อาหารมังสวิรัติอาจไม่ได้เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศเสมอไป

อาหารมังสวิรัติอาจไม่ได้เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศเสมอไป

อาหารมังสวิรัติอาจไม่ได้เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศเสมอไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การศึกษาครั้งใหม่ชี้ว่า อาจมีความเป็นไปได้ที่เราจะช่วยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่ยังคงทานแซนด์วิชเบคอน หรือทานหอยนางรมบ้างเป็นครั้งคราว

นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า ใน 95% ของประเทศต่าง ๆ ที่พวกเขาได้ทำการวิเคราะห์ พบว่าการบริโภคเนื้อสัตว์ ปลา หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมเพียงวันละมื้อ ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแหล่งต่าง ๆ น้อยกว่าการทานอาหารมังสวิรัติที่มีทั้งนมและไข่

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเลี้ยงโคนมเพื่อผลิต นม เนย และเนยแข็งนั้น ต้องใช้พลังงานและที่ดินเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับปุ๋ยและยาฆ่าแมลงที่ใช้ในการปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารสำหรับโคนมเหล่านั้น ตลอดจนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนขึ้น

นักวิจัยที่ศูนย์ Johns Hopkins Center for a Livable Future กล่าวว่า อาหารที่มีแมลง ปลาตัวเล็ก ๆ และหอย ต่างก็มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเล็กน้อย เช่นเดียวกับอาหารมังสวิรัติที่ทำจากพืช แต่มีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่า

นักวิทยาศาสตร์คำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการใช้น้ำจืดสำหรับการรับประทานอาหาร 9 ประเภทที่แตกต่างกัน ตั้งแต่การงดเนื้อสัตว์หนึ่งวันต่อสัปดาห์ การไม่ทานเนื้อแดง ไปจนถึงการไม่ทานเนื้อสัตว์ชนิดอื่นยกเว้นปลา และการทานอาหารมังสวิรัติใน 140 ประเทศ

กลุ่มผู้เคลื่อนไหวและนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจำนวนมากเรียกร้องให้เปลี่ยนไปทานอาหารที่ทำจากพืชเพื่อช่วยควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และลดการตัดไม้ทำลายป่า เนื่องจากการผลิตเนื้อแดงต้องอาศัยที่ดินจำนวนมากในการทำทุ่งปศุสัตว์และปลูกพืชที่ใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์

คณะนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศของสหประชาชาติ กล่าวว่า กิจกรรมทางด้านการเกษตร ป่าไม้ และการใช้ที่ดินอื่น ๆ มีอัตราส่วนเกือบหนึ่งในสี่ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สร้างขึ้น ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2550 - พ.ศ. 2559

Keeve Nachman ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่โรงเรียนการสาธารณสุข Johns Hopkins Bloomberg ในบัลติมอร์ ซึ่งเป็นหัวหน้าการศึกษาวิจัยนี้ กล่าวว่า ยังไม่มีวิธีใดที่จะสามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้ และว่าในประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง เช่นอินโดนีเซีย ประชาชนจำเป็นต้องทานโปรตีนจากสัตว์ให้มากขึ้นเพื่อเป็นให้ได้คุณค่าทางโภชนาการที่เพียงพอ

ซึ่งนั่นหมายถึงว่า โภชนาการต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการใช้น้ำในบรรดาประเทศยากจน จะต้องมีเพิ่มมากขึ้นเพื่อช่วยลดความหิวโหยและการขาดสารอาหารในประเทศเหล่านั้น ในขณะที่ประเทศที่มีรายได้สูงก็ควรลดการบริโภคเนื้อสัตว์ อาหารที่ทำจากนม และไข่ให้น้อยลง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook