“Otoshi” กับแกล้มจานน้อยเจ้าปัญหาที่ชาวต่างชาติบอกไม่เข้าใจ!?
ร้านอิซากายะของญี่ปุ่น หรือที่แปลเป็นไทยได้ว่าร้านเหล้านั้น ถึงจะเป็นร้านที่จำหน่ายแอลกอฮอล์และอาหารคล้ายๆ ร้านเหล้าในไทย แต่ก็ไม่ได้เหมือนสักทีเดียว จึงทำให้อิซากายะในสไตล์ญี่ปุ่นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ชาวต่างชาติที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นก็อยากที่จะลองใช้บริการอิซากายะกันสักครั้ง แต่หนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในร้านอิซากายะที่ทำเอาเจ้าของร้านปวดหัว ลูกค้าอารมณ์เสียก็คือ กับแกล้มที่เรียกว่า “Otoshi” ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะอย่างหนึ่งของอิซากายะ แล้ว "Otoshi" ไม่เหมือนกับแกล้มอย่างอื่นยังไง แล้วทำไมกับแกล้มจานเล็กๆ แค่จานเดียวถึงเป็นปัญหาขึ้นมาได้นะ?
“Otoshi” เป็นกับแกล้มชนิดหนึ่งที่จะถูกเสิร์ฟทันทีหากคุณเข้าไปในร้านอิซากายะและมีการสั่งเครื่องดื่ม “Otoshi” จะไม่มีระบุเอาไว้ในเมนูของร้าน แม้ลูกค้าจะไม่ได้สั่งแต่ทางร้านก็จะเสิร์ฟให้ และคิดค่า “Otoshi” ที่เราไม่ได้รวมในค่าอาหาร ซึ่งคนญี่ปุ่นทุกคนเข้าใจถึงระบบตรงนี้เป็นอย่างดี ต้องยอมรับว่าอิซากายะของญี่ปุ่นจะไม่มีค่าบริการ เซอร์วิสชาร์จ และก็ไม่มีวัฒนธรรมการให้ทิปเหมือนชาวตะวันตก สำหรับทางร้าน “Otoshi” จึงเปรียบเสมือนสิ่งแทนค่าบริการ ค่าที่นั่งนั่นเอง โดยตามหลักแล้วลูกค้าสามารถปฏิเสธไม่เอา “Otoshi” ได้ แต่ทางร้านก็สามารถปฎิเสธที่จะไม่ให้บริการลูกค้าคนดังกล่าวได้เช่นกัน
แต่เมื่อในประเทศญี่ปุ่นมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มมาขึ้นเรื่อยๆ ชาวต่างชาติจำนวนมากที่ไม่เข้าใจถึงระบบดังกล่าว และทางร้านก็ไม่สามารถอธิบายเป็นภาษาอังกฤษให้ลูกค้าเข้าใจได้ จึงเกิดเป็นปัญหาโต้เถียงและสร้างความไม่พอใจซึ่งกันและกันขึ้น โดยเฉพาะชาวต่างชาติหลายๆประเทศที่มีแนวขึ้นเรื่องการเรียกร้องสิทธิของผู้บริโภคค่อนข้างสูง ซึ่งไม่เป็นการส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศและการท่องเที่ยวสักเท่าไร ในปัจจุบันมีร้านอิซากายะตามแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงทำป้ายกำกับอธิบายเรื่อง “Otoshi” เป็นภาษาต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวเข้าใจถึงระบบร้านอิซากายะมากขึ้น ทำให้ปัญหาความไม่พอใจเกี่ยวกับ “Otoshi” ลดจำนวนลงไปได้เยอะ
ไม่น่าเชื่อนะคะว่ากับแกล้มเพียงจานเดียวจะทำให้เป็นปัญหาปวดหัวได้แบบนี้ ที่จริงแล้วสาเหตุจริงๆของเรื่องนี้ก็เป็นเพราะความแตกต่างทางวัฒนธรรมแค่นั้นเอง “Otoshi” ถือตัวอย่างหนึ่งของความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่ชาวญี่ปุ่นต้องอธิบาย ส่วนชาวต่างชาติที่ไปเยือนญี่ปุ่นก็ต้องทำความเข้าใจนะคะ สุภาษิตที่ว่า “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” ถือเป็นคำพูดที่ไม่เคยล้าสมัยเลยจริงๆ….