ทวีศักดิ์ ศรีทองดี : ศิลปะ ชีวิต และความเพลิน
ทวีศักดิ์ ศรีทองดี : ศิลปะ ชีวิต และความเพลิน
“เราเพิ่งทำบ้านกับสตูดิโอเสร็จ คุณมาเที่ยวบ้านเรามั้ย?”
โลเล-ทวีศักดิ์ ศรีทองดี ศิลปิน-นักวาดภาพประกอบชื่อดัง ชวน GM ทั้งที มีหรือที่เราจะพลาด … แถมให้ไปที่หัวหินน่ะ เราชอบอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ในกรุงเทพฯ เราได้เจอกันบ่อยๆ เพราะไปตระเวนชมโซโล่เอ็กซิบิชั่นของเขาหลายงานติดกัน ทั้ง “ตำซั่ว” ที่เดอะแจมแฟคตอรี่ เรื่อยไปถึง “Have A Meal With The Famous” ที่ร้าน Moose ดูเหมือนว่าตั้งแต่ย้ายบ้านไปอยู่หัวหินได้สองปี ช่วงนี้เขากำลังมีไฟคุโชนในการทำงาน และจัดแสดงผลงานแบบรัวๆ ไม่มียั้ง
บ้านของโลเลเป็นลอฟต์ปูนเปลือยแบบโมเดิร์น ตึกทรงเหลี่ยมๆ ช่องหน้าต่างกลมๆ มีทางลาดพาดขึ้นลงน่าแปลกตา ปลูกขึ้นบนที่ดินเก่าของแม่ แตกต่างจากบ้านของแม่เป็นเรือนชั้นเดียวที่ดูสบายๆ มากกว่าเสียงเพลงแนวนิวเอจลอยมาไกลๆ เป็นเพลงจากวงสุดแนว Kaleidoscope โลเลเปิดด้วยเครื่องเสียงสเตอริโอเก่าๆเสียงซีต้าร์แบบเพลงอินเดียฟังกรุ๊งกริ๊ง ทำให้พวกเราทุกคนเพลิน
แล้วเราก็เริ่มต้นการพูดคุยอย่างเพลิดเพลิน เรื่องราวมากมายในชีวิตของโลเล เพื่อนฝูง ครอบครัว ป๊อปคัลเจอร์มากมายรอบตัว มูราคามิ จอห์น เลนนอน …… และก็ว่าวอีกตัวหนึ่ง
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขาสร้างงานศิลปะที่โด่งดัง จนกลายเป็นศิลปินที่น่าจับตามองที่สุดในยุคสมัย
GM: ในยุคสมัยที่งานศิลปะเป็นคอนเซปชวลมากๆ คุณสะบัดอะไรออกมา ก็กลายเป็นศิลปะได้
ทวีศักดิ์: ไม่ใช่อย่างนั้นเลย เราว่าพวกคนทำงาน การจะปล่อยงานออกมาสักงาน ไม่ใช่ว่าเขาไม่คิดอะไร แล้วค่อยไปลุ้นว่าคนจะเข้าใจไหม มันทำไม่ได้ ทุกอย่างต้องมีเหตุผล ไม่ใช่ว่าอาศัยความเชื่อถือของคนดู แล้วเราจะทำอะไรก็ได้ แต่มันก็อาจจะมีคนแบบนี้ก็ได้ แต่ในแวดวงที่เรารู้จักหรือทำงานด้วยกัน ไม่มีหรอกที่จะทำอะไรแบบนั้น เป็นคุณ คุณไม่รู้สึกผิดเหรอที่ทำงานมั่วๆ ไป อย่างถ้าเราทำ exhibition ครั้งหนึ่งแล้วทำมั่วด้วย แล้วไม่ชอบเองด้วย เราเองจะรู้สึกผิด บางครั้งกลับไปแก้ไขไม่ได้ แล้วทำไงอะ
GM: อยากให้อธิบายถึงผลงานในช่วงหลังๆ อย่าง Exhibition ที่จัดชุด ตำซั่ว
ทวีศักดิ์: มันเหมือนกับตอนที่เราทำเอ็กซิบิชั่นสมัยที่ยังเป็นเด็กๆ คือมีอะไร เราก็ใส่ไปหมดเลย หลังจากช่วงนั้นมา เราก็ไม่ค่อยได้ทำอย่างนั้น หันมาทำงานเป็นชุดใหญ่ๆ ซึ่งก็เหมือนกับคนอื่นๆ ทั้งโลกเขาทำ แต่พอต่อมาสักพักนึง เรากลับมาดูงานที่ทำไว้ ก็พบว่ามันหลากหลายมาก เหมือนกับเรากลับมาทำงานสั้นๆ อีกครั้ง ยิ่งหลังจากที่มีลูก ก็ทำงานชุดใหญ่ๆ ไม่ค่อยได้แล้ว เดี๋ยวคิดเรื่องนี้เรื่องนั้นไปเรื่อย ในหัวมีอยู่หลายโปรเจคต์เต็มไปหมด ช่วงนี้ก็เลยคิดว่าน่าจะล้างตัวเองสักที ถ้าทำงานชุดใหญ่ๆ แล้วใช้เวลากับมานานมาก จนอาจจะเบื่อเอง และก็ไม่อยากโชว์แล้วด้วยก็ได้ ก็เลยเอางานหลากหลายที่ทำๆ เก็บไว้ มารวมกันเลย
อย่างงานชุดตำซั่ว ก็มีตั้งแต่ปี 2012 – 2013 ซึ่งมันไม่ใช่ว่าเราวาดเปลี่ยนไปตามยุคนะ เราทำงานแบบไม่มีแบบแผนแน่นอน ไม่ใช่ว่าช่วงปีนี้จะทำแบบนี้ ช่วงปีต่อไป ต้องทำอีกแบบนึงไปเลย มันก็เหมือนความคิดคนเรานั่นแหละ บางทีคิดว่าคนเราโตขึ้นไป ก็ต้องเปลี่ยนไปแล้ว แต่จริงๆ เราทุกคนก็คงรู้สึกถวิลหาสิ่งที่เคยทำตอนเด็ก อย่างเช่น ถ้าใครได้ติดตามผลงานเราบ้าง มักจะจดจำงานวาดคนที่เป็น Volume มีกล้ามเป็นมัดๆ ซึ่งเราทำมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ แล้วต่อมาเราก็เริ่มใช้ลายเส้น ต่อมาเราก็ใช้สีให้มันมีคราบๆ ดูเลอะเทอะๆ ซึ่งปัจจุบันเราก็ยังคงวาดทุกแนวนั้นอยู่ สลับกันไปมา
GM: มูลค่าของงานศิลปะ ก็ต้องขึ้นอยู่กับความชอบหรือไม่ชอบของคนดูงานด้วยหรือเปล่า
ทวีศักดิ์: มันมีเหตุผลของมันอยู่ ในโลกเรา สินค้าต่างๆ ก็จะมีมูลค่าสูงต่ำไปตามประโยชน์ใช้สอยใช่ไหม และจะมีมูลค่าที่เกินเลยนอกเหนือจากนั้น ถือเป็นเรื่องของรสนิยม การจับอะไรสักอย่างไปเป็นสินค้า มันจึงมีมูลค่าได้ ถ้าทำให้คนเห็นคุณค่า เหมือนการทำให้ขยะเป็นเงิน คนที่เก่งด้านการตลาดเขาทำได้ แต่เราเองก็ไม่ได้สนใจเรื่องเหล่านั้น เราไม่ได้คิดถึงการตลาด ผลกำไร งานก็เลยไม่เหมือนคนอื่นเขา เราไม่ได้สนใจว่าขายได้หรือไม่ได้ เราทำเอาความมันอย่างเดียวเลย
อย่างที่คุณถามว่างานศิลปะ ต้องขึ้นอยู่กับคนดูชอบไหม มันไม่ใช่ทั้งหมด เพราะรสนิยมของคนเรามีตั้งเยอะแยะ ไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไร ความชอบของคนในโลกก็ไม่เหมือนกัน บางคนชอบเรกเก้ บางคนชอบพังก์ร็อก ในแง่ของคนทำงาน เราก็แค่ทำงานของเราไป ฝ่ายคนดูต่างหาก ที่ต้องเข้ามาเรียนรู้ว่าคุณค่าของผลงานตรงนี้คืออะไร ถ้าตัวคนทำงานมัวแต่คิด ว่าวาดอย่างไรให้คนมาชอบ แค่นี้ก็ไม่ได้แล้ว เพราะคุณต้องแชร์สิ่งที่คุณกำลังคิดออกไป เพื่อรวมกับคนอื่นๆ มันก็จะไม่ค่อยเป็นตัวเองแล้ว
GM: นักวิทยาศาสตร์คิดค้นยาที่ช่วยรักษาชีวิตคนได้เป็นแสนเป็นล้าน แล้วศิลปินคนหนึ่งวาดภาพออกมาเพื่ออะไร
ทวีศักดิ์: มันมีอยู่สองด้าน ด้านหนึ่งคือคุณได้ทำอะไรเพื่อคนอื่น นี่คือการได้ทำประโยชน์ และยังมีอีกด้านหนึ่ง คือคุณได้ทำอะไรๆ เพื่อสัมผัสกับความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันนะ บางคนอาจจะอยากจะเดินทางไปทั่วโลก เพราะเขาคิดว่าเมื่อเกิดมาแล้ว ก็ต้องรู้จักโลกนี้ทั้งหมด จนเมื่อถึงวันตาย คนอื่นอาจจะมองว่าการเดินทางทั้งหมดนั้นไม่มีความหมายอะไร เทียบกับตัวเขาตอนอายุ 80 บอกใครๆ ว่าฉันได้เดินทางไปแล้วทั่วโลก แค่นั้นก็พอ เขาได้สัมผัสกับตัวเองด้วยการออกเดินทางไปทั่วโลก มันก็ไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้นหรอก เป็นแค่จุดเล็กๆ ของมนุษยชาติ หรือบางคนอยากแต่งเพลง เพราะเขาหลงใหลในเสียงเปียโน มันถึงได้มีบทเพลงในโลกนี้ สิ่งนี้มันเรียกว่าความสุนทรีย์ไงล่ะ
GM: เรื่องนี้เป็นความสามารถที่มีในเฉพาะบางคนหรือเปล่า
ทวีศักดิ์: น่าจะเป็นได้ทุกคนนะ ถ้าคุณไม่รู้สึกอะไร ก็อาจจะเพราะคุณทำงานเยอะเกินไป จนไม่มีเวลา หรือไม่งั้น คุณอาจจะเป็นคนจำพวกที่ชอบเฝ้าสังเกต เราว่ามันมีคนอยู่หลายแบบ คือแบบที่ลงมือทำงานด้วยตัวเอง และแบบที่ชอบเฝ้าสังเกตคนอื่น คนที่ชอบเฝ้าสังเกต อาจจะเป็นนักวิจารณ์ นักชิม แต่ไม่ได้ลงมือสร้างสรรค์เอง แต่ก็ไม่เป็นไร โลกนี้ต้องการคนทุกแบบอยู่แล้ว คุณก็สามารถเป็นนักเสพได้ และค้นพบอะไรได้แบบของคุณ
GM: คุณค้นพบความเพลินในการวาดภาพได้ยังไง
ทวีศักดิ์: เราว่าคนเราก็เหมือนคอมพิวเตอร์ที่ว่างเปล่า มาจากร้านตอนที่ซื้อมาใหม่ๆ แล้วเราก็เจออะไรใส่ๆ เข้าไป จนในที่สุด เราก็ดันเชื่อว่าเราเป็นแบบนั้น คอมพ์บางบ้านอาจจะมีข้อมูลเต็มไปหมด คอมพ์บางบ้านมีแต่รูปภาพ คอมพ์มีความหมายว่าอย่างไร ก็ต่อเมื่อมันถูกทำให้เป็นอย่างนั้น อย่างเช่น ถ้าคุณทำงานสัมภาษณ์นิตยสารไปนานๆ คุณจะกลายเป็นนักสัมภาษณ์ ส่วนเราเมื่อวาดรูปไปนานๆ เราชินกับการที่เราวาดภาพไปแบบนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้คิดนะว่าเราเป็นศิลปิน เราโด่งดัง หรืออะไรพวกนั้นนะ เราก็ชอบทำอย่างอื่นอีกหลายอย่าง เราชอบทำอาหาร ตอนนี้เรากำลังสนใจดนตรี ชอบฟังเสียง ชอบเขียนหนังสือด้วย เวลาคิดอะไรก็เขียนๆ มีทฤษฎี สมมติฐานของเรา เล่าเรื่องเพ้อๆ โอเว่อร์ๆ รู้สึกว่าสนุก เวลาทำอาหาร เราชอบตอนหั่นผัก มันมีเสียงฉึกๆ เพลินมากเลยนะ หรือตอนที่เราเล่นดนตรี ตีกลองแล้วรู้สึกอร่อย ซี๊ด โอ๊ย มันหว่ะ ดังนั้น การที่เราวาดรูป เราไม่ได้วาดเพราะว่าถ้ารูปเสร็จแล้วมันจะขายได้ไหม แต่เราวาดเพราะมันเพลิน เราใส่เส้นโค้งตรงนี้ เราเกร็งมือแบบนี้ หายใจค่อยๆ เข้าออกแบบนี้ เวลานั้นจะไม่รู้สึกถึงเรื่องอื่นเลย รู้สึกว่าเพลินมาก ลงสีเป็นปื้ดๆ เลย เอาน้ำเทลงไป แล้วค่อยๆ ดูมันกระจาย
GM: คุณรักษาความเพลินในการวาดรูปมา 20 ปี ได้อย่างไร
ทวีศักดิ์: ยิ่งแก่ยิ่งเพลินเลยล่ะ ก็เพราะเราไม่ได้ทำอย่างเดียว เราทำอย่างอื่นด้วย คนเรานี่ต้องเบื่ออยู่แล้วล่ะ ถ้าจะต้องทำอะไรอย่างเดียว ดูหนังเรื่องเดิม แต่งตัวแบบทุกวันก็ยังเบื่อ เราก็ไปทำอย่างอื่นบ้าง ที่มันไม่เหมือนกัน อย่างเช่นเราไปเล่นดนตรีก็เพื่อสิ่งนี้แหละ เราอยากได้ประสบการณ์อย่างอื่นบ้าง เราก็ทำโปรเจค Happy Band ขึ้นมา เพื่อที่จะเข้าไปสู่โลกของดนตรี ทำมาหลายปีแล้ว ขึ้นเวทีเล่นมา 70 ครั้งแล้วนะ ทั้งเขินทั้งอาย (หัวเราะ) แต่มันดีไง คือพอขึ้นไปเล่น เราก็ได้ประสบการณ์ว่าความเขินมันเป็นไงวะ คือมันเจ๋งดี เราไม่แคร์ใครอยู่แล้ว
GM: เวลาทำงานศิลปะ คุณปล่อยอารมณ์ความรู้สึกให้เป็นอิสระ หรือคุณโฟกัสเข้าไปสู่เรื่องความมีเหตุผล
ทวีศักดิ์: เปรียบเหมือนซามูไร ที่เขาต่อสู้กันด้วยดาบยาวๆ ถือไว้นิ่งๆ พอถึงเวลาก็ฟันฉับ ฟันเสร็จก็หยุดนิ่งปุ๊บ คอฝ่ายตรงข้ามหลุดออกมาเลย แล้วเขาก็เสียบกลับเข้าไปในฝัก แล้วก็เดินไป มันเป็นอย่างนั้นแหละ คือเวลาเราเห็นซามูไรคนหนึ่งถือดาบซามูไร มันต้องไม่ใช่ธรรมดา ไม่ใช่ฟันฉับไปง่ายๆ เขาต้องหัดจับดาบให้ได้ก่อน นักสร้างสรรค์ส่วนใหญ่จะมีสิ่งนี้อยู่ข้างในแล้ว เขาถึงจะสร้างสรรค์ คงไม่ใช่ว่าคุณจับดาบยังไม่เป็นเลย แล้วจะไปสู้ใคร เหมือนกับจะวาดรูปเพื่อสะท้อนความคิดตัวเอง มันต้องวาดได้ก่อน หรือถ้าวาดไม่ได้ก็ใช้วิธีอื่นได้ ซิลก์สกรีนหรืออะไรก็ว่าไป หาเทคนิคมารองรับได้ แต่ว่าเขาจะต้องเข้าใจวิธีการก่อน เมื่อเข้าใจวิธีการอย่างถ่องแท้แล้ว ขั้นต่อไปก็ไม่ต้องไปสนใจวิธีการ หันมาสนใจเรื่องการสื่อสาร
GM: พนักงานออฟฟิศที่ไม่ได้มีโอกาสมาทำงานศิลปะ ทำเพลง เขียนหนังสือ เขาจะมีโอกาสเข้าถึงประสบการณ์ ความเพลิน หรือการสร้างสรรค์ได้ไหม
ทวีศักดิ์: เขาก็มีความสุขของเขานะ เราไม่รู้หรอกว่าความสุขของแต่ละคนมันเป็นยังไง เรานึกถึงภาพของเสมียนที่อำเภอกันดารคนนึง ตื่นมาแต่เช้า เอาข้าวให้ไก่ พาลูกไปส่งโรงเรียน แล้วตัวเองก็ขับรถไปที่ว่าการอำเภอ ทำเอกสาร ถ้าเขามีความสุข ก็เป็นโมเดลนึงที่น่ารักดีนะ มันแค่นั้นน่ะ เขาไม่ต้องวาดรูป แต่งเพลง ทำหนัง ไม่จำเป็นเลย คนเราไม่ได้เกิดมาเพื่อจะทำอะไรแบบนี้เหมือนกันทุกคนหรอก
อย่างแม่เราก็ไม่ได้เรียนสูง เราว่าเขาเข้าถึงความสุขได้นะ รูปแบบการใช้ชีวิตของเขาก็คือการต่อสู้ ฝึกทำอาหาร เย็บผ้า แค่เย็บผ้านี่ก็ยากแล้ว คุณเองเย็บผ้าเป็นไหม คือเขาไม่ได้เรียนในสถาบันก็จริง แต่เขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิต ความสุขมันไม่เหมือนกัน วัดกันไม่ได้ มันอยู่ที่คนๆ นั้นจะเจอ อย่างที่หัวหินเราจะเห็นคนบ้าคนหนึ่งประจำ มันเพี้ยน ผมยาวๆ ตัวดำๆ เรามองแล้วก็รู้สึกว่า เออเนอะ อิสระดีเนอะ นั่งดูดบุหรี่ ฝนตกมันก็นั่งตากฝนไป ชีวิตไม่ต้องวุ่นวาย เพลินไป เขาอยู่ได้เพราะมีคนให้ตังค์กินข้าวทุกวัน ดีออก นั่งยิ้มด้วย ประเด็นคือเราควรพยายามเข้าใจคนอื่น และเราจะไม่พยายามจะไปเปลี่ยนใคร บางคนอาจจะไม่เข้าใจสิ่งที่เราคิด ก็ไม่แปลก เราเองก็ไม่ต้องพยายามไปขอให้ใครมาเข้าใจเราหรอกนะ
GM: ศิลปะเป็นเรื่องของความฟุ่มเฟือยเกินไปหรือเปล่า
ทวีศักดิ์: ลองนึกถึงช่างก่อสร้างสักคน ที่ทำงานเสร็จในเย็นวันนั้น แล้วเขาพาลูกไปดูพลุ ถามว่าพลุมันให้อะไร พลุที่โรงแรมแห่งนึงจุดทุกสุดสัปดาห์ ช่างก่อสร้างพาลูกไปยืนดู แล้วเขาก็มีความสุข ถามว่านั่นคือความฟุ่มเฟือยหรือเปล่า แล้วประเด็นอาจจะอยู่ที่ เมื่อเด็กคนนั้นอายุ 30แต่เขายังจดจำโมเม้นท์นั้นได้ มันได้ฝังประทับเข้าไปในใจของเด็กคนนั้น เราว่าทุกคนจะมีโมเม้นท์แบบนั้น อย่างเราเนี่ยะ เรานึกถึงข้าวคลุกปลาทู วันนั้นเรากับเพื่อนไปแข่งจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ จำไม่ได้แล้วว่าเราได้ที่เท่าไร แต่เราสนุกมากเลย พอกลับไปบ้านเหงื่อซก เสื้อผ้ามอมแมม ตัวดำ แถมวันรุ่งขึ้นยังป่วยอีก แล้วแม่ก็ถาม ทำไมข้าวปลาไม่ยอมกิน แล้วนี่ไปแข่งจักรยานกับเขา จักรยานเราสภาพไม่ได้มีสมรรถนะจะไปแข่งกับเขา แต่โมเม้นท์นั้นเรานึกถึงแล้วประทับใจ แม่ทำกับข้าวที่เราคิดว่ามันแพงมากในตอนนั้นให้กับเรา
GM: ผลงานศิลปะทุกสิ่งทุกอย่าง มันทำให้โลกนี้ดีขึ้นหรือเปล่า??
ทวีศักดิ์: ไม่รู้เรียกว่าดีหรือเปล่า คือโลกมันก็เป็นไปของมัน เราไม่สามารถคอนโทรลมันได้ อย่างสมมติคุณอยู่บ้าน คุณมีเฟอร์นิเจอร์ คุณสามารถคอนโทรลได้ จัดให้มันเป็นสไตล์ไหน ก็พยายามจัดไป แต่ว่าพอมีคนเข้ามาอยู่เพิ่มอีกคนหนึ่ง แฟนของคุณ มันก็ต้องมีการแชร์กันมากขึ้น แล้วพอคนมันเยอะขึ้นไปอีก มันยิ่งแชร์กันเยอะ ก็ต้องหาส่วนร่วมตรงกลางให้พอดี แล้วพอมันเป็นเรื่องของประเทศ ก็กลายเป็นความหลากหลาย มีการเล่นเกมการเมือง ทำอย่างไรให้แนวคิดของฉันไปต่อได้ มีความซับซ้อน เจ้าเล่ ของแต่ละคน โลกนี้มันเป็น ค้าอาวุธ ฆ่าคน
GM: ภาพวาดของคุณจะฟังก์ชั่นอะไรในโลกต่อไปบ้าง
ทวีศักดิ์: เราไม่รู้หรอก ตัวเราเองไม่ใช่นักคิดแบบป๊อบปูล่า ที่คิดอะไรออกมา แล้วทุกคนจะนำหลักการของเราไปใช้ อย่างเด็กผู้หญิงที่เขียนบันทึก แอน แฟรงค์ เขาก็ไม่ได้จะทำอะไรเพื่อโลก เขาแค่บันทึกสิ่งที่คิดในตอนนั้น แต่ก็ส่งผลต่อโลกมากมาย มันก็มีงานในโลกนี้ที่ดีๆ บางคนไปอ่านเจออะไร ก็พยายามที่จะให้คนอื่นได้อ่านด้วย โลกตอนนี้มันเต็มไปด้วยนักคิด นักสร้าง ยุคนี้คนเก่งก็เต็มไปหมด
งานศิลปะหลักๆ เลยคือเรามักจะสื่อถึงเสรีภาพและความอิสระ ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ความเชื่อ บอกเล่าชีวิตของคนที่อยู่ง่ายๆ แต่เขาก็อยู่ได้ หรือว่าชีวิตที่เจ็บปวดรวดร้าวของเพื่อน ความเจ็บปวดของเพื่อน นั่นคือส่วนหนึ่งของชีวิตจริง อีกส่วนหนึ่งก็คือไปอ่านมา ไปดูมา การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ไปดูมิวเซียมแล้วอิน แล้วมาทำงาน อ่านหนังสือก็อ่านเรืองที่มันโหดๆ อย่างประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ส่วนหนึ่งก็อ่านเป็นความรู้ ส่วนหนึ่งก็รู้สึกโกรธ ไม่พอใจ สิ่งเหล่านี้มันจะออกมาเมื่อถึงเวลาที่เราทำงาน
His Works
ดอลล่าร์ (2009)
ก่อนหน้านั้นไม่นาน ผมกำลังทำงานชุดหนึ่งอยู่ ชื่อว่า ฮีโร่ ผมอ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์หลายเล่ม แล้วก็คิดว่าคนเรานี่มีลักษณะร่วมกันบางประการ คือเมื่อเวลามันเกิดอะไรขึ้นมาสักอย่าง เราก็จะเฮไปกับกระแสพร้อมกันหมด ผมนึกถึงฝูงปลาแซลมอนที่พากันว่ายกระโดดทวนน้ำ นึกถึงภาพฝูงวัวที่วิ่งตามกันไปจนตกเหวกันหมด กระแสเหล่านี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะหัวหน้าฝูง ฮีโร่อาจจะสิ่งดีหรือไม่ดีก็ได้
ผ่านมา 2-3 ปี ผมได้โปรเจคนึงที่ต้องทำตรงสยามพารากอน จึงไปนั่งดูพื้นที่ แล้วก็คิดถึงเรื่องกระแสอีกครั้ง ผมรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงรอบตัว มันดำเนินไปเรื่อยๆ โดยบางครั้งเราอาจไม่ได้ฉุกคิดว่ามันมีอยู่ แล้วเราก็อาจจะตายไปพร้อมกับกระแส เหมือนกับฝูงวัวที่พากันวิ่งตกเหว
นี่จึงเป็นที่มาของ “ดอลล่าร์” ผมมองหาอะไรสักอย่างมาเป็นตัวแทนของกระแสที่ไหลเวียนอยู่รอบตัว ก็เลยคิดถึงค่าเงิน เพราะเวลาเงินเป็นอะไร มันก็เป็นตามกันไปทั่วทั้งโลก จะทำอย่างไรให้นำเรื่องค่าเงินดอลล่าร์ ซึ่งเป็นนามธรรม เอามาใช้กับงานศิลปะได้
ประติมากรรมดอลล่าร์เป็นสัญลักษณ์อะไรสักอย่าง ที่สเกลใหญ่มากและดูแปลกแยกแตกต่างจากผู้คนรอบตัว มันมีคาแรกเตอร์สงบนิ่ง ท่ามกลางผู้คนที่เดินผ่านไป ส่วนหนึ่ง มันอาจจะทำให้ผู้ชมได้หยุดและคิด ว่ามีบางสิ่งที่อาจกำลังนิ่งอยู่ท่ามกลางกระแสอันเชี่ยวกราก
ถ้าเราได้หยุดและคิด ณ โมเมนต์นั้น เราอาจเข้าใจวิถีของมัน
Soldier (2550)
ผมเดินทางไปประเทศอังกฤษ เพื่อพบกับครอบครัวของเพื่อนคนหนึ่ง ในวันนั้นบ้านของเขามีปาร์ตี้เล็กๆ สมาชิกทุกคนมารับประทานอาหารด้วยกัน ผมเห็นมีกรอบรูปติดอยู่บนฝาผนัง เป็นรูปชายหนุ่มใส่ชุดทหาร ผมก็มองอยู่นาน แล้วก็ถามว่าคนนี้เป็นใคร
ดูเหมือนว่าผมทำลายบรรยากาศปาร์ตี้ในวันนั้น ทำให้ทุกคนเศร้า ชายหนุ่มในรูปคือหลานคนหนึ่งในครอบครัว เขาตายในช่วงสงคราม ยังหนุ่มแน่น หน้าตาดี
ในช่วงนั้นผมกำลังสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ สงคราม เสรีภาพ และกำลังทำงานชุดหนึ่งเกี่ยวกับวัยรุ่น สิ่งที่ผมค้นพบคือช่วงวัยรุ่นว่า ควรจะเป็นช่วงที่เราได้ค้นหาชีวิต แต่ในเวลาของสงคราม วัยรุ่นหรือเด็กที่เพิ้งเติบโตขึ้นมาเป็นหนุ่ม กลับถูกใช้ไปกับสงคราม แล้วพวกเขาก็ต้องพรากจากครอบครัว ตาย บาดเจ็บ พิการ คนแบบนี้มีเยอะแยะลย ผมจึงทำงานชุด Soldier เพื่อแสดงความรู้สึกเศร้า เป็นรูปคนหนุ่มสาวที่ล่องลอย ในมือถือปืนอยู่ แต่ดวงตากลับเลื่อนลอย
เคท มอสส์
ช่วงหนึ่งผมอ่านหนังสือเรื่อง วาบิ-ซาบิ แล้วอินมาก เวลามองเห็นร่องรอยปริแตกหรือคราบเลอะเทอะตามธรรมชาติ แล้วรู้สึกว่าสวยงาม ความไม่สมบูรณ์มีความสวยงามอยู่ในตัวเอง
พวกเราส่วนใหญ่เติบโตมาด้วยความรู้สึกว่าอะไรๆ ต้องเนี้ยบ ต้องสมบูรณ์แบบ ผมเคยรู้สึกว่าพวกข้าวของอุปกรณ์วาดเขียนต้องเนี้ยบ ต้องคลีน พอวันนึงมันเก่า ก็รู้สึกว่าไม่มีค่าแล้ว
จนมาเข้าใจเมื่อได้เห็นคนแก่ผิวเหี่ยวย่น รู้สึกว่าร่องรอยบนใบหน้านี้ วาดออกมาแล้วสวย กีต้าร์เก่าๆ ที่มีรอยถลอกกลับดูสวย กีตาร์เบสของผม ประมาณปี 1967 กิ๊บสัน สีไม้ ผมได้มาในราคาประมาณสามหมื่นกว่า มันเป็นเบสที่แก่ มีอายุ ไม้ก็แห้งสุดๆ ดูร่องรอยที่มันเคยถูกเล่นมา ด้านหลังมีรอยขีดข่วนเต็มไปหมด ผมคิดว่านี่คือชีวิตที่ผ่านมา
เหมือนกันกับความเป็นมนุษย ที่เราทุกคนไม่สมบูรณ์แบบ แต่เราต่างมีความงามเฉพาะตัว มีรายละเอียดมากมายในชีวิต ริ้วรอยบนใบหน้า สิว กระ ความไม่สมบูรณ์แบบจึงกลายเป็นแรงบันดาลใจของงานชุดนี้
ผมวาด เคท มอสส์ ให้อ้วนเผละ แต่นี่คือความสวยงาม เวลามีแสงเงามาพาดบนหน้าท้องอ้วนๆ แตกต่างจากพวกหนังสือโป๊ที่รีทัชภาพถ่ายผู้หญิงเยอะๆ ความสมบูรณ์แบบอย่างนั้นมันพ้นจากความงามไปแล้ว กลายเป็นพลาสติก หาความจริงไม่เจอ เป็นอะไรที่ดูแสร้ง ใส่ฟิลเตอร์อะไรเยอะๆ จนคนดูเข้าไม่ถึง
อนาโตมี่
ผมกำลังทำงานชุดใหม่ ซึ่งมีความคิดต่อเนื่องมาจาก วาบิ ซาบิ และภาพ เคท มอสส์ คือการนำร่องรอยความแก่ชราและอวัยวะภายใน ออกมานำเสนอ เช่นภาพวาดชาวเผ่าเอสกิโม คนแก่มีหนวดเครา ผมสนใจร่องรอยเหล่านี้ และพยายามวาดออกมาให้มีความหมายกว่าเป็นเส้นเฉยๆ รวมไปถึงการเลาะเข้าไปในร่างกาย โครงกระดูก เซลล์ เหมือนเป็นการดึงส่วนข้างในออกมาข้างนอก
คนที่ผ่านชีวิตมาแล้ว เมื่อเราได้ไปนั่งคุยกับเขา จะพบว่าเขามีเรื่องเล่า เสน่ห์ของชีวิตก็อยู่ตรงนี้ ผมสนใจ ก็เลยอยากทำเรื่องความชรา ความแก่ หรือว่าความจริงที่เป็น ร่องรอย บาดแผล
เราอย่าไปกลัวความแก่ เราจะเรียนรู้เองเมื่อถึงเวลานั้น อย่างผมไปตรวจสุขภาพมา ก็รู้ว่าตอนนี้คลอเลสเตอรอลสูงไป ต้องออกกำลังกาย เลิกกินของทอด กินผักผลไม้ ทำอะไรเท่าที่เราพอทำได้เพื่อไม่ให้อ้วนไป เหมือนกีตาร์เบส ก็ดูแลรักษาไว้ให้มันเล่นได้ หมั่นเสียบปลั๊ก หยิบขึ้นมาเล่นไม่ให้ขึ้นสนิม นอกเหนือจากนั้นแล้วก็ต้องยอมรับในสิ่งที่มันเป็นไป
ในระหว่างนี้ก็เพลินในสิ่งที่ตัวเองทำไป ผมว่ามันคือการได้พบเจอ แล้วเข้าใจว่านี่คือความสุข ชีวิตก็แค่เราได้รู้จักเพลินกับอะไรสักอย่าง มันจะทำให้ชีวิตเรามีความหมาย นับวันยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งเห็นแง่มุมแบบนี้เยอะขึ้น ยิ่งมีสิ่งที่ทำให้เราเพลินมากขึ้น
ผมย้ายบ้านมาอยู่ที่หัวหิน ทำให้มีพื้นที่เยอะขึ้น ค้นหาสิ่งที่ทำให้เพลินได้มากขึ้น สามารถเล่นดนตรีเสียงดังได้ เวลาวาดรูปก็วาดใหญ่ๆ ได้ อยากดูงานจากไกลๆ ตอนวาดเสร็จแล้วเดินออกไปแล้วมองดูมัน อยากไปทะเลก็ไป ผมรู้สึกว่าโลกมันใหญ่ขึ้นมาก ฟังเสียงคลื่น มองดูน้ำที่ซัดเข้าหาทราย รู้สึกว่าเพลินมาก แค่มองทรายแล้วเอานิ้ววาดลงไป
Credit:
เรื่อง วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ / ภัทราพร บุญนำอุดม