4 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า
ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เผยว่า ขณะนี้อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นในเขตเมือง ซึ่งจากผลสำรวจพฤติกรรมบริโภคบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไทย พ.ศ.2560 ในกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย จำนวน 1,155 คน มีถึง 61% ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า และกลุ่มนักเรียนมัธยมปลายเขตกรุงเทพฯ จำนวน 945 คน พบว่า 30.5% ก็สูบบุหรี่ไฟฟ้าเช่นกัน ทั้งนี้ยังมีความเชื่อผิดๆ 4 ข้อที่ทำให้เยาวชนหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าอีกด้วย
1. เชื่อว่ามีกลิ่นหอม
น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าหรือที่เรียกอีกอย่างว่า E-liquid จะมีสารประกอบอยู่หลายชนิด ที่ทำให้เกิดกลิ่นและรสที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจะมีทั้งแบบที่ผสมและไม่ผสมนิโคติน แต่ถึงอย่างไรก็ตามสารนิโคติน ก็ถือว่าเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่ง ที่สามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด และโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจได้ ทั้งนี้ควันบุหรี่ที่มีนิโคตินยังส่งผลให้ผู้ที่ได้รับสาร อาจทำให้มีอาการความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น หายใจถี่ขึ้น หรือน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้
2. เชื่อว่าปลอดภัย
นอกจากนิโคตินที่เป็นส่วนผสมหลักแล้ว บุหรี่ไฟฟ้ายังมีสารปนเปื้อนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโพรไพลีนไกลคอล ที่ทำให้ระคายเคืองตาและปอด ก่อให้เกิดโรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด และโรคถุงลมโป่งพอง กลีเซอรีนและสารแต่งกลิ่นรส ที่ก่อให้เกิดปัญหาทางระบบทางเดินหายใจและปอด นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พบว่าในน้ำยาที่ใช้ในบุหรี่ไฟฟ้า มีโลหะหนักปนเปื้อนอยู่ ทั้งนิกเกิล ตะกั่ว โครเมียมที่เป็นพิษต่อปอด และแคดเมียมที่อันตรายต่อไต นอกจากนี้ก็ยังมีสารพิษที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งอยู่ในปริมาณมากอีกด้วย
3. เชื่อว่าทันสมัย
บุหรี่ไฟฟ้าเป็นบุหรี่แบบใหม่ที่ดูทันสมัย ทำให้หลายคนเข้าใจว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกหนึ่งของการสูบบุหรี่ที่ปลอดภัย แต่ทว่ามันไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่คิด โดยบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ที่ใช้แบตเตอรี่ และในปัจจุบันมีการดัดแปลงบุหรี่ไฟฟ้าให้มีลักษณะที่ต่างกันออกไป และยังไม่มีมาตรฐานการผลิตที่เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน จึงมีข่าวการระเบิดของบุหรี่ไฟฟ้าปรากฏเพิ่มขึ้นให้เห็นตามสื่อต่างๆ โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา ออกมาเปิดเผยเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการระเบิดของบุหรี่ไฟฟ้าในปี 2558 ว่ามีจำนวนมากถึง 56 ครั้งเลยทีเดียว
4. เชื่อว่าไม่ทำให้เสพติด
แม้ว่าจะมีการอ้างสรรพคุณว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้ แต่จากเอกสารของกระทรวงอาหารและยาสหรัฐอเมริกา ระบุไว้ว่า ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดพิสูจน์ได้ว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการช่วยเลิกบุหรี่ ซึ่งเป็นเพียงความเข้าใจของผู้ใช้บางกลุ่มเท่านั้น และสำหรับในประเทศไทย บุหรี่ไฟฟ้ายังไม่ได้รับการรับรองให้ใช้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นประเด็นที่ยังต้องการงานค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติม ถึงคุณสมบัติและประสิทธิผลของมันต่อไปในอนาคต
พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560
ตามที่พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ระบุไว้ว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้รับสินค้านั้น รวมถึงพาหนะที่ใช้บรรทุกสินค้านั้นด้วย นอกจากนี้ยังห้ามให้ขายและให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงน้ำยาสำหรับเติมบุหรี่ไฟฟ้า ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ฝ่าฝืนเป็นผู้ผลิต ผู้สั่ง หรือผู้นำเข้าเพื่อขาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ