“ศิลปะคือลมหายใจของพ่อ” ดอยธิเบศร์ ดัชนี

“ศิลปะคือลมหายใจของพ่อ” ดอยธิเบศร์ ดัชนี

“ศิลปะคือลมหายใจของพ่อ” ดอยธิเบศร์ ดัชนี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตอนหนึ่งในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ ‘ดอยธิเบศร์ ดัชนี’ บอกว่าหลังคุณพ่อ ‘ถวัลย์ ดัชนี’ เสียชีวิต ในฐานะทายาทคนเดียว หลายคนเป็นห่วงว่าเขาจะจัดการกับสิ่งที่คุณพ่อสร้างไว้ต่อไปอย่างไร แต่เขาว่าบางคนที่ตั้งคำถามเช่นนั้น ยังไม่รู้จักเขาดีพอ... “ผมรู้สึกว่าหลายคนยังไม่รู้จักผม เพราะจริงๆ แล้วผมกับพ่อจะรู้กันดีว่าเราคิดอะไร แล้วเราจะทำอะไร เราไม่ใช่ว่าปุบปับผมไปสานงานต่อจากพ่อหลังจากที่แกจากไปแล้ว แต่ผมทำมาก่อน ทำมาตลอดชีวิต และรู้ว่าควรจะทำอะไร”
 
เช่นเดียวกับที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ‘ดอยธิเบศร์ ดัชนี’ คือศิลปินคนหนึ่ง ได้เลือดศิลปินจากพ่อมาเต็มๆ เริ่มต้นทำงานศิลปะตั้งแต่อายุ 17 ปี จบปริญญาตรีด้านศิลปกรรม ปริญญาโทเกี่ยวกับการจัดการพิพิธภัณฑ์ ปริญญาเอกด้านจิตรกรรม จับเรื่องงานศิลปะมาโดยตลอด… mars ชวนเขาพูดคุยถึงเส้นทางการทำงานศิลปะของตัวเอง พร้อมๆ ย้อนรำลึกถึงคุณพ่อ ‘ถวัลย์ ดัชนี’ ศิลปินแห่งชาติ “ไปไหนมาไหนยังนึกถึงพ่ออยู่นะครับ งานศิลปะที่เป็นลมหายใจของพ่อคือบ้านดำ สิ่งยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับพ่อ ทำยังไงที่จะรักษาลมหายใจของพ่อให้อยู่สืบไป”

 

Q : เริ่มทำงานศิลปะมาตั้งแต่เด็กๆ เลยหรือเปล่า

A : ผมเติบโตมาในครอบครัวของพ่อที่ทำงานศิลปะ ฉะนั้นจึงมีความผูกพันมาตั้งแต่เด็ก ว่าศิลปะมันอยู่ในสายเลือด อยู่ในจิตวิญญาณ อยู่ในความรู้สึกของเราตลอดเวลา แต่พอโตขึ้นแรกๆ ผมก็ไม่รู้หรอกผมชอบอะไร แต่สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดก็ยังคงเป็นงานศิลปะ ฉะนั้นผมจึงจับเรื่องงานศิลปะมาโดยตลอด พอโตมาก็มาเรียนต่อปริญญาตรีที่กรุงเทพฯ ด้านศิลปกรรม แล้วก็ต่อโทเกี่ยวกับการจัดการพิพิธภัณฑ์ ก่อนต่อเอกด้านจิตรกรรม ก็ชอบศิลปะมาตั้งแต่แรก

Q : การทำงานในฐานะศิลปินมีกรรมวิธีอย่างไรบ้าง

A : งานผมเองตอนทำส่วนใหญ่ใช้เวลาไม่นาน แต่เวลาหาแรงบันดาลใจ หาข้อมูล สเกตช์ร่างจะใช้เวลานาน บางทีอาจจะหาข้อมูลหลายเดือนกว่าจะเอามาทำสเกตช์ อย่างผมเองสนใจเรื่องตะวันออก แรงบันดาลใจของผมก็มักจะอยู่ที่ศิลปวัฒนธรรม อยู่ที่วัดที่โบราณสถาน ผมอาจจะไปท่องเที่ยวหาข้อมูลจากวัด ใช้เวลาตั้งแต่ทางเหนือไปในหลายๆ จังหวัด พอได้ข้อมูลก็จะทำสเกตช์ จากนั้นจะทำการทดลอง ซึ่งก็ใช้เวลาพอสมควรกว่าจะเริ่มลงมือทำจริงๆ คืองานศิลปะมันไม่ได้อยู่ดีๆ ใช้อารมณ์แล้วมากระชากๆ เลย มันก็คือการทำงานอย่างหนึ่ง ต้องมีการวางแผนทุกขั้นตอนเหมือนการทำงานอย่างอื่น เพียงแต่คนส่วนใหญ่อาจจะเข้าใจว่างานศิลปะมันไม่ต้องเรียนหนังสืออะไรมาหรอก แค่ใช้พรสวรรค์ จริงๆ ไม่ใช่ มันเป็นการวางแผน มีขั้นตอนของมัน ไม่ต่างจากการสร้างบ้านที่ต้องมีแบบแปลน มันมีกระบวนการของมันเหมือนงานอื่นๆ

Q : บนเส้นทางการทำงานตัวตนทางศิลปะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

A : งานศิลปะของผมเริ่มต้นจริงๆ ตอนผมอายุ 17 คือเริ่มรับจ๊อบทำงานแบบอาชีพ มันเริ่มจากตอนผมเรียนปริญญาตรี ซึ่งต้องทำงานศิลปะส่งอาจารย์ ผมแอบทำงานช่วยเพื่อนไปด้วย 2 คน เพราะเพื่อนไม่ค่อยเก่ง ช่วงนั้นผมจึงทำงานเป็น 3 เท่าของคนอื่นๆ แต่ละคลาสแต่ละวีคต้องมีงาน 3 ชิ้น ช่วงนั้นมันทำให้ผมได้มีโอกาสฝึกฝีมือ ได้ทดลองอะไรมากกว่าคนอื่น นอกจากนี้ผมค่อนข้างจะมีโอกาสมากกว่าคนอื่น คือผมได้รับงานจากพี่ๆ ที่เขาเมตตา ไม่ว่าจะเป็นงานภาพประกอบ งานเวที งานประกอบฉาก งานอะไรก็ตามที่มันเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ ตอนนั้นผมมีคอนเซ็ปต์ว่าทำอะไรก็ได้ที่มันเกี่ยวข้องกับศิลปะ เพราะเราถือว่าศิลปะเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเรา เราต้องพยายามทำงานอะไรที่มันส่งเสริมตัวเราด้วย

แต่ตอนแรกผมก็ยังไม่มีแนวทางของตัวเอง กระทั่งต่อมาถึงจะเริ่มรู้สึกว่าเราหาตัวเองเจอ มันเกิดจากการทดลองทำงานที่หลากหลาย มาถึงจุดหนึ่งก็ค้นพบเทคนิคหรือลักษณะของตัวเอง แล้วก็เริ่มใช้ตรงนี้พัฒนาต่อยอด ซึ่งรวมๆ แล้วก็นับสิบปีเหมือนกันกว่าจะค่อยๆ เจอ แล้วก็ใช้เวลาเกือบ 20 ปีทำงานลักษณะที่เป็นของตัวเองขึ้นมา ทั้งหมดมันไม่ได้ใช้เวลาแป๊บเดียว มันต้องสร้างบุคลิกให้เป็นปัจเจกภาพส่วนบุคคล ให้มันชัดเจนในสิ่งที่ตัวเองทำ จากตอนแรกเป็นเพนติ้งก็มาเป็นมิกซ์มีเดีย เป็นสื่อผสมที่เอาวัสดุ เอาเทกซ์เจอร์ เอาอะไรหลายๆ อย่างมาผสมผสานกัน

 

Q : การเป็นลูกศิลปินดังมีผลต่อการทำงานศิลปะหรือไม่

A : ผมว่ามันเป็นเรื่องปกติของลูกคนที่มีชื่อเสียงหรือที่มีความสามารถทั้งหลายที่คนมักมีการเปรียบเทียบ แบบพ่อมันเก่ง ลูกมันไม่เก่ง ซึ่งมันจะมีอยู่ 2 ประเด็น คือถ้าผมเก่งคนจะบอกว่าเก่งเหมือนพ่อ แต่ถ้าเขามองว่าผมไม่เก่ง ก็จะบอกว่าทำไมไม่เห็นเก่งเหมือนพ่อ มันเสมอตัว แต่ผมก็ไม่ได้กังวลอะไร เพราะถ้าเรารู้จักมองให้แรงกดดันทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นแรงบวก เราก็จะทะยานไปข้างหน้าได้เร็วกว่าคนอื่น ชีวิตผมถูกเคี่ยวกรำมามากกว่าคนอื่น สิ่งต่างๆ ที่ผ่านมามันทำให้เราเข้มแข็ง ทำให้เราแกร่งจนไม่ว่าเราจะเจออุปสรรคอะไรมันก็ต้องผ่านไปได้

Q : พ่อมีวิธีเลี้ยงดูเรามาอย่างไร

A : พ่อเลี้ยงแบบไม่เลี้ยง สอนแบบไม่สอน แกทำตัวให้เป็นตัวอย่าง และตัวอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน คือพ่อประพฤติปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกเสมอ ก็อยู่ที่เราว่าจะทำหรือเปล่า และเรารักดีหรือเปล่าเท่านั้นเอง

Q : รู้สึกเกร็งกับการทำงานศิลปะหรือไม่

A : แรกๆ ก็อาจจะมีบ้าง เพียงแต่เวลาเราทำงานเราไม่เหมือนพ่อลูก เราเหมือนเป็นคนทำงานศิลปะร่วมกัน เวลาพ่อคิดงานใหม่ได้แกก็จะมานั่งคุยให้เราฟัง เราจะไม่เหมือนพ่อลูกทั่วๆ ไปที่คุยกันเรื่องดินฟ้าอากาศ เราจะคุยกันเรื่องงานศิลปะ พ่อจะเอางานมาให้ดูว่า เออ ช่วงนี้พัฒนาการทางความคิดเป็นยังไง เอาสเกตช์มาให้ดู นี่คือสิ่งที่คิดใหม่ได้ เราจะซึมซับกันและกัน พอเรามีงานใหม่เราก็จะมาเสนอว่า นี่เรามีงานชิ้นนี้ เรากำลังทำสิ่งนี้อยู่ เราจะคุยกันแบบนี้มากกว่า

Q : ความเป็นศิลปินของพ่อทำให้ได้ใช้เวลาร่วมกันน้อยหรือเปล่า

A : พ่อเอาผมมาอยู่กับย่าตั้งแต่อายุ 2 อาทิตย์ วันหยุดเสาร์-อาทิตย์เท่านั้นถึงจะได้เจอพ่อบ้าง ผมอยู่ในเมือง แกอยู่ห่างออกไป 10 กว่ากิโล คือตัวแกต้องการพื้นที่ส่วนตัว คนทำงานศิลปะไม่เหมือนอาชีพอื่นๆ จนช่วงสุดท้ายของชีวิตแก แกก็ต้องการพื้นที่ส่วนตัว หมายความว่าตั้งแต่แกเด็กเริ่มทำงานศิลปะจนแก่ แกต้องการโลกของแก สมมุติเวลาวาดรูปแกก็ไม่ให้ใครกวน เพราะมันก็จะเป็นช่วงที่ต้องใช้สมาธิสูง อารมณ์ความรู้สึกสมาธิสำคัญมาก บางทีตวัดฝีแปรงทีเดียว ถ้าพลาดก็พลาดเลย เราไม่สามารถที่จะย้อนคืนเหมือนทำในคอมพ์ได้

 

Q : ในมุมของลูกชายคิดว่าพ่อมีความยิ่งใหญ่อย่างไร

A : พ่อเป็นคนที่รักในสิ่งที่ตัวเองทำ แล้วก็มีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน และไม่ได้มีความเก่งแค่ด้านเดียว เป็นคนที่จะเรียกว่าอัจฉริยะก็ว่าได้ สามารถทำทุกอย่างได้และเก่งในทุกๆ ทางที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม งานออกแบบสร้างสรรค์ เรื่องของวรรณกรรม แกเก่งหมด แล้วแกทำอะไรแก่การศึกษาจริงจังมาก และแกทำตลอดชีวิต

ถามว่ามันแปลกมั้ยที่แกประสบความสำเร็จ? ผมว่าจริงๆ มันไม่แปลก เพราะเราเห็นชีวิต เราเห็นในสิ่งที่แกทำ ใน 1 วัน แกทำ 8-9 ชั่วโมงเหมือนคนทำงานเข้า 8 โมงเช้าเลิก 5 โมงเย็น แกก็ทำงานที่เป็นลักษณะแบบนั้นตลอดเวลา แล้วแกก็เป็นคนขวนขวายใฝ่รู้ตลอด ฉะนั้นไม่แปลกที่แกจะประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะว่าแกเคี่ยวกรำตัวเองมา เหมือนคนฝึกวิทยายุทธ์ มันไม่สามารถจะเก่งในชั่วข้ามคืน แต่ต้องใช้ทั้งชีวิตทุ่มเทให้มัน

บางคนทำงานศิลปะก็เป็นอาจารย์ไปด้วย ไปสอนหนังสือด้วย แล้วก็เดินทางทำโน่นทำนี่ มันเลยทำให้ความเข้มข้นหรือพลังในการทำงานไม่เต็มที่ แต่พ่อทุ่มเทชีวิตให้กับศิลปะอย่างเดียว แล้วสิ่งที่สำคัญที่ผมเห็นพ่อสร้างไว้ งานศิลปะที่เป็นลมหายใจของพ่อคือบ้านดำ เป็นอาณาจักรที่เป็นองค์ความรู้แล้วก็ให้คืนกลับแผ่นดิน ผมเชื่อว่าสิ่งนี้มันแตกต่างจากศิลปินคนอื่นและเป็นสิ่งที่วิเศษมาก 

Q : ในวันที่พ่อไม่อยู่เป็นจุดเปลี่ยนอะไรหรือเปล่า

A : มันเปลี่ยนอยู่แล้วชีวิตของแต่ละคน อย่างแรกคือสูญเสีย เพียงแต่เราจะทำยังไงไม่ให้มันเสียศูนย์ บางคนก็เป็นห่วงว่าผมจะจัดการกับสิ่งที่พ่อสร้างไว้ต่อไปยังไง ผมรู้สึกว่าหลายคนยังไม่รู้จักผม เพราะจริงๆ แล้วผมกับพ่อจะรู้กันดีว่าเราคิดอะไร แล้วเราจะทำอะไร เราไม่ใช่ว่าปุบปับผมไปสานงานต่อจากพ่อหลังจากที่แกจากไปแล้ว แต่ผมทำมาก่อน ทำมาตลอดชีวิต และรู้ว่าควรจะทำอะไร นี่คือสาเหตุที่ผมต้องไปเรียนมาโดยตรง ต้องมาริเริ่มสร้างสรรค์ หรือต้องมาทำบ้านดำแกลเลอรี่ ผมต้องมาทำเว็บไซต์ ต้องทำของทำโน่นนี่ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าเราจะต้องทำอะไร แล้วเราจะทำยังไงให้บ้านดำอยู่ได้

 

Q : นอกจากในด้านของศิลปะแล้วชีวิตด้านอื่นมีความคล้ายหรือแตกต่างจากพ่ออย่างไรบ้าง

A : มันมีทั้งความคล้ายและความต่าง สิ่งที่คล้ายกันน่าจะเป็นวิธีการดำเนินชีวิต แต่ของผมกับพ่อจะแตกต่างกันที่... อย่างของพ่อจะเป็นคนที่เข้มงวดกับชีวิตมาก จะไม่ทำอย่างอื่น ทำอย่างใดอย่างหนึ่งชัดเจนไปเลย อย่างเช่น วันนี้วางแผนว่าจะไปทำบัตรประชาชนหมดอายุ ก็ทำอย่างเดียว แกจะไม่ทำอย่างอื่นเลย แต่ของผมก็วางแผนเหมือนกัน แต่เราทำหลายๆ อย่างในตัวเอง เพราะเราจะทำอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เราต้องมีช่วงที่สวมหัวโขนสลับกัน ดังนั้นผมสามารถทำอะไรหลายๆ อย่างได้พร้อมๆ กัน ความต่างมันเกิดจากผมเอาเรื่องการบริหารจัดการเข้ามาใช้ในชีวิต พ่อจะเน้นที่ทำงานศิลปะอย่างเดียว และไม่ทำอย่างอื่นเลย

Q : คิดว่าคำสอนอะไรที่สำคัญที่สุดที่พ่อทิ้งไว้ให้

A : ผมว่าเป็นวิธีการดำเนินชีวิตแก เป็นลมหายใจที่แกสอนให้เรารู้ว่าการที่เราจะอยู่บนโลกนี้ได้ เราต้องรู้จักอะไรหลายอย่าง เราต้องรู้จักเรียนรู้ที่จะหายใจ แล้วถ้าเรารู้ว่าศิลปะเป็นเส้นเลือดใหญ่ ถ้าเรามีเป้าหมายชัดเจน เราก็ต้องเดินไปให้ถึงฝัน ฉะนั้นมันไม่มีอะไรที่ได้มาง่าย หรือได้มาแบบฟลุก ในชีวิตผมที่ผ่านมาก็เจออะไรมาเยอะมาก จนเราได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่แกสอน สิ่งที่แกพยายามทำมันเป็นการฝึกเรา ฉะนั้นถามว่าพ่อผมเลี้ยงลูกยังไง พ่อเลี้ยงลูกแบบสิงโต คือลูกสิงโตมันเกิดมาธรรมชาติจะคัดสรรตัวที่ไม่แข็งแรงมันก็ต้องตาย ตัวที่มันอยู่ไม่ได้มันก็ต้องตาย และแกเชื่อในเลือดของแก เชื่อในสัญชาตญาณ ส่วนผมจะดีจะเลวอะไรแกไม่เคยมายุ่งเลย เราก็รู้และสัมผัสได้ด้วยตัวเองว่าอะไรเราควรหรือไม่ควรทำอะไร

 

Q : ในส่วนของการเป็นภัณฑารักษ์มีการรวบรวมงานมาจัดแสดงอย่างไร

A : ผมก็มีหน้าที่ดูแลแล้วก็จัดเอ็กซิบิชั่นดีไซน์ของพ่อหลายๆ ครั้ง ตั้งแต่สมัยที่ยังจัดแสดงที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าฯ เราก็ช่วยกันออกแบบ ซึ่งผมค่อนข้างรู้รายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับบ้านดำ เพราะตอนปริญญาโทผมก็ทำเรื่องเกี่ยวกับบ้านดำโดยตรง ฉะนั้นสิ่งที่ผมศึกษาค้นคว้าแล้วก็ถอดรหัสจากหลายๆ จุดทำให้เราได้รู้ว่าบ้านแต่ละหลังหมายความว่าอะไร 

Q : เป้าหมายของชีวิตตอนนี้คือการดูแลสิ่งที่พ่อสร้างไว้ และทำงานศิลปะของตัวเอง?

A : เป้าหมายของผมมันอาจจะแตกต่างจากคนอื่น คือเรามีภาระและหน้าที่ ฉะนั้นสิ่งที่มันเกิดมากับเราก็คือสิ่งที่พ่อสร้างไว้ เราต้องจัดการตรงนี้ให้เรียบร้อย ในส่วนหนึ่งเราก็มีความฝันของตัวเอง เช่น เราอยากทำงานศิลปะ เราอยากเรียน เราอยากจะทำอะไรที่มันเป็นของตัวเอง เราก็ต้องพยายามประคับประคองมันไปให้ได้ เพราะจริงๆ มนุษย์เราแค่เกิดมาดูแลตัวเองมันก็ยากแล้วก็เหนื่อยแล้ว แต่ของผมมันต้องดูแลอะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันก็ไม่ยากเกินความสามารถของมนุษย์

สิ่งที่ผมสนใจตอนนี้คือทำยังไงให้บ้านดำอยู่ได้ ทำยังไงให้ลมหายใจของพ่อยังมีชีวิตอยู่ได้และดำรงสืบต่อไป เพราะผมเชื่อว่าไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้าแน่นอน แต่สิ่งสำคัญคือก่อนที่เราจะตายเราได้สร้างประโยชน์ สร้างคุณงามความดีอะไรบ้าง ฉะนั้นสิ่งที่มันยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับผมก็คือว่า ทำยังไงให้บ้านดำมันอยู่ได้ แค่นั้นเอง หลังจากที่ผมทำเสร็จแล้ว มันอยู่ได้เป็นระบบแล้ว ผมก็สามารถที่จะไปนั่งวาดรูปอะไรของผมโดยที่ไม่ต้องมานั่งห่วงอะไรอีก
 
เรื่อง : mars
ภาพ : mars

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook