เครียดอยู่หรือเปล่า? “ฟังเพลง” ช่วยได้
การอยู่บ้านนาน ๆ ช่วงนี้ทำเอาหงุดหงิดไม่น้อย ขนาดคนที่ไม่ค่อยชอบออกจากบ้านยังบ่นกันระงมว่าเริ่มจะทนไม่ไหวแล้ว เพราะปกติ ถึงเราจะเบื่อหน่ายกับการออกไปทำงาน 5-6 วันต่อสัปดาห์ แต่ก็ยังได้เปิดหูเปิดตา เปลี่ยนบรรยากาศ ได้พบปะผู้คน ตกเย็นยังได้แวะห้างกินข้าวดูหนัง ต่างจากตอนนี้ที่ทำได้แค่นั่ง ๆ นอน ๆ ในห้องสี่เหลี่ยม เสพข่าวสารเครียด ๆ แหล่งบันเทิงใจก็ไม่มี จนทำให้บางคนถึงกับจิตตกอยู่เหมือนกัน
ช่วงนี้การฟังเพลง จึงเป็นกิจกรรมที่หลายคนเลือกใช้เพื่อผ่อนคลายความเหงาเวลาอยู่บ้าน ซึ่งการใช้ดนตรีเพื่อเยียวยาอาการไม่ปกติของร่างกายนั้นศึกษากันเป็นศาสตร์เลยทีเดียว โดยที่ผ่านมามีงานวิจัย การศึกษาที่พัฒนาจนเป็นโปรแกรมดนตรีบำบัดที่ใช้รักษาผู้ป่วยได้จริง
ดนตรีบำบัด (music therapy) คือการนำกิจกรรมดนตรี ทั้งร้องเล่นเต้นรำ การแต่งเพลง การวิเคราะห์เนื้อเพลง มาบำบัดความเจ็บป่วยของร่างกาย อารมณ์ และสติปัญญา มีหลักฐานว่ามีการใช้ดนตรีเป็นยามานานแล้ว ย้อนไปได้ถึงงานเขียนของอริสโตเติลและเพลโต ซึ่งเป็นความคิดที่จะนำดนตรีมาใช้บำบัดจิตใจตามแนวทางของนักปรัชญา จนมาถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ก็มีการใช้ดนตรีบำบัดกับบรรดาทหารที่บาดเจ็บทั้งร่างกายและจิตใจจากสงคราม
ในปี 1940 E. Thayer Gaston “บิดาแห่งดนตรีบำบัด” มีบทบาทสำคัญในการศึกษาดนตรีบำบัดอย่างจริงจัง จนเกิดเป็นวิทยาลัยที่เปิดสอนโปรแกรมดนตรีบำบัดครั้งแรก จากนั้นก็มีคนศึกษามาเรื่อย ๆ เช่น Buckwalter et.al (1985) พบว่าดนตรีมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงร่างกายและจิตใจของมนุษย์ การแพทย์สามารถนำมาใช้ลดความกังวล ความกลัว เพิ่มการเคลื่อนไหว และสร้างแรงจูงใจ (อ้างอิงข้อมูลจาก musictherapy.org)
ด้วยดนตรีนั้นมีหลายรูปแบบ เป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะดนตรีประเภทใดก็สามารถกระตุ้นการทำงานของสมองได้เกือบทุกส่วน เช่น การได้ยิน การควบคุมการเคลื่อนไหว ผ่อนคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ในด้านจิตใจ เร้าอารมณ์ความรู้สึก ความตระหนักรู้ ความเข้าใจ ความจำ ลดอาการซึมเศร้าได้ถึงร้อยละ 25 และช่วยบำบัดอาการนอนไม่หลับได้ด้วย
ในช่วงที่เราต่างต้องเผชิญกับความเครียดในทุก ๆ ด้านจาก COVID-19 สภาพจิตใจจึงจำเป็นต้องได้รับการเยียวยา ซึ่งคำแนะนำนี้มาจาก อ.วิพุธ เคหะสุวรรณ หัวหน้าสาขาวิชาดนตรีบำบัด วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ระบุว่าการฟังหรือเล่นดนตรีจะช่วยลดความเครียดและวิตกกังวลได้ เพราะไปกระตุ้นให้สมองหลั่งฮอร์โมน “โดพามีน (Dopamine)” ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ช่วยกระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจ เพิ่มความดันโลหิต ทำให้เรารู้สึกตื่นตัว สดชื่น กระฉับกระเฉง มีสมาธิมากขึ้น และเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้
ทั้งนี้ การฟังเพลงเพื่อการบำบัด ควรเลือกเพลงที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลายสำหรับเราที่สุด หากเป็นเพลงที่มีเสียงธรรมชาติก็จะดีมาก โดยฟังพร้อมกับการฝึกหายใจ หายใจเข้าช้า ๆ นับ 4 วินาที กลั้นไว้ 4 วินาที จากนั้นก็ค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจอีก 4 วินาที ซึ่งการกำหนดลมหายใจจะช่วยเพิ่มออกซิเจนให้กับร่างกาย จดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ทำให้เราเพลิดเพลินจนหลุดจากความเครียดในขณะนั้นได้ในระดับหนี่งเลยทีเดียว
ดังนั้น ถ้าคุณกำลังรู้สึกเครียดมาก ๆ ลองผ่อนคลายด้วยการเปิดเพลงที่ชอบฟังดู แล้วจะพบว่าดนตรีสามารถบำบัดความเครียดได้จริง
ขอบคุณข้อมูล : งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยมหิดล