ไขรหัสเปิดความจริง : ทำไมนักวิ่งมาราธอน เคนยา ถึงอึดกว่าชาติอื่น?

ไขรหัสเปิดความจริง : ทำไมนักวิ่งมาราธอน เคนยา ถึงอึดกว่าชาติอื่น?

ไขรหัสเปิดความจริง : ทำไมนักวิ่งมาราธอน เคนยา ถึงอึดกว่าชาติอื่น?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

16 กันยายน 2018 อีลิอุด คิปโชเก้ สร้างเกียรติประวัติให้กับตนเองและประเทศเคนยา บ้านเกิดของเขาอีกครั้ง เมื่อเขาคือชายที่วิ่งเข้าเส้นชัยในรายการ เบอร์ลิน มาราธอน หนึ่งใน 6 การแข่งขันวิ่งมาราธอนระดับเมเจอร์ของปีเป็นคนแรก

แต่สิ่งที่น่าทึ่งไม่ได้มีเพียงชัยชนะเท่านั้น เพราะเวลาบนนาฬิกาได้บ่งบอกอีกหนึ่งสถิติที่เพิ่งสร้าง นั่นคือตำแหน่ง‘ชายที่วิ่งมาราธอนได้เร็วที่สุดในโลก’ ด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 1 นาที 39 วินาที อีกด้วย

ตำแหน่งผู้ชนะ และเวลาจากการวิ่งระยะ 42.195 กิโลเมตร ซึ่งเหนือกว่าสถิติเดิมที่ เดนนิส คิเมตโต้ เพื่อนร่วมชาติเคยทำเมื่อ 4 ปีก่อนถึง 1 นาที 18 วินาที ถือเป็นการตอกย้ำความเชื่อที่ว่า หากพูดถึงการแข่งขันวิ่งระยะไกลแล้ว เคนยา คือราชันผู้รันวงการอย่างแท้จริง

ราชันระยะไกล
อันที่จริงในยุคเริ่มแรก ประวัติศาสตร์ความเก่งกาจของนักวิ่งจากทวีปแอฟริกาเริ่มต้นด้วยผลงานอันสุดยอดของนักวิ่งจากประเทศเพื่อนบ้านร่วมภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก เมื่อ อเบเบ บิคิล่า ปอดเหล็กชาวเอธิโอเปีย สามารถคว้าเหรียญทองวิ่งมาราธอนได้ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปี 1960 ที่กรุงโรม พร้อมกับทำลายสถิติโลก

ซึ่งเรื่องราวที่น่าทึ่งที่สุดก็คือ บิคิล่า ทำสถิติโลกได้ด้วยการวิ่งเท้าเปล่า!

 

ไม่เพียงเท่านั้น 4 ปีต่อมา บิคิล่าสามารถคว้าเหรียญทองและทำลายสถิติโลกได้อีกครั้งในศึกโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว (แต่คราวนี้เขาสวมรองเท้า) โดยถือเป็นคนแรกที่สามารถป้องกันแชมป์วิ่งมาราธอนโอลิมปิกได้อีกด้วย

ขณะที่นักวิ่งเคนยา แม้จะเริ่มสร้างชื่อในวงการนี้ช้ากว่า เพราะกว่าที่จะมีนักวิ่งระยะไกลดีกรีเหรียญรางวัลโอลิมปิกจากประเทศนี้ ก็ต้องรอถึงปี 1988 เมื่อ ดั๊กลาส วากิฮูรี่ คว้าเหรียญเงินในโอลิมปิกที่กรุงโซล แต่พัฒนาการในระยะหลัง ทำให้เราเห็นปอดเหล็กจากชาตินี้ก้าวขึ้นมาคว้าเหรียญรางวัลอย่างต่อเนื่อง จนมาตรฐานผลงานคงเส้นคงวาเหนือกว่าเพื่อนบ้านอย่างเอธิโอเปียไปแล้ว

เพราะหากนับจากโอลิมปิกปี 1996 ที่เมืองแอตแลนต้าเป็นต้นมา เราจะเห็นว่ามีนักวิ่งจากเคนยาไม่ผู้ชายก็ผู้หญิง ที่สามารถคว้าเหรียญรางวัลในการแข่งขันวิ่งมาราธอนได้เสมอ เช่นเดียวกับผลงานในรายการ เวิลด์ มาราธอน เมเจอร์ส หรือการแข่งขันวิ่งมาราธอน 6 รายการใหญ่ของโลก อันประกอบด้วย โตเกียว, บอสตัน, ลอนดอน, เบอร์ลิน, ชิคาโก้ และ นิวยอร์ก ซึ่งเรามักจะได้เห็นปอดเหล็กจากเคนยาคว้าแชมป์ได้เป็นประจำ

อย่างในรายการ เบอร์ลิน มาราธอน ซึ่งเป็นสนามที่เพิ่งจะมีการทำลายสถิติโลกไปหมาดๆ นั้น นักวิ่งเคนยาสามารถคว้าแชมป์รายการนี้ในประเภทชายได้ถึง 8 จาก 9 ปีหลังสุด เช่นเดียวกับ ลอนดอน มาราธอน ที่นักวิ่งจากเคนยาคว้าแชมป์ได้ทุกครั้งในประเภทชายตลอด 5 ปีหลังสุด

กายภาพที่แตกต่าง
แน่นอนว่า ผลงานความสำเร็จระดับสุดยอดของนักวิ่งจากเคนยา ที่แซงหน้าแม้กระทั่งเพื่อนบ้านที่เคยเก่งกาจอย่างเอธิโอเปียนั้น ทำให้เหล่าคนรักการวิ่ง และแฟนกีฬาทั่วโลกต่างสงสัยว่า เคล็ดลับที่ทำให้พวกเขาเก่งกาจได้ถึงขนาดนี้มีที่มาจากสาเหตุใด

 

เรื่องดังกล่าว ‘แฝดเล็ก’ พล.ต.ต.ศุภวณัฎฐ์ อาริยะมงคล หัวหน้าผู้ฝึกสอนกรีฑาทีมชาติไทย เปิดเผยกับทีมงาน Main Stand ว่า ลักษณะทางกายภาพของคนในละแวกแอฟริกาตะวันออก ซึ่งเป็นที่ตั้งของทั้งประเทศเคนยาและเอธิโอเปียนั้น ถือเป็นความแตกต่างประการแรกที่ทำให้พวกเขาเก่งกาจเรื่องการวิ่งระยะไกล

“เมื่อดูจากสรีระของนักกรีฑาระดับแนวหน้าของโลกเนี่ย เราจะเห็นว่านักกีฬาจากภูมิภาคแคริบเบี้ยน อย่าง จาไมก้า หรือแม้แต่นักกีฬาเชื้อสายแอฟริกันโดยทั่วไป พวกเขาจะมีมัดกล้ามเนื้อที่เยอะ แต่ประชากรของประเทศอย่างเคนยา, เอธิโอเปีย โดยทั่วไปแล้ว พวกเขาจะมีมัดกล้ามเนื้อที่น้อยกว่า”

“ยกตัวอย่างให้เห็นภาพอีกนิด คุณลองดูสัตว์นักล่าอย่างเสือดาว เสือชีตาห์ พวกนี้กล้ามเนื้อจะใหญ่ แข็งแรง สามารถวิ่งได้เร็ว แต่ไม่สามารถวิ่งด้วยความเร็วนั้นเป็นระยะเวลานานๆ ได้ ต่างจากพวกสัตว์ผู้ถูกล่าอย่าง ละมั่ง กวาง พวกนี้วิ่งเร็วสู้สัตว์นักล่าไม่ได้ แต่สามารถวิ่งด้วยความเร็วนั้นได้นานกว่า”

 

“ด้วยความแตกต่างที่กล่าวมา เราจะเห็นได้ว่า เหตุใดนักวิ่งจากฝั่งแคริบเบี้ยน อย่าง ยูเซน โบลท์ ของจาไมก้า ถึงเป็นเจ้าแห่งการวิ่งระยะสั้น ขณะที่นักวิ่งจากฟากแอฟริกาตะวันออก กลับทำได้ดีมากๆ ในการวิ่งระยะไกล ก็เพราะว่าคนในแต่ละภูมิภาคของโลก มีลักษณะทางกายภาพที่เอื้อต่อบางสิ่งมากกว่า อย่างไรก็ตาม ก็มีเหมือนกันที่นักกีฬาซึ่งดูจะมีความเสียเปรียบทางกายภาพ กลับสามารถทำผลงานได้ดี เพียงแต่กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นไม่บ่อยนักแค่นั้นเอง” ‘แฝดเล็ก’ กล่าวสรุป

 สภาพแวดล้อมสร้างความโดดเด่น
อันที่จริง นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากมาย ต่างเคยมีความพยายามที่จะศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมของนักกีฬาจากแอฟริกาตะวันออก เพื่อหา ‘ยีนพิเศษ’ ที่ทำให้นักกีฬาจากชาติเหล่านี้แตกต่างจากนักกีฬาทั่วๆ ไป ทว่า ดร. แดเนี่ยล ลีเบอร์แมน อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวิวัฒนาการทางชีววิทยาของมนุษย์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวกลายเป็นสิ่งที่หาคำตอบได้ยากยิ่ง

 

“เราพยายามหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้มาหลายต่อหลายครั้งแล้วครับ แต่ส่วนใหญ่พบกับความล้มเหลว คือจนถึงตอนนี้เราก็ยังเชื่อนะว่า มันอาจจะมียีนที่ว่านี้อยู่จริงๆ เพียงแค่เรายังหามันไม่เจอเท่านั้นเอง”

อย่างไรก็ตาม การศึกษาชิ้นหนึ่งของ ดร.ลีเบอร์แมน ก็ได้นำมาซึ่งการค้นพบอันน่าทึ่ง โดยเขาได้ศึกษาเด็กอายุระหว่าง 10-16 ปี ซึ่งอาศัยในพื้นที่ชนบทอันห่างไกลของเคนยา และพบว่า เด็กๆ เหล่านี้มีค่า VO2 Max หรือค่าประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้ออกซิเจนที่สูงมากๆ โดยเด็กผู้ชายมีค่านี้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 73.9 และผู้หญิงอยู่ที่ 61.5

ซึ่งเมื่อเทียบกับการคำนวณที่ว่า นักวิ่งมาราธอนที่สามารถทำเวลาได้ราว 2 ชั่วโมง 36 นาที มีค่า VO2 Max อยู่ที่ประมาณ 73 ถือว่าเยาวชนเหล่านี้มีแต้มต่อสู่การเป็นยอดนักวิ่งระยะไกลไม่น้อยเลยทีเดียว

จากเรื่องดังกล่าว ดร.ลีเบอร์แมน ได้ชี้ถึงสาเหตุที่ทำให้ชาวเคนยามีค่า VO2 Max ที่สูงมากๆ ว่า เกิดจากสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่บนที่สูง โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศแห่งนี้ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 2,000 เมตร

 

สภาพภูมิประเทศที่ชาวเคนยาต้องใช้ชีวิตอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ร่างกายของพวกเขามีการปรับตัว จนปอดสามารถรับอากาศเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้น เช่นเดียวกับจำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มากกว่าคนทั่วไป ซึ่งยิ่งมีมากเท่าไหร่ ร่างกายคนนั้นก็จะสามารถรับออกซิเจนเข้าสู่เลือดได้มากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อการวิ่งในระยะทางไกลๆ นั่นเอง

อาหารการกินก็สำคัญ
หนึ่งในประโยคที่มักถูกพูดอยู่เสมอเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ คือประโยคที่ว่า ‘You are what you eat’ หรือ ‘สิ่งที่คุณเป็นสามารถบอกได้จากสิ่งที่กินเข้าไป’ ซึ่งเรื่องอาหารการกินนี้ ก็ดูเหมือนจะเป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับความสำเร็จของนักกีฬาจากเคนยาเช่นกัน

 

ประเด็นดังกล่าว แรนดอลล์ วิลเบอร์ และ ยานนิส พิซิลาดิส ได้ทำการศึกษาเมื่อปี 2012 พบว่า อาหารของชาวเคนยาแบบดั้งเดิมที่กินกันมามากกว่า 100 ปีนั้น มีสัดส่วนของโปรตีนอยู่ที่ 10% ไขมัน 13% และคาร์โบไฮเดรต 77% ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวได้รับการวิจัยแล้วว่า นี่คือสัดส่วนปริมาณสารอาหารที่แนะนำสำหรับนักกีฬาที่ต้องใช้ความอึดและทนทานในการแข่งขัน ซึ่งแม้สัดส่วนอาหารของชาวเอธิโอเปียจะถือว่าเหมาะสมสำหรับนักกีฬาที่ต้องใช้ความอดทนไม่แพ้กัน แต่สัดส่วนโปรตีน 13% ไขมัน 23% และคาร์โบไฮเดรต 64% ก็ยังถือว่าเหมาะสมไม่เท่ากับอาหารของชาวเคนยา

โดยปริมาณคาร์โบไฮเดรตของชาวเคนยาที่ได้รับส่วนใหญ่ จะมาจากผัก, ผลไม้, ข้าว และน้ำตาลที่ไม่ผ่านการขัดฟอกสี นอกจากนี้ อูกาลี (Ugali) อาหารพื้นเมืองซึ่งมีข้าวโพดเป็นส่วนประกอบหลัก รวมถึง ชาพื้นเมือง ที่นักวิ่งชาวเคนยามักดื่มอยู่เสมอทั้งในช่วงหลังการฝึกซ้อม และระหว่างมื้ออาหาร ยังเป็นอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาล หรือ Glycemic Index ซึ่งช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้สูง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเติมพลังงานทดแทนที่เสียไปจากการวิ่ง

 

อย่างไรก็ตาม ดร.ลีเบอร์แมน ก็ยอมรับว่า วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของสังคมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมเมือง ก็ส่งผลให้ชาวเคนยาหลายคนมีสุขภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรงเหมือนแต่ก่อน

“แน่นอนว่าเราปฏิเสธการพัฒนาไม่ได้ แต่เรื่องดังกล่าวมันก็นำมาซึ่งปัญหาที่น่าวิตกทางสุขภาพเหมือนกัน เพราะทุกวันนี้ มีอาหารที่ผ่านกระบวนการต่างๆ ในตลาดมากขึ้น ระบบการขนส่งก็ดีขึ้น รวมถึงสภาพการทำงานที่เป็นงานออฟฟิศมากขึ้น มันเลยทำให้ระยะหลังๆ มานี้ ผมได้เห็นป้ายคลินิกโรคเบาหวานในเคนยามากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยพบเห็นมาก่อนเลยในอดีต”

“อย่างไรก็ตาม ผมยังไม่เห็นป้ายแบบนี้ในพื้นที่ชนบท ซึ่งน่าจะพอสรุปได้ว่า สุขภาพของพวกเขายังดีอยู่น่ะนะ”ดร.ลีเบอร์แมน ทิ้งท้ายในประเด็นดังกล่าว

เพราะการวิ่งคือชีวิต
เหตุผลในการสวมรองเท้าออกไปวิ่งสำหรับแต่ละคนอาจแตกต่างกันออกไป บางคนออกไปวิ่ง

เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น บางคนวิ่งเพื่อต้องการสร้างสถิติ แต่สำหรับชาวเคนยาแล้ว การวิ่ง คือวิถีชีวิตที่ผ่านการฝึกฝนมาตั้งแต่สมัยวัยเด็กเลยทีเดียว

 

เรื่องดังกล่าว ดร.ลีเบอร์แมน ชี้แจงว่า เนื่องจากพื้นที่ในชนบทของเคนยานั้นค่อนข้างห่างไกล ขณะเดียวกัน ระบบขนส่งสาธารณะก็ไม่ใคร่จะมีสักเท่าไหร่ ทำให้วิธีการเดินทางที่ดีที่สุดของเด็กๆ ในการไปโรงเรียนก็คือ การวิ่ง นั่นเอง

สำนักข่าว BBC เคยสัมภาษณ์เด็กชาวเคนยาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งพวกเขาเล่าว่า ตลอดเส้นทางจากบ้านสู่โรงเรียนนั้นต้องเจอกับอุปสรรคมากมาย แม้ระยะทางโดยมากจะอยู่ที่ราวๆ 5-10 กิโลเมตร เพราะบางช่วงนั้นอาจต้องวิ่งผ่านป่าซึ่งมีโอกาสได้เจอกับสัตว์ดุร้าย สภาพถนนที่เละเป็นโคลน หรือแม้กระทั่งน้ำป่าไหลหลากจนเส้นทางถูกตัดขาด (ซึ่งทำให้ไม่สามารถไปเรียนได้โดยปริยาย)

แน่นอนว่าการที่ต้องวิ่งไปโรงเรียนเช่นนี้ทุกวันไม่ใช่เรื่องสนุก แต่สาเหตุสำคัญที่พ่อแม่จำเป็นต้องเคี่ยวเข็ญให้ออกไปโรงเรียนนั้น ก็เพื่อที่เด็กๆ จะได้มีการศึกษา ต่อยอดสู่ชีวิตที่ดีกว่าในอนาคตนั่นเอง ซึ่งการที่มีนักกีฬาจากเคนยาหลายรายที่ก้าวไปถึงฝั่งฝันในการเป็นนักวิ่งระดับโลก ก็ถือเป็นแรงผลักดันสำคัญให้เด็กๆ ทั่วประเทศก้าวสู่เส้นทางนี้ด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างนั้นก็ไม่ต้องยกไกล เพราะชัยชนะจากศึก เบอร์ลิน มาราธอน เพียงรายการเดียว ทำให้ อีลิอุด คิปโชเก้ ได้เงินรางวัลถึง 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.6 ล้านบาท) ซึ่งเมื่อแปลงเป็นเงินสกุลของเคนยาแล้ว สูงถึงราว 5 ล้านชิลลิงเคนยา นอกจากนี้ การที่สามารถทำลายสถิติโลกได้สำเร็จ ทำให้เขาได้เงินเพิ่มอีก 69,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.2 ล้านบาท) หรือราว 7 ล้านชิลลิงเคนยาเลยทีเดียว

ขณะเดียวกัน ดร.ลีเบอร์แมน ยังชี้ด้วยว่า การที่เด็กๆ ส่วนใหญ่ของเคนยา จำต้องวิ่งด้วยเท้าเปล่าในวัยเด็กจากความขัดสน แม้จะไม่ดีต่อสภาพเท้าโดยทั่วไปก็จริง แต่กลับมีข้อดีเล็กๆ ซ่อนอยู่ นั่นคือการใช้เท้าเปล่าวิ่ง นักวิ่งจะเหมือนกับถูกบังคับให้ต้องลงน้ำหนักที่บริเวณปลายเท้าหรือฝ่าเท้ากลายๆ ซึ่งจะช่วยให้เท้ารับภาระน้อยกว่าการใช้ส้นเท้าในการลงน้ำหนักเวลาวิ่งนั่นเอง

 

หลากหลายปัจจัยในชีวิตล้วนเป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้เรามีวันนี้ เช่นเดียวกับนักวิ่งจากเคนยา ซึ่งมีหลายสิ่งที่ช่วยหล่อหลอมจนประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องบนเวทีระดับโลกได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลักษณะทางกายภาพ, สิ่งแวดล้อม, การฝึกซ้อม หรือแม้กระทั่งระเบียบวินัยที่สร้างจากครอบครัว ล้วนหลอมรวมกันจนทำให้พวกเขาแข็งแกร่งในสนามแข่งขัน

และกลายเป็นราชันผู้รันวงการวิ่งระยะไกลแห่งยุคนี้อย่างแท้จริง!

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook