" คุณหมอไทยผู้พิชิตดุษฎีบัณฑิต ม.ฮาร์วาร์ด

ป่วยกายใจไม่แพ้! เปิดใจ "นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท" คุณหมอไทยผู้พิชิตดุษฎีบัณฑิต ม.ฮาร์วาร์ด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถ้าพูดถึงการเรียนแพทย์ ถือเป็นหนึ่งเส้นทางที่คนไทยใฝ่ฝันอยากจะศึกษาต่อในสาขาอาชีพนี้ เช่นเดียวกับครอบครัวของ นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท คุณหมอไทยที่ได้รับทุนจากองค์การอนามัยโลก ให้มาศึกษาต่อที่ มหาวิทยาลัย Harvard เพียงแต่แรงบันดาลใจของคุณหมอในช่วงที่ศึกษาอยู่ที่ชั้นมัธยมปลาย คือ การเป็นแพทย์เพื่อเข้ามาพัฒนาระบบการแพทย์ไทยให้ดีขึ้น

“ผมมีความรู้สึกปฏิเสธมาตลอด โดยการได้ยินเรื่องราวของแพทย์ที่ไม่ค่อยดีนะครับ ... ค่อนข้างอคติไปสักหน่อยนึง ... จนกระทั่ง ม.6 ผมได้เข้าร่วมโครงการของโรงพยาบาลศิริราช ที่ให้นักเรียนมัธยมได้ร่วมกิจกรรมให้พบกับผู้ป่วยโรค HIV/AIDs ... ในกิจกรรมครั้งนั้น ผมได้พูดคุยกับอาจารย์แพทย์ท่านหนึ่ง และผมก็บอกความรู้สึกกับท่านแบบนี้ ท่านก็แนะนำว่า ... ถ้าอยากให้ในวงการแพทย์ เป็นไปอย่างที่คุณอยากจะเห็น ก็มาเป็นแพทย์สิ .. ก็เป็นจุดพลิกผันเลยว่า จริงๆแล้วเราน่าจะทำอะไรได้บ้างเมื่อเราเป็นแพทย์แล้ว ซึ่งค้นพบเลยว่า ตัวเองอยากเป็นแพทย์”

คุณหมอวิรุฬ เดินหน้าศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ ที่ศิริราช ซึ่งดูเหมือนเส้นทางที่สวยหรูและโรยด้วยกลีบกุหลาบสำหรับคุณหมอ จนกระทั่ง ..

“ตอนผมเรียนแพทย์ปีสุดท้าย เหลืออีก 3 เดือน ในเช้าวันหนึ่งที่ผมเดินทางจากบ้านเพื่อไปที่ รพ.ศิริราช ... ผมก็ชักและหมดสติอยู่บนรถเมล์ พอตื่นขึ้นมาก็พบว่า ผมเป็นเนื้องอกในสมอง ขนาดเท่าผลส้มอยู่ในสมองด้านขวา ณ ตอนนั้นเรียกว่าอยู่ระหว่างความเป็นความตาย ไม่รู้ว่าจะสามารถรอดชีวิตจากการผ่าตัดได้หรือเปล่า”

การต่อสู้กับการผ่าตัดก้อนเนื้อในสมองครั้งแรกของคุณหมอ ไม่ได้เดียวดาย เพราะมีคุณบุหงา ลิ้มสวาท คนรักที่กลายมาเป็นคู่ชีวิตคอยดูแลอยู่เคียงข้างเสมอ จนการผ่าตัดผ่านไปด้วยดี และทั้งคู่ตัดสินใจกลับไปใช้ชีวิต ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชบ้านเกิดของคุณหมอวิรุฬ วาดฝันกันว่าจะอยู่ที่นั่นจนกระทั่งเกษียณ แต่แล้วโชคชะตาก็เล่นตลกกับทั้งคู่อีกครั้ง ...

นพ.วิรุฬ และคุณบุหงา ลิ้มสวาท หลังการผ่าตัดก้อนเนื้อในสมองครั้งแรก

“หลังจากนั้นไม่นานประมาณปีนึง เขาก็เริ่มป่วย เขาเริ่มป่วยเป็นโรคปวดประจำเดือน ปวดรุนแรงมากจนต้องใช้ยาแก้ปวดอย่างแรง จากเดิมที่กินยาก็ดีขึ้น ต่อมาก็ต้องฉีดยา จากเดือนละครั้งเป็นเดือนละหลายครั้ง จนสุดท้ายต้องนอนติดเตียงนานถึง 2-3 ปี”

บทบาทของ นพ.วิรุฬ ได้เป็นทั้งบุคลากรทางการแพทย์ เป็นคนไข้ และเป็นญาติคนไข้ด้วยตัวเอง ได้ทำให้ นพ.วิรุฬ ซึ่งมีวิสัยทัศน์ของการเป็นนักสร้างการเปลี่ยนแปลงอยู่ในตัว มองเห็นความสำคัญของสิ่งที่ถูกเรียกกันต่อๆมาว่า “วัฒนธรรมการแพทย์” ที่เป็นปัจจัยสำคัญในวงการสาธารณสุข

“โจทย์ที่ผมตังไว้ตั้งแต่ก่อนจะเข้ามาเป็นแพทย์ ว่าจะทำอย่างไรให้การแพทย์ไทยดีขึ้นหรือเป็นไปอย่างที่เราอยากจะเห็น ผมก็ตั้งสมมติฐานว่า มันมาจากสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมการแพทย์ หรือ Medical Culture พออะไรที่แก้ไม่ได้ก็จะเรียกว่าวัฒนธรรม ซึ่งผมมองว่าเราจะต้องมีความเข้าใจเรื่องนี้ และไปค้นหาว่าศาสตร์ด้านไหนที่ใช้ทำความเข้าใจเรื่องนี้ และพบว่ามีศาสตร์ที่เรียกว่ามานุษยวิทยา ก็เลยทำให้ผมตัดสินใจสมัครมาที่นี่ (Harvard) ครับ”

และในตอนหน้ากับบทสัมภาษณ์ นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท คุณหมอไทยผู้พิชิตดุษฎีบัณฑิต ม.ฮาร์วาร์ด จะพาไปติดตามประสบการณ์ในรั้วมหาวิทยาลัย Harvard ตั้งแต่ปริญญาโทจนถึงปริญญาเอก ที่เขาได้พาตัวเองและครอบครัวมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในสังคมอเมริกัน ท่ามกลางสิ่งที่ไม่คาดฝันมากมาย ... อย่าลืมติดตามค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook