การทำหมันชาย ไม่ได้ทำให้สูญเสีย "ความเป็นชาย"

การทำหมันชาย ไม่ได้ทำให้สูญเสีย "ความเป็นชาย"

การทำหมันชาย ไม่ได้ทำให้สูญเสีย "ความเป็นชาย"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุยกับหมอพิณ : การทำหมันชาย ไม่ได้ทำให้สูญเสีย "ความเป็นชาย"

คอลัมน์ คุยกับหมอพิณ

พ.ญ.พิณนภางค์ ศรีพหล

email:doctorpin111@gmail.com

สวัสดีค่ะ วันนี้จะมาคุยกันต่อเรื่องการคุมกำเนิดเวอร์ชั่นตลอดชีพของฝ่ายชายกันนะคะ

นั่นก็คือ "การทำหมันชาย" นั่นเอง

ทุกครั้งเวลาหมอไปเยี่ยมคนไข้หลังคลอด แล้วถามเรื่องแผนการคุมกำเนิดว่าจะกินยา จะฉีดยา ฝังยา ใส่ห่วงหรือทำหมันหลังคลอดเลยดี

จะมีคนไข้บางคนตอบกลับมาว่า "เดี๋ยวแฟนจะไปทำหมันให้ค่ะ"

(ความเห็นส่วนตัวนะคะ) เวลาได้ยินแบบนี้ทีไรก็แอบรู้สึกดีทุกครั้งเลย

เพราะเรื่องของการคุมกำเนิด ไม่ได้เป็นเรื่องของฝ่ายหญิงฝ่ายเดียวนะคะ

การทำหมันชายถือเป็นการ "ผ่าตัดเล็ก" (คือแผลเล็ก ใช้เวลาผ่าตัดไม่นาน ไม่ต้องดมยาสลบ แค่ฉีดยาชาเฉพาะที่) เป็นการผูกและตัดท่อนำเชื้ออสุจิ (ไม่ได้ตัดอัณฑะทั้งลูกออก)

ย้อนความบทที่แล้ว การทำหมันหญิงคือการผูกและตัดท่อนำไข่ หรือถนนสายรังไข่ (โรงงานผลิตไข่)-โพรงมดลูก

ท่อนำเชื้ออสุจิก็หลักการคล้าย ๆ กันค่ะ มันคือถนนที่เชื่อมต่อระหว่างโรงงานผลิตอสุจิ (อัณฑะ) ไปยังท่อที่หลั่งน้ำอสุจิ (ท่อปัสสาวะนั่นเอง)

หลังผูกไปแล้วโรงงานก็ยังสามารถผลิตอสุจิและฮอร์โมนได้อยู่ เพียงแต่ตัวอสุจิออกมาไม่ได้เท่านั้นเอง และตัวอสุจิที่ถูกสร้างมาก็จะค่อย ๆ ฝ่อสลายไป ซึ่งการที่ไปผูกท่อถนนนี้ไม่ได้ไปรบกวน อารมณ์ทางเพศ หรือความสามารถในการแข็งตัว หรือการถึงจุดสุดยอดใด ๆ นั่นแปลว่าทำหมันไม่ได้รบกวนความฟินบนเตียงนะคะ

และคุณก็ยังสามารถ "หลั่ง" น้ำออกมาได้ เพียงแต่น้ำที่ว่าไม่มีตัวเชื้อเท่านั้นเองค่ะ

การทำหมันในระยะแรก อาจจะยังมีตัวอสุจิผสมค้างคาอยู่

หลังผ่าตัด 2-4 เดือน (หรือการหลั่ง 20-40 ครั้ง) ตัวเชื้ออสุจิจะหมดไป ซึ่งควรจะตรวจเช็กให้แน่ใจก่อนว่าไม่มีตัวอสุจิหลงเหลืออยู่แล้ว

ซึ่งระหว่างที่รอนี้ควรใช้วิธีคุมกำเนิดชนิดอื่นร่วมด้วย

การทำหมันชายมีประสิทธิภาพสูงกว่าการทำหมันหญิงใช้เวลาผ่าตัดน้อยกว่าภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าการทำหมันหญิง ไม่ได้ทำให้อ่อนเพลีย ทำงานหนักไม่ได้

ฟังดูดีงามใช่ไหมค่ะ

"แต่ ๆๆๆ" ขอย้ำนะคะ ถึงจะดีงามแต่การทำหมันชายไม่ได้ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นะคะ

ดังนั้น เราผลิตบุตรไม่ได้ก็จริง แต่เราก็สามารถรับโรค (นอกบ้าน) และแพร่กระจายโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (สู่ในบ้าน) ได้เช่นกัน ดังนั้น ไม่ใช่ทำหมันแล้วสบายใจ ลัลล้าได้เสรีนะคะ ถ้าต้องไปมีความเสี่ยงควรใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วยทุกครั้งค่ะ

ก่อนที่จะทำหมันชาย ควรมั่นใจก่อนว่าจะไม่มีบุตรในอนาคต เพราะถ้าเปลี่ยนใจการผ่าตัดแก้ไขจะยาก และโอกาสการตั้งครรภ์น้อย อาจจะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ซึ่งจะเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงค่ะ

สุดท้ายนี้การทำหมันชายเป็นการคุมกำเนิดที่ง่ายเจ็บตัวน้อยไม่ได้น่ากลัว และไม่ได้ทำให้สูญเสีย "ความเป็นชาย" แต่อย่างใด

แต่เป็นการช่วยวางแผนครอบครัวค่ะ หมอคิดว่ามันคือ "ความเป็นชาย" ที่แท้จริงค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook