“นักพากย์ E-Sports” อาชีพใหม่มาแรงจากวงการเกม

“นักพากย์ E-Sports” อาชีพใหม่มาแรงจากวงการเกม

“นักพากย์ E-Sports” อาชีพใหม่มาแรงจากวงการเกม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

e-Sports คือกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ชนิดหนึ่ง ที่มีทั้งประเภทบุคคลและประเภททีม ซึ่งกรมกีฬาได้จัดให้ e-Sports เป็นส่วนหนึ่งของกีฬาที่เกี่ยวกับกับการแข่งขันวิดีโอเกม โดยแบ่งออกเป็นระดับสมัครเล่น กึ่งอาชีพ และระดับมืออาชีพ รวมถึงมีรายการแข่งขันและลีกต่างๆ เช่นเดียวกับกีฬาทั่วไป ทั้งนี้อีสปอร์ตยังได้รับการบรรจุให้เป็นการแข่งขันกีฬาชิงเหรียญอย่างเป็นทางการในเอเชียนเกมส์ 2022 อีกด้วย

การมาของ e-Sports นั้นทำให้เกิดอาชีพใหม่เป็นจำนวนมาก และสามารถสร้างรายได้จำนวนไม่น้อยได้อีกหนึ่งทาง ซึ่งวันนี้ Tonkit360 จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับอีกหนึ่งอาชีพมาแรงในวงการเกม นั่นก็คือ นักพากย์กีฬา e-Sports ผ่าน “เฟม-ศุภณัฐ วรรณแสงขำ” อายุ 22 ปี Caster และ Content Creator ของบริษัท Esports Alliance กันว่าหากใครก็ตามที่มีความฝัน อยากจะเป็นนักพากย์ e-Sports แบบเฟมต้องเริ่มต้นจากตรงไหนบ้าง

มาเป็นนักพากย์ e-Sports ได้อย่างไร

เฟม : ก็คือผมชอบเล่นเกมอยู่แล้ว และตอนแรกผมก็เป็นนักแข่งเกม e-Sports ด้วย แต่พอเห็นนักพากย์ตอนที่เราแข่ง เขาพากย์กันมันส์มาก เราก็เลยเกิดความรู้สึกว่าอยากจะพากย์บ้าง แล้วผมก็ได้มาเห็นโพสต์ของบริษัท Esports Alliance ในเฟซบุ๊กประกาศหานักพากย์ e-Sports อยู่ ผมเลยลองส่งรีซูเม่มา แล้วเขาก็เรียกสัมภาษณ์ ซึ่งเขาก็ถามว่าเคยพากย์อะไรมาก่อนไหม รู้เรื่องเกี่ยวกับเกมมากน้อยแค่ไหน โดยส่วนตัวตอนเรียนมหาวิทยาลัย ผมเคยพากย์ฟุตบอลแบบเกมฟีฟ่าที่จัดขึ้นเล็กๆ ในคณะมาก่อน บวกกับผมก็มีความรู้เรื่องเกม ซึ่งผลปรากฏว่าผมผ่านสัมภาษณ์และก็ได้มาทำในตำแหน่ง Caster หรือนักพากย์นี่แหละครับ

นอกจากเกม มีแรงบันดาลใจอื่นที่ทำให้มาเป็นนักพากย์ e-Sports ไหม

เฟม : มีครับ ก็คือสมัยก่อนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ผมเป็นนักกีฬาฟุตบอลและผมก็ชอบดูการแข่งขันฟุตบอลด้วย พูดง่ายๆ ว่าเสาร์อาทิตย์ ผมจะอุทิศตัวเองให้กับการดูถ่ายทอดสดฟุตบอลเลย และเวลาที่ผมได้ฟังเสียงได้เห็นผู้บรรยายกีฬาฟุตบอล เขาพากย์ในเกมการแข่งขัน มันก็ยิ่งทำให้ผมรู้สึกว่าเราอยากจะเป็นนักพากย์แบบนั้นบ้าง ซึ่งนักพากย์ฟุตบอลที่เป็นไอดอลของผมก็คือ น้าหัง-อัฐชพงษ์ สีมา ครับ

ไอดอลนักพากย์ด้าน e-Sports คือใคร

เฟม : สำหรับในประเทศไทย ผมชอบอารีฟีน (Arifeen Charawae เป็นนักพากย์เกม DOTA2 และ PUBG)  เพราะว่าเขาพากย์สนุก เขาใช้เสียงและเล่นคำได้ดี อีกอย่างก็คือเสียงของเขาก็ดีมากๆ ทำให้ผมชื่นชอบเขาและยึดเป็นไอดอลในด้านการพากย์ e-Sports หรือจะเรียกว่าผมเป็นแฟนคลับเขาเลยก็ว่าได้ครับ ส่วนถ้าเป็นนักพากย์ e-Sports ต่างชาติที่ผมชื่นชอบ คือจะไม่ได้มีแบบตายตัวว่าผมชอบใครเป็นพิเศษ แต่ถ้าถามว่าผมชอบดูการแข่งขันของอะไร ผมจะชอบดูการแข่งขันของต่างประเทศมากกว่าครับ

ถ้าไม่ได้เป็นนักพากย์ e-Sports อยากทำอาชีพอะไร

เฟม : ส่วนตัวผมมีอยู่ 2 อย่างครับที่ผมอยากจะทำเป็นอาชีพ นั่นก็คือเบื้องหลังที่เกี่ยวกับเกมนี่แหละ ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นนักพากย์ e-Sports ก็ได้ เพราะปัจจุบันผมก็ทำในส่วนของ Content Creator ในเว็บไซต์ www.eaesports.com ด้วย และถ้าเป็นอีกอาชีพก็คงจะเกี่ยวกับวงการฟุตบอลครับ เพราะมันเป็นสิ่งที่ผมรักและชอบมาตั้งแต่เด็กๆ

นักพากย์ e-Sports ต้องมีการอบรมหรือไม่

เฟม : สำหรับการมาเป็นนักพากย์ e-Sports ของผม ไม่ได้มีการอบรมอะไรทั้งสิ้นครับ เพียงแต่ต้องมาทดสอบการพากย์ให้เขาประเมิน อย่างเช่นผมก็มาเทสต์ตอนแข่งควอลิฟาย ในการแข่งขัน Pro League ของ PUBG ที่ผ่านมา ซึ่งเราต้องแสดงศักยภาพในเขาเห็นว่าเราสามารถพากย์ได้และพากย์ได้ดี รวมถึงเราจะต้องรักษามาตรฐานการพากย์ของเราให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ได้อีกด้วย

การเตรียมตัวก่อนพากย์การแข่งขัน e-Sports

เฟม : อันดับแรกเราต้องรู้ก่อนว่าเกมที่แข่งนั้นมันจะไปในทิศทางไหน มีวิธีการเล่นยังไง ข้อมูลของเกมข้อมูลของผู้เข้าแข่งขันในเกมนั้นมีอะไรบ้าง อีกอย่างหนึ่งก็คือการฝึกฝนก่อนการพากย์จริง ซึ่งส่วนตัวผมจะฝึกด้วยตัวเองเลย ด้วยการเปิดดูเทปการแข่งขันเกม e-Sports ย้อนหลัง แล้วก็พากย์เองเลยที่บ้านครับ

ผู้บรรยายหลัก (นักพากย์ไมค์ 1) VS ผู้บรรยายรอง (นักพากย์ไมค์ 2)

เฟม : สำหรับไมค์ 1 หรือไมค์หลัก (Main) ก็คือคนที่ต้องอธิบายถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในเกมการแข่งขันทั้งหมด เหมือนเป็นการโฟลว์หรือแร็ปไปเลยก็ได้ซึ่งบางคนเขาก็จะแร็ป แต่ส่วนตัวผมจะพากย์แบบโฟลว์ คือเป็นการพากย์แบบไหลลื่นไม่มีติดขัดหรือสะดุดระหว่างการพากย์ ซึ่งไมค์ 1 จะมีหน้าที่ที่ต้องทำให้อารมณ์ของผู้ชมนั้นต่อเนื่อง โดยอาศัยจังหวะในการพากย์เข้าช่วย ส่วนถ้าเป็นไมค์ 2 ก็จะเป็นคนที่ต้องรู้ข้อมูลเยอะๆ และวิเคราะห์ได้ว่าผู้เล่นแต่ละคนเป็นยังไง แผนการเล่นแต่ละทีมเป็นอย่างไร เป็นต้นครับ

อุปสรรคในอาชีพนักพากย์ e-Sports

เฟม : อุปสรรคส่วนตัวของผมจะเป็นการใช้เสียงครับ เพราะว่าวันไหนที่มีการแข่งขันหลายทีม ผมก็จะต้องพากย์เยอะ ซึ่งมันทำให้รู้สึกระคายคอ บางทีเสียงของผมเบาลงหรือหายไปเลยก็มีครับ ยิ่งวันที่มีคู่เดือดๆ คู่ที่เขาเล่นกันมันส์ๆ ผมก็ยิ่งจะต้องใช้น้ำเสียงมากขึ้น อันนี้เลยถือว่าเป็นอุปสรรคของผมอย่างหนึ่ง ส่วนด้านเทคนิคที่ก็เป็นอุปสรรคในด้านการทำงานพากย์เช่นกัน นั่นก็คือเสียงที่ได้รับและข้อมูลจากภาพไม่ตรงกันบ้าง จอดับบ้างแต่เรื่องจอดับผู้ชมจะไม่ทราบนะครับ ซึ่งคนพากย์ก็ต้องโฟลว์ต่อไปเพราะไม่งั้นจะเกิดการชะงัก ทำให้การแข่งขันไม่สนุกได้ครับ

รายได้ของนักพากย์ e-Sports อยู่ที่เท่าไหร่

เฟม : ตรงนี้อาจจะยังเปิดเผยไม่ได้ครับ แต่ตัวเลขก็จะอยู่ราวๆ เดียวกันกับพนักงานบริษัททั่วไป ซึ่งทั้งนี้ถ้ามีบริษัทหรืองานเกมอื่นๆ ที่เขามาจ้างให้ผมไปพากย์ นั้นก็จะเป็นอีกค่าตอบแทนหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับเงินเดือนแล้ว แต่ก็ต้องอยู่ในข้อตกลงกับสัญญาของบริษัทด้วยเช่นกันครับ

ส่วนตัวมองอนาคต e-Sports ของประเทศไทยไว้ยังไงบ้าง

เฟม : ผมว่า e-Sports ในประเทศไทยอีกสัก 2-3 ปีน่าจะบูมมากกว่านี้ เพราะทุกวันนี้ e-Sports ก็เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นแล้วตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ด้วยเงินรางวัลต่างๆ กฎกติกาการแข่งขันที่เป็นรูปเป็นร่าง เสมือนกับกีฬาทั่วไปที่มีการตัดสินโดยใช้กฎเกณฑ์เข้ามา โดยส่วนตัวผมมองขนาดที่ว่า ประเทศไทยเราอาจขึ้นมาเป็นอันดับที่ 1 ด้าน e-Sports ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยก็ว่าได้ครับ

ฝากถึงคนที่มองว่า e-Sports ไม่ใช่กีฬา เป็นแค่การเสพติดการเล่นเกม

เฟม : ก็อยากให้เปิดใจกันสักนิดนะครับ เพราะตอนนี้ก็คือยุค 4.0 แล้ว ลองให้โอกาสลูกๆ หลานๆ เยาวชนมาทำตามความฝันดู เขาอาจจะชอบสิ่งนี้นั่นก็คือการเล่นเกม ซึ่งมันสามารถทำให้เป็นอาชีพได้ และอีกอย่างที่ผมอยากจะบอกก็คือการทำงานในแวดวง e-Sports ได้เงินเดือนไม่น้อยเลยนะครับ ถือว่าเป็นอีกอาชีพทางเลือกให้กับคนรุ่นใหม่ด้วย

ข้อแนะนำสำหรับคนที่อยากจะมาเป็นนักพากย์ e-Sports

เฟม : ก่อนอื่นเลยก็คือต้องชอบในสิ่งที่ตัวเองอยากจะมาทำ ถ้าอยากเป็นนักพากย์ก็ต้องทำการบ้าน ฝึกฝนเยอะๆ เพราะว่าทุกคนไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิด อย่างตอนแรกที่ผมมาพากย์ก็ไม่ได้ดีเลย มีทั้งคนว่าคนติเต็มไปหมด แต่พอผมมีประสบการณ์ และผมก็พัฒนาตัวเองมากขึ้น ก็เริ่มมีคนยอมรับ ฉะนั้นก็ต้องอยู่ที่ตัวเราเองด้วยว่าจะทำตัวเองให้ดีขึ้นหรือว่าจะอยู่กับที่เดิมครับ

ช่องทางการติดตาม

เฟม : ขอฝากรายการแข่งขัน JIB PUBG SEA Championship Bangkok 2018 ถ่ายทอดสดทางช่อง twitch tv (Esports_Alliance) ครับและก็เพจเฟซบุ๊ก Esports Alliance / PUBG Thailand Pro League สุดท้ายขอฝากถึงคนที่เป็นแฟนคลับเกม PUBG หรือชื่นชอบในเกมต่างๆ สามารถไปเจอกันได้นะครับ ในงาน Thailand Game Show 2018 วันที่ 26-28 ตุลาคมนี้ เวลา 10.00-20.30 น. ที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอนครับ ขอบคุณครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook