ทำทุกวัน ให้เป็น'วันสุข'
แม้ว่ายังไม่เห็นผลสำรวจที่เป็นตัวเลขที่ชัดเจนในองค์กรการทำงานของไทย แต่คงสามารถคาดการณ์ได้ว่า คนทำงานจำนวนหนึ่งที่ต้องลาออกจากงานเพราะเป็นโรคซึมเศร้า อีกจำนวนไม่น้อยอาจกำลังประสบปัญหานี้อยู่โดยไม่รู้ตัว แต่เริ่มแสดงอาการ "หมดไฟ" เบื่องาน ประสิทธิภาพการทำงานลดลง รู้สึกหงุดหงิดกับงาน สภาพแวดล้อม เพื่อนร่วมงาน หรืออาจมองตนเองในแง่ลบ มองตนเองไม่มีคุณค่า
ในที่สุดหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ย่อมนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าที่รุนแรงขึ้นจนไม่สามารถทำงานได้ และร้ายที่สุดอาจนำไปสู่ภาวการณ์ฆ่าตัวตายก็เป็นได้
ก่อนที่จะไปถึงภาวะอันร้ายแรงและไม่พึงปรารถนานั้น คนทำงานทุกคนควรเตรียมพร้อม "ป้องกัน" ไม่ให้โรคร้ายนี้เป็นภัยคุกคาม รุกคืบเข้ามากล้ำกรายทำลายชีวิตเราได้ โดยการเรียนรู้ที่จะทำให้ทุกวันทำงานคือ "วันสุข"
สำรวจสถานะทางอารมณ์ เริ่มต้นเราควร "รู้จักตนเอง" ให้ดีที่สุดก่อนว่า เราเป็นคนเช่นไร มีบุคลิกภาพอย่างไร เหมาะสมกับงานประเภทใด เข้ากับบุคคลประเภทใดได้ดี/ไม่ดี เหมาะสมกับการทำงานในสภาพแวดล้อมอย่างไร และมีภาวะทางอารมณ์อย่างไร เช่น ลองทบทวนหรือลองจินตนาการดูว่า ถ้ามีเหตุการณ์เหล่านี้เข้ามา เราจะจัดการอย่างไร เช่น ...เมื่อมีงานเข้ามามาก ๆ และเป็นงานเร่งด่วน เราจัดการอย่างไร ...
เมื่อต้องทำงานกับหัวหน้างาน หรือเพื่อนร่วมงานที่มีลักษณะบางอย่างที่เราไม่ชอบ เราตอบสนองอย่างไร ...เมื่อทำงานผิดพลาด ถูกตำหนิต่อว่า เรารู้สึกเช่นไร ...เมื่อเราเบื่อหน่ายงานที่ทำ เราทำเช่นไร ...เมื่อมีปัญหาส่วนตัว ปัญหาครอบครัวเข้ามาขณะที่ต้องรับผิดชอบงานด้วย เราจัดการปัญหาเหล่านี้อย่างไร ...เหตุการณ์อะไรที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดีมากที่สุด เศร้ามากที่สุด โกรธมากที่สุด เครียดมากที่สุด หรือเบื่อมากที่สุด แล้วเราจัดการอย่างไร ฯลฯ
การตั้งคำถามทำนองนี้และลองตอบดู จะทำให้เราพอรู้ว่าในอนาคตโอกาสจะพบเรื่องที่ทำให้เราไม่มีความสุข เกิดความทุกข์ความเศร้านั้นมีเรื่องอะไรบ้าง และจะทำให้เราเป็นเช่นไร การสำรวจเพื่อรู้จักตัวเองเช่นนี้จะเป็นพื้นฐานที่ทำให้เราพอคาดการณ์อนาคตได้ว่า โอกาสที่เราจะเป็นโรคซึมเศร้ามีมากน้อยเพียงใด และเราควรที่จะป้องกันอย่างไร
สะสมความสุขด้วยมุมมองบวก เราควรตระหนักว่าเรามีชีวิตเดียว เราควรใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข โดยไม่ต้องจมไปกับความทุกข์ความเศร้าโดยไม่จำเป็น ดังนั้น เราจึงควรบอกกับตัวเองเสมอว่า ไม่ว่าเหตุการณ์อะไรจะเกิดขึ้นจะไม่มีวันพราก "ความสุข" ไปจากใจของเราได้เลย
ความตั้งใจเช่นนี้จะเป็นจริงได้ สิ่งสำคัญคือ การมีมุมมองแง่บวก ทั้งมุมมองต่อชีวิต มุมมองต่องาน มุมมองต่อเพื่อนร่วมงาน มุมมองต่อเหตุการณ์ มุมมองต่อปัญหา และมุมมองต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ในแง่บวกด้วย เพราะมุมมองแง่บวกจะช่วยให้ก่อให้เกิด "ความหวัง" และ "กำลังใจ" ที่จะเผชิญหน้าและก้าวข้ามอุปสรรคปัญหาใด ๆ ในชีวิตออกไปได้
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราทำงานผิดพลาดและถูกต่อว่า ให้เรายอมรับความผิดนั้น โดยมองว่า "ความผิดเป็นครู" ให้เรียนรู้ และบอกกับตัวเองว่าจะแก้ไขและไม่ทำผิดซ้ำอีก ไม่หมกมุ่นกับการต่อว่าตัวเอง ไม่ต้องเสียเวลาแก้ตัว หรือโกรธหัวหน้าเพราะเสียหน้าที่ถูกต่อว่า และบอกตัวเองเสมอว่า "ไม่มีปัญหาใดแก้ไม่ได้" มองปัญหาคือความท้าทาย และพยายามหาเพื่อนร่วมงาน ที่ปรึกษามาช่วยเรา ภาระต่าง ๆ ย่อมผ่อนคลายลง
ทุบกระปุกความเบื่อ ความเครียด ความเศร้า ที่สำคัญเราต้องไม่เก็บความเครียด ความเบื่อ ความเศร้าไว้นานเกินไป เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนยาพิษทำลายความสุข แต่เราควรเร่งรีบหาทางออกที่เหมาะสม เช่น หากเราเบื่องานที่ซ้ำซากจำเจ แต่ก็ยังคงทำไปเรื่อย ๆ เพราะเห็นว่าตนเองมีภาระครอบครัวและอายุมากแล้ว คงไม่สามารถหางานใหม่ได้ หรือเครียดกับหัวหน้างานที่ชอบใช้อารมณ์เกรี้ยวกราด แต่ก็ไม่กล้าโต้แย้ง ฯลฯ การทำเช่นนี้เท่ากับทำร้ายตัวเอง ทางที่ดีเราควรหาทางออกที่ไม่สร้างความเครียดซ้ำซ้อน เช่น ไม่ระเบิดอารมณ์กลับ แต่หาวิธีทำงานใหม่ ๆ หรือขอย้ายงานไปทำอย่างอื่นบ้าง และเมื่อมีปัญหากับหัวหน้างาน ก็มองในส่วนดีของเขา หรือหาเวลาสร้างสัมพันธ์ที่ดีพูดคุยด้วยเหตุผล เพื่อให้เข้าใจกันมากขึ้น เป็นต้น
ความเครียด ความเบื่อ ความเศร้า สามตัวร้ายที่แอบเข้ามาสะสมอยู่ในอารมณ์ของคน และคอยจ้องทำลายอย่างเงียบ ๆ ดังนั้น หากเรารู้ทันและป้องกันมิให้กล้ำกราย ย่อมไม่มีสิ่งใดมาระงับยับยั้งความสุขในชีวิตเราไปได้
ผู้เขียน "ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์"
................................................................................................................................................
พร้อมด้วยหลากหลายบทความเกี่ยวกับ สุขภาพ สาวสวย และที่เที่ยวกลางคืนได้ที่นี่