"ธนา เธียรอัจฉริยะ" ปีใหม่ ชีวิตใหม่ เวอร์ชั่นใหม่ ( ตอนที่ 1)

"ธนา เธียรอัจฉริยะ" ปีใหม่ ชีวิตใหม่ เวอร์ชั่นใหม่ ( ตอนที่ 1)

"ธนา เธียรอัจฉริยะ" ปีใหม่ ชีวิตใหม่ เวอร์ชั่นใหม่ ( ตอนที่ 1)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สมาร์ทโฟนที่เราถืออยู่จะค่อยๆ หน่วงลง ทู่ลง ถ้าพวกมัน ไม่ได้ถูกอัพเดทเฟิร์มแวร์ใหม่ หรือไม่ก็ต้องควักกระเป๋าตังค์ซื้อเครื่องใหม่กันไปเลย ตัวมันเองจะคอยส่งเมสเสจเตือนเราอยู่เรื่อยๆ ว่าถึงเวลา ต้องอัพเกรด ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง

ต่างจากชีวิตของเรา ไม่มีเมสเสจส่งจากฟากฟ้า ลงมาแจ้งเตือนเราหรอกครับ ว่าเราหน่วงแล้ว ทู่แล้ว และถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองแล้ว ท่ามกลางความเชี่ยวกรากของกระแสธารแห่งความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่เทคโนโลยี แต่ยังรวมไปถึงสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ถ้าเรายังไม่ยอมอัพเดทตัวเองไปเป็น The New Version เราก็จะเอาต์ออฟเดทไปในที่สุด นี่อีกไม่กี่วันก็จะปีใหม่กันอีกแล้ว  ก็เลยนึกถึงเขา คนนี้ขึ้นมา

ธนา เธียรอัจฉริยะ เขาเพิ่งเขียนบทความถึง ซิคเว่ เบรคเก้ เจ้านายเก่าที่ ดีแทค ซึ่งกลับมาทำงานที่เมืองไทยอีกครั้ง เขาบอกว่านี่คือ ‘ซิคเว่เวอร์ชั่นใหม่’ ธนาปักหมุดคำนี้ในความคิดของพวกเรา และเราก็คิดว่า ตัวเขาเองก็เข้าข่ายคำนี้ด้วยเช่นกัน

เพราะเท่าที่เราติดตาม ดูเวิร์กสไตล์และไลฟ์สไตล์ของนักบริหารธุรกิจเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทยในตอนนี้ ชีวิตเขาเปลี่ยนแปลงไปเยอะมากๆ ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา “ผมเคยมีพนักงานเป็นพันๆ คน ตอนนี้เหลืออยู่ 2 คน ให้คุณเดาว่าเหลือใคร ...” ติ๊กต่อก ติ๊กต่อก ... “ตอนนี้ผมมีแค่เลขาฯ กับคนขับรถ” ธนากล่าว

ในระหว่างที่กำลังกรูมมิ่งและเปลี่ยนชุดสูท ไปเป็นชุดลำลองหลวมๆ ปลดกระดุมคอลง 2 เม็ด นั่งพิงเก้าอี้ในท่าสบายๆ ถัดไปข้างๆ มีลูกสาวคนโต-น้องโมเน กำลังสไลด์ไอแพดบนโซฟา แล้วหันมามองพ่อของเธอเป็นระยะๆ วันนี้เธอตามมาเป็นกำลังใจให้คุณพ่อ ที่มาถ่ายแบบหน้าปกและสัมภาษณ์กันแบบยาวเหยียด ตั้งแต่ช่วงสายๆ ไปจนตกบ่าย พวกเรานั่งถกเถียงและขบคิด มีวัตถุพยานเป็นแก้วน้ำ 2 แก้ว ที่น้ำแข็งค่อยๆ ละลายจากก้อนเหลี่ยมกลายเป็นก้อนกลมขึ้น กลมขึ้น

หลายครั้งที่น้ำในแก้วกระเพื่อมเบาๆ ตามแรงสั่นสะเทือน ที่เราจำลองนิ้วชี้กับนิ้วกลางเป็นขานักวิ่ง เคาะจ้ำไปบนโต๊ะไม้สีดำ ธนาอธิบายชีวิตช่วงนี้ว่า “วิ่งๆ ว่างๆ” ลาออกจาก ตำแหน่งซีอีโอ เพื่อใช้เวลาอยู่กับลูกสาว 2 คนที่กำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น

เขาเปลี่ยนจากคนที่เคยอวดโอ่กับชื่อตำแหน่งสูงๆ ในนามบัตร มาเป็นความพอใจเพียงแค่ได้เห็นภาพตัวเองในงานเลี้ยงรุ่น โดยที่ไม่มีพุงเผละ เป็นคุณพ่อยังซิ่ง ใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ และมีเวลาเหลือเผื่อให้ครอบครัวกับสุขภาพ ชวนธนาคุยถึงความเปลี่ยนแปลงในทุกมิติของชีวิต ที่เขาได้อัพเดทเวอร์ชั่นตัวเอง จนมาเป็น ‘ธนา : The New Version’ ที่รันตัวเองได้ลื่นกว่าเดิม และเสถียรกว่าตัวเองในเวอร์ชั่นเก่า

ถาม : คุณเพิ่งเขียนบทความชิ้นหนึ่งในโซเชียลมีเดีย กล่าวถึงเจ้านายเก่า ที่ดีแทค ซิคเว่ เบรคเก้ ว่าการกลับมาครั้งนี้ของเขาเหมือนเป็นคนใหม่ เวอร์ชั่นใหม่ ชีวิตคนเราอัพเดทเวอร์ชั่นไปได้เรื่อยๆ หรือเปล่า แล้วตัว คุณเองในวันนี้ล่ะ เป็นธนาเวอร์ชั่นไหน
ธนา : ผมเชื่อเรื่องความเปลี่ยนแปลง การปรับปรุงตัวเองใหม่ ที่เกิดจากเทิร์นนิงพอยท์ในชีวิต อย่างล่าสุด ผมอ่านบทสัมภาษณ์คุณธนกร ฮุนตระกูล ในนิตยสารฉบับหนึ่ง เขาอธิบายถึงเทิร์นนิงพอยท์ของตัวเอง ว่าคือตอนคุณพ่อเสียชีวิต เขาต้องมาดูแลธุรกิจของพ่ออย่างกะทันหัน

เขาจึงบอกว่าชีวิตคนเราจะเปลี่ยนแปลงหรือคลี่คลาย ด้วยเทิร์นนิงพอยท์แรงๆ มากกว่าเพียงแค่เรื่องแรงบันดาลใจ หลายคนก็เป็นอย่างนี้ ที่ต้องไปเจออะไรแรงๆ แล้วชีวิตจึงจะเปลี่ยนครั้งใหญ่ ในระยะเวลาใกล้กัน ผมก็ได้ไปเจอคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เขาก็เล่าให้ฟังว่าตอนพบว่าลูกอายุ 1 ขวบ มีอาการหูหนวก เขาต้องจัดการกับสถานการณ์นั้น และนั่นก็เป็นเทิร์นนิงพอยท์ของเขา เขาบอกว่าเพราะเหตุการณ์ตอนนั้น

ทำให้เขาเป็นเขาในทุกวันนี้ คนเราคาดการณ์อะไรอนาคตไม่ได้หรอก แต่เหตุการณ์หลายๆ อย่างที่ผ่านเข้ามา ถ้าเราเจอมาหนักพอ มันจะเปลี่ยนเราไป ก็อย่างที่คุณเรียกว่าเราอัพไปเป็นอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมเป็นพวกที่ชอบแส่หาเทิร์นนิงพอยท์ คือถ้ามันไม่วิ่งเข้ามา เราก็จะเป็นฝ่ายวิ่งไปหามัน แล้วปล่อยให้ชีวิตค่อยๆ คลี่คลาย

ตอนที่ผมออกจากดีแทค นั่นก็เป็นเทิร์นนิงพอยท์ครั้งสำคัญ ก่อนหน้านั้นผมพูดหลายครั้ง ให้สัมภาษณ์ไปหลายทีว่าเบื่อๆ ไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ก็เลยอยากออก แล้วในที่สุดก็ลาออกมาแบบส่งเดช ออกมาแล้วทางกางเกงยีนส์แม็คก็มาชวนให้ไปร่วมงานด้วย ผมยังไม่ได้หางานอะไร ก็ลองไปทำดู ไปแล้วได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง

เพราะได้ลองไปทำงานกับผู้บริหารที่เป็นเจ้าของกิจการจริงๆ หลังจากนั้น โดยไม่ได้ตั้งใจไว้ล่วงหน้า คุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ก็มาชวนไปทำช่อง GMMZ งานนี้มีเรื่องราวอีกมากมาย ได้เจอเรื่องราวแบบคนละมุมกันเลย ต้องเซตอัพโอเปอเรชั่นที่ใหญ่ภายในเวลา 3 เดือน เป็นประสบการณ์ที่ไม่เคยเจอ

แล้วก็ไปเจอเรื่อง ‘จอดำ’ ชีวิตนี้ไม่เคยขึ้นปกนิตยสารแล้วด่าว่า ‘พวกปล้นชาติ’ ก็ได้ขึ้น (หัวเราะ) เป็นความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง ปีนั้นที่มีนน้ำท่วมใหญ่ มีเพลงหนึ่งของพี่จุ้ย-ศุ บุญเลี้ยง ชื่อ ‘อะไรที่สำคัญกว่า’ คือเขาบอกเราว่าเมื่อเจอปัญหาเนี่ย มีอะไรที่สำคัญสำหรับเราจริงๆ เพราะเราก็หยิบข้าวของไปได้ไม่กี่อย่างหรอก ผมก็มาคิดดูว่าตอนนั้นอะไรสำคัญบ้าง คำตอบนั้น ง่ายมาก ไม่มีเรื่องอื่นเลย

มีเพียงเรื่องเดียวที่ผมคิดถึงก่อนเข้านอนและตอนตื่นนอน คือเรื่องลูก ตอนนั้นมีใครสักคนโพสต์บทความบนเฟซบุ๊คแล้วผมบังเอิญอ่านเจอ ผู้เขียนไปถามคนอายุ 70-80 ในอเมริกา ว่าเคล็ดลับของชีวิตคืออะไร ช่วยแนะนำ ให้กับคนหนุ่มสาวได้รู้บ้าง คนแก่เหล่านั้นก็บอกเคล็ดลับข้อหนึ่งที่สะเทือนใจ คือคุณต้องมีเวลาให้ลูก เพราะวัยเด็กของลูก เป็นสิ่งที่ไม่มีพ่อแม่คนไหนเอาคืนมาได้ และเคล็ดลับชีวิตอีกข้อหนึ่งที่เขาบอกไว้ คือคุณต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้เหมือนกับว่าจะอยู่ไปอีก 200 ปี เพราะคนแก่ๆ เหล่านั้น บอกว่าการใช้ชีวิตอยู่ในร่างกาย ที่เจ็บป่วยนั้นเป็นเรื่องที่ทรมานมาก ดังนั้น คนหนุ่มสาวจึงต้องออกกำลัง เพื่อคง ความแข็งแรงไปจนถึงบั้นปลาย ตอนนั้นก็เลยตัดสินใจ เอาวะ เดินไปบอกคุณไพบูลย์ ออกจากแกรมมี่

“เพื่อนบางคนกระซิบถาม “โจ้ๆ ช่วงนี้ตกงานเหรอ” มีแบบนี้เข้ามาผมก็จี๊ดนะ เพราะผมอยากใช้ชีวิตแบบนี้นี่นา อยากเจอลูกทุกวัน อยากออกกำลังกาย ผมต้องค่อยๆ อดทน แล้วมันจะคลี่คลายไปเอง ดูอะไรที่เราชอบทำ แล้วจุดจะต่อจุดของมันไปเอง”

ถาม : มีคนคอยมาถามไหม ว่าแล้วจะไปไหนต่อ แรงกดดันทางสังคม คุณเคยเป็นซีอีโอนะ คุณจะมาทำตัวแบบนี้ไม่ได้
ธนา : ประโยคเดิมวนกลับมาเหมือนบูมเมอแรง ธนาทำอะไรไม่เห็น เป็นชิ้นเป็นอันเลย ไม่ทำงานแล้วเหรอ ซึ่งคำถามเหล่านี้ เรื่องแบบนี้ ในที่สุดผมก็ได้เรียนรู้ในเวลาต่อมาว่าจะแก้ไขอย่างไร สรุปคือมันเป็นเรื่องของเวลา ผมเรียนรู้ว่า ถ้าเราเป็นฝ่ายวิ่งไปหาอะไรด้วยเหตุผลที่ไม่เข้าท่า เราก็จะทำมันได้ไม่ดี เช่นถ้าเราไปทำเพราะเงิน ไปทำเพราะไม่อยากรับแรงกดดันทางสังคม อะไรก็ต้องรับๆ ไว้ก่อน เราก็จะทำได้ไม่ดี จนกระทั่งเราตั้งสติได้นั่นแหละ

ระหว่างนั้นเราอยู่กับลูกไปก่อน พออยู่นิ่งๆ สักพัก มีเวลาคิด เราจะรู้ว่า อยากทำอะไรจริงๆ ทุกวันนี้ มันมีวันที่ว่างไปเลยทั้งวัน ถือเป็นเสน่ห์ของความว่างนะ การมี เวลาว่างเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของชีวิต ต่อให้ทุกวันนี้ผมมีงานที่ปรึกษาให้กับหลายองค์กร แต่ผมก็ยังเริ่มงานตอนสิบโมงเช้า เพราะตอนเช้าตรู่ต้องไป ส่งลูกที่โรงเรียนก่อน เสร็จแล้วก็ไปวิ่งที่สวนลุมฯ อาบน้ำ กินข้าว เก้าโมงครึ่งหรือสิบโมงค่อยเริ่มนัดประชุม แล้วพอถึงเวลาบ่ายสามโมงครึ่ง ก็เลิกงานแล้วเพราะต้องไปรับลูก ผมไปรับลูกตอนเย็นที่โรงเรียนสัปดาห์ละ 2 วัน อีก 3 วันทำงานประชุม ไปมหาวิทยาลัยศรีปทุม เพื่อทำหลักสูตร ต้องมีเวลา 2 วัน ที่อยู่คุ้มหน่อย ส่วนเสาร์-อาทิตย์แทบไม่ได้ไปไหน จึงนับว่าผมนี่เป็นมนุษย์ ที่ว่างมากนะ GM นัดสัมภาษณ์นี่ ผมสลับคิวงานนิดเดียว ก็ว่างมาได้เลย (หัวเราะ)

ถาม : ความว่างมีเสน่ห์อย่างไร
ธนา : ความว่างดีกับผม ผมชอบความว่าง แต่ช่วงแรกๆ ที่ว่างแบบนี้ จะมี แรงกดดันจากภายนอกเข้ามา เพราะมีบางสังคมที่ผมอยู่ในแวดวงนั้น ที่เขาจะให้คุณค่ากับการทำงานยุ่งๆ เขาก็จะสงสัย ว่าทำไมธนาเป็นถึงซีอีโอแล้ว กลับมาอยู่ว่างๆ แบบนี้ ทำอะไรแบบนี้ เพื่อนบางคนกระซิบถาม “โจ้ๆ ช่วงนี้ตกงานเหรอ” มีแบบนี้เข้ามาผมก็จี๊ดนะ เพราะผมอยากใช้ชีวิตแบบนี้นี่นา อยากเจอลูกทุกวัน อยากออกกำลังกาย ผมต้องค่อยๆ อดทน แล้วมันจะคลี่คลายไปเอง ดูอะไรที่เราชอบทำ แล้วจุดจะต่อจุดของมันไปเอง ที่คุณถามว่าผมเป็นเวอร์ชั่นใหม่ใช่ไหม ผมว่าใช่เลยนะ ถ้ายังเป็นเวอร์ชั่นเก่า ผมอาจมีสตางค์มากขึ้นจำนวนหนึ่ง แต่ผมจะยังเป็นเวอร์ชั่นเดิม คนเดิม เผลอๆ อาจจะอ้วน ขี้เกียจ และไม่มีความรู้อะไรใหม่เข้ามาในชีวิตเลย การแส่หา เทิร์นนิงพอยท์เพื่อล้มลุกคลุกคลาน ล้มเหลว งานหนักบ้าง งานเบาบ้าง ไปทำงานต่างประเทศบ้าง ได้ทำหลักสูตรบ้าง มีเวลาว่างๆ ไปรับลูก ไปวิ่ง ตลอด 3-4 ปีนี้ก็กลายเป็นผมในอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง

ถาม : ที่คุณพูดถึงเรื่องจุดต่อจุด ฟังแล้วเหมือนแนวคิดเรื่อง Connecting the Dots ของ สตีฟ จอบส์
ธนา : คือเมื่อเรามองไปในอนาคต เราไม่เห็นอะไรหรอก แต่เมื่อมองย้อน ไปในอดีต มันชัดเจน ผมตีความเรื่องจุด ว่าคือความผิดพลาด ล้มเหลว โง่เขลา แพ้ ด้อย ไม่คาดฝัน รวม 6 เรื่องที่ทำให้เกิดจุด ความสำเร็จมักจะไม่มีจุดให้จำ
สำเร็จแล้วจำไม่ค่อยได้ เป็นแค่อะไรที่ผ่านไป อะไรที่ง่ายๆ ก็ไม่มีจุดนะ เหมือนอย่างเวลาไปเที่ยว ล่าสุดผมไปขับรถ 10 กว่าวันในฮอกไกโด ไปที่ทะเลสาบโทย่า เห็นภูเขาลูกหนึ่ง ผมถามภรรยาว่าที่นี่เราเคยมาแล้ว นี่นา คุ้นๆ ความทรงจำไม่ชัดเพราะว่าเราเคยนั่งรถบัสมากับทัวร์ เราหลับๆ ตื่นๆ แล้วก็ลงมาถ่ายรูป เข้าห้อน้ำแล้วก็ขึ้นรถไปต่ออีกที่หนึ่ง เราเลยจำ ไม่ได้ แต่มาคราวนี้ เราขับรถเอง เราเลยจดจำ หลงแล้วหลงอีก ต้องกางแผนที่

ผมต้องเล่าให้ลูกสาวสองคนฟังว่า ที่นี่สำคัญอย่างไร ผมเป็นทัวร์ไกด์เอง ที่นี่มันเจ๋งยังไง ทีนี้ก็มาดูกัน ว่าในการดำเนินชีวิตใครมีจุดเยอะกว่า ก็ได้เปรียบคนที่ ไม่มีจุด แต่สำาหรับบางคนมีพรสวรรค์ นั่นก็จะเป็นอีกสำนักไปเลย แต่ผมไม่มี คนที่ไม่มีพรสวรรค์เลยต้องมีจุด ต้องสั่งสมความผิดพลาด ล้มเหลว โง่เขลา แพ้ ด้อย ไม่คาดฝัน ไว้ให้เยอะพอ พอมีจุดเยอะ ตอนเจอจุดใหม่ๆ เราไม่รู้หรอกว่ามันเอาไว้ทำอะไร แต่ขอเก็บเข้าลิ้นชักไว้ก่อน ยิ่งเจอเยอะ ก็ยิ่งเก็บไว้ในลิ้นชักเยอะ ลิ้นชักหนึ่งลิ้นชักใดอาจถูกเปิดออกในวันหนึ่งข้างหน้า เมื่อถึงคราวจำเป็น เหมือนกับการได้ออกกำลังกายในทุกวันนี้ การวิ่ง คือการเก็บจุดของผม เก็บไปเรื่อยๆ ข้อดีคือผมเป็นมนุษย์ที่อ่อนแอ ความแข็งแรงไม่เคยอยู่กับผมนาน หยุดออกกำลังกายเมื่อไรจะป่วย ผมรู้ตัวว่าศักยภาพร่างกายผมไม่สูง ผมจึงต้องอาศัยการฝึกซ้อมบ่อยๆ

ถาม : ตามปกติแล้ว คนเราชอบใช้ชีวิตไปแบบเดิมๆ ใน Comfort Zone การดิ้นรนหาจุดให้ตัวเองนี่มันยากกว่าและเหนื่อยกว่าหรือเปล่า
ธนา : ไม่ใช่ง่ายๆ เลยละ ผมเป็นมนุษย์ Comfort Zone โดยธรรมชาติ ผมเป็นคนขี้เกียจ (หัวเราะ) ชอบเอาแต่สบายๆ แต่ในชีวิตกลับพบว่าต้องเจอกับอะไรบางอย่างเสมอ เวลาที่ชีวิตกำลังดำเนินไปสบายๆ พอสบายเกินไป ผมมักจะโดนทุบหัวด้วยอะไรสักอย่าง เขาที่อาจจะอยู่ข้างบนและคอย ปกป้องผม เขาจะคอยบอกว่า “อย่าอยู่เฉยๆ” พอช่วงหนึ่งขี้เกียจออกกำลังกาย อ้วนขึ้นมาก ผมถูกทุบหัวให้เข้าโรงพยาบาล อาการหนักจนทำให้ต้องเปลี่ยนตัวเอง

ผมเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เขาบอกว่าสิ่งที่อยู่นอก Comfort Zone คือ Knowledge Zone ทั้งนั้น มีนักเขียนชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง ผมจำชื่อไม่ได้ เขาต้องอาบน้ำเย็นจัดทุกเช้า ต่อให้ฤดูหนาวยังไง เขาก็ต้องอาบน้ำเย็นจัด เพราะเขาบอกว่า คนเราถ้ากระโจนเข้าไปในน้ำเย็นจัดตอนเช้าได้ แปลว่าตลอดทั้งวันหลังจากนั้น ไม่ว่าจะตัดสินใจทำอะไร มันก็จะง่ายหมด นั่นคือ การทำอะไรที่ยากที่สุด เป็นกิจกรรมแรกสุดของวัน ทุกวันต้องเอาชนะมัน ให้ได้

พอทำเรื่องนี้ได้เป็นนิสัยทุกเช้า ต่อไปไม่ว่าจะเจออะไร เราก็อยากจะลุยละเว้ย อย่างถ้าเราขี้เกียจ ชอบนอนตื่นสาย การวิ่งคือสิ่งสลับขั้วกันเลย เราต้องตื่นเช้าไปออกกกำงลัง ต่อสู้กับตัวเองตั้งแต่ตอนนาฬิกาปลุกแล้ว ตื่นไม่ตื่น ตื่นไม่ตื่น แล้วจะกดปุ่ม Snooze กี่ที ลุกขึ้นมาจากเตียงแล้วจะไปทำอะไรดี จะไปหยิบชุดวิ่งหรือเปล่า พอออกมาแล้ว จะเดินหรือว่าจะวิ่ง วิ่งแล้วจะวิ่งเท่าไหร่ วิ่งไปแล้วครึ่งทาง เหนื่อยจนต้องลังเล ว่าจะวิ่งไปให้ถึงตาม

“ปกติเวลาผมไปตกอยู่ในวงล้อม อยู่ในภาวะคับขัน ผมจะมือเย็น เท้าเย็น ปากสั่น เหงื่อแตก ผมเป็นพวกเซนซิทีฟ แต่เมื่อผมเจอเคสนี้กับตัว หัวใจผมเต้นช้า ก็เพิ่งหาคำตอบเจอ ว่าเป็นเพราะผมวิ่งทุกวัน”

เป้าหมายที่ตั้งไว้ไหม เอาแค่การออกไปวิ่ง ก็ยังมีขั้นตอนการต่อสู้กับ Comfort Zone ตั้ง 4-5 ขั้นตอนทุกเช้า

ทุกครั้งที่เขาก้มตัวลงเพื่อผูกเชือกรองเท้าตรงจุดสตาร์ท เขาคิดเสมอว่า การวิ่งมีความหมายมากกว่าสุขภาพ เขาเริ่มหัดใช้แอพพลิเคชั่น Nike+ โซเชียลมีเดียเพื่อการออกกำลังกาย จะรู้ว่าเพื่อนในกลุ่มทำระยะกันไปได้ เท่าไร เมื่อก่อนเขาเคยวิ่งได้ 6-7 กิโลเมตรต่อวัน แต่พอมีคู่แข่ง บางวัน เขาต้องวิ่ง 13 กิโลเมตร “เดี๋ยวนี้ต้องทำระยะให้ทัน เอ๋-นิ้วกลม (สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์) เราท้าทายกันในแอพฯ เมื่อเอ๋วิ่งวันละ 10 กิโลเมตร จนเก็บระยะแซงหน้าไป ผมก็ต้องเพิ่มระยะวิ่ง การมีคู่แข่งนั้นน่าสนุก ถึงแม้ว่าจะแพ้ แต่เราก็ได้อะไร เพิ่มขึ้นเสมอ เดือนที่แล้ว ผมวิ่งสะสมอยู่ที่ 80 กิโลเมตรต่อเดือน แต่นับจากที่ผมวิ่งไล่เก็บระยะทางแข่งกับเอ๋ ที่เพิ่งมาเริ่มต้นวิ่งเดือนแรก

เขาทำระยะสะสมไปที่ 160 กิโลเมตรต่อเดือน ซึ่งถือว่าเยอะมากสำหรับคนเริ่มต้นใหม่ ผมก็เลยดันตัวเองไปที่ 130 กว่ากิโลเมตรต่อเดือน ตอนนี้ ผมแพ้เขาไปแล้วนะ แต่ผมได้เพิ่มระยะวิ่งจากเดิมที่ 80 มาที่ 130 ถึงแม้เราแพ้ แต่เราก็จะเป็นคนที่ดีขึ้น” ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีที่แล้ว กิจกรรมการวิ่ง 10 กิโลเมตรเกิดขึ้นในดีแทค เพราะซิคเว่และธนาเห็นว่าตอนนั้นดีแทคกำลังสบายเกินไป “ตอนนั้นทุกคนคิดว่าชนะแล้ว ทำงานกันมาถึงขนาดนี้ เราเจ๋งแล้ว เมื่อชนะก็เริ่มหยุดพัฒนา” ตอนนั้นซิคเว่เป็นนักวิ่งอยู่แล้ว วิ่ง 10 กิโลเมตรทำเวลา 40 กว่านาที เป็นนักวิ่งมาราธอน วิ่งเทรล และเป็นนักไตรกีฬา แต่ธนาขณะนั้นวิ่งแค่ 100-200 เมตรก็ยางแตกแล้ว คิดว่าไม่มีทางเลยที่จะวิ่ง 10 กิโลเมตรได้

เกิดคำว่า ‘Mission Impossible’ ขึ้นมา “ด้วยความคันอะไรสักอย่าง ผมเลยเขียนพรีเซนเทชั่นไปฉายในห้อง ให้ผู้บริหาร 7-8 คนดู ตั้งชื่อว่า Impos-sible Race ชวนกันออกไปวิ่ง 10 กิโลเมตร ภายในเวลา 4 เดือน ตอนเขียนนั่นก็ยังไม่รู้ว่า 10 กิโลเมตรไกลแค่ไหน ซิคเว่เป็นคนแรกเลยที่บอกโอเค (หัวเราะ) แต่ทุกคนในห้องเงียบกริบ หลังจากนั้นมา มีดราม่าเยอะ คนอื่นก็ หลบๆ กัน เพราะไม่อยากวิ่ง ซิคเว่ต้องบังคับ เรานั่งเปิดกูเกิลดูกันเลย 10 กิโลเมตรนี่มันต้องจากไหนถึงไหน ตามหลักแล้วต้องวิ่งไม่เกิน 90 นาที เรามีผู้บริหาร 100 คน ตั้งเป้า KPI ว่าต้องมี 80 คนไปถึงให้ได้ ให้เวลาซ้อม ใครจะไม่ไปวิ่งต้องเขียนเมลมาแสดงเหตุผลกับซิคเว่โดยตรง” (หัวเราะ)

ผลสรุปจากการวิ่งครั้งนี้ มีทั้งรอยยิ้มและน้ำตา ผู้บริหารที่เป็นนักวิ่ง หน้าใหม่ เล่าย้อนภาพบริษัทในวันนั้นว่า “ในระหว่างทางเราก็ได้เรียนรู้อะไรเยอะ เช่นถ้ามีวิกฤติขึ้นมา คนในองค์กรเราจะยังรักกันหรือเปล่า การวิ่ง 10 กิโลเมตรครั้งนั้นเป็นวิกฤติใหญ่เลยละ มันเกิดมีศูนย์กลางใหม่ขึ้นมา คือคนที่บอกว่าใครเป็นคนคิดวะ พวกเราไปด่ามัน! แล้วมันจะเกิดการจัดตั้งศูนย์กลางอีกจุดที่เป็นการ ช่วยเหลือกันเองแบบฉุกเฉิน คือจะมีคนชวนกันไปซ้อม มีเป้า คนในองค์กรเริ่มมีมายด์เซตใหม่” ในวันนั้น ถ้านับหัวเฉพาะเหล่าผู้บริหาร 114 คน มีผู้เข้าเส้นชัย 92 คน เป็น 80% ที่ถึงตามเป้า “มีลูกน้องผมเป็นผู้หญิง เธอวิ่งผ่าน 10 กิโลเมตรได้เป็นครั้งแรก ในชีวิต

เธอร้องไห้เลย เฮ้ย! เราทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้...ได้แล้ว พลังแห่งความเชื่อมั่นเป็นสิ่งสำคัญ มีคำพูดหนึ่งของพี่จิก-ประภาส ชลศรานนท์ เคยบอกว่า การสอนเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ต้องเริ่มจากกฎข้อแรกก่อน นั่นคือต้องทำลายกรอบลวงตา ชีวิตคนเรามีกรอบ เช่น รายการเด็ก ทำไมต้องมีแต่เด็ก นั่นเป็นกรอบลวงตา หรือใครบอกว่าคนอายุสี่สิบกว่าต้องไปตีกอล์ฟ หรือใครบอกว่าผู้หญิงอายุห้าสิบต้องเซตผมแบบตั้งกระบัง เรามีกรอบลวงตาคอยบอกว่าอายุเท่านี้ต้องทำแต่สิ่งนี้ แต่พอเราทลายกรอบได้ สักเรื่องเดียว มันก็จะมีเรื่องอื่นตามมา”

ถาม : ผมเดาว่าเมื่อพวกคุณเอาชนะเรื่องวิ่งได้ พวกคุณก็ทำงาน ให้ดีขึ้นไปได้อีก
ธนา : ใช่เลยครับ การวิ่งคือไคเซ็น (Kaizen หรือ Continuous Improvement) เรานำไปแอพพลายในงานได้ เช่น ถ้าคุณเป็นเซลส์ คุณเยี่ยมลูกค้า 20 จุด ต่อวัน คุณสามารถเพิ่มเป็น 21 จุดต่อวัน มันไม่ยากนะ ลองทำดู หรือถ้า คุณเป็นคอลล์เซ็นเตอร์ รับได้ 100 สายต่อวัน เพิ่มเป็น 101 สายต่อวันนี่ง่ายมาก พอทำ 101 ได้ ก็ลองเพิ่มเป็น 102 สิ ผ่านไปไม่นาน คุณก็รับได้ 130 สายต่อวัน เป็นวิธีการเรียนรู้ขององค์กร ทั้งองค์กร มันเป็นไอเดียที่ติดตัวเรามา มันคือ การสอนวิชาธุรกิจโดยไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องธุรกิจ ถ้าเราเพ่งแต่เรื่องธุรกิจจะแคบ แต่เราสามารถ มองเรื่องธุรกิจผ่านชีวิตประจำวัน การกิน การรักษาสุขภาพ เอาเรื่องอะไรต่างๆ เข้าไปจับ มันกว้างขึ้น

ตอนที่มีเหตุการณ์ ‘จอดำ’ เป็นช่วงเวลาที่น่าจะใช้คำว่าโหดร้ายที่สุด ในชีวิตผม โดนด่าเยอะมาก หนังสือพิมพ์ก็ด่า พอผมไปสภาฯ เจอฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ก็มาร่วมกันด่าหมด นักข่าวเป็นร้อยๆ มาจ่อไมค์ล้อมรอบตัวผม เจอคำถามแรงๆ กระชากวิญญาณทั้งนั้น ประกอบกับอาม่าก็ถึงแก่กรรม ในช่วงนั้น คือรู้สึกว่าทุกวันๆ มันหนักมาก แต่กลับแปลกใจว่าทำไมผมไม่ตื่นเต้นเลยนะ ถ้าวัดความตื่นเต้นจากที่หัวใจคนเราต้องเต้นแรงๆ เวลาเจอสถานการณ์ไม่สู้ดีอยู่ตรงหน้า

ผมนิ่ง รอตอบคำถามต่างๆ ไม่มีอีโมชันนัลเลย ปกติเวลาผมไปตกอยู่ในวงล้อม อยู่ในภาวะคับขัน ผมจะมือเย็น เท้าเย็น ปากสั่น เหงื่อแตก ผมเป็นพวกเซนซิทีฟ แต่เมื่อผมเจอเคสนี้กับตัว หัวใจผมเต้นช้า ก็เพิ่งหาคำตอบเจอ ว่าเป็นเพราะผมวิ่งทุกวัน ตอนวิ่งหัวใจจะเต้นแรงอยู่ในโซนการออกกำลัง ชีพจรผมตอนนี้อยู่ที่ 60 กว่าครั้งต่อนาที หัวใจมีอัตราเต้นต่ำลง การวิ่งช่วยเรื่องความสงบโดยตรง ถึงเวลาที่คับขันมันจะช่วยเรารับมือได้

ถาม : เวลาคุณตกอยู่ในวงล้อม คุณเอาตัวรอดมายังไง
ธนา : เมื่อก่อนตอนอยู่ดีแทค ผมว่าตัวเองเป็นคนที่ให้สัมภาษณ์โคตรเก่งเลย (หัวเราะ) คือมีอีโก้ ทะนงตัวมาก พวกน้องนักข่าวชอบโทรฯ มาถามความเห็นประเด็นต่างๆ หนังสือพิมพ์มีลงเรื่องผมตลอดเวลา พูดอะไรก็ดีไปหมด ผมภูมิใจ ตัวฟูมาก แต่พอมาเจอเรื่องการเมืองเล่นงาน เหมือนผมเป็นลูกโป่งขนาดยักษ์ถูกเจาะด้วยเข็มเล่มเดียว รู้เลยว่าต่อไปนี้อยากให้สัมภาษณ์น้อยๆ ดีกว่า ชีวิตอยากสงบๆ ผมรู้เลยว่าพวกนักมวยเวลาขึ้นชก พอถูกต้อนจน เมาหมัด

ตกอยู่ในสภาพจนมุม เราอย่าเพิ่งสวน ... รอสติกลับมาก่อน คอยปิดจุดตายไว้ มองหาทางออก วิ่งไปพิงเชือก เด้งไปเด้งมาสักพักหนึ่ง อย่าสวน! เมื่อวันก่อนผมเพิ่งเชิญ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เขาก็บอกว่าเจอเคส เดียวกันนี้จากรายการตอบโจทย์ฯ ช่องไทยพีบีเอส ภิญโญบอกว่าสิ่งที่เขาเรียนรู้ คือต้องหยุดในช่วงที่ต้องหยุด หยุดคืออะไร ผมได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ว่าถ้าเซนซิทีฟเรื่องไหน ก็อย่าเพิ่งไปดูมัน สภาพเราตอนนี้ไม่เหมาะกับ การรับเพิ่ม บางทีคนพูดคนเดียว มันให้ความรู้สึกเหมือนมีล้านคนมาด่าเรา แต่จริงๆ มันมาจากคนแค่คนเดียว ช่วง ‘จอดำ’ ผมอ่านข่าวน้อย แต่ก็รู้ว่ามีกระแสในทางลบ ผมออกไปแสดงตัวในนามองค์กร พอมีพื้นฐานในการเล่าได้ ผมรู้ว่าฟุตบอลยูโรจบเมื่อไหร่ ตอนนั้นก็จบ

แต่วันหนึ่งมีข่าวหราบนหน้าหนังสือพิมพ์ บอกว่าช่อง 3 ถูกเรียกพบ ผมก็คิดว่าเอาแล้วเว้ย โดนอีกแล้วเรา ปรากฏว่าไม่ใช่เรา เป็นรายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ ที่ผู้แข่งขันสุภาพสตรีท่านหนึ่งวาดภาพด้วยหน้าอก ข่าว GMMZ กลายเป็นประเด็นรองไปเลย ช่วงนั้นทำให้ตัวเอง ต่อภาพบางอย่างได้ ว่าการรับมือกับวิกฤติโดยที่ร่างกายเรามีภูมิคุ้มกัน ทำให้เราผ่านมาได้ อย่างน้อยเราไม่พังครืนลงมา

ถาม : ผู้ชายในวัย 40 กว่าๆ นอกจากเรื่องครอบครัวและสุขภาพแล้ว เรายังควรสะสมจุดอะไรอีก กอล์ฟ พระเครื่อง นาฬิกา รถ ไวน์ ฯลฯ
ธนา : (หัวเราะ) ผมไม่มีอะไรตามลิสต์ที่คุณว่ามาเลย ไม่มีรายจ่ายพวกนั้น เพราะไม่ได้ชอบมัน ไวน์ดีแค่ไหนก็ไม่รู้จัก กินแค่แยกออกว่าอันไหนขาว กับแดง ถ้าเอาดีหน่อย ก็ขอสั่งขวดที่ราคาแพงกว่าไว้ก่อน (หัวเราะ) ส่วนนาฬิกานี่ใส่แล้วก็คันๆ ต้องถอดเก็บ ผมดูเวลาจากหน้าจอมือถือเอา

ผมมีอิสรภาพทางการเงินระดับหนึ่ง ไม่งั้นทำตัวติสท์แบบนี้ไม่ได้ แต่ไม่ใช่คนรวยนะ ผมออกจากบริษัทใหญ่ๆ ในตำแหน่งสูงๆ มีคนคิดว่าผมน่าจะ ได้หุ้นมาบ้าง ผมบอกไม่ใช่ ผมแค่เป็นคนทำงานคนหนึ่งที่มีบ้าน มีรถ มีเงินเก็บบ้าง ผมโชคดีด้วยมั้ง ที่ไม่เป็นมนุษย์สะสมของอะไรเลย ตอนก่อน จะมาวันนี้ ยังนึกๆ อยู่ว่าคำถามที่ยากที่สุดที่จะถามผม แล้วผมตอบ ไม่ได้เลย คือผมมีของสะสมอะไร (หัวเราะ) ผมไม่มี ทั้งตัวมีแหวนแต่งงาน วงเดียว ไม่ใส่สร้อย ไม่ใส่นาฬิกา ไม่บ้ารถ เคยมีคนถามผมเยอะ ว่าอยากเป็นเหมือนพี่โจ้บ้างจัง ผมตอบกลับไปเสมอ คุณซักซ้อมตัวเองไว้หรือยัง ผมเพิ่งอ่านเจอเรื่องของ ไมเคิล เฟลป์ส นักว่ายน้ำอายุ 28-29 แต่ได้ถึง 21 เหรียญโอลิมปิก

เขาบอก “If you want to be the best, you have to do things that other people aren’t willing to do.” คุณอยากเก่ง คุณต้องยอมทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ คุณไม่ต้องลาออก จากงานเหมือนผม แค่คุณลองย้ายแผนกดูก่อนดีไหม หรือมีงานอะไรที่คนอื่น ไม่ทำ คุณลองยกมืออาสาทำเลย คุณตัน ภาสกรนที ผมเคยถามแกเรื่องที่แกมีแผลใหญ่ที่หลังอยู่แผลหนึ่ง แกเล่าว่า สมัยก่อนกูมีเงินเดือนไม่กี่ร้อยเอง เป็นจับกัง แต่สักพักเขาให้กูเป็นซูเปอร์ไวเซอร์เลยนะเว้ย ผมถามว่าเพราะอะไร คุณตันบอก เขาให้ทำอะไร กูนี่...ยกมือคนแรกทุกอย่าง งานง่ายก็ยก งานยากก็ยก กูรู้ตัวว่ากูด้อยกว่า คนอื่น งั้นกูอาสาไว้ก่อน ดึกแค่ไหน ไกลแค่ไหน งานจับกังกูทำหมด

ตอนนั้นเขาหาคนทำงานเป็นหัวหน้า คุณสมบัติต้องขี่มอเตอร์ไซค์ได้ กูนี่ยกมือ ก่อนเลย ผมถามว่าคุณตันชอบขี่มอเตอร์ไซค์เหรอ เขาบอก เปล่า ตอนนั้น ยังขี่ไม่เป็น (หัวเราะ) กูล้มฉิ_หาย ก็เลยมีแผลที่หลังนี่ไง เคยไหม อยากเก่งแต่ไม่กล้าออกไปหาความเก่ง ความกร้าน ผมเคยผ่านปี 1997 มา ยุคฟองสบู่แตก ผมเห็นคนที่ทำงานบริษัทมา บางคนทำที่เดิม ตำแหน่งเดิมไม่เคยเปลี่ยนงานเลย จากลูกน้องก็กลายเป็นหัวหน้า จากหัวหน้าก็ขึ้นมาบริหาร อยู่ดีๆ วันหนึ่งถูกเลย์ออฟ ไปไม่เป็นเลยนะ ตอนนั้นเราก็โทษบิ๊กจิ๋วกันก่อนเลย แต่จริงๆ แล้วตัวเราเองที่ไม่เคยขยับออกจาก Comfort Zone ผมว่าการซ้อมพบกับความเปลี่ยนแปลงระหว่างทาง ไม่ว่าจะเจอหรือไม่เจอวิกฤติ ยังไงก็เป็นเรื่องจำเป็น การรู้จักเรื่องพวกนี้ ต่างหากที่ผมมองว่า มันเป็นความมั่นคงของชีวิต

ถาม : ความมั่นคงในชีวิต ไม่ใช่การมีลอยัลตี้กับบริษัทหรือครับ
ธนา : โอ้โห! นี่เป็นเรื่องที่เราดีเบทกันได้ คือผมไม่เชื่อว่าพนักงานต้องมี ลอยัลตี้ต่อองค์กร โดยเฉพาะในยุคนี้สมัยนี้นะ ถ้าเป็นสมัยก่อนผมไม่เถียง คุณทำงานโดยตรงกับเถ้าแก่ เขาสนับสนุนอุ้มชูเลี้ยงดูกันมา อาจจะได้ แต่สมัยนี้ บริษัทใหญ่ถูกควบคุมด้วยบอร์ด มีโปรเฟสชันนัลมารันธุรกิจ เขาไม่รู้หรอกว่าคุณอยู่มานานแค่ไหน จงรักภักดีกับองค์กรมาอย่างไร เขาจะดูเพอร์ฟอร์แมนซ์ของคุณ ว่าคุณทำได้แค่ไหน เอาต์พุทคุณเป็นยังไง ถ้าเอาต์พุทคุณไม่ดี เขาก็ไปช้อปปิ้งหาคนที่เก่งกว่ามาแทนคุณ เดี๋ยวนี้ แทบจะทุกแห่ง การมีลอยัลตี้ต่อองค์กรจึงกลายเป็นเรื่องเอาต์แล้ว เคยได้ยินเรื่องโจ๊กที่ว่า “If you want loyalty, get a puppy.” พี่บอย - (วิสูตร แสงอรุณเลิศ ผู้เขียน งานไม่ประจำทำเงินกว่า)

กับเต้ย (ภาณุมาศ ทองธนากุล ผู้เขียน การลาออกครั้งสุดท้าย) พวกบริษัทใหญ่ๆ ไม่น่าจะจ้าง 2 คนนี้ไปพูดโมทิเวทพนักงานนะ นี่แซวเล่นนะ (หัวเราะ) ผมเองเขียนคำนิยมให้กับพี่บอยด้วย หลายๆ ครั้งที่ผมถูกเชิญไปพูดเรื่องทำนองนี้ ว่าทำไมเจนวายฯ ชอบลาออก ผู้นำหลายบริษัทกลุ้มใจกัน ไม่รู้ว่าจะรับมือกับเจนวายฯ ยังไง จู่ๆ ก็อยากลาออก อยู่ไม่นาน แป๊บเดียวก็ไป สภาวการณ์อยากทำงานประจำของคนหนุ่มสาวแทบเป็นเรื่องที่ล่มสลายไปแล้ว คนเก่งไม่อยากเป็นพนักงานประจำ เรื่องนี้ผมว่าเป็น The New Normal คือเรื่องธรรมดาสามัญของยุคนี้ไปแล้ว ถามผม ผมว่าโซเชียลมีเดียมีผลมาก เพราะว่าสมัยก่อนเราอาจจะโดน ปิดหูปิดตา เราถูกหล่อหลอมว่าต้องเดินแบบนี้แบบเดียว

ทำงานต้องอดทน เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ การเติบโตของทุนนิยม อาจมาจากวิธีการล้างสมองคนแบบนี้ ไม่งั้นทุนนิยมจะโตได้อย่างไร ถ้าไม่มีคนทำงานให้กับทุน พวกเราก็จะมารู้ตัวเองกันอีกทีตอนอายุ 60 แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว อีกแป๊บเดียว เดี๋ยวมันก็ป๊อปอัพขึ้นมาบนนิวส์ฟีด ว่าเพื่อนคนนี้ลาออกไปเล่นหุ้น คุณไปเดิน ร้านหนังสือดูสิ มีหนังสือแนวนี้วางเรียงเต็มไปหมด จากห้าแสนไปเป็น ห้าร้อยล้าน แต่เรายังนั่งทำงานรับเงินเดือนหมื่นห้าอยู่เลย เฟซบุ๊คเป็น เรื่องราวเซอร์เรียล ทุกคนจะพูดเรื่องของดีๆ การไปเที่ยวเมืองนอก ได้กินอาหารอร่อย หน้าตาฟรุ้งฟริ้งผ่านแอพฯ ได้งานดี ไม่มีเรื่องร้ายทั้งนั้นเลย พอเราเห็นพวกนี้เยอะๆ ขณะที่นั่งทำงานหน้าคอมพ์ที่ออฟฟิศ เราก็จะ ดีเพรสนะ จิตตกไปพร้อมกัน

อ่านต่อตอนที่ 2 ที่นี่

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ ของ "ธนา เธียรอัจฉริยะ" ปีใหม่ ชีวิตใหม่ เวอร์ชั่นใหม่ ( ตอนที่ 1)

ธนา เธียรอัจฉริยะ
ธนา เธียรอัจฉริยะ
ธนา เธียรอัจฉริยะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook