ทำความเข้าใจ ยาระบาย ลดความอ้วนได้หรือไม่ ?

ทำความเข้าใจ ยาระบาย ลดความอ้วนได้หรือไม่ ?

ทำความเข้าใจ ยาระบาย ลดความอ้วนได้หรือไม่ ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ยาระบายหรือยาถ่าย คือ กลุ่มยาที่มีฤทธิ์ช่วยระบาย หรือถ่ายท้อง หรือถ่ายอุจจาระ หรือถ่ายหนัก ซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้ในการบรรเทาอาการท้องผูก และมีบางคนใช้เพื่อลดน้ำหนักหรือลดความอ้วน

- ชนิดของยาระบาย
ยาระบายมีหลายชนิดตามกลไกการออกฤทธิ์ เช่น ยากระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ (stimulant laxatives) ยาเพิ่มความเหลวของอุจจาระ (saline laxatives) ยาเพิ่มกากใยไฟเบอร์ของอุจจาระ (bulk forming laxatives) ยาสวนทวารหนัก (fleet enema) ยาเหน็บ ทวารหนัก (suppositories) เป็นต้น ยาเหล่านี้ล้วนมีผลให้เกิดการระบายบรรเทาอาการท้องผูกได้ผลดี แต่แตกต่างกันที่กลไกการออกฤทธิ์ วิธีใช้ และระยะเวลาการออกฤทธิ์

- ยากระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่
ในบรรดายาระบายที่ได้ยกตัวอย่างมานี้ ยาระบายชนิดที่ออกฤทธิ์ในการกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่เป็นชนิดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ทั้งใช้เพื่อบรรเทาอาการท้องผูก และใช้เพื่อลดความอ้วน ตัวอย่างยาระบายที่มีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ เช่น ยาเม็ดเคลือบสีเหลืองเล็กๆ ที่มีชื่อสามัญ ทางยา "บิสโคดิล" (bisacodyl) ยาระบายที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรมะขามแขกที่มีทั้งชนิดเม็ดและชนิดชง เป็นต้น

- ยาระบายช่วยลดความอ้วนได้จริงหรือไม่?
ปกติแล้วเราจะสามารถลดความอ้วนหรือลดน้ำหนัก หรือลดไขมันหน้าท้องได้ ขึ้นอยู่กับสองปัจจัยหลัก คือ การลดการกินอาหาร และการเพิ่มการใช้พลังงานของร่างกาย เมื่อใดก็ตามถ้าการรับเข้าร่างกายมากกว่าการใช้ออกไป ร่างกายก็จะมีปริมาณสารอาหารหลงเหลือเกินการใช้ และถูกนำไปสร้างเป็นไขมันสะสมอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยเฉพาะที่เอวหรือหน้าท้อง ทำให้ท้องดูโป่งไป ร่างกายก็จะไปนำไขมันที่สะสมอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายมาใช้เป็นพลังงานทดแทนการกิน ทำให้ความอ้วนลดลง ร่างกายก็จะดูผอมลง

นอกจากนี้ อาหารที่เรากินเข้าไปส่วนใหญ่จะถูกย่อยและดูดซึมจากสำไส้เล็กส่วนต้นแล้วเหลือแต่กากใย อาหารส่งต่อมาสะสมที่ลำไส้ใหญ่ รอการระบายหรือถ่ายออกจากร่างกายไป ส่วนลำไส้ใหญ่นี้จะมีการดูดซึมน้ำออกจากกากอาหารจนเป็นก้อนอุจจาระ ดังนั้น ยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นลำไส้ใหญ่บีบตัวไล่อุจจาระที่สะสมอยู่ออกทิ้งไป จึงมีฤทธิ์ช่วยการระบายอุจจาระเท่านั้น ไม่ได้ส่งผลต่อการลดการดูดซึมอาหารหรือลดความอ้วนหรือลดไขมันที่สะสมบริเวณท้องหรือพุงของเราเลย แต่อาจจะส่งผลบ้างเล็กน้อยต่อน้ำหนักตัวที่ลดลงตามน้ำหนักของอุจจาระที่ถ่ายทิ้งออกไปจากร่างกายเราเท่านั้น

 

- ข้อควรระวังในการใช้ยาระบาย

๑. ควรใช้ในขนาดที่เหมาะสม
ในการใช้ยาระบายประเภทนี้ควรใช้ในขนาดที่เหมาะสม ซึ่งแต่ละคนมีความต้องการขนาดของยาที่แตกต่างกันตามความรุนแรงของอาการท้องผูกและความคุ้นเคยหรือความเคยชินที่ผู้ใช้ยาที่ชาวบ้านเรียกว่า ธาตุแข็ง ธาตุหนัก หรือธาตุเบา เพราะถ้าธาตุเบาก็ควรเริ่มต้น ด้วยขนาดต่ำ คือ ครั้งละ ๑ เม็ด ก่อนนอนก็เพียงพอ แต่ถ้าธาตุหนัก อาจต้องใช้วันละ ๒-๔ เม็ด จึงจะออกฤทธิ์ได้ดี ในบางรายที่มีการใช้ยาในขนาดที่น้อยเกินไป ยาก็จะไม่แสดงฤทธิ์หรือถ่ายไม่ออก แต่ถ้ามีการใช้ยานี้มากเกินไปหรือเกินขนาด ก็จะไปกระตุ้นการทำงานของลำไส้ใหญ่มากเกินไป จนทำให้เกิดปวดมวนท้อง และอ่อนเพลีย เนื่องจากเสียน้ำและเกลือแร่ออกมากับอุจจาระมากเกินไปได้

ขนาดปกติสำหรับยาบิสโคดิลคือ ครั้งละ ๑-๒ เม็ด ก่อนนอน ยานี้จะมีระยะเวลาการออกฤทธิ์หลังจากกินไปแล้ว ๘ ชั่วโมง ถ้ากินก่อนนอน ก็พอดีกับเวลาที่เราพักผ่อนตอนกลางคืน พอตื่นนอนขึ้นมา ยาก็เริ่มแสดงฤทธิ์เริ่มปวดท้องถ่ายอุจจาระพอดี นอกจากนี้ ในการใช้ยานี้ "ห้ามเคี้ยว" ทั้งนี้เพราะยาบิสโคดิลเป็นยาเม็ดที่ถูกออกแบบให้ภายนอกเคลือบน้ำตาลเป็นเกราะป้องกันกรดของกระเพาะอาหาร ยาชนิดนี้จึงไม่แตกตัวและออกฤทธิ์ในลำไส้ส่วนต้น และจะเริ่มแตกตัวไปออกฤทธิ์ต่อลำไส้ส่วนปลายเท่านั้น

๒. ควรใช้ยานี้เท่าที่จำเป็น
เมื่อใช้ยากลุ่มนี้ติดต่อกันนานๆ ร่างกายของเราจะเริ่มทนต่อยา และจะทนต่อยามากขึ้นๆ เรื่อยๆ ตามความถี่และปริมาณการใช้ยา การทนต่อยา คือ การใช้ยาในขนาดเท่าเดิมแต่จะให้ผลในการรักษาลดน้อยลงกว่าเดิม ถ้าต้องการให้ยาออกฤทธิ์ให้ผลเช่นเดิม ต้องเพิ่มขนาดยามากขึ้น จากประสบการณ์ของผู้เขียนเคยพบผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาระบายบิสโคดิลนี้ถึงครั้งละ ๒๕ เม็ด จึงจะระบายได้ ครั้งหนึ่ง ซึ่งถ้ารายนี้ยังใช้ยาอย่างต่อเนื่องต่อไป ผู้เขียนยังสงสัยอยู่ว่าจะต้องใช้ยานี้มากถึงเพียงใดจึงจะเพียงพอให้ระบายสักครั้งหนึ่ง ดังนั้น จึงไม่ควรกินยาระบายติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง เป็นประจำ เพราะจะทำให้ร่างกายเราทนต่อยาต้องเพิ่มขนาดของยาจึงจะได้ผลดีเท่าเดิม

๓. ไม่ควรใช้ในการลดความอ้วน
อีกประเด็นที่ควรคำนึงถึงในการใช้ยาระบาย คือ ควรใช้ยานี้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น ใช้เมื่อมีข้อบ่งใช้หรือเมื่อท้องผูกและต้องการระบายอุจจาระจริงๆ ไม่ควรใช้ในการลดความอ้วน เพราะไม่มีผลต่อการลดความอ้วนหรือลดน้ำหนักเลย และถ้าใช้พร่ำเพรื่ออาจทนต่อยาเพิ่มขนาดของยา เกิดผลเสียทั้งต่อสุขภาพและทรัพย์สินเงินทอง

 

การลดความอ้วนอย่างง่ายๆ
เป็นความจริงที่ในปัจจุบัน ความอ้วนจัดเป็นโรคชนิดหนึ่งที่เป็นปัญหาของสังคมโลกโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว มีประชากรจำนวนมากที่เป็นคนอ้วนหรือมี น้ำหนักตัวเกิน ความอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคเรื้อรังหลายชนิด เช่น โรคความดันเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคข้อเสื่อม เป็นต้น ดังนั้นจึงควรช่วยกันรณรงค์ลดความอ้วน ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังที่สำคัญ ด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้

- ลดปริมาณอาหารและการเลือกชนิดอาหาร
การลดปริมาณอาหารที่เหลือใช้ คือ การลดปริมาณอาหารลงให้ใกล้เคียงกับความต้องการในการใช้พลังงานของร่างกาย โดยเฉพาะขนมหวาน ของขบเคี้ยว น้ำหวาน ของทอด การกินเฉพาะอาหารมื้อหลักเท่านั้น และลดอาหารหรือของขบเคี้ยวระหว่างมื้อลง การเลือกชนิดของอาหาร ควรเลือกอาหารที่มีกากเส้นใย เช่น ผักใบเขียว ผลไม้ เป็นต้น และลดอาหารที่มีไขมัน ของทอด และแป้ง เพราะเป็นสารที่ปริมาณพลังงานสูง และสะสมได้ง่าย

- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายเป็นวิธีที่ดีอีกวิธีหนึ่งในการลดความอ้วน พร้อมกับการสร้างเสริมคุณภาพของสุขภาพกายและใจ เพราะการออกกำลังกายนอกจากจะช่วยลด ความอ้วนแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย กระปรี้กระเปร่า กระฉับกระเฉง ทั้งช่วยลดความตึงเครียด เป็นการผ่อนคลายที่ดีอย่างหนึ่ง หลายคนออกกำลังกายแล้วมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ร่างกายก็แข็งแรงขึ้น ส่งผลต่อการดำรงชีวิตและการทำงานให้ผลงานดียิ่งขึ้น

- ใช้ยาลดความอ้วน
การใช้ยาลดความอ้วน ส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหา เฉพาะหน้า ได้ผลระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้วมักไม่ได้ผล ทั้งยาบางชนิดที่นำมาใช้ในการลดความอ้วนอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอาการอันไม่พึงประสงค์มากมาย ทั้งชนิดที่รุนแรง เฉียบพลัน และเรื้อรัง บางคนอาจเกิดอาการผิดปกติจากการใช้ยาลดความอ้วนที่ออกฤทธิ์ต่อศูนย์หิวในสมอง เป็นต้น

สุดท้ายนี้คงได้คำตอบแล้วว่า ยาระบายไม่มีผลต่อการลดความอ้วนโดยตรง จึงไม่ควรใช้เพื่อการนี้ จึงควรใช้ยาระบายเพื่อบรรเทาอาการท้องผูกเท่านั้น และควรใช้ให้ถูกขนาดและเมื่อจำเป็นเท่านั้น ส่วนวิธีการในการลดความอ้วนที่ได้ผลดีปลอดภัยและประหยัด คือ ลดปริมาณการกินอาหารและเลือกชนิดของอาหารที่เหมาะสม และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งให้ผลดีต่อสุขภาพโดยรวมของพวกเรา

หากมีข้อสงสัยในเรื่องเหล่านี้ อาจปรึกษาแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร โดยเฉพาะเภสัชกรชุมชนหรือเภสัชกรร้านยาที่พร้อมให้คำปรึกษาเรื่องยาและสุขภาพ เพื่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีของคุณครับ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

นิตยสาร หมอชาวบ้าน เล่ม 316
คอลัมน์ :ล้านคำถามเรื่องยา ปรึกษาเภสัชกร
ผู้เขียน : ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด



ติดตามทุกเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ชาย รวบรวมข้อมูลเรื่อง แฟชั่นผู้ชาย ทรงผมผู้ชาย น้ำหอมผู้ชาย
พร้อมด้วยหลากหลายบทความเกี่ยวกับ สุขภาพ สาวสวย และที่เที่ยวกลางคืนได้ที่นี่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook