“บ้านจักรยาน” บ้านแห่งความทรงจำของสยามประเทศ
Thailand Web Stat

“บ้านจักรยาน” บ้านแห่งความทรงจำของสยามประเทศ

“บ้านจักรยาน” บ้านแห่งความทรงจำของสยามประเทศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ป้ายที่หน้าบ้านบอกให้รู้ว่าที่นี่คือ “บ้านจักรยาน”...

“เข้ามาๆ เดินดูซะก่อน จะได้มีภูมิ อยากรู้อะไรก็อ่านเอา เขียนไว้หมดแล้ว อยู่ในแฟ้ม สงสัยอะไรค่อยมาถาม” คำเชื้อเชิญจากเจ้าบ้านวัย 70 ปี พูดพลางก้มหน้าก้มตาทำงานของตัวเองโดยไม่ได้สำรวจท่าทีของผู้มาเยือนมากนัก ราวกับว่าเคยชินกับการต้อนรับคนแปลกหน้า

“ทวีไทย บริบูรณ์” คือชื่อของเจ้าบ้าน เขาอยู่ในชุดเสื้อยืดแขนยาว กางเกงแบบชาวประมง สวมผ้ากันเปื้อนแบบช่างฝีมือ การแต่งกายของเจ้าบ้านบอกให้ผู้มาเยือนรู้ว่าเขาเป็นคนทำงานหนัก ริ้วรอยบนใบหน้าและมือที่หยาบกร้าน บอกให้รู้ว่าเขาไม่ได้อยู่อย่างคนรักสบาย

“เอนก นาวิกมูล” หนึ่งในนักสะสมของเก่าที่มีชื่อเสียงที่สุดของยุค เคยกล่าวว่า “บ้านของอาจารย์ทวีไทยเป็นที่รวบรวมจักรยานเก่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย...ผมรู้สึกตื่นเต้นและทึ่งในพละกำลังกับความอุตสาหะของ อ.ทวีไทยมาก” ถือเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงแม้แต่น้อย เพราะที่แห่งนี้อบอวลไปด้วยกลิ่นอายจากประวัติศาสตร์โดยสมบูรณ์

“บ้านจักรยาน” ของอาจารย์ทวีไทยเปิดให้เข้าชมอย่างไม่หวงห้ามมาเกือบ 20 ปี ต้อนรับทั้งนักท่องเที่ยวและสื่อมวลชนหลายๆ แขนงที่เห็นความสำคัญของลมหายใจจากวันวานในบ้านหลังนี้

“ฟรีทีวีมันมีกี่ช่องล่ะ เออ เอาคูณ 15 เข้าไป มากันเยอะแยะ บางคนก็มาถามอะไรที่มันไม่ก่อประโยชน์ จะถามไปทำไมว่ามีกี่คัน คันไหนแพงที่สุด มันไม่ใช่แก่นสารเลย ผมก็ตอบไปว่าถามอะไรที่มันฉลาดๆ หน่อยสิ คนดูเขาจะได้ประโยชน์ ฝ่ายนั้นก็ย้อนถามมาว่าอาจารย์จะให้ผมถามอะไร บอกมาสิ ผมก็เลยบอกว่ามันไม่ใช่หน้าที่ผม” นั่นคือคำอธิบายแบบโผงผางตามแบบฉบับอาจารย์ทวีไทยผู้เจนโลก

สิ่งของต่างๆ ในบ้านหลังนี้คือประดิษฐกรรมที่เดินทางผ่านกาลเวลา โดยหลักๆ แล้วก็จะมีรถถีบ ที่มีอายุตั้งแต่ 50 – 100 ปีขึ้นไป หรือตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 หนังสือแบบเรียนสมัยโบราณ ข้าวของเครื่องใช้ และสื่อบันเทิงในสมัยก่อน อาจารย์ทวีไทยเล่าว่าสิ่งของทุกชิ้นล้วนบอกเล่าเรื่องราวประจำยุคสมัย

“ถ้ามันอยู่ในอดีต มันก็บอกอดีต เราต้องประจักษ์ในโคตรเหง้าตระกูล อันนี้เป็นความรับผิดชอบอย่างหนึ่ง เมื่อเกิดมาแล้วต้องประจักษ์ในเชื้อพันธุ์ ต้องรู้ว่าเราเคยฉิบหายมาอย่างไร รุ่งเรืองอย่างไร มันคือดีเอ็นเอประจำเผ่าพันธุ์ที่อยู่ในของโบราณ” อาจารย์ทวีไทยเล่าถึงที่มาที่ไปของการสะสม

“ผมเคยไปขอซื้อรถจักรยานเก่าทางเหนือ เจออยู่คันหนึ่งสภาพสวยมาก ไปเจรจาแล้วลูกหลานไม่ยอมขาย เขาบอกว่าเพราะจักรยานคันนี้ ถึงได้มีบ้านใหญ่ๆ แบบนี้อยู่ มันเป็นจักรยานที่ก๋งเขาใช้ประกอบสัมมาอาชีพ จะขายได้อย่างไร นี่เห็นไหม มันมีเรื่องราวของมัน”

แม้กระทั่งรูปแบบของจักรยานในสมัยก่อน ก็ยังบ่งบอกได้ว่าสถานะทางสังคมของผู้ขับขี่เป็นอย่างไร ในยุคหนึ่งจักรยานคือพาหนะที่แสดงการเติบโตของเด็กชาย ดังนั้น ตำแหน่งของมือจับรถถีบจึงเป็นการบังคับให้ผู้ขี่ต้องยืดอกอย่างสง่าผ่าเผย

รถถีบที่นำมาแสดงไว้ในบ้านหลังนี้ หลายๆ คันยังอยู่ในสภาพดี แม้จะมีอายุเฉียดร้อย ซึ่งก็เป็นไปด้วยเหตุผล 2 ประการ หนึ่งคือในสมัยนั้นจะมีแต่จักรยานที่นำเข้ามาจากทั้งอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ ทำจากเหล็กชั้นดี และสอง อาจารย์ทวีไทยจะคอยซ่อมบำรุงมันอยู่เสมอ

บ้านของอาจารย์ทวีไทยเคยเป็นโรงงานเครื่องปั้นดินเผาอันโกลาหล เต็มไปด้วยคนงานและลูกค้านับร้อยชีวิต เป็นสำนักงานรับแขกต่างประเทศ เป็นที่ปลูกต้นไม้ เป็นที่เลี้ยงสัตว์ เคยมีสุนัขอยู่ราวๆ 300 ตัว เคยเลี้ยงไก่แจ้ และในวันนี้เหลือแมวอยู่ 2 ตัว ดูเหมือนว่าพื้นที่แห่งนี้ก็มีประวัติศาสตร์ของตัวมันเอง

เช่นเดียวกันกับอาจารย์ทวีไทยที่ผ่านความรุ่งโรจน์ในชีวิตมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน เคยได้รับทุนการศึกษาจนจบด้านศิลปะที่มหาวิทยาลัยศิลปากรด้วยคะแนนระดับเกียรตินิยม เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เคยเปิดบริษัทไทเทอราเซรามิก เป็นผู้ส่งออกเซรามิกรายแรกของไทย เคยเป็นผู้ซ่อมแซมปฏิสังขรณ์วัดและพระที่นั่งสำคัญๆ ในไทย เคยมีโอกาสรับใช้อย่างใกล้ชิดใต้เบื้องพระยุคลบาท

จนกระทั่งปัจจุบัน อาจารย์ทวีไทยเรียกตัวเองว่า “ช่าง” ไม่ใช่ศิลปินหรือนักสะสมของเก่าตัวยงตามที่ผู้อื่นขนานนามให้

“มันมีวัฏจักรของมัน ถึงเวลาก็ต้องหยุด ต้องพอ ของเก่าก็เหมือนกัน เมื่อเราเก็บอย่างนี้ ถามว่ามันมีอีกไหม โอ้โห มากมายมหาศาล แล้วเราจะเก็บครองโลกทั้งหมดหรือ ก็เหมือนต้องรองน้ำฝนทั้งโลก มันเป็นไปไม่ได้ ต้องรองเท่าพื้นที่ที่คุณยืน แล้วเก็บประโยชน์เท่าพื้นที่ที่คุณมี” นั่นคือปรัชญาจากการใช้ชีวิตมา 70 ปี

ในช่วงเวลาหนึ่ง อาจารย์ทวีไทยออกเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อหาซื้อจักรยานเก่านับพันคัน เมื่ออยู่ในฐานะคนซื้อ ก็ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับจักรยานอย่างขะมักเขม้น เพื่อสืบทราบอายุและเรื่องราวของจักรยานเหล่านั้น จนสามารถนำมาเขียนหนังสือ “จักรยานโบราณ” เป็นมรดกทางความรู้ให้กับแผ่นดิน น่าเสียดายที่อุทกภัยในปี 2554 ทำให้ต้นฉบับได้รับความเสียหาย

Advertisement

จวบจนได้เป็นเจ้าของจักรยานเก่าในปริมาณที่พอใจ อาจารย์ก็นำมาจัดแสดงไว้ในบ้าน จากที่เคยเป็นคนซื้อก็เปลี่ยนสถานะมาเป็นเจ้าของและพ่อค้าในบางครั้ง

อาจารย์ทวีไทยเล่าว่าของสะสมเหล่านี้มีไว้ศึกษา ชื่นชม และบางชิ้นก็มีไว้ขายเพื่อส่งต่อความเป็นเจ้าของ “มันไม่มีอะไรอยู่กับเรานาน แล้วเราก็ไม่อยู่กับอะไรนาน ก็เพราะว่ามันอยู่กับใครไม่นานนั่นแหละ มันจึงมาถึงเรา” แน่นอนว่าราคาของอดีตย่อมแพงเสมอ เงินอาจจะซื้อของเก่าได้ แต่คุณค่าของความเก่าเกิดจากระยะเวลา ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจเงิน

ไม่เพียงเท่านั้น วัตถุโบราณที่เดินทางผ่านกาลเวลามักจะบรรจุเอาความทรงจำจากอดีตไว้เสมอ แม้แต่ไม้พายหนึ่งอันก็ใช่ว่าจะเป็นเพียงไม้จิ้มน้ำข้างตัวเรือ หากแต่มันได้นำพาผู้คนเดินทางไปในที่ต่างๆ ตามใจปรารถนาในสมัยหนึ่ง ความฝันที่งดงามของใครหลายคนถูกพิชิตได้ก็ด้วยไม้พายอันหนึ่ง

“คุณดูอย่างไม้เท้าที่ ร.5 ท่านถือไว้ตอนถ่ายรูปเถิด ท่านไม่ได้ถือไว้เฉยๆ มันคือสิ่งเตือนใจว่าในยุคนั้นเราจะต้องมีธรรมเนียมอย่างฝรั่งเพื่อไม่ให้เขาเข้ามายึดครอง” นี่คือสิ่งที่ทำให้ของเก่าทรงคุณค่าในสายตาของอาจารย์ทวีไทย ดังนั้น ราคาถูกหรือแพงจึงไม่ใช่ประเด็น เพราะแก่นแท้นั้นอยู่ที่เรื่องราว

“ของเก่ามันมีความทรงจำ มีเรื่องราวอยู่ในนั้น ขึ้นอยู่กับว่าคนจะมองเห็นหรืออ่านออกไหม ใครมาเที่ยวบ้านจักรยานแล้วมาขอถ่ายรูปผม ผมจะบอกเลยว่าไม่ต้อง ผมไม่ใช่กระเหรี่ยงคอยาว มาถึงนี่ก็มาเอาสาระประโยชน์สิ ไม่ใช่มาถ่ายรูปผม แบบนี้คุณไม่ได้อะไรหรอก” อาจารย์ยังคงแสดงความเห็นอยากตรงไปตรงมาเช่นเคย

สาเหตุหนึ่งที่อาจารย์กล้าชี้แนะอย่างตรงไปตรงมากับทุกคน ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะที่นี่ไม่ได้เก็บค่าเข้าชม ใครอยากมาก็ยินดีต้อนรับ “แต่จะให้เดินพาชมเป็นนักท่องเที่ยวกิตติมศักดิ์แบบนั้นคงไม่ทำ อยากรู้อะไรก็ต้องอ่านเอง ไม่มีคนพาชม” อาจารย์อธิบาย

“ถ้าจะบอกว่าผมทำบ้านจักรยานเพื่อถ่ายทอดความรู้ ก็ไม่ใช่ประสงค์หลัก ผมไม่ได้หวังให้ใครมาเรียนรู้อะไร ผมไม่เคยหวังอะไรในตัวคนอื่น ถ้าอยากรู้อะไรที่ไม่ได้เขียนบอกไว้ คุณก็ถาม ผมยินดีตอบ ถ้าผมเสนอให้ คุณอาจจะไม่สนใจมัน เพราะมนุษย์เรานี้เหมือนแมว ถ้าคุณดึงท้องมันจะโก่งหลัง ถ้าดึงหลังมันจะโก่งท้อง” นี่อาจจะเป็นปรัชญาที่อาจารย์ทวีไทยได้มาจากการเลี้ยง “แม่แก้ว” แมวไทยสีส้มที่เคยช่วยเหลือไว้เมื่อตอนน้ำท่วม และรับอุปการะเอาไว้จนถึงปัจจุบัน

“บ้านจักรยาน” อาจจะเป็นที่เก็บของมีค่าแห่งเดียวในประเทศไทยที่ไม่มีการติดกล้องวงจรปิด หลายต่อหลายครั้งที่ของเก่าในบ้านจักรยานถูกลักขโมย แต่อาจารย์ก็ยังไม่เคยคิดจะติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัย เพราะมันไม่สามารถรักษาโรคขโมยได้ และที่นี่คือบ้าน คนอยู่ต้องรู้สึกเป็นสุข

“ทุกคนมีวิญญาณลักขโมยด้วยกันทั้งนั้น อยากขโมยก็เอาไปเลย เพราะมึงป่วย มึงเป็นโรค เราก็ต้องรักษาเขา คิดเสียว่าเขาขโมยของเราก็ยังดีกว่าไปขโมยของคนอื่น เพราะเรายังมีมากกว่า”

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่จับขโมยได้ แต่ท้ายที่สุดก็เปิดโอกาสให้หัวขโมยได้นำของมาคืนและขอโทษ ไม่มีการเอาผิด เพราะอาจารย์เชื่อว่าการแจ้งความจับจะทำให้ทุกฝ่ายเดือดร้อนมากกว่า

“คิดแบบนี้มันสงบ ไม่ต้องติดกล้อง ไม่ต้องแจ้งตำรวจ ตำรวจไม่ต้องเสียเวลา คุกก็ไม่เต็ม พ่อแม่ลูกเมียของไอ้คนขโมยก็ไม่เดือดร้อน ถ้าเอาของเราชิ้นเดียวแล้วรักษาโรคขโมยได้มันก็คุ้ม ผมบอกมันว่าอย่าทำอีกนะ แจ้งความไว้แล้ว ต้นไม้ที่บ้านก็เหมือนกัน ถ้าใครมาขโมยผมก็หัวเราะเลย เออ ดีใจ มีคนเอาไปช่วยรดน้ำ”

ขึ้นชื่อว่า “การสะสม” ย่อมหมายถึงการมีสิ่งของมากเกินความต้องการ ในภาษาพระเรียกว่า “ตัณหา” อาจารย์ทวีไทยยอมรับตรงๆ ว่าของเก่าในครอบครองเหล่านี้คือ “มรดกตัณหา” ที่ปราศจากผู้สืบทอด เพราะอาจารย์ไม่มีความคิดว่าจะยกให้ทายาทคนไหนแบบเฉพาะเจาะจง

“ผมเกลียดการมานั่งเขียนว่าอันนั้นยกให้ใคร อันนี้ยกให้ใคร ถ้าผมตายก็ปล่อยมัน มันจะไปอยู่ไหน ใครจะสืบทอดก็ปล่อยมันเป็นไปเถิด มีอยู่มันก็ไม่ได้ทำให้สุขหรอก ดูสิ ถ้าวันนึงไฟไหม้ขึ้นมาจะทำยังไง เป็นทุกข์อีก”

ความหวังเดียวของอาจารย์ทวีไทย คือการได้ตื่นขึ้นมาใช้ชีวิตแนบชิดกับประวัติศาสตร์และองค์ความรู้ที่ตัวเองได้สั่งสมมาตลอด “ผมใช้ชีวิตแบบคนอื่นไม่เป็นแล้ว จะให้ไปเดินห้าง กินกาแฟ กินข้าวแพงๆ ผมทำไม่เป็นเลย ชีวิตที่เหลืออยู่ก็ไม่ขออะไรมาก ได้ตื่นมาอยู่ในบ้านหลังนี้ก็ดีแล้ว” หลังจากผู้มาเยือนได้สนทนากับอาจารย์ทวีไทยมาร่วม 2 ชั่วโมง นี่เป็นครั้งเดียวที่สังเกตได้ถึงความชราในแววตาของชายอาวุโสที่อยู่ตรงหน้า

ป้ายที่หน้าบ้านบอกให้รู้ว่าที่นี่คือ “บ้านจักรยาน”

สถานที่เก็บชิ้นส่วนของประวัติศาสตร์ รอยต่อของยุคสมัย และความทรงจำของบรรพบุรุษ ส่วนเรื่องราวในอนาคต ผู้เป็นเจ้าของไม่ได้กำหนดไว้ให้มัน เพราะสาระสำคัญอาจจะไม่ได้อยู่ที่ใครเป็นผู้ครอบครองมันในวันข้างหน้า

ของเก่าเก็บในบ้านหลังนี้มีหน้าที่รับใช้ผู้คนในปัจจุบัน เพื่อปะติดปะต่อเรื่องราวของบรรพบุรุษ และนั่นคงจะเป็นความหมายตามที่สมบูรณ์ตามแบบฉบับของ “ทวีไทย บริบูรณ์” ผู้ส่งต่อความทรงจำแห่งสยาม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
kookkak

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบน
เว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่
นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้