รู้จักและเข้าใจมนุษย์ที่เสพติดการโกหก

รู้จักและเข้าใจมนุษย์ที่เสพติดการโกหก

รู้จักและเข้าใจมนุษย์ที่เสพติดการโกหก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คนที่ชอบโกหกจนเป็นนิสัยนั้น ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาสร้างเรื่องโกหกนั้น เพื่อทำให้ตนเองรู้สึกดี มีความมั่นใจ ในการเข้าร่วมสังคม ในขณะที่บางคนนั้นสร้างเรื่องโกหก เพื่อปฎิเสธความจริงในชีวิตตนเอง ไม่มีความภูมิใจในตนเอง ทำให้ต้องสร้างเรื่องโกหกขึ้นมา เพื่อให้ได้รับการยอมรับ และมีตัวตนอยู่ในสังคม

อาการโกหกนั้นจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากที่โกหกเฉพาะคนรอบข้าง ก็เริ่มสร้างความเชื่อมั่นให้กับตนเองด้วยการโกหกคนแปลกหน้า จากนั้นก็ไปถึงระดับชุมชน และเพิ่มดีกรีไปจนถึงระดับประเทศ ทั้งหมด คือ อาการในลักษณะของ Pathological Liars หรือคนที่ชอบหลอกตัวเอง เพราะต้องการลบปมบางอย่างในใจ โดยไม่สนใจว่าเรื่องที่พวกเขาสร้างขึ้นมานั้น จะสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่นมากมายขนาดไหน

ถ้าอย่างนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่าคนที่มีลักษณะของอาการหลอกตัวเอง หรือเป็นคนที่ชอบโกหกจนเป็นนิสัยนั้น มีลักษณะอย่างไร

1. พวกเขาจะมีรายละเอียดในการเล่าเรื่องของตัวเองเยอะมาก
สำหรับคนที่ชอบโกหกนั้น มักจะให้ข้อมูลมากจนล้น เพราะพวกเขาต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนที่ฟัง และต้องการชักจูงให้คนที่ฟังนั้นคล้อยตาม ดังนั้น เมื่อเจอคนที่ให้ข้อมูลในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกินความจำเป็น ก็ขอให้ฟังหูไว้หู อย่าเพิ่งเชื่อตามไปเสียทุกอย่าง แล้วลองถามคำถามที่ไม่เกี่ยวกับหัวข้อที่เขานำเสนอดู คุณจะพบว่าคนเหล่านี้ไม่สามารถหาคำตอบให้คุณได้เพราะเขาไม่ได้เตรียมข้อมูลมา

2. มีพฤติกรรมแปลก ๆ
ถ้าคุณอยากรู้ว่า คนที่นั่งอยู่ข้างคุณในห้องเรียน เพื่อนที่นั่งทำงานอยู่ตรงข้ามกับคุณ หรือแม้แต่คนในครอบครัวบางคนที่คุณกำลังสงสัยว่า เขาโกหกอยู่รึเปล่า ให้คุณลองสังเกตุพฤติกรรมของพวกเขาดู เวลาที่คนเหล่านี้เล่าเรื่องราวอะไรมาก็ขอให้ฟังแล้วเฉยไว้ แล้วคอยสังเกต เพราะคนที่โกหกนั้น ส่วนใหญ่จะจำเรื่องที่ตนเองโกหกไว้ไม่ค่อยได้ และมักจะแสดงพฤติกรรมที่ค้านกับสิ่งที่เขาเล่าให้เราฟังเสมอ

3. คนชอบโกหกมักหลบสายตาระหว่างสนทนา
คุณเคยเจอคนที่พยายามจะเล่าอะไรให้คุณฟัง แต่เป็นการเล่าแบบก้มหน้าลงดูโทรศัพท์บ้าง หันไปมองทางอื่นบ้างไหม จงรู้ไว้นั่น คือ ท่าพื้นฐานของนักโกหกมืออาชีพเลยทีเดียว เพราะคนที่โกหกส่วนใหญ่จะรู้สึกผิดและไม่กล้าสบตากับคนอื่น หรือแม้ว่าพวกเขาจะเซียนถึงขนาดที่เชื่อในสิ่งที่เขาโกหก แต่คนลักษณะนี้จะไม่สามารถมองคู่สนทนาตรง ๆ ได้ เพราะจิตใต้สำนึกนั้นไม่ได้เชื่อตามสมองที่สั่งให้เชื่อไปด้วย และดวงตาก็เปรียบเสมือนกับประตูสู่ความจริง ที่ไม่สามารถปิดได้

4. คนชอบโกหก มักจะเปลี่ยนเรื่องที่คุยได้อย่างรวดเร็ว
สัญชาตญาณของคนชอบโกหกนั้น มักจะเปลี่ยนหัวข้อที่จะคุยได้อย่างรวดเร็ว เพราะพวกเขารู้ดีว่าถ้ายิ่งคุยลึกลงไปในรายละเอียดจะทำให้พวกเขาถูกจับได้ว่าโกหก และถ้าคุณอยากดูว่า เขาจะแถต่ออย่างไร ให้คุณพยายามดึงเขากลับมาในหัวข้อเดิมจะเห็นว่าคนที่ชอบโกหกนั้นจะพยายามหลีกเลี่ยง หรือไม่ก็ยุติบทสนทนาไปเลย

5. ภาษากายของคนชอบโกหก
นอกจากดวงตาจะเป็นข้อพิสูจน์อย่างดีในการจับโกหกคนแล้ว ให้สังเกตภาษากายที่มือ คนที่ชอบโกหกนั้น จะชอบบีบมือตัวเองเวลาที่ไม่ได้เล่าเรื่องจริง หรือเอามือไปจับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เมื่อพวกเขาโกหก

6. คนชอบโกหกมักตอบคำถามช้า หรือ มีปฎิกิริยากับเหตุการณ์รอบข้างไม่เหมาะสม
คนโดยทั่วไปเมื่อมีความสุข หรือโมโหใครมาก็จะแสดงอารมณ์นั้นออกมาอย่างเต็มที่ แต่สำหรับคนที่ชอบโกหกนั้น จะไม่ค่อยแสดงอารมณ์อะไรออกมามากเท่าไรนัก เพราะเขากำลังมีเรื่องโกหกที่อยู่ในใจ ขณะเดียวกันถ้าคุณมีคำถามอะไรที่ต้องถามคนในลักษณะนี้ พวกเขาจะตอบคำถามคุณได้ช้า เพราะคนที่ชอบโกหกนั้นต้องคิดประมวลดูก่อนว่าก่อนหน้านี้เขาเคยคุยกับคุณไว้อย่างไร

7. คนชอบโกหก จะถกเถียงกับคุณอย่างเอาตายถ้าคุณไปสงสัยพวกเขา
ถ้าคุณแสดงความสงสัยในคำพูดของคนชอบโกหก คนเหล่านี้จะหันกลับมาถกเถียงกับคุณอย่างเอาเป็นเอาตายทันที เพราะคนเหล่านี้รู้ดีว่า การโต้เถียงกลับอย่างไม่ยอมแพ้นั้น คือ แผนการรับมือกับการถูกจับโกหกได้เป็นอย่างดี

แล้วในสังคมทุกวันนี้ มีคนมากมายหลายจำพวก บางทีเราเองต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับพวกเขาช่วงระยะเวลาหนึ่ง ไม่สามารถเดินหนีออกมาได้ หรือบางครั้งคนเหล่านี้ก็เป็นคนที่เรารู้จัก เป็นเพื่อน เป็นพี่เป็นน้องในที่ทำงาน หรือเป็นญาติที่เราคุ้นเคย

ขณะเดียวกัน อาการโกหกของคนเหล่านี้ ก็ไม่สามารถหายได้โดยง่าย ถ้าพวกเขาไม่ปรึกษาจิตแพทย์ ถ้าเช่นนั้นแล้วเราจะมีวิธีรับมือกับคนชอบโกหกแบบนี้อย่างไร

1. รับรู้ในสิ่งที่เขาเล่าว่าเป็นเรื่องโกหก แต่ไม่ต้องบอกให้เขารู้ตัว
เมื่อคุณเจอคนที่ชอบโกหกและคุณจับคำโกหกของเขาได้ แน่นอนว่า ความน่าเชื่อถือของคนเหล่านี้ลดลง แต่คุณไม่จำเป็นต้องไปบอกว่า คุณรู้ว่าเขาโกหก เพราะคนเหล่านี้ จะไม่ยอมรับและจะพยายามหาเหตุผลอื่น ๆ มาอ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ วิธีที่ดีที่สุดและคุณก็ไม่ได้คิดว่าต้องคบหากัน แต่ถ้าต้องเจอกันบ้าง ก็ขอให้ระลึกไว้เสมอว่า คำพูดของคน ๆ นี้ไม่สามารถเชื่อถือได้

2. คำโกหกของคนประเภทนี้สร้างความเดือดร้อนให้ใครไหม
คนโกหกนั้นมี 2 ประเภท ประเภทแรก คือ โกหกเพื่อที่จะเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ที่น่าขายหน้า แต่อีกประเภท คือ โกหกเพื่อตอบสนองความปรารถนาของตนเอง หรือมีเป้าหมายที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ถ้าเป็นคนโกหกในประเภทที่ 2 นี้มักนำมาซึ่งปัญหา และถึงเวลาที่คุณจะต้องดูว่า ควรจะจัดการอย่างไร ถ้าเขาสร้างปัญหาจนทำให้คุณเดือดร้อนก็ขอให้แจ้งตำรวจ เพราะกระบวนการนั้นจะนำสู่การพิจารณาบทลงโทษ และอาจหมายถึงการรักษาความเจ็บป่วยทางจิตของคนประเภทนี้ด้วย

3. ใช้วิธีพูดคุยส่วนตัวเพื่อแก้ปัญหา
ถ้าคุณคิดว่า คนยังมีความหวังดีให้อยู่บ้างกับคนที่ชอบโกหก และอยากเห็นเขากลับตัวได้ ลองคุยกับคนพวกนี้เป็นการส่วนตัว โดยบอกเขาว่า คุณรู้ความจริงและรู้ด้วยว่าเรื่องที่มาจากพวกเขานั้นเชื่อไม่ได้ ให้คุณลองคุยกับคนชอบโกหกเป็นการส่วนตัว ถามเขาถึงเหตุผลที่จะต้องโกหก และแรงกระตุ้นที่ทำให้เขามีพฤติกรรมแบบนี้ นอกจากนี้แล้ว จงให้โอกาสเขาอธิบายความจริง อย่าเพิ่งไปกล่าวหาใด ๆ เพราะคนลักษณะนี้จะเปลี่ยนเป็นหาข้อแก้ตัวมากกว่าจะบอกความจริงกับคุณ

4. ปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรักษาพฤติกรรมที่ชอบโกหก
การปรึกษากับจิตแพทย์ เพื่อหาทางออกกับพฤติกรรมชอบโกหกนั้น เป็นวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับคนที่มีอาการในลักษณะนี้ แต่การรักษาให้หายนั้นอาจต้องใช้ระยะเวลานาน เพราะคนที่ชอบโกหกนั้นมีอาการผิดปกติทางบุคลิกภาพ พวกเขาใช้ชีวิตโดยปฎิเสธความจริง และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้พวกเขากลายเป็นคนที่ชอบโกหก คนที่อยู่ใกล้ชิดมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะทำให้คนที่ป่วยด้วยอาการนี้หาย ด้วยการแสดงความเข้าอกเข้าใจและพาไปปรึกษาจิตแพทย์อย่างจริงจัง

5. ความโกรธ เกลียด หรือ ประจานไม่ทำให้พวกเขาหยุดการโกหกได้
หลายคนคิดว่า อาการโกหกของคนที่ชอบโกหกจะหยุดไปเอง ถ้าขุดเอาความจริงมาเปิดเผย และลงโทษเขาอย่างหนัก แต่ในความเป็นจริงแล้ววิธีดังกล่าวจะทำให้คนที่ชอบโกหก หยุดการโกหกไว้เพียงชั่วขณะ ก่อนจะไปสร้างเรื่องโกหกใหม่ ๆ กับกลุ่มคนใหม่ ๆ แทน หนทางที่ดีที่สุดในการรับมือกับคนที่มีอาการแบบนี้คือ ทำความเข้าใจและทำให้เขาไว้ใจและหาทางที่จะพาพวกเขาไปหาจิตแพทย์เพื่อทำการบำบัด

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook