เผยบุหรี่ตัวการก่อมะเร็ง 14 ชนิด

เผยบุหรี่ตัวการก่อมะเร็ง 14 ชนิด

เผยบุหรี่ตัวการก่อมะเร็ง 14 ชนิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รศ.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ นายกสมาคมมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย และเลขาธิการศูนย์โรคมะเร็งครบวงจรแห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวในงานแถลงข่าว “โรคมะเร็ง...กับบุหรี่” ว่า บุหรี่ทำให้เกิดโรคในหลายๆ ระบบ โดยเฉพาะโรคมะเร็งที่เป็นได้มากถึง14 ชนิดในอวัยวะต่างๆ ตั้งแต่ มะเร็งคอ ช่องปาก หลอดลม ปอด หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ เต้านม และปากมดลูก เป็นต้น

ทั้งนี้ มะเร็งที่เกิดมากที่สุด คือ มะเร็งปอด ถือเป็น 1 ใน 3 โรคที่พบมากที่สุด โดยเพศชาย พบเป็นโรคมะเร็งตับมากเป็นลำดับที่ 1 รองลงมาคือ มะเร็งปอด ส่วนผู้หญิงพบเป็นมะเร็งเต้านมมากเป็นลำดับที่ 1 รองลงมาเป็น มะเร็งปอด ซึ่งผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดร้อยละ 60-70 เกิดจากการสูบบุหรี่

รศ.นพ.วิโรจน์ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ชายถือว่ามีความเสี่ยงเกิดมะเร็งปอดมากกว่าเนื่องจากมีอัตราการสูบบุหรี่ถึง ร้อยละ 40 แต่พบว่าผู้หญิงโดยเฉพาะแม่บ้านหรือผู้อยู่บ้านเดียวกับผู้ที่สูบบุหรี่ในบ้านก็มีอัตราเสี่ยงพอๆ กัน จากการได้รับควันบุหรี่มือสองนอกจากมะเร็งปอดยังพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักเกิดโรคแทรกซ้อนร่วมด้วย เช่น ถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน ทำให้ผู้ป่วยเกิดความทุกข์ทรมานมากกว่าปกติ และยังทำให้ร่างกายตอบสนองการรักษาได้ไม่ดี

รศ.นพ.วิโรจน์ กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว ทุกฝ่ายจึงจำเป็นเป็นต้องช่วยกันผลักดัน ร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. ... ที่กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายสุขภาพกว่า 700 องค์กร ร่วมกับประชาชนจากทุกสาขาอาชีพกว่า 1 แสนคน ร่วมสนับสนุน หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะช่วยให้มาตรการลดผู้สูบบุหรี่ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ซึ่งเหตุผลที่ต้องลดปริมาณผู้สูบบุหรี่นั้น ตรงไปตรงมา เพราะต้องการลดปัญหาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ลดคนที่ได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ลง ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุหรือครอบครัว รวมทั้งงบประมาณด้านสาธารณสุข ที่ควรนำไปใช้ให้เพื่อสร้างสุขภาพให้กับคนในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาโรคที่ป้องกันไม่ได้ หรือการให้วัคซีนกับเด็กเพื่อป้องกันโรค ถือเป็นการลงทุนทางสุขภาพที่คุ้มค่ากว่าการรักษาที่สุดท้ายจะไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิต หรือมีชีวิตอยู่ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook