เผยมุมจริงจังของผู้ชายอบอุ่น "ไฮโซเซนต์" ในฐานะทายาท "ผู้ค้าทองคำ" หนึ่งเดียวในตลาดหลักทรัพย์

เผยมุมจริงจังของผู้ชายอบอุ่น "ไฮโซเซนต์" ในฐานะทายาท "ผู้ค้าทองคำ" หนึ่งเดียวในตลาดหลักทรัพย์

เผยมุมจริงจังของผู้ชายอบอุ่น "ไฮโซเซนต์" ในฐานะทายาท "ผู้ค้าทองคำ" หนึ่งเดียวในตลาดหลักทรัพย์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รู้จักอีกมุมของผู้บริหารหนุ่ม 'ไฮโซเซนต์' หรือ 'ธราภุช คูหาเปรมกิจ' ที่เจ้าตัวเอ่ยปากเองว่า "ไพออริตี้ในชีวิตผมเป็นครอบครัวเสมอ!!!"

นาทีนี้บอกเลยว่าผู้ชายคนนี้คือผู้ชายอบอุ่นในฝันของบรรดาสาวๆไปแล้วล่ะค่ะ สำหรับ 'ไฮโซเซนต์' หรือ 'ธราภุช คูหาเปรมกิจ' ที่เปิดตัวเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในวงสังคมในฐานะของ 'หวานใจสุดหล่อ' ของนักแสดงสาวหน้าตาจิ้มลิ้ม 'คุณมิว-นิษฐา จิรยั่งยืน' โมเมนต์น่ารัก และความโรแมนติกของคุณเซนต์นั้น เชื่อว่าหลายคนคงได้รับรู้รับทราบมาบ้างแล้ว ผ่านสื่อต่างๆ แต่วันนี้ HELLO! จะพามารู้จัก ไฮโซเซนต์ในฐานะทายาท ‘ผู้ค้าทองคำ’ หนึ่งเดียวในตลาดหลักทรัพย์

ใครจะรู้ว่าอีกบทบาทหนึ่งของหนุ่มหล่อที่ดูขี้เล่นอย่างคุณเซนต์นั้นจะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลภาพรวมและทิศทางการดำเนินธุรกิจทั้งหมดในฐานะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ จำกัด (มหาชน)

'ไฮโซเซนต์' หรือ 'ธราภุช คูหาเปรมกิจ' กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ จำกัด (มหาชน)

สำหรับชื่อของ ‘โกลเบล็ก’ เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับมานานทั้งในด้านคุณภาพทองและความโปร่งใสในการทำธุรกิจ ด้วยมาตรฐานบริษัทค้าทองคำเพียงแห่งเดียวที่เข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มียอดขายทองคำแท่งเฉลี่ยต่อปีในหลักหมื่นล้านบาท ถือเป็นสัดส่วนรายได้สูงสุดของบริษัท

การก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารในวัยไม่ถึง 30 ปีไม่เพียงท้าทายความสามารถคุณเซนต์ หากยังต้องเผชิญแรงกดดันจากหลายด้านมากกว่าคนอื่น เพราะเขาคือทายาทรุ่นที่ 3 ของเจ้าของธุรกิจ และด้วยสถานะ ‘บริษัทมหาชน’ บอร์ดบริหารจะคอยจับตามองและประเมิน ‘กึ๋น’ ของผู้บริหารอยู่ด้วยเช่นกัน เรียกว่าถ้าไม่เจ๋งจริงหรือไม่เก่งพอ ต่อให้เป็นลูกหลานเจ้าของก็คงอยู่ในตำแหน่งนี้ลำบาก

จุดเปลี่ยนของชีวิต
กว่า 80 ปีที่ครอบครัวตั้งแต่สมัยอากง เข้ามาเริ่มต้นทำธุรกิจค้าทองคำ จนมาถึงช่วงที่ครอบครัวขยายกิจการมาทำธุรกิจหลักทรัพย์ คุณเซนต์ใช้เวลาช่วงที่ว่างหลังเรียนจบไฮสคูลจากสิงคโปร์ศึกษาหาความรู้เรื่องหุ้น และเอาเงินเก็บของตัวเองกับเงินที่คุณแม่ (คุณกาญจนา คูหาเปรมกิจ) ร่วมสมทบมาลองเล่นหุ้นดู จากนั้นไปเรียนเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐอเมริกา ทว่าการเรียนที่เต็มไปด้วยทฤษฎี คุณเซนต์ไม่เชื่อว่าจะช่วยให้เขาหาเงินได้ เมื่อเรียนจบจึงเลือกทำงานธนาคารเพื่อศึกษาระบบการทำงานของแบงก์ ที่แม้จะไม่เกี่ยวกับหุ้น แต่ก็พาเขาไปรู้จักโลกตลาดการเงินของจริง แล้วจึงไปต่อปริญญาโทสาขา Investment Management  ที่ Cass Business School ประเทศอังกฤษ นั่นถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเขา “ตอนนั้นมีวิกฤติเศรษฐกิจ แม้ไม่ส่งผลกับชีวิตความเป็นอยู่ของผม แต่คิดว่าที่บ้านน่าจะได้รับผลกระทบด้วย ผมเลยฉุกคิดได้ว่า ถ้าผมไม่เก่ง ไม่ขยัน และไม่มีเงินเก็บ อนาคตอาจลำบากได้ ก็เลยเริ่มคิดวางแผนชีวิต ไม่ได้ทำตัวชิลล์เหมือนตอนเรียนที่บอสตัน”

แม้เงินเก็บของตัวเองจากการเล่นหุ้นจะไม่ได้มากเมื่อเทียบกับมูลค่าธุรกิจของครอบครัว แต่ก็ไม่เคยทำให้ชีวิตเขาต้องลำบาก แต่คุณเซนต์ขอเลือกที่จะไม่ประมาทและรับมือวิกฤติครั้งนั้น ด้วยการใช้จ่ายอย่างประหยัด แม้ในเรื่องเล็กน้อยอย่างค่าน้ำดื่มที่เขาลงทุนเอาขวดไปกรอกน้ำที่มหาวิทยาลัยแทนการซื้อ หรือหากอาหารมื้อไหนกินไม่หมดก็จะเก็บไว้กินมื้อต่อไป “ค่าน้ำเดือนนึงอาจไม่กี่บาท แต่สำหรับผมอะไรที่ไม่เหนือบ่ากว่าแรง ผมก็ทำหมด เพราะไม่รู้ว่าวิกฤตินั้นจะเลวร้ายได้ถึงไหน” คุณเซนต์ใช้เวลาเรียนปริญญาโทเพียงปีเดียว ก่อนจะกลับมาเริ่มต้นทำงานในธุรกิจของครอบครัว

 

‘ผมไม่ใช่ผู้บริหารที่เก่ง’
คุณเซนต์กลับมาช่วยงานในบริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็กในตำแหน่งวาณิชธนกร ด้วยเงินเดือนเพียงหมื่นบาทสำหรับวุฒิปริญญาโทจากอังกฤษ นั่งทำงานในห้องเล็กๆ และคอยหอบแฟ้มเดินตาม
ทีมงาน แต่เขากลับสนุกและตื่นเต้นที่ได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ “การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินได้รู้พื้นฐานการลงทุนทำธุรกิจทุกอย่างซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นความได้เปรียบที่ช่วยลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจได้ นี่เป็นเหตุผลที่ผมเลือกมาทำงานนี้” หลังจากนั้นคุณเซนต์สอบผ่านได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวาณิชธนกรมาครองและทำงานนี้อยู่อีกหลายปี

“การเป็นที่ปรึกษาการเงินอยู่หลายปีทำให้ความคิด มุมมอง และการแก้ปัญหาของผมค่อนข้างเป็นระบบ เมื่อรวมกับความช่างวิตกกังวล ก็ช่วยให้ผมปรับตัวเข้ากับหน้าที่ใหม่ได้ไม่ยากนัก โชคดีที่ผมสนใจการลงทุนมาตลอดและศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเสมอ อ่านหนังสือเยอะ ดูหุ้นมาเยอะ เห็นภาพรวมของบริษัทอื่นๆ มาไม่น้อย ผมเลยค่อนข้างมองธุรกิจขาดกว่าคนในวัยเดียวกัน นี่คือข้อได้เปรียบของตัวผม แต่ผมเป็นคนคอนเซอเวทีฟและค่อนข้างชิลล์ ถ้าในการเป็นผู้นำ ผมไม่ใช่ผู้บริหารที่ดีเพราะไม่ใช่คนไฟแรงที่ทะเยอทะยาน พร้อมกระตุ้นให้ลูกน้องแอ็กทีฟได้ตลอดเวลา หรือถ้าต้องมีวาทศิลป์ในการเจรจาโน้มน้าวหรือมีลูกล่อลูกชน นี่ไม่ใช่คาแร็กเตอร์ผม ผมไม่ถนัดและไม่สบายใจถ้าต้องทำอย่างนั้น ผมเป็นพวกคิดเยอะ ต้องไตร่ตรองให้ละเอียดรอบคอบ หาเหตุผลมาประกอบการตัดสินใจตลอด จะไม่เสี่ยงทำอะไรที่ตัวเองไม่มั่นใจเด็ดขาด”

เจ้าตัวอมยิ้มเหมือนอ่านใจคนฟังออก “ช่วงแรกในการเป็นผู้บริหารก็มีผลกระทบบ้าง แต่ธุรกิจเราไม่ได้วัดผลกันเดี๋ยวนั้น แต่ทำให้ผมเรียนรู้ว่าควรกล้าตัดสินใจให้เร็วกว่านี้ อย่ามัวลังเลจนเกินไป อาจดูค้านหรือไปกันคนละทางระหว่างความเป็นตัวผมกับการเป็นผู้บริหาร แต่หน้าที่ผมคือทำให้บรรลุเป้าหมายให้ได้ด้วยการเลือกคนเก่งและดีมาช่วยงาน ผมรู้ว่าตัวเองขาดอะไร ก็ต้องเลือกคนที่มีสิ่งนั้นมาเสริมที่ผมขาดไป เมื่อต่างคนต่างทำหน้าที่ในสิ่งที่ตัวเองถนัด ผลก็จะออกมาดีเอง” นี่เองเขาถึงออกตัวว่า “ผมคิดว่าตัวเองบริหารคนไม่เก่ง แต่ผมบริหารการใช้คนได้ดี”

 

ธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น
“องค์กรเราเคารพและให้ความสำคัญกับบุคลากรที่มีประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานหรือผู้บริหาร เราเปิดใจและรับฟังซึ่งกันและกันด้วยเหตุผล” ว่าแล้วคุณเซนต์ก็เล่าด้วยความชื่นชมถึงคุณธนพิศาล “เขาเป็นคนตรง ไม่เอาเปรียบใครแม้แต่กับลูกน้องของตัวเอง” นอกจากนี้คำแนะนำจากประสบการณ์จากรุ่น 2 ก็จำเป็นมากสำหรับบริษัทที่มีพื้นฐานมาจากธุรกิจครอบครัวเช่นโกลเบล็ก “เรามีกรอบการทำงานและแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกันชัดเจน ทุกวันนี้คุณลุงกับ
คุณพ่อ (คุณกีรติพงษ์ คูหาเปรมกิจ) ยังคงเป็นบอร์ดบริหารคอยให้คำปรึกษา ส่วนการเป็นบริษัทมหาชนทำให้การบริหารจัดการมีระบบ โปร่งใส ซึ่งเป็นประโยชน์ในการขยายธุรกิจในอนาคต ฉะนั้น ถึงเป็นธุรกิจครอบครัวแต่ก็ทำงานแบบมืออาชีพ”

การเข้ามารับช่วงธุรกิจต่ออาจดูเหมือนไม่ยากเท่ากับรุ่นก่อนๆ ที่ต้องก่อร่างสร้างธุรกิจมา ทว่าด้วยยุคสมัยที่ต่างกันการแข่งขันสูง การปรับตัวให้ทันยุค เข้ากับสถานการณ์ ก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับรุ่นที่ 3

“เราพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนมือถือแบบเรียลไทม์เพื่อเพิ่มช่องทางการลงทุนพร้อมอำนวยความสะดวกให้ลูกค้ามากขึ้น ด้วยการเช็กราคาทองคำ ขยายเวลาการซื้อขายทองคำ ขยายวงเงินการซื้อขายทางออนไลน์ และใช้เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ข่าวสารขององค์กรและบทวิเคราะห์การลงทุนผ่านโซเชียลมีเดียทุกรูปแบบ ทั้งเว็บไซต์ เฟสบุ๊ก ไลน์ ทุกอย่างสามารถทำได้ผ่านปลายนิ้ว นอกจากนี้ยังระดมไอเดียในการคิดและออกผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ เช่น โครงการออมทอง ให้ซื้อทองคำด้วยวงเงินที่เท่ากันทุกเดือน มีขั้นต่ำที่เดือนละ 1,500 บาท โดยไม่ต้องใช้เงินก้อนไปซื้อทอง นอกจากนี้ก็หาโอกาสขยายการลงทุนไปประเทศเพื่อนบ้านที่เศรษฐกิจเติบโตดีและความนิยมในทองคำมาก เป็นอีกทางเลือกในการทำให้ธุรกิจเติบโต”

2 คนที่ 'หนุ่มนักลงทุน' ต้องแพ้ทาง!!!
“ทุกเรื่องในชีวิตผมคิดสไตล์เดียวกับการลงทุนหมด ผมรู้ว่าแต่ละปีผมมีรายได้เท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายผมระเหยได้แค่ไหน” เขาใช้คำว่าระเหยกับการใช้จ่ายที่ใช้แล้วหมดไป ขณะที่คนฟังกำลังคิดตาม คุณเซนต์ก็ส่งตัวอย่างมารัวๆ “นาฬิกาที่ผมใส่ ถ้าราคาตกผมจะรีบขาย ถือว่าเรากำไรการใช้ไปแล้ว หรือราคากำลังขึ้นเอาๆ ผมก็ขาย จนบางทีคุณแม่บอกว่า ‘ซื้อมาก็เก็บไว้ใช้เถอะลูก’ (หัวเราะ) คือผมไม่ยึดติดกับสิ่งใดทั้งสิ้น ผมมีของสะสมเยอะ แต่ถ้าอะไรที่เกิน fair value ผมก็ขาย ส่วนการใช้จ่ายเพื่อความสุขหรือหาประสบการณ์ให้ชีวิต ผมก็คิดแบบเดียวกัน ฉะนั้นก่อนใช้จ่ายอะไร ผมคิดแบบนี้ทุกอย่าง คุณแม่ก็งงๆ และบ่นบ้างว่าผมจะคิดอะไรเยอะแยะ (หัวเราะ) แต่ผมไม่เครียดกับสิ่งที่ทำนะครับ ทุกอย่างมันคิดอัตโนมัติไปเองแล้ว คนรอบข้างก็คงมีอึดอัดบ้าง (ยิ้ม) แต่คิดฟังก์ชั่นนี้แล้วผมแฮปปี้และรู้สึกเซฟเพราะรู้ว่าเราใช้จ่ายอะไรไปเท่าไหร่ มันจะมีมูลค่ายังไงในอนาคต ผมรู้หมด แต่ผมก็จะไม่เปลี่ยนคนอื่นให้ต้องคิดและทำเหมือนอย่างผม”

ครอบครัวคูหาเปรมกิจ


ชีวิตคุณเซนต์ทุกย่างก้าวดำเนินไปอย่างมีสติและไตร่ตรองรอบคอบแล้ว “ผมมีความสุขกับชีวิต ฝันอยากมีชีวิตที่เรียบง่ายและคิดเกษียณอายุเร็ว ฉะนั้น การทำธุรกิจครอบครัวสุดท้ายแล้วต้องเซ็ต ระบบให้มืออาชีพเข้ามาช่วยรันธุรกิจให้ได้ เพียงแต่ช่วงนี้ต้องปั้นธุรกิจให้แข็งแรงเสียก่อน การทำธุรกิจครอบครัวไม่ใช่แค่การทำงานทั่วไป เราต้องทำให้ดีที่สุด เพราะอีกมุมนึงนี่คือความสัมพันธ์ของสมาชิกในตระกูลด้วย ถ้าธุรกิจไหนมีปัญหาเยอะ สุดท้ายพี่น้องก็ต้องแตกคอกัน ผมโชคดีที่เจอผู้ใหญ่มาเยอะ ชีวิตท่านเหล่านั้นเป็นแบบอย่างให้ผม ผมไม่ปฏิเสธว่าเงินเป็นปัจจัยสำคัญ แต่สิ่งที่เติมเต็มความสุขในชีวิตเราได้อย่างแท้จริงคือครอบครัวต่างหาก ถ้ารวยล้นฟ้าแต่ชีวิ9ครอบครัวไม่มีความสุข นั่นไม่คุ้มค่ากันเลย ถ้ารวยกว่านี้แล้วต้องทะเลาะกัน แตกแยกกัน สำหรับผมไม่อยากให้ครอบครัวเราอยู่ในสภาพนั้นเด็ดขาด นี่คือแก่นสำคัญในชีวิตผม

“ไพออริตี้ในชีวิตผมจึงเป็นครอบครัวเสมอ ผมยิ่งมั่นใจมากขึ้นตอนที่ผมทำงานสำคัญชิ้นใหญ่สำเร็จ ล่าสุดโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ผมไปลงทุนขายไฟได้ ผมมีความสุขมากและอยากมีใครร่วมแชร์ความรู้สึกนี้กับผม นี่คือเหตุผลที่ผมคิดว่าพร้อมแล้วที่จะสร้างครอบครัวของตัวเอง อยากก้าวไปอีกเฟสของชีวิต ผมอยากเป็นพ่อที่ได้ใช้เวลากับลูกได้เยอะๆ” คุณเซนต์จึงขอแฟนสาว คุณมิว-นิษฐา จิรยั่งยืน นางเอกสาวคนสวยแต่งงานไปเมื่อไม่นานนี้

คุณมิว และคุณเซนต์ให้สัมภาษณ์คู่กันในรายการ 3 แซบ
อาจดูเป็นการดูใจกันสั้นๆ แค่ปีเดียว แต่ผู้ชายที่คิดและทำอะไรมีเหตุผลรองรับการตัดสินใจทุกเรื่องใหญ่น้อยมาตลอดชีวิต และผู้หญิงเช่นคุณมิวที่ไม่เคยมีข่าวเชิงชู้สาวเลย ทั้งคู่คิดและตัดสินใจดีแล้วที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันในอีกไม่ช้า “ไม่ว่าชีวิตจะเจออะไรมา ไม่ว่าเรื่องดีหรือร้าย สิ่งนั้นจะไม่มีความหมายเลยถ้าเราไม่มีคนที่เรารักอยู่เคียงข้างกัน คุณแม่เคยบอกผมว่า การมีเงินมากเท่าไหร่ไม่สำคัญเท่าชีวิตเราต้องมีความสุขด้วย”

แล้วคุณเซนต์ก็ปิดท้ายการสนทนาด้วยเสียงทุ้มนุ่มหูที่สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะได้รอบวงว่า “คงมีแม่กับเมียนี่แหละครับที่ฟังก์ชั่นการคิดวิเคราะห์ของผมจะไม่ทำงาน”

 

ติดตามได้ในนิตยสาร HELLO! ปีที่ 14 ฉบับที่ 13  ประจำวันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2562

หรือดาว์นโหลดฉบับดิจิตอลได้ที่  www.ookbee.com , www.shop.burdathailand.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook