7 เคล็ดลับเพื่อความอยู่รอดในการทำงานที่บ้านร่วมกับคู่ครอง
คนทำงานทั่วประเทศต่างต้องแบ่งพื้นที่ที่ทำงานแห่งใหม่ ให้กับเพื่อนร่วมงานคนใหม่ หรือคู่ครองของพวกเขานั่นเอง
การทำงานที่บ้านกับคู่ครองอาจจะสนุกอยู่สักสองสามวัน ได้ทานอาหารกลางวันด้วยกัน ทานอาหารค่ำด้วยกันเร็วขึ้นเพราะไม่ต้องฝ่ารถติด แต่หลังจากนั้นไม่นานก็อาจกลายเป็นความอึดอัดได้
Anthony Chambers นักจิตวิทยาด้านคู่ครองและครอบครัว และหัวหน้าเจ้าหน้าที่วิชาการของสถาบันครอบครัว มหาวิทยาลัย Northwestern กล่าวว่าภารกิจหลักของชีวิตการแต่งงานคือการพยายามรับมือกับความแตกต่างของกันและกันให้ได้
ตอนนี้คู่รัก หรือคู่ครองที่ต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลาวันละ 24 ชั่วโมง อาทิตย์ละ 7 วัน ก็จะมองเห็นความแตกต่างทุกๆ อย่างเด่นชัดขึ้น เพราะเวลาที่ได้อยู่ห่างกันวันละ 8-12 ชั่วโมง ก็จะช่วยให้สามารถมองข้ามปัญหาเหล่านั้น
7 เคล็ดลับเพื่อความอยู่รอดจากปัญหาดังกล่าวมีดังนี้
1. ยอมรับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะที่ผ่านมาเราเคยได้ยินแต่คำพูดที่ว่า ไม่ควรนำงาน และเรื่องส่วนตัวมาปะปนกัน แต่ตอนนี้จะต้องทำใจยอมรับกับความเปลี่ยนแปลง และปัญหาที่จะต้องเผชิญ การที่จะต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลาอาจทำให้ความสัมพันธ์กระทบกระทั่งกันได้ (Anthony Chambers)
2. วางแผนสำหรับวัน ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่จะต้องพูดคุยสื่อสารกันให้บ่อยขึ้น ดังนั้นควรใช้เวลาไม่กี่นาทีในทุกๆ เช้าเพื่อพูดคุยกันว่าเมื่อวานทำอะไรบ้าง ดีหรือไม่ดีอย่างไร และวางแผนว่าวันนี้ควรจะทำอะไรบ้าง (Melanie Katzman นักจิตวิทยาด้านธุรกิจ)
3. หลีกเลี่ยงการทำงานในห้องนอน ถ้าเป็นไปได้ควรแยกกันทำงานคนละที่ และหลีกเลี่ยงการใช้ห้องนอนเป็นที่ทำงาน ห้องนอนควรเป็นสถานที่สำหรับคุยกัน นอนหลับ หรือไว้สำหรับเวลาโรแมนติกเท่านั้น (Kathy Marshack นักจิตวิทยาในรัฐโอเรกอน)
4. กำหนดสถานที่ 'ห้ามรบกวน' ไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าการถูกรบกวนในระหว่างการทำงาน หรือในเวลาที่กำลังเร่งงานให้เสร็จตามกำหนดการ ดังนั้นควรปักหมุดพื้นที่ในการทำงาน หรือช่วงเวลาของวันที่ไม่ต้องการถูกรบกวน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีวิธีที่จะแสดงให้เห็นว่าพร้อมที่จะถูกกวนได้ อย่างเช่นการนั่งทำงานที่โต๊ะอาหาร อาจหมายถึงว่ากำลังตอบอีเมล หรือทำงานเบาๆ ซึ่งสามารถหยุดชั่วคราวได้ แต่ถ้าหากปิดประตูห้องทำงาน ก็หมายถึงการที่ไม่ต้องการถูกรบกวน
5. ไม่ปฏิบัติต่อคู่สมรสเหมือนเป็นเพื่อนร่วมงาน แม้ว่าจะคิดถึงการที่ได้ระดมสมองกับเพื่อนร่วมงาน หรือการปรึกษาหารือ หรือพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานเรื่องความอึดอัดใจในการประชุมทางโทรศัพท์ครั้งล่าสุด แต่ก็ไม่ควรทำเช่นนั้นกับคู่สมรส เพราะในตอนนี้ทั้งคู่ต้องช่วยกันทำงานบ้าน และช่วยกันเลี้ยงลูกอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ควรเพิ่มภาระให้แก่กันและกัน แต่ควรติดต่อพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานมากกว่า (Melanie Katzman)
6. ควรมีรหัสคำพูด ในสถานการณ์เช่นนี้ ย่อมมีทั้งวันที่ดีและวันที่ร้าย หากรู้สึกเครียดมากจนอยากจะระเบิดออกมา ควรมีรหัสคำพูดที่เป็นการส่งสัญญาณว่าต้องการจะหยุดพัก (Melanie Katzman)
7. หาแพะรับบาป โดยการจินตนาการชื่อคนคนหนึ่งขึ้นมาเพื่อหลีกเลี่ยงการที่ต้องโยนความผิดใส่คู่ครองของตนโดยตรง แต่โยนความผิดให้แพะแทน ซึ่งจะช่วยทำลายความตึงเครียด และช่วยให้เกิดเสียงหัวเราะได้ (Melanie Katzman)