"ไมเคิล จอร์แดน" มหาเศรษฐีพันล้านของ "ฟอร์บส" รายล่าสุด

"ไมเคิล จอร์แดน" มหาเศรษฐีพันล้านของ "ฟอร์บส" รายล่าสุด

"ไมเคิล จอร์แดน" มหาเศรษฐีพันล้านของ "ฟอร์บส" รายล่าสุด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย อาฮุย แผ่นดินใหญ่

นิตยสารฟอร์บสเพิ่งเผยแพร่รายชื่อมหาเศรษฐีครั้งที่ 29 เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา นิตยสารชื่อดังระบุว่า มีผู้มั่งคั่งหน้าใหม่ติดลิสต์การจัดอันดับเป็นครั้งแรกถึง 290 คน โดยหนึ่งในนั้นมีชื่อ ไมเคิล จอร์แดน ตำนานนักยัดห่วงของทีมชิคาโก บูลส์ ติดเข้ามาด้วย ข้อมูลจากฟอร์บสระบุว่า จอร์แดนมีทรัพย์สินรวมประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นบุคคลร่ำรวยที่สุดในโลกลำดับที่ 1,741

อดีตนักบาสเกตบอลดาวเด่นในสหรัฐ เป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จทั้งในสนามและนอกสนาม โดยหลังจากอำลาวงการ จอร์แดนลงทุนกับหุ้นทีมชาร์ลอตต์ ฮอร์เนตส์ ตั้งแต่ปี 2006 (ภายหลังเปลี่ยนมาใช้ชื่อ "ชาร์ลอตต์ บ็อบแคตส์") จนถึงปี 2010 จอร์แดนเริ่มเข้าเป็นผู้บริหารทีมจากการซื้อทีมด้วยมูลค่า 275 ล้าน และเพิ่มจำนวนหุ้นสัดส่วนมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ นิตยสารฟอร์บสประเมินมูลค่าของทีมชาร์ลอตต์ บ็อบแคตส์ ล่าสุดทีมของจอร์แดนมีมูลค่ากว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ

เหล่านักกีฬาที่ใช้เงินอย่างชาญฉลาดย่อมมีรากฐานของที่มาของแหล่งเงินที่มั่นคง อันเป็นผลพวงมาจากฝีมือนั่นเอง นักกีฬาระดับดาราแทบทุกวงการมีสินค้าแบรนด์ต่าง ๆรุมล้อมเข้ามาสนับสนุนตั้งแต่หัวจดเท้าเลยไปจนถึงสินค้านอกเหนือจากกีฬา

แม้ผู้จัดการส่วนตัวด้านธุรกิจของไมเคิล จอร์แดน จะไม่ยอมยืนยันตัวเลขรายได้จำแนกกลุ่มอย่างแน่ชัด แต่ประเมินกันว่าแค่เพียงแบรนด์ "จอร์แดน" ซึ่งมีผลิตภัณฑ์แถวหน้าอย่างรองเท้าในไลน์ "แอร์ จอร์แดน" ตำนานนักบาสได้รายได้จาก"ไนกี้" ขั้นต่ำปีละ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2013 ฟอร์บสประเมินมูลค่าแบรนด์ประจำตัวจอร์แดน มีมูลค่ามากถึง 2.25 พันล้านเหรียญสหรัฐ

โรเบิร์ต ทุชแมน นักวิเคราะห์ทางการเงินในวงการกีฬาของนิตยสารฟอร์บสมองว่า สินค้าหรือแบรนด์เหล่านี้กลายเป็นขุมทรัพย์มหาศาลต่อตัวนักกีฬาเอง และส่งผลบวกต่อกลุ่มบริษัทผู้ผลิตสินค้าหรือผู้ประกอบการด้านต่าง ๆ การนำนักกีฬาวัยเกษียณที่ประสบความสำเร็จมาเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับกีฬาหรือไม่ อย่างน้อยหมากตานี้สร้างภาพลักษณ์เชิงบวกที่อาจแปรเปลี่ยนเป็นเม็ดเงินได้ในอนาคต หรือถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชีวิตได้อย่างไลน์ของจอร์แดน ก็สามารถต่อยอดด้านรายได้ไปอีกหลายทศวรรษ

มูฮัมหมัด อาลี ตำนานนักชก "ซูเปอร์แมน"ในวัย 70 กลาง ๆ ยังสามารถเซ็นสัญญาร่วมงานกับแบรนด์ดังเมื่อต้นปี อาร์โนลด์ พาลเมอร์ ตำนานนักกอล์ฟวัย 85 เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของนักกีฬาวัยเกษียณที่ไปได้สวยกับการร่วมงานกับแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ซึ่งอาจไม่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์กีฬาเลยแม้ธรรมชาติของ "กอล์ฟ" เป็นกีฬาที่ต้องใช้อุปกรณ์ โรเบิร์ตถึงกับมองว่า นักกีฬาที่เกษียณแล้วมีแนวโน้มถือศักยภาพในการเพิ่มประสิทธิผลทางการค้าที่เป็นรูปธรรม มากกว่านักกีฬาที่ยังลงแข่งอยู่ด้วยซ้ำ

ไมเคิล จอร์แดน ไม่ได้เป็นเพียงนักกีฬาวัยเกษียณที่ประสบความสำเร็จทางการเงินหลังวางมือจากสนามแข่ง แต่นักกีฬาชื่อดังระดับตำนานส่วนใหญ่ต่างลงทุนและนำเงินไปต่อยอดได้ทั้งสิ้น ยกเว้นแต่นักกีฬากลุ่มแบดบอย อย่างเช่น เดนนิส ร็อดแมน อดีตเพื่อนร่วมทีมชิคาโก บูลส์ ซึ่งเคยตกเป็นข่าวเป็นหนึ่งในนักกีฬาดังระดับตำนานที่ถังแตก

สำหรับนักกีฬาวัยเกษียณไม่มีอะไรเคว้งคว้างมากไปกว่าเงินเก็บที่หามาได้จากช่วงรุ่งเรืองในชีวิตหมดเกลี้ยงไปไมเคิล จอร์แดน เป็นกลุ่มตำนานซูเปอร์สตาร์ที่มีเงินถังเพียบพร้อมจากความร้อนแรง โดยไมเคิล จอร์แดน ถูกมองว่าเป็นนักกีฬาที่ได้รับค่าจ้างมากที่สุดคนหนึ่งของโลก ไม่นับเรื่องงานนอกที่รับเพิ่มเติม หรือการลงทุนระหว่างทำอาชีพนักกีฬา กลุ่มนี้มีเงินทุนหมุนเวียนมากพอไปต่อยอดลงทุนด้านต่าง ๆ เดวิด เบ็กแฮม, มิเชล ชูมัคเกอร์ หรือแม้แต่ แลนซ์ อาร์มสตรอง มีทรัพย์สินมากพออยู่แล้ว และถ้านำไปต่อยอดถูกวิธีโดยเฉพาะช่องทางการลงทุนซื้อทีมในกลุ่มอเมริกันเกม ไม่ว่าจะเป็นบาสเกตบอล, อเมริกันฟุตบอล หรือเมเจอร์ ลีก เบสบอล ทรัพย์สินของตำนานเหล่านี้ถือว่ามีโอกาสงอกงามสูง

จากลิสต์ล่าสุดของนิตยสารฟอร์บส มหาเศรษฐีที่ติดอันดับมีชื่อเหล่านักธุรกิจที่เป็นเจ้าของทีมกีฬาต่าง ๆ มากกว่า 10 ราย กูรูวงการการเงินสายกีฬามองว่า นักกีฬาที่เกษียณแล้วมีช่องทางส่งตัวเองประสบความสำเร็จในตารางบัญชีผ่าน 2 ช่องทางหลัก อย่างการเซ็นสัญญากับงานกับบริษัทสินค้าหรือบริการทั้งหลาย ขณะที่โอกาสก้าวใหญ่ไปสู่มหาเศรษฐีย่อมเป็นการลงทุนกับการบริหารมูลค่าในวงการกีฬา ซึ่งถ้าเลือกอย่างชาญฉลาด มีกึ๋น และมีความอดทนมากพอ ช่องทางนี้เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากธุรกิจกีฬาสมัยใหม่ผูกกับความบันเทิง ตราบใดที่ไม่เจอวิกฤตการเงิน หรือปัญหาศรัทธาจากการบริหารผลงานในการแข่ง มูลค่าของทีมกีฬาไม่ค่อยทำให้คนผิดหวัง นอกเหนือจากเดินหมากผิดพลาดหรือเจอปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ดีดกลับก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่น่าเสี่ยง โดยเฉพาะนักกีฬาวัยเกษียณที่มีกำลังทรัพย์และความรู้มากพออย่าง ไมเคิล จอร์แดน

แต่ถ้าไม่แน่จริง ของไม่ถึงจริง โอกาสเหล่านี้มีความเสี่ยงไม่น้อยไปกว่าช่องทางอื่นเช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook