"รู้กว้าง" กับ "รู้ลึก" แบบไหนไปโลดกว่ากันในด้านหน้าที่การงาน?

"รู้กว้าง" กับ "รู้ลึก" แบบไหนไปโลดกว่ากันในด้านหน้าที่การงาน?

"รู้กว้าง" กับ "รู้ลึก" แบบไหนไปโลดกว่ากันในด้านหน้าที่การงาน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำหรับคำถามที่ว่าระหว่างคนที่ทำอะไรได้หลายอย่างและรอบรู้เรื่องราวต่างๆ อย่างกว้างๆ หรือ generalist กับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่รู้ลึกหรือ specialist นั้นแบบไหนดีกว่า?

คำตอบของเรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นในลักษณะที่ว่า "ก็แล้วแต่สถานการณ์"

คุณ Natasha Olinger ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคล ที่กรุงวอชิงตัน พูดถึงจุดแข็ง หรือประโยชน์ของบุคลากรสองประเภทนี้

specialist หรือ ผู้ชำนาญการเฉพาะด้าน มักสามารถเรียกค่าตอบแทนได้สูงกว่า โดยเฉพาะในเวลาที่เศรษฐกิจคึกคักเข้มแข็ง ขณะที่ คนที่รอบรู้และคล่องตัวในหลายเรื่องหรือ generalist นั้นมักได้เปรียบกว่าในยามที่เศรษฐกิจมีปัญหาหรือถดถอย เพราะจะเป็นที่ต้องการของผู้จ้างงานมากกว่า

โดยคุณ Natasha ยกตัวอย่างว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2551 ซึ่งเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ถดถอยนั้น ผู้ที่มีทักษะความรู้อย่างกว้างๆ เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานและมีความมั่นคงเรื่องการงานมากกว่าคนที่เก่งเฉพาะทาง

แต่นอกจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารบุคคลยังชี้ว่า ลักษณะและขนาดขององค์กรก็มีส่วนสำคัญในการกำหนดความต้องการทรัพยากรบุคคล

กล่าวคือ องค์กรขนาดเล็กกว่ามีแนวโน้มต้องการคนที่รอบรู้อย่างกว้างๆ ในหลายด้าน เพื่อให้สามารถทำงานทดแทนกันได้ ขณะที่องค์กรขนาดใหญ่ซึ่งมีการแบ่งสายงานเฉพาะอย่างชัดเจน ก็มักต้องการคนที่รู้ลึกหรือรู้เฉพาะทาง เพื่อรับผิดชอบเนื้องานอย่างเฉพาะเจาะจง

ในทำนองเดียวกัน generalist ซึ่งถ้าจะเปรียบแล้วก็เหมือนกับ "เป็ด" ที่ทั้งว่ายน้ำได้ และเดินบนบกได้ มักเป็นที่ต้องการของธุรกิจแบบสตาร์ทอัพซึ่งคาดหวังความคล่องตัวสูง และต้องการให้คนทำงานสามารถสวมหมวกหรือเปลี่ยนหมวกได้หลายใบ

ในขณะที่ผู้ที่ชอบระบบงานหรือวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งมีความชัดเจนแน่นอน ก็น่าจะพัฒนาทักษะแบบลึกเฉพาะทางสำหรับตัวเอง

อย่างไรก็ตาม คุณ Natasha Olinger ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรมนุษย์ที่กรุงวอชิงตัน ทิ้งท้ายว่า ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ก็คือเราต้องรู้จักตัวเองว่าชอบอะไร คือชอบเรียนรู้สิ่งละอันพันละน้อยเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ อย่างหลากหลาย หรือเป็นคนที่ชอบรู้ลึกอย่างจริงจัง และสร้างความสมดุลของทักษะความรู้เหล่านี้อย่างเหมาะสมขึ้นมา

เพราะขณะที่ผู้เริ่มอาชีพการงานในช่วงแรกมักมีแนวโน้มเริ่มจากการเป็น generalist และค่อยๆ สะสมความรู้ความชำนาญจนกลายเป็น specialist เมื่อเติบโตขึ้นนั้น ผู้ที่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างแท้จริงควรมีทักษะโดยรวมแบบรูปตัว T

กล่าวคือ ขณะที่แขนของอักษร T แสดงถึงความกว้างของการรอบรู้เรื่องราวต่างๆ ขาของตัว T ซึ่งอาจจะมีได้หลายขา จะเป็นตัวแทนของความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและประสบการณ์ในงานที่รับผิดชอบ

โดยเรื่องนี้ดูจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นในโลกซึ่งองค์ความรู้ต่างๆ พัฒนาและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เราจึงควรต้องรู้ให้กว้างเพื่อตามให้ทันแนวโน้มความเปลี่ยนแปลง ขณะที่รู้ลึกในเรื่องที่สนใจ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์แยกแยะและแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างแท้จริง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook