ทำงานหนักอย่างไร ให้มีความสุข

ทำงานหนักอย่างไร ให้มีความสุข

ทำงานหนักอย่างไร ให้มีความสุข
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อเดือนกันยายน 2555 ที่ผ่านมา วารสารการแพทย์ แลนเซ็ต ได้รายงานผลการวิจัยพบว่า ผู้ที่ทำงานหนักและมีความเครียดสูง มีความเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้ มากกว่าคนทั่วไปถึงร้อยละ 23 แต่ยังมีความเสี่ยงน้อยกว่าผู้ที่สูบบุหรี่ หรือนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ

ในรายงานบ่งชี้ว่า 30,214 คน จากกลุ่มตัวอย่าง 197,473 คน มีอาการเครียดจากการทำงาน สาเหตุเนื่องมาจากปริมาณงานที่มากเกินไป สภาพแวดล้อมในการทำงานที่กดดัน และไม่ได้รับโอกาสให้เสนอแนะความคิดเห็นในการทำงานเท่าที่ควร นอกจากนี้ผลการตรวจสุขภาพยังพบด้วยว่า 2,356 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 23 ที่เริ่มมีอาการป่วยเบื้องต้นด้วยโรคหัวใจ จากการรายงานชิ้นนี้ แสดงเห็นถึง "โรคที่เกิดในออฟฟิศ" อีกโรคหนึ่งที่คนทำงานต้องระมัดระวัง

คำถามคือ หากเราต้องมุ่งมั่นในการทำงาน ซึ่งอาจเรียกได้ว่า "ทำงานหนัก" แน่นอนว่า ในการทำงานย่อมเกิดปัญหา เกิดความตึงเครียดจากเรื่องต่าง ๆ เราจะป้องกันตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกลจากโรคร้าย ๆ ทุกโรคที่พร้อมคุกคามคนทำงาน
คำตอบคือ เราต้องเรียนรู้วิธีทำงานหนักอย่างมีความสุข

เริ่มต้นด้วย การเลือกงานที่มีคุณค่าและรักที่จะทำ ในการทำงานอย่าเลือกงานที่ให้ผลตอบแทนทางรายได้และสวัสดิการสูง แต่ให้เลือกงานที่มีคุณค่าสูงก่อน งานที่มีคุณค่า ได้แก่ งานที่ทำแล้วเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม งานที่มีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม ได้ช่วยเหลือผู้อื่นทั้งทางตรงและทางอ้อม งานที่บริสุทธิ์ ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งผิด ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น การให้สินบน การเลี่ยงภาษี และอื่น ๆ การทำงานที่มีคุณค่า จะก่อให้เกิดความสุขจากการเป็นผู้ให้ เกิดความภาคภูมิใจที่ได้ทำในสิ่งที่ดี สิ่งที่มีคุณประโยชน์ต่อส่วนรวม สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดความเครียดในการทำงานได้

ขณะเดียวกัน หากเลือกได้ ให้เราเลือกงานที่เราชอบด้วย หรือมิเช่นนั้นก็ให้เราตัดสินใจ "รักในงานที่ทำ" แม้ไม่ได้ทำงานที่รัก แต่เราก็สามารถทำงานอย่างมีความสุขได้ ขึ้นอยู่กับ "มุมมอง" ที่เรามีต่องานที่เราทำ ในหนังสือ ข้อคิดเพื่อการทำงาน ผมกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า "หากเราคิดว่า การทำงานเป็นสิ่งที่ดี ชีวิตเราก็จะมีความสุข แต่ถ้าคิดตรงกันข้าม เราจะจมกับความทุกข์ตลอดชีวิต" หากคิดว่างานที่เราทำนั้นเป็นสิ่งที่ดี เราทุ่มเทความเป็นเราทั้งหมดให้กับสิ่งนั้น โดยไม่เห็นว่างานนั้นเป็นภาระ และรักที่จะทำมากที่สุด

มองปัญหาในแง่บวก "ปัญหา คือ ความท้าทายให้คิดสร้างสรรค์" หลายครั้งปัญหาก่อให้เกิดความเครียด เพราะเรามองว่ามันคือปัญหา และจมอยู่กับปัญหา จนเกิดความเครียดที่สะสม แทนที่จะท้าทายตนเองให้คิดหาทางออกให้เร็วที่สุดในทุก ๆ ปัญหา โดยการบอกตัวเองเสมอว่า "ไม่มีปัญหาใดแก้ไม่ได้" และพยายามหาเพื่อนร่วมงาน ที่ปรึกษา คนกลุ่มต่าง ๆ และข้อมูลความรู้จากแหล่งต่าง ๆ ที่จะมาช่วยเราในการเป็นเพื่อนช่วยแก้ปัญหา และทำให้ช่วงเวลาในการแก้ปัญหาเป็นช่วงเวลาที่จริงจังแต่ผ่อนคลาย เช่น อาจเปลี่ยนสถานที่ประชุม ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ใช้วิธีการคิดสร้างสรรค์ ให้ทุกคนช่วยคิดนอกกรอบ ซึ่งอาจทำให้เราเกิดไอเดียใหม่ ๆ ได้ เป็นต้น

จัดการเหตุแห่งความเครียด ในชีวิตประจำวัน เราควรสำรวจว่าสิ่งใดที่ทำให้เราเกิดความตึงเครียดได้มากที่สุด เพื่อให้เราแก้ปัญหานั้นออกไปจากตัวให้เร็วที่สุด เช่น สภาพแวดล้อมที่จำเจ ความเบื่อหน่ายและไม่มีความสุขในการทำงาน อาจเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมที่ซ้ำซากจำเจ ผนังห้องที่ใช้สีทึบทำให้เกิดความรู้สึกไม่สดชื่น เสียงที่ดังรบกวน หรือแสงที่มีความสว่างน้อยหรือมากเกินไป การปรับเปลี่ยนบรรยากาศสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น จะช่วยลดความเครียด ความเบื่อหน่ายและเพิ่มความสุขในการทำงานได้ หรือความเครียดจากการเดินทาง ปัญหารถติดเป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนทำงานในเมือง ซึ่งเราไม่ควรเครียดจนเคยชิน

แต่ควรหาทางออกอย่างที่ไม่ต้องเผชิญหากับสิ่งนั้น หรือเผชิญกับมันอย่างมีความสุข เช่น การปรับเวลาทำงาน เช่น มาทำงานให้เช้ามาก ๆ หรือทำงานที่บ้านก่อน แล้วค่อยมาสาย ๆ หรือตั้งเวลาในช่วงรถติด ให้เป็นเวลาแห่งการเรียนรู้ต่าง ๆ จากการฟัง เป็นต้น

ลดความเครียดด้วยการเพิ่มเอนโดรฟิน ความเครียดจากการทำงานอาจมีสาเหตุมาจากความเหนื่อยล้า นักจิตวิทยากล่าวว่าความเหนื่อยล้ามี 2 ประเภท คือ ความเหนื่อยล้าทางจิตใจ เช่น เครียดกับงาน หนักใจกับเพื่อนร่วมงาน ฯลฯ และความเหนื่อยล้าทางกาย จากการใช้กล้ามเนื้อบางส่วนมากเกินไป ความเหนื่อยล้าเหล่านี้ นอกจากนำมาซึ่งความเครียดแล้ว ยังเป็นสาเหตุของการทำงานที่มีประสิทธิภาพลดลงได้

ดังนั้น เราจึงควรทำชีวิตให้มีความสุขเสมอ ด้วยการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจให้แข็งแรงอยู่เสมอ อาทิ การออกกำลังสม่ำเสมอ การไม่ทำงานท่าเดียวกันเป็นเวลานาน การพักเป็นระยะสั้น ๆ ระหว่างทำงาน การได้หัวเราะกับเพื่อน ๆ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และรับประทานเสริมที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย พักผ่อนให้เหมาะสม และมีทัศนคติแง่บวกในการคิดเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ เป็นต้น

แมกซิม กอร์กี้ นักเขียนวรรณกรรมชื่อดังชาวรัสเซีย กล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า "เมื่องานคือความพึงพอใจ ชีวิตก็เปี่ยมด้วยความสุข แต่เมื่องานกลายเป็นหน้าที่ ชีวิตก็ตกเป็นทาส" การทำงานหนักอย่างมีความสุขเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับว่า เราจะทำให้มันเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันหรือไม่

 

......................................................................................................................

ติดตามทุกเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ชาย รวบรวมข้อมูลเรื่อง แฟชั่นผู้ชาย ทรงผมผู้ชาย น้ำหอมผู้ชาย
พร้อมด้วยหลากหลายบทความเกี่ยวกับ สุขภาพ สาวสวย และที่เที่ยวกลางคืนได้ที่นี่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook