อันตรายจากควันบุหรี่มือสาม

อันตรายจากควันบุหรี่มือสาม

อันตรายจากควันบุหรี่มือสาม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การศึกษาครั้งใหม่จากมหาวิทยาลัยเยลระบุว่าควันบุหรี่มือสาม หรือสารปนเปื้อนยาสูบที่ติดอยู่ตามฝาผนัง เครื่องนอน พรม และพื้นผิวอื่นๆ จนกระทั่งห้องทั้งห้องที่มีกลิ่นเหมือนที่เขี่ยบุหรี่นั้น สามารถติดอยู่ตามร่างกายและเสื้อผ้าของผู้สูบบุหรี่ได้เช่นกัน
การศึกษาระบุว่าสารเคมีที่เป็นพิษเหล่านั้น รวมถึงสารนิโคติน สามารถแพร่กระจายไปสู่สภาพแวดล้อมที่ไม่เคยมีการสูบบุหรี่เลยเช่นในโรงภาพยนตร์

และที่แย่ยิ่งกว่านั้น จากการศึกษาพบว่าระดับสารเคมีที่ได้รับอาจเทียบเท่าการสูบบุหรี่ระหว่าง 1 ถึง 10 มวนเลยทีเดียว

Drew Gentner ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมเคมีและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยเยลกล่าวว่า คนเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ควันบุหรี่มือสามปนเปื้อนไปสู่สภาพแวดล้อมอื่นๆ และว่าการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances เมื่อวันพุธที่ 4 มีนาคม อาจเป็นการศึกษาชิ้นแรกที่แสดงให้เห็นว่าผู้คนสามารถส่งผ่านนิโคตินและสารเคมีที่เป็นพิษอื่นๆ ไปยังเสื้อผ้าของตนหลังจากการสูบบุหรี่

ควันบุหรี่มือสาม ที่จริงแล้วไม่ใช่ควันบุหรี่เลย แต่เป็นสารตกค้างของนิโคตินและสารเคมีอื่นๆ ในบุหรี่ ซึ่งบางชนิดเป็นพิษและยังคงติดอยู่นานหลังจากที่สูบบุหรี่หมดไป
สารเคมีบางชนิดเกาะติดกับพื้นผิว และบางชนิดเกาะติดกับฝุ่นละออง และยังมักจะเจาะลึกเข้าไปในแผ่นผนัง ผ้าม่าน และเบาะรองนั่งต่างๆ สารประกอบที่หลงเหลืออยู่อาจทำปฏิกิริยากับสารอนุมูลอิสระหรืออนุภาคอื่นๆ ในบรรยากาศในห้อง ปฏิกิริยาทางเคมีเหล่านั้นสามารถสร้างสารที่เป็นอันตรายที่ลอยไปมาในอากาศได้

วิทยาศาสตร์ได้รู้จักเกี่ยวกับมลพิษทางสิ่งแวดล้อมประเภทนี้มานานหลายปีแล้ว ทำให้มีการสร้างห้องสำหรับผู้สูบบุหรี่และห้องปลอดบุหรี่ ในโรงแรมรวมถึงตามร้านอาหารต่างๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม มีการพบควันบุหรี่มือสามในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีคนสูบบุหรี่ ทำให้นักวิจัยเกิดคำถามว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?

เพื่อหาคำตอบให้กับเรื่องนี้ Gentner และนักศึกษาปริญญาเอกของเขาบางคนได้ร่วมทำการทดลองในโรงภาพยนตร์ที่ไม่อนุญาตให้สูบบุหรี่มานานกว่า 15 ปี พวกเขาส่งอากาศบริสุทธิ์เข้าไปในโรงหนังเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการสูบบุหรี่หรือสิ่งปนเปื้อนอื่นๆ เข้ามาในบริเวณนั้น

จากนั้นใช้อุปกรณ์ที่มีความทันสมัยวัดอนุภาคในอากาศก่อนเข้าชมและหลังเข้าชมภาพยนตร์ นักวิจัยพบว่ามีสารเคมีที่เป็นอันตรายในระดับสูงเมื่อผู้คนเข้ามาในโรงภาพยนตร์และความเข้มข้นก็เพิ่มมากขึ้นและลดลงตามเวลาที่ผ่านไป

แต่สารเคมีเหล่านั้นก็ไม่ได้หายไปจนหมดหลังจากที่ผู้ชมออกจากโรงภาพยนตร์ Gentner กล่าวเสริมอีกว่า ในหลายๆ กรณีการปนเปื้อนอย่างต่อเนื่องนั้นสามารถสังเกตเห็นได้ในวันถัดไปในโรงภาพยนตร์ที่ไม่มีคนดู

ทั้งนี้ นักวิจัยทำการทดสอบอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 วันในประเภทภาพยนตร์ที่แตกต่างกัน บางทีอาจจะไม่น่าแปลกใจเลยที่ระดับนิโคตินและสารเคมีอื่นๆ ลดลงในโรงภาพยนตร์ที่ภาพยนตร์เรท G ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์สำหรับเด็กๆ
แม้ว่าจะมีผู้ชมภาพยนตร์เรท G ยอดนิยมมากกว่า 200 คน แต่มลพิษในโรงภาพยนตร์ที่ฉายหนังเรท R ก็ยังมากกว่าถึงแม้จะมีผู้ชมน้อยกว่าก็ตาม เนื่องจากภาพยนตร์เหล่านั้นน่าจะดึงดูดผู้ชมที่มีอายุมากกว่าซึ่งอาจมีแนวโน้มในการสูบบุหรี่มากกว่า

องค์การอนามัยโลกระบุว่าแม้จะมีการลดการสูบบุหรี่ในบางประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ก็ยังมีผู้สูบบุหรี่กว่าพันล้านคนทั่วโลก และจากจำนวนผู้สูบบุหรี่นับพันล้านคนนั้น มีส่วนร่วมในการเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองประมาณ 880,000 ราย

อย่างไรก็ดี การศึกษาดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นว่าการสูบบุหรี่ ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่นได้ แม้ว่าจะสูบในพื้นที่อื่นๆ ก็ตาม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook