7 วิธีหลีกหนีการช้อปเกินตัวช่วง Black Friday

7 วิธีหลีกหนีการช้อปเกินตัวช่วง Black Friday

7 วิธีหลีกหนีการช้อปเกินตัวช่วง Black Friday
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงสิ้นปีแบบนี้ถึงคราวเทศกาลแลกของขวัญ จับฉลาก หรือจะซื้อของที่ถูกใจให้คนที่คุณรักกันแล้วและการจับจ่ายในช่วงนี้ก็อาจสร้างความกดดันได้มาก เพราะต้องฝ่าฟันกับกองทัพขาช้อปที่แห่มาจับจ่ายในช่วงเวลาเดียวกัน อีกทั้งยังต้องหาสินค้าที่อยากได้และถูกกับเงินในกระเป๋าเราอีกด้วย

ทว่าสินค้าที่ต้องตา อาจไม่ได้มาในราคาที่ถูกใจ ไม่ต้องแปลกใจไป ในการสำรวจของ Experian บริษัทประเมินเครดิตส่วนบุคคล พบว่าชาวอเมริกัน 60% ก็ประสบเหตุการณ์เช่นเดียวกับคุณ เพราะพวกเขายอมรับว่าใช้เงินมากเกินไปในช่วงเทศกาลแห่งความสุข และที่ 63% ในการสำรวจเดียวกันนี้พบว่า การช้อปปิ้งช่วงเทศกาลส่งผลกระทบต่อสภาวะการเงินของพวกเขาอย่างมาก

ทาง CNBC รวบรวมคาถาจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน 7 ข้อ ที่จะช่วยให้เรารอดพ้นจากการช้อปเกินตัวช่วงเทศกาลในปีนี้ไปได้

1. ตั้งลิมิตการช้อป

ลองปรับวิธีการแลกของขวัญหรือจับฉลากกับเพื่อนฝูง ที่เราตั้งงบในการซื้อไว้เบื้องต้นไม่เกิน 100-500 บาท ไปใช้กับการซื้อของขวัญให้สมาชิกในครอบครัวดู

ร้อด กริฟฟิน หัวหน้าฝ่ายการศึกษาด้านผู้บริโภคของ Experian บอกว่า เป็นเรื่องไม่ผิดที่สมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงควรรู้ว่าเรามีงบประมาณสำหรับของขวัญคริสต์มาสหรือปีใหม่ไว้แค่ไหน และพวกเขาจะสามารถเลือกสิ่งที่ถูกใจในราคาที่เหมาะสมได้ เพราะหากไม่กำหนดลิมิตในตอนนี้ สิ่งที่เซอร์ไพรส์มากกว่าของขวัญที่พวกเขาจะได้ คือ บิลค่าบัตรเครดิตที่ยาวเป็นหางว่าว

2. รู้จุดอ่อนไหวต่อการเสียทรัพย์ของตัวเอง

คำกล่าวที่ว่า รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง เหมาะกับข้อนี้ เพราะแอนเดรีย โวรอช ผู้เชี่ยวชาญด้านการออมส่วนบุคคล บอกว่า คนเราจะซื้อของเกินความต้องการจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น เห็นป้าย Sale เป็นไม่ได้ หรือเห็นป้าย ซื้อเยอะถูกกว่า หรือซื้อครบ 500 ได้คืน 20 บาท แล้วบัตรเครดิตในมือสั่นรัว หรือบางคนเป็นพวกเพลงมันพาไป เพราะในการศึกษาของ American Psychological Association เมื่อปี 2005 พบว่า เสียงเพลงอาจช่วยให้นักช้อปจ่ายมากกว่าปกติได้ ดังนั้นทางแก้ไข คือ รู้จุดอ่อนของตัวเองก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเสียเงินเกินกว่าเหตุได้

3. ทำการบ้านให้ดี - มีแผนชัดเจน

สำหรับขาประจำจะทราบกันดีว่าห้างร้านจะมีคาตาล็อกออนไลน์ล่วงหน้าสำหรับ Black Friday และ Cyber Monday ให้ทำการบ้านกันได้ล่วงหน้า บางครั้งสามารถบันทึกไว้ในรายการที่ต้องการ เพื่อเปรียบเทียบราคาสินค้าว่าคุ้มค่าที่จะจ่ายหรือไม่ อย่าลืมทำรายการของสำรองไว้ เผื่อไปซื้อในห้างแล้วของขาดตลาดพอดี ก็ยังมีตัวเลือกสำรองที่ต้องการรออยู่ในราคาที่กำหนด

4. เข้าคอร์ส “ไดเอ็ทด้วยเงินสด”

หัวหน้าฝ่ายการศึกษาด้านผู้บริโภคของ Experian ย้ำว่า บัตรเครดิตอาจไม่เหมาะกับทุกคน และ 60% ของชาวอเมริกันในการสำรวจของ Experian ตั้งเป้าว่าจะกำเงินสดไปช้อปในปีนี้

ยกตัวอย่างเช่น คุณตั้งงบในการช้อปในวัน Black Friday ไว้ที่ 200 ดอลลาร์ หรือประมาณ 6,000 บาท ก็ออกไปถอนเงินสดออกมาแค่นั้น ถ้าเงินหมดก็กลับบ้าน โดยไม่ต้องร้าวรานกับค่าบัตรเครดิต

5. ติดตามการใช้จ่ายใกล้ชิด

วิธี “ไดเอ็ทด้วยเงินสด” อาจไม่ได้ผลหากเราต้องช้อปออนไลน์ในวัน Cyber Monday วันจันทร์แรกหลังวันขอบคุณพระเจ้า ที่จะมีส่วนลดสินค้าออนไลน์มากมายหลายรายการ เป็นช่วงเก็บตกหลัง Black Friday ของทุกปี

ทางที่ดี กลับไปลิสต์รายการสินค้าที่ต้องการ ถ้าช้อปในห้างโดยตรงด้วยเงินสดไม่ได้ ให้กำหนดงบสำหรับช้อปออนไลน์อีกก้อนไว้ เพื่อไม่ให้บานปลายในภายหลัง

6. ส่งฟรีไม่มีในโลก

อย่าเป็นพวกเสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย .. ระวังการกระหน่ำจ่ายเพื่อให้ได้ส่วนลด-สิทธิพิเศษ อย่างเช่น ซื้อครบ 1,000 บาทส่งฟรี เพราะหากเราต้องการของราคา 200 บาท แต่ค่าส่งแค่ 50 บาท เราคงไม่อยากทุ่มอีก 800 ไปโดยไม่จำเป็นแน่ๆ

7. เตรียมช้อปไว้ล่วงหน้าไม่ต้องรอ Black Friday

ร้อด กริฟฟิน บอกว่า จริงๆแล้วการช้อปสินค้าช่วงเทศกาล ควรเริ่มซื้อตั้งแต่เดือนมกราคม ไม่ใช่รอให้ถึงเดือนสุดท้ายของปีไปแล้ว ที่เป็นแบบนี้เพราะส่วนลดมหาศาลล้านแปดจะมากองในช่วงหลังเทศกาล หรือช่วงหมดฤดูกาลไปแล้วนั่นเอง ถ้าสามารถวางแผนว่าจะซื้อสินค้าหมวดหมู่อะไรได้ก่อน แล้วกระจายเงินในการช้อปออกไปได้ทั้งปี ก็จะช่วยให้คุณซื้อหาของขวัญที่มีค่าในช่วงเทศกาล โดยไม่ผลาญเงินหมดกระเป๋าได้

กริฟฟิน ส่งท้ายไว้ว่าไม่จำเป็นต้องไปกังวลกับการช้อปปิ้งส่งท้ายปีมากเกินไป เพราะเมื่อผ่านพ้นไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ของปีใหม่ ส่วนใหญ่คงลืมไปแล้วว่าได้อะไรมาในช่วงคริสต์มาสปีก่อน แต่สิ่งที่ทุกคนจดจำได้ดีกว่า ก็คือ การได้ใช้เวลาอันมีค่ากับพ่อแม่พี่น้อง เพื่อนฝูง และคนที่รักในช่วงเทศกาลแห่งความสุขแบบนี้อย่างไร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook