“ธนา เธียรอัจฉริยะ” ปีใหม่ ชีวิตใหม่ เวอร์ชั่นใหม่ ( ตอนที่ 2)

“ธนา เธียรอัจฉริยะ” ปีใหม่ ชีวิตใหม่ เวอร์ชั่นใหม่ ( ตอนที่ 2)

“ธนา เธียรอัจฉริยะ” ปีใหม่ ชีวิตใหม่ เวอร์ชั่นใหม่ ( ตอนที่ 2)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถาม : ถ้าคิดแบบนี้ แล้วคุณจะหาคนมาทำงานเป็นลูกน้องให้ คุณเองได้อย่างไร

ธนา : เรื่องนี้มีสองมุมคิด ในมุมของลูกน้อง การทำงานไม่ว่าจะในยุคสมัยไหนก็ตาม พนักงานบริษัทต้องมีจุดเด่น จุดเด่นอะไรที่ เจนวายฯ มีแล้วจะทำให้คุณรุ่ง ย้อนกลับไป จุดเด่นสมัยคุณพ่อผม คือ ใครรู้คอมพิวเตอร์ ภาษาอังกฤษ ได้เห็นโลกเยอะๆ ในต่างประเทศ คนนั้นจะไปได้เร็วมาก

เพราะทุกคนในยุคนั้น มีคุณสมบัติอื่นๆ เหมือนกัน คืออึด อดทน ทำงานกันตั้งแต่เรียนจบจนเกษียณ หรือไม่ก็เป็นพวกเสื่อผืนหมอนใบ ทำงานหนักจนตั้งตัวได้ แต่คำถามคือ แล้วในยุคนี้ล่ะ? ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ กลายเป็นเรื่องปกติแล้ว แต่ยุคนี้ ถ้าน้องคนไหนยอมเรียนวิชาหนึ่งเพิ่มเข้าไปด้วยได้ ผมเรียกว่า ‘วิชาอดทน’ น้องคนนั้นจะเด่น

เอาเรื่องปกติของคนรุ่นพ่อมาใส่ไว้ในคนรุ่น เราซะ เราจะเด่นเลยนะ เพราะคุณสมบัติที่พบได้บ่อยๆ ในเจนวายฯ คือ ไม่มีความอดทนกันเลย งานยากไม่มีใครทำ แต่ถ้าน้องอาสาทำล่ะ น้องจะไม่เหมือนใครเลยนะ ถ้าคุณอยากเหมือนคนอื่นๆก็แค่ไม่ต้องทำอะไร คุณก็เหมือนเขาแล้ว แต่ถ้าอยากแตกต่าง คุณต้องออกไปทำอะไรเยอะๆ

ส่วนในมุมของผู้บริหาร ตอนนี้ผมเป็น ที่ปรึกษาให้กับดีแทค ยังบอกคุณซิคเว่เลยว่า จ้างงานตอนนี้ไม่ต้องจ่ายแบบฟูลไทม์แล้ว จ้างงานกันเป็นโปรเจ็กต์ 3 เดือน 6 เดือนก็ได้ ต้องมองงานเป็นโปรเจ็กต์มากขึ้น มีลักษณะของการมาร่วมทำ Featuring บ้าง การเรียนการสอนในต่างประเทศ เริ่มมีศาสตร์อื่นมาผสมผสาน ในศาสตร์เดิม เช่น ไบโอเอนจิเนียริ่ง เขาก็โยงเรื่องแฟชั่นมาเจอกับคณะแพทย์ เราอาจจะได้ อะไรใหม่ก็ได้ เอาเรื่องโทรคมนาคมไปคุยกับอาร์ติสท์ อาจจะได้อะไรใหม่ก็ได้

ผมเจอ คุณเศรษฐา ทวีสิน ผู้บริหารแสนสิริ เขาส่งคนไปดูงานฟู้ดแฟร์ที่นิวยอร์ก เขาก็เล่าถึงแนวคิดนี้ ว่าทุกอย่างมันผสมผสานกันได้ และวันนี้ ผมว่ามันเกิดคำถามว่า Why ไปกับทุกเรื่อง เศรษฐกิจ สังคม องค์กร ทำไมเราต้องจงรักภักดีต่อองค์กรล่ะ Why (ทำเสียงสูง) ถ้าผู้บริหารองค์กรไหนตอบได้ก็คือได้ แต่บางองค์กรตอบไม่ได้

มีหนังสือของ Ted Talk มีวิทยากรคนหนึ่งพูดว่า แน่นอนองค์กรอยากทำให้คนทุ่มเท ทำงานมากกว่าค่าจ้าง มีแพสชั่นที่รุนแรง แต่องค์กรจะถามพนักงานใหม่ ว่า What กับ How คือคุณทำอะไรได้บ้าง คุณจะเอาเงินเดือนเท่าไหร่ วัด KPI ในขณะที่พนักงานจะถามกลับว่า Why ทำไมฉันต้องทุ่มเทให้กับองค์กรคุณมากๆ องค์กร กลับตอบเรื่องนี้ได้น้อยมาก และตอบไม่ตรงใจผู้ถาม

 ถาม : หนังสือ How Google Works บอกว่าทำไมองค์กรกูเกิลถึงได้เวิร์กนัก คำตอบคือ เขาบอกพนักงาน ว่า “อยากเปลี่ยนโลกมาอยู่กับเรา”

ธนา : นั่นเป็นตัวอย่างที่ดี ที่เขาตอบคำถามเรื่อง Why ได้ดี แม้ว่าในย่านนั้น กูเกิลไม่ใช่บริษัทที่จ่ายหนักที่สุด แต่กูเกิลตอบพนักงานได้ เขาจึงได้คนที่อยากเปลี่ยนแปลงโลกไปทำงานด้วย ทุกคนในนั้นมีแพสชั่นที่รุนแรง อยู่ดึก คิดงานเพิ่ม ขับเคลื่อนไปด้วยความสนุก ผมว่าคนในกูเกิลก็น่าจะลอยัลตี้ ต่อ แลร์รี เพจ และ เซอร์เกย์ บริน เพราะเขามีหัวหน้าที่อยากเปลี่ยนโลก

ไอ้เราทุกคนก็อยากได้หัวหน้าที่เป็นแบบนั้น ผมคิดว่า Why ขององค์กร ส่วนหนึ่งมาจากผู้นำองค์กรนั้น เป็นวิชั่นที่แชร์กันระหว่างผู้บริหารกับพนักงาน เราเห็นภาพเดียวกัน เราทำอะไรบางอย่าง เพราะอยากไปเปลี่ยนบางอย่าง เราทำมันด้วยความรัก ความสนุก เมื่อผู้นำตอบคำถามเรื่อง Why ได้ เขาก็จะเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพนักงานได้ ถ้าคุณรับเจนวายฯ เข้ามาทำงาน นับตั้งแต่วันแรก คุณต้องตอบคำถามนี้แก่พวกเขาให้ได้

ถาม : คุณผ่านการทำงานกับองค์กรชั้นนำมาอย่างน้อย 4 สำนัก เอกธำรง ดีแทค แม็คยีนส์ GMMZ อยากให้เล่าถึงการทำงานร่วมกันกับบอสของแต่ละสำนัก ว่าคุณเรียนรู้อะไรมาบ้าง

ธนา : ผมขอเล่าเป็นภาพใหญ่ๆ ก็แล้วกัน ว่าผมเคยทำงานกับสำนักที่เป็นเถ้าแก่แบบ สุดขั้ว กับการทำงานแบบมืออาชีพสุดขั้ว มันไม่เหมือนกันเลย ผมเป็นมืออาชีพที่เคยไปทำงานกับเถ้าแก่ มืออาชีพก็ต้องมีคาแร็กเตอร์แบบหนึ่ง ถึงจะทำงานกับเถ้าแก่ได้ อย่างตอนผมไปทำงานที่แม็คยีนส์ ผมเพิ่งออกมาจาก ดีแทคก็เป็นคนโลกสวย อยากทำแบบที่อยากทำ ขออิสระเรา 3 เดือน แล้วค่อยมาวัดผล ถ้าทำไม่ได้ผมรับผิดชอบตัวเอง วัดกันเป็น KPI นี่เป็นวิถีแบบมืออาชีพ

แต่เถ้าแก่เขาไม่ได้มองอะไรแบบนี้ เขาส่งธุรกิจให้เรามาบริหาร ก็เหมือนส่งลูกเขามาให้เราเลี้ยง มันย่อมมีอารมณ์ความรู้สึกอยู่ เพราะธุรกิจเขาก็คือลูกของเขา เอาลูกเขาไปเลี้ยง เขาก็ยังมาคอยบอกอย่าลืมให้กินนมนะ ไม่มีใครเขาปล่อยให้คนอื่นเลี้ยงลูกแบบ 3 เดือน คุณเอาไปเลี้ยงเลย แล้วเราค่อยมาวัด ไอคิวลูกกัน (หัวเราะ)

ตอนแรกผมไม่เข้าใจทำไมให้เราบริหารแล้วยังก้าวก่าย บุญคลี ปลั่งศิริ ถือว่าเขาเป็นซูเปอร์ในด้านผู้บริหาร ที่มาจากฝั่งธุรกิจครอบครัว เขาเคยทำงานที่ ชิน คอร์ปอเรชั่น เคยทำงานกับคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี ทำงานกับคุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม พูดง่ายๆ คุณบุญคลีเคยทำงานกับระดับเทพๆ มาหมดแล้ว

วันหนึ่งคุณบุญคลีมาสอนผม บอกว่า ธนา ถ้าจะทำงานกับเถ้าแก่ อย่างแรกนะ มันไม่ใช่เรื่องเพอร์ฟอร์แมนซ์ แต่เป็นเรื่องความไว้วางใจ หรือ Trust ต่างหาก เรื่องนี้สำคัญมากที่สุด คุณต้องทำให้เขาเชื่อว่าคุณมือสะอาด จริงใจ ทำตามที่เขาบอกได้ แบบไม่มีนอกไม่มีใน คุณต้องได้ Trust ก่อน แล้วขั้นต่อมา คุณต้องเป็นหลงจู๊ คนเป็นเถ้าแก่จะมองหาหลงจู๊ หลงจู๊คืออะไร คือบางทีเขาให้คุณทำงานไป แต่ถ้าเขาให้คุณช่วยไปรับลูก คุณก็ต้องไปรับลูกเขาได้นะ คือเขาไม่ได้คิดว่ารับไอ้หมอนี่มาให้มานั่งเป็น CFO ทำแต่งานบัญชี เถ้าแก่อาจให้เขาไปทำอย่างอื่น มาอยู่ด้วยกันแล้ว ก็ต้องทำได้ทุกอย่าง

บางคนนี่ไม่เอาเลยนะ จ้างมาทำงาน แต่ให้ไปรับลูก เฮ้ย! เสียศักดิ์ศรีว่ะ แต่ทำยังไงที่คุณจะกลายเป็นหลงจู๊อินเตอร์ พอเขาเชื่อถือคุณแล้ว คุณก็ค่อยเอาระบบมาใส่ คุณเคยได้ยินเรื่องธุรกิจครอบครัว ที่พอไปถึง เจเนอเรชั่นที่ 2 ที่ 3 แล้วจะเจ๊งใช่ไหม ที่เจ๊งเพราะว่ายังไม่เกิดระบบการบริหารที่ดี หลงจู๊นี่แหละคือผู้ที่จะนำระบบเข้ามา ผมเรียนรู้เรื่องนี้จากกูรูอย่างคุณบุญคลี คือทำงานกับเถ้าแก่ คุณก็ต้องเป็นหลงจู๊ มาจนถึงตอนนี้ ผมยังคงได้ทำงานกับดีแทค และกับคุณไพบูลย์อยู่เลย ไปเป็นที่ปรึกษาให้แต่ละสำนัก แต่ถ้าถามผมว่าให้ทำงานบริหาร ด้วยจริต ผมเหมาะกับการทำงานที่วัดด้วย KPI เพราะผมดื้อ อาจไม่เหมาะกับการทำงานกับเถ้าแก่

ถาม : อยากให้เล่าถึงการทำงานเป็นที่ปรึกษา เท่าที่ทราบคือ ทุกวันพุธ คุณต้องไปนั่งคุยกับคุณไพบูลย์ที่แกรมมี่

ธนา : ตอนที่คุณไพบูลย์ชวนไปเป็นที่ปรึกษา ผมยินดีมากนะ เพราะเรา เคยร่วมงานกันมาก่อน ผมเข้าไปสนทนากับคุณไพบูลย์เรื่องธุรกิจใหม่ๆ ผมจะใช้วิธีถามเขาให้มากๆ คอนซัลต์ที่ดีต้องถามเก่ง ถามไปให้เขาคิดเอง ถามมุมที่เขาเองยังนึกไม่ถึง ให้เขารวบรวมลอจิกเอง คอนซัลต์ที่ดีที่มีคำตอบสำเร็จรูปเลยนั้น นับว่าเป็นไปได้ยาก เพราะธุรกิจแต่ละอย่างมีธรรมชาติ ของมัน อ่านตำรา ฟิลิป คอตเลอร์ มาตอบให้กับทุกบริษัทหรือว่าทุกสถานการณ์ไม่ได้

งานคอนซัลต์อย่างผมพยายามทำอยู่ คือต้องรู้หลากหลาย ผู้ที่เป็นเจ้าของธุรกิจก็จะปั้นงานของเขามา เขารู้ลึกในธุรกิจนั้นๆ อยู่แล้ว แต่เขาไม่มีเวลาไปรู้หลากหลาย ดังนั้น เราจะไปเติมเต็มให้ เราต้องออกไปเจอคนหลายประเภท หลายอุตสาหกรรม แล้วก็เป็นพ่อสื่อให้คนที่กำลังต้องการเจอใครสักคน ได้มาเจอกัน ผมคงมีค่าอยู่ตรงนี้ บางทีผมก็เจอโจทย์ท้าทายแบบที่ไม่คิดว่าจะเจอ

ยกตัวอย่างงานหนึ่ง เจ้าของธุรกิจบอกว่าอยากให้พนักงานคึกคัก แก้ไขความเฉื่อยชาขององค์กรให้ที ผมก็ถามเจ้าของกลับว่า ทำไมพนักงานต้องแอคทีฟทำงานให้กับ คุณล่ะ จุดเปลี่ยนของเรื่องราวนี้มันอยู่ตรงไหน มันอยู่ที่คุณเองที่ต้องตอบคำถามพนักงานให้ได้ก่อน

ผมจะไปนั่งฟังเขาเรื่อยๆ ทักษะหลักที่ผมใช้ในงานที่ปรึกษา คือฟังกับถาม ลองจับประเด็น แล้วประมวลจากประสบการณ์ตัวเองไปเล่าให้เขาฟัง จริงๆ การทำงานที่ปรึกษา ก็เป็นกระบวนการเรียนรู้ของผมเองไปด้วย ตอนนี้ผมอยู่ในงานที่ปรึกษา ใน 8 อุตสาหกรรมที่ไม่เหมือนกันเลย ผมต้องประเมินตัวเองไปด้วย ว่าเรามีคุณค่าต่องานเขาจริงไหม ผมจะมีค่าก็ต่อเมื่อคำปรึกษาของผม เขานำไปใช้จริงแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลง ผมไม่ได้เป็นที่ปรึกษาด้านการเงิน การลงทุน ที่อาจมีเรื่องการประเมินผล การรับประกันความเสี่ยง ผลตอบแทน แต่ผมเป็นที่ปรึกษา ในแนวทางการให้กลยุทธ์ การสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กรมากกว่า

ถาม : แล้วสำหรับธุรกิจโทรคมนาคมล่ะ ตอนนี้ดูเหมือนว่ากำลังมีความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก

ธนา : เทคโนโลยีสมาร์ทโฟนไม่น่าจะเปลี่ยนไปกว่านี้มาก คนเราเองต่างหากจะเปลี่ยนไปมากกว่าเทคโนโลยี เพราะว่าคนรุ่นผมยังอยู่ตรงกลาง แต่อีก ไม่กี่ปี กลุ่มคนที่เรียกว่า Digital Native ที่เกิดมาก็เจอกับโลกดิจิตอลเลย กลุ่มคนพวกนี้พาพฤติกรรมใหม่ๆ มาอีก คนรุ่นผมเจอเทคโนโลยีใหม่ ยังเป็นการประยุกต์เรียนรู้จากของเดิม แต่สำหรับคนรุ่นนี้ ดิจิตอลคือธรรมชาติของเขา เขาอยู่กับโลกของโซเชียลมีเดีย อินเตอร์เน็ต เกิดมาก็เจอยูทูบแล้ว ทุกอย่างอยู่ที่ปลายนิ้ว คนกลุ่มนี้จะขึ้นมาเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคมในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ตอนนี้คนมีอำนาจในสังคม พวกคณะรัฐบาล อายุ 60 กว่าหมด คลื่นมาแล้ว Digital Native เราจะเข้าใจพวกเขาได้ยากมาก เอาง่ายๆ อย่างเรื่องทีวี

เด็กพวกนี้ก็ไม่ได้ดูทีวีแล้ว อุตสาหกรรมดิจิตอลทีวีที่อัดกันหนักเนี่ย เมื่อคนกลุ่มใหม่เข้ามา วิธีการดูทีวีเขาเปลี่ยนหมดเลย เขาดูอะไรที่เป็นคลิปสั้นๆ แล้วเรื่องนี้ก็ทำให้วงการโฆษณาเปลี่ยน ผมเจอคนในวงการโฆษณา ยังพูดถึงเรื่องการทำ TVC กับ Print Ad อยู่เลย แต่เดี๋ยวนี้ คนดูยูทูบแล้วเห็นโฆษณา ตัวไหนที่ไม่ดึงดูดความสนใจได้ภายใน 5 วินาที เขาก็สคิปข้ามไป ไม่กลับมาดูอีกเลย เรื่องนี้ทำให้การทำโฆษณาต้องเปลี่ยนไปหมดเลย นี่แค่เวลา 2 ปี เองนะ แล้วต่อไปจะมีเรื่องใหม่ๆ อะไรเกิดขึ้นอีก ถ้าเด็กยุคนี้ครองโลก ในตอนนี้พวกเขายังไม่มีอำนาจ เพราะว่าซีอีโออายุ 50 ยังอยู่ แต่เมื่อไหร่ที่ เด็กรุ่นนี้ขึ้นมาสั่งการ ผมว่าโลกจะเปลี่ยนอีกเยอะ

ถาม : โลกยุคที่เราจะต้องซื้อโทรศัพท์ใหม่ทุกปีใช่ไหม

ธนา : (หัวเราะ) ผมเพิ่งดูสารคดีเรื่องหนึ่ง เขาอธิบายเบื้องหลังว่าทำไมเราถึงเป็นเราแบบนี้ เขาบอกว่ามันเป็นความจงใจในการสร้างพฤติกรรมนี้มาตั้งแต่ในอดีต เช่นในทาง Consumer Product หลอดไฟเคยใช้ได้นานๆ แต่อยู่มา วันหนึ่ง มันก็ออก Industrial Standard ว่าหลอดไฟใช้ได้ 1,000 ชั่วโมง ถามหน่อยเถอะ พอรู้อย่างนี้ ผู้ใช้จะรอให้ถึง 1,000 ชั่วโมงแล้วเปลี่ยนไหม เพราะคนมีภาพว่าเราควรต้องเปลี่ยนก่อนมันหมดอายุ ทั้งที่โปรดักท์จริงใช้ได้นานกว่า 1,000 ชั่วโมง เขาแค่บิดนิดเดียว ความเป็นทุนนิยมก็สามารถปั่น ยอดขาย ผู้บริโภคถูกล้างสมองให้เกิดพฤติกรรมนี้ ได้ของอัพเกรดขึ้นนิดหนึ่ง ดีขึ้นนิดหนึ่งก็เอาแล้ว

 ถาม : เหมือนกับเราต้องเข้าสู่วังวนของเงินผ่อน รูดบัตรไป แล้วก็ไปต่อคิวยาวเหยียดที่หน้าตู้เครื่องชำระเงินผ่อน ตอนวันสิ้นเดือน

 ธนา : ผมอยากชวนมองเรื่องนี้หลายๆ มุม พนักงานที่นั่งคิดโปรโมชั่นผ่อน 0% 6 เดือน อะไรพวกนั้นเขาก็มีเป้า มีเป้าจากใครก็ไม่รู้ ซึ่งไล่เรียงไปจริงๆ แล้วคุณจะงง อาจจะเป็นซีอีโอ ซึ่งซีอีโอก็รับเป้านี้มาจากบอร์ด บอร์ดก็อาจไม่เคยมาเมืองไทยเลยก็ได้ บอร์ดก็รับเป้ามาจากผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นคือใครบ้างล่ะ เขาอยู่ไหนก็ไม่รู้ เป็นคนจากทั่วโลก ซึ่งผู้ถือหุ้นก็คือนักลงทุนที่นำเงินออมมาลงทุน เป็น Saving เก็บไว้กินตอนเกษียณ ตอนปลายปีเขาย่อมต้องได้กำไร พอมองแบบเชื่อมโยงกันไปทั้งหมด มันมีทั้งบวกและลบในระบบนี้ ทั้งถูก และผิด ทั้งดีและไม่ดี โลกมันหมุนเป็นไปอย่างนี้ แน่นอนว่าถ้ามีใครไปสร้างความพอดีๆ ให้กับระบบนี้ได้ ไม่น้อยไป ไม่มากไป มันก็เป็นเรื่องที่ดี ผมถึงเชื่อว่าแบบที่สารคดีเรื่อง Inequality for All บอกไว้ว่า เรื่องพวกนี้มันถึงต้องมีกฎคุม ให้อยู่ในกรอบบ้าง เปิดเสรีเต็มที่ก็ไม่ดี

 “Cash is King นึกอะไรไม่ออกถือเงินสดเอาไว้ก่อน ธุรกิจมีกำไรไปได้สวยก็พังได้ ถ้าไม่มีเงินสด ไม่ใช่เขาทำแล้วไม่มีกำไรนะ แต่เขาไม่มีเงินสดต่างหาก ดังนั้น ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน มีเงินสดให้เยอะไว้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือน ในช่วงที่สถานการณ์อึมครึม ก็ควรจะถือเงินสดให้เยอะ

ถาม : แล้วสำหรับธุรกิจสื่ออย่างพวกเราล่ะ คำว่า Content is King นี่ยังเป็นจริงอยู่ไหม

ธนา : คำทางการตลาดพวกนี้ เมื่อไรที่มาถึงเรา มันก็กลายเป็นแมสไปแล้ว คือมันไม่ได้ช่วยให้เราเกิดความแตกต่างหรือได้เปรียบอะไรได้อีกแล้ว มันเป็นการอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เราเอาอันนี้ไปใช้ไม่ได้ทั้งหมด เพราะว่ามันมีคนเคยเอาไปใช้มาแล้ว เป็นแสงที่กว่าจะเดินทาง มาถึงเรา แหล่งกำเนิดของตัวมันก็จบนานแล้ว คำฮิตๆ พวกนี้ก็เป็นอย่างนั้น ผมเห็น Content is King หลายคนชอบเอาคำนี้ไปเป็นยุทธศาสตร์ แต่มัน เอาต์แล้ว เพราะว่าคนอื่นเคยทำมาหมดแล้ว มันถึงเพิ่งมากระทบเรา ถ้ามองในแง่นักทำกลยุทธ์ เราก็ต้องไปหาอันอื่นแล้ว อย่างที่ผมชอบยุให้คนอื่นทำ คือคิดตรงข้ามไหม เช่น เมื่อไรที่อุตสาหกรรมคุณมีแต่ชอยส์ เต็มไปหมดเลย มีตัวเลือกโปรโมชั่นเยอะแยะ ถ้าคุณหันมาทำเรื่อง Simplicity คือทำให้เรียบง่าย ตัดตัวเลือกออกไป ให้ลูกค้าเข้าถึงอะไรบางอย่างได้ทันที คุณก็จะเด่นเลยนะ หลายๆ อย่างมันพัฒนาไปข้างหน้าตามเทคโนโลยี แต่หลายๆ อย่างวัฏจักรเดิมๆ มันวนกลับมา เช่น กางเกงขาลีบ ขาลีบเยอะๆ ก็มีคนอยากใส่ขาบาน แล้วก็เป็นขาลีบใหม่ ขาบานใหม่

ถาม : อุตสาหกรรมอะไรให้คำปรึกษายากที่สุดสำหรับคนอย่างธนา

ธนา : ผมว่า Property ยากสุด ผมไม่ได้มีประสบการณ์ตรงกับอสังหาริมทรัพย์ ผมไม่ได้ซื้อคอนโดฯ ไม่ได้ลงทุนซื้อไว้ เวลาไปให้คำปรึกษาก็เลยไปนั่งฟัง นั่งถามมากกว่า ตลาดคอนโดมิเนียมทุกวันนี้ที่ขายดี เท่าที่ผมทราบ คือ เพราะมีกลุ่มที่ซื้อไว้ลงทุนกับกลุ่มที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัย ช่วงหลังที่บูมขึ้นมาเยอะๆ โดยเฉพาะคอนโดฯ พร้อมขาย แต่ยังสร้างไม่เสร็จต้องรอ 3 ปีถึงเสร็จ คนกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาซื้อไว้ เป็นนักลงทุนทั้งนั้น ดังนั้น คอนโดฯ ที่เราเห็นว่าต่อคิวซื้อหมด นั่นคือซื้อโดยนักลงทุน ไม่ได้หมายความว่ามีดีมานด์การอยู่อาศัยจริงๆ แต่นักลงทุนก็จะทำให้ราคาขึ้น-ลง เป็นอีกตลาดหนึ่งไปแล้ว

ถาม : คุณลงทุนในหุ้นด้วยไหม

ธนา : ผมเพิ่งกลับมาเล่นหุ้นได้สักปีครึ่ง เล่นหุ้น คำนี้ก็ตลกดีนะ เหมือน ไม่จริงจังกับมันเลย (หัวเราะ) ผมเป็นคนยุคที่เคยผ่านปี 1997 มา เคยพังเพราะหุ้นมาแล้ว เอาเงินอาม่ามาลงทุนแล้วก็เจ๊งไป เลยต้องกินมาม่าไป 5 ปี ยังไม่มีเงินพอมาคืนอาม่าเลย เศร้ามาก ผมเลยเข็ด ตอนนั้นตัวเองมั่นใจมาก จบด้านการเงินมา แล้วก็ได้เป็นบทเรียนครั้งยิ่งใหญ่ ผมเลิกเล่นหุ้นมานาน จนเมื่อประมาณปีครึ่ง ผมมีเวลามากขึ้น ค่อยๆ เริ่มลงทุนทีละนิดทีละหน่อย ผมพบปะผู้คนมากขึ้น ค่อยๆ ทำความรู้จักกับอุตสาหกรรมต่างๆ โดยได้สัมผัสกับคนกลุ่มนั้นๆ ผมนั่งดูเอง เพราะเรื่องนี้อยู่ในสายวิชาชีพผม ผมจะเน้น ตัวที่ดูกันไปยาวๆ ไม่เน้นเก็งกำไร

ถาม : ขอวนกลับมาเรื่องการลาออกจากงาน ยุคนี้มีคนลาออกมาเล่นหุ้นกันเยอะ

ธนา : เล่นหุ้นนี่เสี่ยงนะครับ ผมเคยเห็นมาแล้ว ตอนที่มันตกจาก 200 บาท เหลือ 2 บาท เคยเห็นแล้ว มีน้องบางคนมาบอกผม ว่าเขาไม่ทำงานแล้ว เขาทำเงินจากการนั่งหน้าจอเทรดหุ้น เป็นงานที่เบามาก วันหนึ่งทำงาน 4 ชั่วโมง นั่งก๊อกแก๊กไม่ต้องออกแรง ไม่มีเจ้านายด้วย งานอิสระแล้วก็ได้ เงินดี ผมก็ชอบบอกเขาว่าเวลาหุ้นขึ้นแล้ว มันก็ต้องมีลงนะ เวลาลง เราจะหมดเอาง่ายๆ นะ และถ้าเกิดไม่มีพื้นฐานอย่างอื่นรองรับไว้ พวกเขาก็จะหัวเราะ พูดแบบนี้ไปก็จะฟังดูเหมือนคนแก่บ่น อย่างพวกหนังสือที่บอกว่าจาก 50,000 เป็น 500 ล้าน อันนี้มันก็เปรียบเหมือนกับเรื่อง Content is King ที่คุณถามนั่นแหละ คือเรื่องพวกนี้มันอธิบายย้อนหลังจากที่เกิดไปแล้ว เรื่องพวกนี้มันจบไปนานแล้ว เขาถึงมาเล่าให้คุณฟังได้ไง คนที่พังๆ เขาก็คงไม่มาเขียน ผมเพิ่งเขียนบทความเรื่องโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ค ทำให้เราเห็นแต่ด้านดีๆ มันทำให้ความอดทนของเราลดต่ำลงมาก พอความอดทนเราต่ำ เราก็เลยอยากได้เงินเร็วๆ อยากไปกินซูชิ อัพภาพ ใส่เฟซ อยากไปเที่ยวเมืองนอกเพื่อจะมาอัพเฟซ อยากจะซื้อไอโฟนใหม่ มาถ่ายคลิป Unboxing อัพใส่เฟซ เรากำลังสู้กับคนในโซเชียลมีเดีย ซึ่งก็ไม่รู้

126ว่าเรากำลังสู้อยู่กับใคร ซึ่งเมื่อเราติดอยู่ในวังวนแบบนี้ ผมคิดว่าปัญหาใหญ่ๆ คือวิชาอดทนเราจะไม่มีเลย คนยุคนี้มีทุกอย่าง ยกเว้นความอดทน พอเราเห็นหนังสือที่ชวนให้รวยเร็วๆ ทุกคนเลยกระโดดไป และมันสุ่มเสี่ยงมากต่ออนาคตระยะยาวๆ ผมเป็นคนรุ่น 1997 ต้มยำกุ้ง นักลงทุนรุ่นก่อนๆ อาจจะต้องใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อจะได้เห็นกราฟขึ้นสุด-ลงสุด แต่สำหรับนักลงทุนรุ่นผม เราเห็นกราฟแบบนั้นในระยะเวลาแค่ 2 ปี เห็นเลยว่าชีวิตมีจุดที่สูงที่สุดและตกต่ำที่สุด ผมเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนๆ ฟังอยู่เสมอ ว่าต้องกินมาม่ากับไข่ต้มอยู่นาน 5 ปี ยังไม่มีเงินคืนอาม่า เรื่องผิดพลาดแบบนี้ อาจจะไม่ใช่ว่าพอเจอเดี๋ยวนั้นแล้วมันดีเลยทันที แต่มันอาจจะมีประโยชน์มากๆ ตอนที่เราอายุ 40-50 พอย้อนกลับไปมองตัวเองในวัยนั้น ความล้มเหลวครั้งนั้นแล้วมันดีจังเลยที่เราเคยผ่าน เราจะเอ็นดูชีวิตมากขึ้น ต่อให้ตอนนี้ผมคุยกับน้องๆ ที่เขามีความเชื่อมั่นมีอีโก้เรื่องหุ้น ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าเขาผิดอะไร เพราะเมื่อถึงเวลาเขาก็จะเข้าใจเอง แต่ผมอาจจะผิดก็ได้นะ เขาอาจจะถูกก็ได้ อีก 30 ปีหุ้นอาจจะไม่ลงมาเลยก็ได้

ถาม : ปีหน้าอยากทำอะไรให้กับตัวเอง

ธนา : อยากอ่านหนังสือเยอะกว่านี้ ผมมีงานบรรยายเยอะ จึงอยากเล่าเรื่องให้หลากหลายกว่านี้ เพราะว่าไม่ว่างานที่ปรึกษาหรือว่างานบรรยาย ถ้าเราใช้วิธีเล่าเรื่องราว มันมีอิมแพ็คมากกว่าไปอธิบายทฤษฎี เรื่องราวเท่าที่ผมมีตอนนี้ ผมใช้ซ้ำบ่อยเกินไปแล้ว ผมต้องหาเรื่องใหม่มาเติมมากขึ้น

ถาม : ขอฟังปณิธานปีใหม่สัก 3 ข้อ จากผู้ชายที่กำลังจะถึงวัย 46

ธนา : ข้อแรก คือ ต้องมีเวลาให้ลูกสาวเยอะ ข้อสอง คือ ออกกำลัง ข้อที่สาม คือ Smell the Roses ใน 365 วัน ต้องย่อยลงมาเป็นวัน เป็นชั่วโมง เราควรจะมีความสุขในแต่ละวัน เดินทางไปทีละก้าวช้าๆ และมีความสุขกับภาพตรงหน้า ผมเริ่มมองอะไรสั้นๆ เพื่อจะได้กลิ่นหอมของมันเอง มีความสุขจุ๊กจิ๊กในแต่ละวัน วันนี้ทำงานเสร็จ จะไปรับลูก รับลูกแล้วจะไปกินข้าวเย็นกับกลุ่ม ABC หน่อย พรุ่งนี้มีปาร์ตี้กับเพื่อนอีกกลุ่ม วันเสาร์-อาทิตย์พานักเรียนในหลักสูตรไปเล่นแรลลี่ที่เชียงใหม่ ถ้าบอกตัวเองว่าอยากมีชีวิตแบบไหนในอีก 1 ปีข้างหน้า ผมคิดถึงแค่เรื่องพวกนี้แหละ มันอาจฟังดูง่ายๆ ตื้นๆ แต่ผมตอบคำถามตัวเองไปแล้วว่า อะไรที่สำคัญกว่าในชีวิต ผมคิดว่าถ้าเรายึดเรื่องพวกนี้เอาไว้เป็นหลัก เดี๋ยวจะมีอะไรเข้ามาอยู่รอบๆ เรื่องหลักพวกนี้เอง

ถาม : ถ้าแต่ละวันที่มาออฟฟิศ แล้วต้องเจอเจ้านายตำหนิ เราจะ Smell the Roses ได้อย่างไร

ธนา : ปัญหาเรื่องงานมันมีสองแบบ แบบที่แก้ได้กับแบบที่แก้ไม่ได้ หลายๆ คนที่ทุกข์กับงาน ก็คือติดอยู่กับปัญหาที่แก้ไม่ได้ และภายในปัญหาที่แก้ไม่ได้ มันก็มีปมอยู่สองแบบ ยังมีแบบที่ยังไม่ถึงเวลาไปแก้ปม กับปมมันแก้ไม่ได้จริงๆ เราใช้ความพยายามผิด เช่น เราอยู่ในองค์กร วันหนึ่งเราถูกย้ายฝ่าย นั่นเป็นนโยบายบริษัท นี่คือปัญหาที่เราแก้ไม่ได้ หรือว่าเงินเดือนกับโบนัส ปีหนึ่ง เขาปรับแค่ครั้งเดียว แต่เราเอามานั่งอมทุกข์ทุกวัน เงินเดือนเราน้อยเท่านี้ อย่าไปทำงานมันเลยดีกว่า ดราม่าซะงั้น นั่นคือถ้ามองกันตามไทม์ไลน์ มันก็ยังไม่ถึงเวลาที่เราต้องทุกข์ เราดันรีบไปทุกข์เอง แต่สำหรับบรรดาปัญหาที่แก้ได้ ควรถือเป็นเรื่องที่เราสนุกกับมัน ทำโน่น ทำนี่ไป คนส่วนใหญ่ไม่ได้ดมกลิ่นกุหลาบ เพราะว่าเอาหัวไปคิดกับเรื่องที่ไม่ได้อยู่ตรงหน้า ทีนี้คุณก็จะถามว่า เรารู้ได้อย่างไรว่าปัญหาไหนแก้ได้ ปัญหาไหนแก้ไม่ได้ ก็กลับมาที่จุดเริ่มต้นในบทสนทนาของเรา ว่าคุณเคยมีเทิร์นนิงพอยท์มาแล้วหรือยัง ถ้าคุณไปเจอวิกฤติมามากพอ จะรู้ว่าปัญหาหลายๆ อย่างเราจะมีท่าทีต่อมันอย่างไร บางส่วนเราแข็งแกร่งขึ้น บางส่วนเราอ่อนโยนขึ้น บางส่วนนิ่งขึ้น มันมาจากประสบการณ์ที่เราเลี้ยวออกจากเส้นทางหลัก ผมเองตอน 45 ก็ต่างจาก 41 อนาคตเราไม่รู้หรอกว่าจะเป็นอย่างไร

 “สมัยก่อนเรามักจะ Chase Orgasm มีความสุขสุดยอดในเวลา ชั่ววูบ คือทนทำงานหนัก มาตั้งนาน จะมีความสุข ก็แค่ตอนเขาประกาศ เลื่อนตำแหน่ง กับมีความฟินช่วงสั้นๆ ตอนที่ได้แจกนามบัตรใหม่ แต่ผมมาพบเรื่อง Chase Orgasm อีกแบบหนึ่งแล้ว คือมีความสุข แบบเรียบๆ บ้าง”

ถาม : คุณเลี้ยงลูกสไตล์ไหน

ธนา : การเลี้ยงลูกแบบผม ไม่รู้ว่ามันถูกหรือผิดนะครับ แต่ผมมีหลักคิดว่า ถ้าเขาอายุ 6 เดือน เราก็กะว่าตัวเองอายุ 3 ขวบ ตอนเขาอายุ 5 ขวบ เราก็กะอายุตัวเองสัก 10 ขวบ ถ้าวันนี้ลูกสาวอายุ 11 ผมก็กะอายุว่าตัวเอง 17 เลี้ยงเขาเหมือนทำตัวเป็นพี่ ผมเล่นเฮฮากับลูกตลอด ผมค่อนข้าง Protective กับลูกสาว หลงลูก แต่ก็กลัวว่าเขาจะไม่แข็งแรงพอกับสังคมภายนอก ลูกไม่อยู่บ้านวันเดียวก็เหงามาก ผมถึงได้ชอบไปรับ-ส่งลูก ผมมีวิธีสอนพวกเขา โดยการทำเป็นตัวอย่าง ผมกินผักเยอะขึ้น ลูกๆ ผมเกิดมาก็เห็นผมกินผักแล้ว เขาคิดว่าผมชอบผักที่สุดในโลก จนพวกเขาก็กินผักตามโดยอัตโนมัติ ผมเคยไปฟังบรรยายครั้งหนึ่ง วิทยากรยกตัวอย่าง ว่าปัจจุบันเด็กเกาหลี เด็กจีน เด็กอินเดีย เก่งมาก กล้าถกเถียงกับผู้ใหญ่ อภิปรายเหตุผลตัวเองกันฉะฉาน ผมเห็นด้วยนะ แต่ผมสองจิตสองใจว่าถ้าผมเลี้ยงลูกให้แข็งแกร่งได้แบบนั้น วันหนึ่งลูกบอก “พ่ออย่า...มายุ่งกับหนู” ผมคงหัวใจสลาย ผมเลย ยังเลี้ยงลูกแบบให้ไหว้สวย ให้นิสัยดี ให้รักคนอื่นอยู่ แต่ว่าเขาจะไปสู้เด็กจีน เด็กอินเดียในอนาคตได้ไหม อันนี้ไม่รู้ ข้อนี้เป็น Dilemma สภาวะยากลำบากในชีวิตพ่ออย่างผมเลย จะบอกว่าผมค่อนข้างเห็นแก่ตัวก็ได้ที่คอยปกป้องลูกในทิศทางนี้ เคยมีครั้งหนึ่งลูกสาวไปค่ายภาษาอังกฤษที่ชะอำ ลูกสาวโทรฯ มาบอกว่า มีเพื่อนผู้ชาย ป.5 มาขอเบอร์หนู ผมนึกในใจใครวะ โมโหนะ แต่ไม่กล้า บอกลูก กลัวลูกไม่กล้าเล่าให้เราฟังอีก อะไรกัน แค่ ป.5

ถาม : ก็ให้เบอร์พ่อไปสิลูก

ธนา : (หัวเราะ) นั่นไง...ช่วงเวลาก่อนลูกเป็นวัยรุ่น ผมต้องอยู่กับเขาให้ มากที่สุด

ถาม : ทุกวันนี้ ตอนยื่นนามบัตร บนนั้นระบุว่าคุณทำงานอะไร

ธนา : ผมไม่มีนามบัตรแล้ว แต่ถ้าใช้จริงๆ ผมจะใช้ใบที่เป็นไดเร็กเตอร์ของหลักสูตร ABC-Academy Business Creative สถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม แต่ผมมีนามบัตรของบอร์ด นามบัตรที่ปรึกษา 7-8 ชนิด ผมคิดว่าผู้รับเอาไป ก็ไม่ได้อ่านนามบัตรกัน แล้วมั้ง ผมเองก็ไม่ได้พกนามบัตรแล้ว เอาเบอร์โทรศัพท์ไปแล้วกัน มันจะมีช่วงชีวิตที่เราเคยตื่นเต้นกับการแจกนามบัตร ผมเป็น VP-ผู้อำนวยการฝ่าย แล้วนะ เอ้านี่ ผมเป็น SVP-ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสแล้วนะ คนเราต้องผ่าน ตรงนั้นมาก่อน ถึงจะมาเข้าใจว่าจริงๆ แล้วเราชอบหรือไม่ชอบ ถ้ายังไม่เคยผ่าน เราก็ยังอยากได้ชื่อเสียง อืมม์...แต่พอผ่านแล้ว มันก็ไม่ได้ฟิน อะไรเหมือนอย่างที่เราคิด

มีหนังสือฝรั่งบอกไว้เรื่องทำนองนี้ สมัยก่อนเรามักจะ Chase Orgasm มีความสุขสุดยอดในเวลาชั่ววูบ คือทนทำงานหนักมาตั้งนาน จะมีความสุข ก็แค่ตอนเขาประกาศเลื่อนตำแหน่ง กับมีความฟินช่วงสั้นๆ ตอนที่ได้แจกนามบัตรใหม่ แต่ผมมาพบเรื่อง Chase Orgasm อีกแบบหนึ่งแล้ว คือมี ความสุขแบบเรียบๆ บ้าง เพราะหลังจาก Orgasm มันก็ไม่ได้มีความสุขอะไร เหมือนเพื่อนผมคนหนึ่ง ได้เป็นผู้บริหารองค์กรใหญ่แห่งหนึ่ง ช่วงที่เขาเป็นซีอีโอมันก็เจ๋งมาก อายุ 40 ต้นๆเอง เขาก็พยายาม Chase Orgasm ยอมทำงานหนักมาก เหนื่อยมาก ทุ่มมาก แต่แล้ววันหนึ่งที่เขาออกจากตำแหน่ง ตรงนั้นมา มันวูบเลยนะ ทรุด ผมเองยังให้คำปรึกษาเขานะ คนเราควรขึ้นไปที่ความสุขสูงสุด เพื่อจะหล่นลงมาหรือเปล่า หรือว่าเราควรจะรักษาระดับที่ ไม่สูงมากอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ผมกลัวตก ตกแล้วมันเจ็บ

ถาม : อยากให้คุณอธิบายถึงหลักสูตร Academy Business Creative ที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากว่าเรียนอะไร

ธนา : หลักสูตร ABC ของมหาวิทยาลัยศรีปทุม ตอนนี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง อาจารย์เหน่ง (ดร. รัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน) เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม เคยเรียน วตท. (สถาบันวิทยาการตลาดทุน) กับผม เมื่อหลายปีที่แล้ว อาจารย์เหน่งชวนผมไปสอนเรื่อยๆ แต่ผมไม่มีเวลา จะให้สอนปริญญาโท ผมก็ไม่ถนัด วันหนึ่งเรามานั่งคุยกัน ผมก็เล่าแบบฟุ้งๆ 128ถ้าผมจะทำหลักสูตร ผมจะทำแบบนี้ๆ นี่คือแบบที่ผมอยากเรียน (หัวเราะ) อาจารย์เหน่งฟังแล้วก็บอกว่า ...เอาเลย เต็มที่เลย ทำเลย

แต่ก็มีเรื่อง น่าหนักใจตามมาทันที เพราะวิทยากรที่ผมอยากให้มาบรรยาย ผมเชิญได้แค่ครึ่งเดียวเอง ผมทำคนเดียวไม่ไหว ต้องตามหาอีกคนหนึ่งมาช่วย ผมนึกถึงพี่ตุ้ม-สรกล อดุลยานนท์ หรือ หนุ่มเมืองจันท์ ผมรู้จักพี่ตุ้มมาตั้งนานแล้ว เราสนิทกันมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ทำมติชนแฮปปี้บุ๊คเดย์ นั่นทำให้คิดว่าจุดในอดีตสำคัญ ว่าเราไปทำอะไรกับใครมา พอเวลาที่เราต้องการอะไร จุดพวกนี้ จะปรากฏชัดขึ้นมาเอง จุดที่ผมเจออาจารย์เหน่ง จุดที่ผมเจอพี่ตุ้ม มันมาโยงกันเอง วิทยากรหลายคนใน ABC ก็มาจากหลายจุดในอดีตของผม

บางคนเคยทำธุรกิจด้วยกัน บางคนเป็นเพื่อนกัน บางคนเป็นเพื่อนของเพื่อน บางคนเป็นก๊วนกินข้าว พี่ตุ้มก็มีจุดของเขาอีกข้างหนึ่ง เขาก็ชวนกันมา ตอนนั้น พอเห็นภาพว่าเป็นหลักสูตรที่ดูน่าเรียน แต่ก็ทำโดยที่ไม่รู้ว่ามันจะออกมาอย่างไร ดีไม่ดี คนจะชอบไม่ชอบ เจ๊งไม่เจ๊ง แต่พอได้ทำจริงๆ แล้วมันได้อะไรกลับคืนมา เหมือนได้ชีวิตกลับคืนมา (อมยิ้ม)

พวกเรารักมัน ผมทำเฉพาะ วันศุกร์ด้วย ข้อดีคือใช้เวลาแค่ 1 วันเอง แต่ผมกลับรู้สึกว่าอยากไปทำงาน ทุกวัน ผมกับพี่ตุ้มตื่นเต้น กล้าพูดว่า เรากำลังเห่อมันมาก ทุกคลาสในแต่ละสัปดาห์ เราคิดงาน เหมือนคิดโชว์ จะทำเซอร์ไพรส์นักเรียนยังไงดี จะมีมุกเซอร์ไพรส์แขกรับเชิญไหม ผมคุยกับพี่ตุ้มตลอดเวลา คืออินกับมันมาก รู้เลยว่าทีนี้พอเราอินกับมันมากๆ เราจะทำมันได้ดี หลังจากผมทำหลักสูตรได้ดีมันนิ่งแล้ว

ตอนหลังๆ พอเราไม่ได้วิ่งหา มันนะ ผมอาจจะโชคดีด้วยที่มีอะไรมาวิ่งหาเราเอง มีงานที่ปรึกษาเข้ามาหาผมเอง ตอนนี้ผมเป็นที่ปรึกษาอยู่ 6 ที่ เป็นบอร์ดอยู่ 3 ที่ ซึ่งไม่ซ้ำบิสเนสเลย ชีวิตเริ่มลงตัวและสนุก เป็นงาน 9 แบบ 9 สไตล์ ชีวิตปีนี้เลยสนุก มันนิ่ง โดยตัวของมันเอง ไหลไปตามแรงดึงดูดของมัน

ผมกับพี่ตุ้มคุยกัน พวกเราสองคนอยากเรียนอะไร เราก็ทำหลักสูตร แบบนั้น มีจุดหนึ่งที่สอดคล้องกัน คือเราเชื่อในสมอง 2 ซีก ถ้าเราฟังอะไรจากสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา เรามักจะได้อะไรเสมอเลย พี่จิก ประภาส จะเรียกเรื่องนี้ว่า ข้างหนึ่ง คือ เป๊ะๆ คิดแบบวิทยาศาสตร์ มีตรรกะ ข้างหนึ่ง คือ กะๆ เอา คือ คิดแบบศิลปิน การทำอาร์ตเวิร์ก แบรนดิ้ง พอเอามาคละๆ กันก็จะกลมกล่อม นี่คือ ABC วิทยากรคู่แรก เราก็หาคนจาก 2 ข้าง ผมเลือกคุณบุญคลี ผู้ที่เป็นสุดยอดทางธุรกิจ อีกข้างหนึ่ง คือ พี่จุ้ย-ศุ บุญเลี้ยง วันแรกคลาสก็สั่นสะเทือนเลย คุณบุญคลีทำให้เอียงไปข้างหนึ่งเลย ส่วนพี่จุ้ยเข้ามามีความสุขร้องเพลง ผมอินกับการทำคลาสพวกนี้มาก เลยนั่งดูว่านักเรียนมีปฏิกิริยาอย่างไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร คลาสหน้าเราจะเชิญใครมาดี จับคู่กันมันส์ๆ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็นัดกันทำการบ้านว่า ABC รุ่น 3 เราจะเลือกใครเป็นวิทยากรบ้าง ผมอยากให้คลาสของเราสร้างความสั่นสะเทือนอีก ผมกับพี่ตุ้มทำหน้าที่จุดประกายไฟในเรื่องที่ทุกคนมีอยู่แล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook