วัฒนธรรมสตรีต ณ พิพิธภัณฑ์เสื้อยืดแห่งแรกของประเทศไทย

วัฒนธรรมสตรีต ณ พิพิธภัณฑ์เสื้อยืดแห่งแรกของประเทศไทย

วัฒนธรรมสตรีต ณ พิพิธภัณฑ์เสื้อยืดแห่งแรกของประเทศไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย เอกชัย สุทธิยั่งยืน

 
       “ความสนใจของผมเริ่มที่สปอร์ตแวร์ก่อน พวกแจ๊กเก็ตแล้วก็พวกแบรนด์เนมวินเทจที่มีความสปอร์ต สักพักมันก็เริ่มลึกลงไป ก็คือไปที่พวกเสื้อฮิปฮอปหรือพวกแจ๊กเก็ตที่สายฮิปฮอปเขาใส่กัน พอค่อยๆ ลงลึกปุ๊บก็จะไปเจอทางกลุ่มคนที่เขาเล่นของพวกนี้ แล้วค่อยวิ่งไปที่เสื้อวงดนตรี 2 ปี หลังจากนั้นก็ตามเก็บแบบกระหน่ำเลย”

       เบียร์ - พันธวิศ ลวเรืองโชค ผู้บริหารแห่ง Apostrophys Group บริษัทออกแบบประสบการณ์ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นอีเวนต์ คอนเสิร์ต นิทรรศการ และการออกแบบตกแต่งภายใน กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของ Museum of Tees Thailand แหล่งรวมเรื่องราววัฒนธรรมสตรีตผ่านเสื้อยืด ตั้งแต่เสื้อฮิปฮอป เสื้อวงดนตรี หรือเสื้อยืดที่บรรจุเรื่องราวของ Pop Culture จากยุค 80’s - 90’s ที่ชวนให้คุณต้องอ้าปากค้างจากการเห็นของจริงด้วยตาของคุณเอง

 

       เพราะว่าเสื้อยืดถือเป็นหนึ่งในคีย์ไอเท็มหลักของวัฒนธรรมสตรีต ไม่ว่าจะเป็นสตรีตสายไหนก็มักจะใช้เสื้อยืดธรรมดาๆ นี่แหละ เป็นตัวบรรจุเรื่องราวและนำพาเรื่องราวให้เดินทางไปตามกาลเวลาที่ผ่านพ้นไป ซึ่งแรกเริ่มคุณเบียร์ในฐานะผู้เสพแฟชั่นซื้อเพราะความชอบล้วนๆ ก่อนที่จะศึกษาเรื่องราวอย่างจริงจังจนมันกลายเป็นมากกว่าไอเท็มที่เอาไว้อวด แต่มันคือจุดหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ เป็นงานศิลปะที่ซุกตัวอยู่ในกระสอบของมือสอง

 

       “อย่างเสื้อ Run - D.M.C. ที่ผมมีก็ได้มาจากการเปิดกระสอบราคา 300 - 400 ประมาณนี้ แต่ว่ามันเป็นเสื้อที่แพงอันดับ 2 ของโลก” ใช่แล้วคุณฟังไม่ผิด เสื้อยืดจากศิลปินฮิปฮอปฝั่งอเมริกาตะวันออกระดับตำนานยุค 80’s จากนิวยอร์กอย่าง Run - D.M.C. นับว่าเป็นหนึ่งในไอเท็มสายสตรีตที่หายากและมีมูลค่าสูงในตลาดโลก เพราะปรากฏการณ์ Run - D.M.C. นับว่าเป็นครั้งแรกๆ ของโลกที่ฮิปฮอปถูกยอมรับจากคนทั่วโลก โดยเฉพาะกับการร่วมงานระหว่างพวกเขากับแบรนด์อย่างอดิดาส แต่ที่นี่คุณสามารถเห็นของจริงเรียกได้ว่าเกือบจะครบคอลเล็กชั่นก็ว่าได้

 

       “ด้วยงานที่ทำเลยต้องไปหาของตามตลาดทุกครั้ง แล้วตอนนั้นก็แค่แบบสนุกๆ คือมีแบบไปเปิดกระสอบตามโรงเกลือ ตลาดรถไฟ แต่ว่าหลังๆ ที่ผมเปิดไม่เจอแล้วนะ คนเขารู้กันหมดแล้ว” คุณเบียร์กล่าวติดตลกหลังจากเราแอบแสดงความอิจฉาที่เขาสามารถเปิดกระสอบแล้วเจอขุมทรัพย์ขนาดนี้

       ในปัจจุบันอาจเรียกได้ว่าเสื้อยืดเหล่านี้คือวัฒนธรรมสตรีตที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของวิถีชาวสตรีต แต่ถ้าย้อนกลับไปยุคที่ของเหล่านี้ยังโลดแล่นอยู่ในปี 90’s กลับกลายเป็นว่ามันไม่ได้รับการยอมรับ หรือยกย่องในฐานะความเป็นศิลปะ เพราะถือว่ายังเป็นของใหม่ ยังเป็น Pop Culture ที่เกิดขึ้นจากข้างถนน ไม่ใช่ศิลปะที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ แต่จุดที่ทำให้คุณเบียร์เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างเสื้อยืดและศิลปะ คือ “การสกรีน” ที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแฟชั่น การสกรีนลายบนเสื้อยืดจึงเป็นเสมือนหนึ่งในกลไกของการหมุนเวียนทางวัฒนธรรมสตรีตที่ช่วยให้ศิลปะแพร่หลายในวงกว้าง โดยเฉพาะกับการที่เหล่าคนดังต่างหยิบมาใส่ ซึ่งอาจจะมองว่าเป็นเพราะเทรนด์แฟชั่น หรือเป็นเพราะการสะท้อน การเคารพวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์โดยเฉพาะในวงการเพลงฮิปฮอปยุค 90’s (ที่ถ้าจะให้ลงลึกถึงรายละเอียดคงสามารถเขียนแยกออกไปได้อีกเป็นเล่ม) “มันไม่ใช่ใส่แล้วแค่สวย หรือเพราะแฟชั่น” คุณเบียร์กล่าว “มันคือการเอาชนะกันของชนชั้น และมันก็ไม่ใช่แค่เสื้อของคนที่เขาชอบ แต่ยังมีความสัมพันธ์กัน ผมรู้สึกว่ามันเชื่อมโยงกันอย่างมีพลังมาก ซึ่งไม่ใช่แค่ฟลุก” การเชื่อมโยงที่คุณเบียร์ว่านั้นเราจะไม่สามารถสังเกตเห็นได้เลย หากคุณเป็นคนที่เสพอะไรแบบฉาบฉวย มาเร็วไปเร็ว “ตลาดเสื้อยืดที่ญี่ปุ่นจะเป็นอีกแบบ ส่วนอเมริกาก็เป็นอีกแบบหนึ่ง เขาเล่นกันไปอีกขั้นเลย เช่น Nirvana ใช่มั้ย แล้ว Nirvana ต้นทางคืออะไร TLC ต้นทางคืออะไร Kanye West ต้นทางคืออะไร เขาค้นหากันถึงต้นทางแห่งแรงบันดาลใจ เพราะฉะนั้นบางวงอาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จักในบ้านเรามาก” ดังนั้นการเก็บบันทึกข้อมูลที่ถูกต้องจึงอาจจะไม่มีมาก หรือถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ตรงนี้จึงเป็นจุดที่ทำให้คนสามารถปั่นกระแส ปั่นราคา จนทำให้มูลค่าของเสื้อบางตัวนั้นสูงแบบเกินจะเป็น หรือเราๆ เองที่เคยเดินดูเสื้อผ้ามือสองก็อาจจะต้องเคยแอบสงสัยว่านี่มันของจริงหรือปลอม แล้วเรื่องราวจากพ่อค้าเราเชื่อได้มากแค่ไหน?

 

       “มันมีคนเล่นครับ ทั่วโลกเลย แต่ไม่มีใครบันทึกไว้ ตอนเริ่มใหม่ๆ ยังไม่ค่อยรู้อะไรครับ ก็จะโดนค่อนข้างเยอะ โดนหนักเลย บางทีของราคาอย่างนี้มันเป็นของหายาก เพราะฉะนั้นก็ต้องยอมรับว่ามูลค่ามันก็ต้องมี แต่คุณค่ากับมูลค่าจะต้องตามกัน ไม่อย่างนั้นมันก็เป็นช่องว่างให้กับพวกมิจฉาชีพมาทำไม่ดี” คุณเบียร์เล่าถึงประสบการณ์การซื้อขายบนตลาดแลกเปลี่ยนซื้อขายเสื้อยืดมือสอง ที่มีทั้งเสื้อวงดนตรี เสื้อทัวร์ เสื้อฮิปฮอป ซึ่งต่างก็มีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศแต่ละภูมิภาค “คุณต้องดูว่าที่ไหนเป็นยังไง ไทม์โซนของคัลเจอร์เป็นยังไง” การแลกเปลี่ยน สลับ โยกย้าย ของที่ฮิตที่นี่ แต่ไม่ฮิตที่นู่น ตลาดเสื้อยืดก็จะเป็นตัวป้อนไอเท็มให้วงจรนี้หมุนต่อไปได้ทั่วโลก “ผมลองผิดลองถูกมาเยอะมาก แล้วก็มีคนลองผิดลองถูกตามผมมา หรือว่าก่อนหน้าผมก็มี แต่ทุกคนเขาก็ไม่ทำอะไร เขาซื้อแล้วเขาก็เก็บ เขาโดนแล้วเขาก็เงียบ ไม่มีใครมาพูดอะไร ผมก็เลยคิดว่าอันนี้จะทำเป็นฐานข้อมูลเสียเลย” 

 

       ด้วยความที่การทำนิทรรศการคือหนึ่งในงานหลักของคุณเบียร์ การรวบรวมฐานข้อมูลจึงมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญมาช่วยจัดทำเป็นฐานข้อมูล ที่ควบคู่ไปกับการหมุนเวียนของที่จัดแสดง ณ Museum of Tees Thailand ที่จะเปลี่ยนธีมทุก 4 เดือน ขณะที่เล่มนี้ออกไปจะเป็นธีมของ Rock & Metal “เอาเข้าจริงเป็นงานศิลปะ เพียงแต่ย้ายจากภาพมาเป็นเสื้อ เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามันควรจะมีการบอกเล่าในแบบที่เป็นโปรเฟสชันนัลตามมาตรฐานแบบสากล” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของ Museum of Tees Thailand จากคุณเบียร์ ขณะเดียวกันก็จะมีการเปลี่ยน การเติมของเข้าไปเรื่อยๆ “พอทำเป็นพิพิธภัณฑ์เลยต้องผสมความเป็นแมสด้วย เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจง่าย” นอกจากการจัดแสดงเหล่าเสื้อยืดหายากแล้ว ทางคุณเบียร์และทีมงานก็ยังมีการรวบรวมคอนเทนต์ในรูปแบบของภาพถ่ายและข้อมูลที่จะถูกเก็บบันทึก จนกลายเป็นฐานข้อมูลชุดใหญ่ก่อนจะจัดพิมพ์เป็นหนังสือออกมาในอนาคต เพื่อให้คนมาหาข้อมูลหรือมาเช็กว่าทำไมแพง คนเล่นก็อาจนำไปใช้สำหรับตั้งเรตราคาได้ “เขาจะได้ไม่โดนเยอะ” คุณเบียร์กล่าวติดตลกจากประสบการณ์จริงที่เขาเจอมา

       “จริงๆ มันควรจะสนุกครับ แต่เล่นไปลึกๆ จะรู้เลยว่าไม่ค่อยสนุก เพราะมันหาของยาก ต้องแบบต่อสู้ ฝ่าฟัน เพื่อจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้มา”

 

       การต่อสู้ แย่งชิง เพื่อให้ได้มาซึ่งของเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นไอเท็มสตรีตที่แบรนด์ต่างๆ พากันพาเหรดออกมา หรือของวินเทจที่เพิ่มความยากในการหาเข้าไปอีก จึงเป็นบ่อเกิดของ “ความโอ้อวด” ที่นับว่าเป็นกลไกขับเคลื่อนความคึกคักของวงการสตรีต คุณอาจจะพอจำได้ว่าช่วงหนึ่งประเทศไทยมีดราม่าคึกโครมกับการที่ช่องยูทูบไปสัมภาษณ์การแต่งตัวของเด็กสยาม และเหล่าชาวเน็ตถึงกับต้องรีบจุดประเด็นดราม่า เพราะมูลค่าของสิ่งของที่เด็กๆ พวกนี้ใส่กันนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าเหล่าไอเท็มสตรีตกับราคานั้นมักจะกอดคอกันพุ่งทะลุสูงตามความต้องการ “อย่างที่เราเก็บสะสมมา จะไม่พูดถึงเรื่องมูลค่าเลย ก็คงไม่ได้ แต่ก็อาจจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ Conservative มากๆ เขาก็จะคิดว่าไม่ควรพูด เพราะว่าเป็นของที่รัก คือคนที่เก็บเขาก็รักจริงๆ ก็มี แต่ว่ามันอยู่ที่กลุ่มคนไงครับ อยู่ที่โลกมันหมุนไปทางไหนด้วย” นี่คือมุมมองของคุณเบียร์ต่อมูลค่าของสิ่งของที่จะให้ชี้ว่าอะไรถูกต้อง หรืออะไรไม่ถูกต้อง ก็คงไม่ได้ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน และความแตกต่างตามเจตนาของผู้ที่ควักเงินจ่ายไป

 

       แต่ในมุมมองของสตรีตแฟชั่น การที่แบรนด์ต่างๆ พากันปล่อยของ หรือการร่วมงานระหว่างแบรนด์ไฮเอนด์กับแบรนด์สตรีต ก็เพราะว่าความโอ้อวดในข้างต้นนี่แหละ ที่ช่วยปั่นกระแสไปทั่วโลกได้ “ตรงนี้ก็เลยทำให้มีความต้องการมาก แต่ว่าความคิดใหม่ๆ มันเกิดขึ้นยากก็เลยต้องมีแรงบันดาลใจไปหาของเก่าๆ ที่ต้องย้อนกลับไปที่ยุค 90’s เดี๋ยวสักพักก็จะย้อนกลับไปที่ยุค 80’s แล้วมันก็จะย้อนกลับไปเรื่อยๆ ที่ยุค 70’s 60’s มันก็จะวนไปแบบนี้แหละ” คุณเบียร์ชี้ให้เห็นถึงการผลิตสินค้ารุ่นฮิตในอดีตที่กลับมาฮิตอีกครั้ง และสิ่งที่ตอกย้ำความคึกคักตรงนี้นอกจากบนรันเวย์แล้ว ตลาดมือสองนี่แหละ ที่สามารถเป็นตัวบ่งชี้ได้เป็นอย่างดีว่าอะไรที่กำลังฮิตอยู่

       “ตลาดมือสอง Fendi, Burberry พวกนี้พุ่งปรี๊ดเลยครับ ของบางอย่างก็เริ่มหายากขึ้น โดนอัปราคาขึ้น ผมว่ามันเป็นเพราะการที่คนตามแฟชั่นทั่วไปสามารถเอื้อมถึงได้ ขณะที่คนแฟชั่นไฮเอนด์ก็ซื้อไว้อวดได้เหมือนกัน ต่อไปมันคงไม่มีตลาดล่าง ตลาดบนแล้วล่ะ ยิ่งถ้าตามดูแฟชั่นก็จะเห็นเลยว่าต่อไปของพวกนี้จะกลับมาหนักกว่าเดิมอีก แล้วทุกคนก็จะสามารถหาของแบบนี้มาใส่กันได้” ฟังจากที่คุณเบียร์เล่ามาก็แอบสงสัยไม่ได้ว่าการที่คนจะสามารถเข้าไปเล่นกับสิ่งของเหล่านี้ หรือผันตัวไปเป็นคนเก็บสะสม รวมถึงนำมาขายต่อเป็น Reseller เม็ดเงินก็น่าจะเป็นตัวแปรสำคัญไม่น้อยเลย?

 

       “ถ้าพูดถึงในแง่มุมการลงทุนนะครับ ของแบรนด์เนมเวลาเราซื้อมาปุ๊บ ราคามันจะตกทันที ยกเว้นบางอัน บางรุ่น แต่ถ้าเป็นของพวกนี้ถือว่าตกน้อยมากครับ ถ้าหมายถึงการลงทุนผมว่านาฬิกากับเสื้อนี่แหละครับที่เห็นชัด แล้วก็ซื้อกันหนักด้วย”

       เพียงแค่การเปลี่ยนมุมมองจากเสื้อยืดธรรมดาให้กลายเป็นงานศิลปะ นอกจากมูลค่าทางจิตใจและวัฒนธรรมที่ติดมากับเสื้ออยู่แล้ว มูลค่าที่ตีเป็นเงินก็สะพัดไม่น้อยไปกว่าวงการอื่นๆ “ถ้าคิดว่านาฬิกาทำกำไรโหดแล้ว เสื้อยืดนี่แหละครับ โหดกว่ามาก ยิ่งในตลาดมือสองบางคนซื้อกันทีเป็นล้าน ยิ่งกว่า Top Spender พวกแบรนด์อีกนะ แล้วพวกนี้ยังต้องอาศัยดวง อาศัยหลายๆ อย่าง ไม่ใช่แค่ว่ามีเงินแล้วซื้อได้ ถ้าถามว่าแพงมั้ย มันก็แพง แต่ว่าถ้าพลาดตรงนี้ไปมันก็ไม่มีอีกแล้ว”

Museum of Tee Thailand (MOTT)

ซอยลาดปลาเค้า 50 ถนนลาดพร้าว

เปิดทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) วันอังคาร - ศุกร์ เวลา 09.00 - 20.00 น. และวันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 11.00 - 20.00 น. Facebook.com/mott.thailand

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook