ดื่มออนไลน์ (On-Nomi) อย่างไรไม่ให้เสพติดแอลกอฮอล์ช่วง Lockdown
ในช่วงเวลานี้ จากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทั้งผู้คนและธุรกิจในญี่ปุ่นต้องพากันปรับตัวภายใต้ข้อจำกัดที่ต้อง “อยู่บ้าน” เพื่อป้องกันการติดต่อของไวรัส ทำให้การใช้ชีวิตบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การช็อปปิ้ง การกินดื่ม จำเป็นต้องหันมาพึ่งระบบออนไลน์ สังสรรค์กันผ่านทางหน้าจอแทน ทำให้เกิดเป็นศัพท์ใหม่ On-Nomi ที่มาจากคำว่า Online Nomi คือการดื่มสังสรรค์ทางออนไลน์ โดยผู้คนจะนั่งดื่มกันที่บ้านของตัวเอง สนทนากันผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Zoom, Skype, Face Time ฯลฯ
On-Nomi ช่วยรักษาระยะห่างและป้องกันการแพร่ระบาดได้ แต่การกินดื่มทางออนไลน์ โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็มีผลเสียตามมา เช่น ปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ที่สูงขึ้น โดยมีหลายข้อความเกี่ยวกับ On-Nomi ถูกทวีตลงใน twitter ซึ่งทำให้ทราบว่ามีชาวญี่ปุ่นหลายคนประสบปัญหาไม่สามารถควบคุมปริมาณการดื่มของตนเองได้ ตัวอย่างเช่น
“Zoom-Nomi ทำให้ไม่ต้องคำนึงเวลาปิดร้านหรือเวลารถไฟหมด ไม่รู้ว่าจะหยุดดื่มตอนไหนดี เลยทำให้ดื่มมากไปหน่อย”
“พอนั่งดื่มอยู่หน้าจออย่างเดียว ทำให้ความเร็วในการดื่มไวขึ้น”
“ฉันรู้สึกว่าปริมาณแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นจากความเครียดที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน”
เพื่อไม่ให้คนเสพติดแอลกอฮอล์มากเกินไปในช่วงที่ต้องอยู่บ้าน คุณซาโต้ นักสุขภาพจิตและนักสังคมสงเคราะห์แห่งกรมสุขภาพจิต จึงได้ออกมาให้คำแนะนำหลักการ 3 ข้อ ในการควบคุมปริมาณการดื่มทางออนไลน์ รวมถึงดื่มคนเดียวอยู่ที่บ้านไว้ว่า
1. กำหนด “เวลา” และ “ปริมาณ” ในการดื่มออนไลน์
ในการเข้าร่วม On-Nomi ควรมีการกำหนด “เวลา” และ “ปริมาณ” ในการดื่มไว้ล่วงหน้า เนื่องจากความเครียดและความเหงาที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน ทำให้ผู้คนหันมาคลายเครียดด้วยการดื่ม สนทนาพูดคุยกันได้โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงเวลากับบ้านและเวลาปิดร้าน ซึ่งอาจทำให้เวลายืดเยื้อออกไปและดื่มมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้ ถึง On-Nomi จะเป็นการดื่มกันเป็นกลุ่ม แต่แท้จริงแล้วคือการดื่มคนเดียว ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่จะนำมาซึ่งปัญหาการเสพติดแอลกอฮอล์ได้ง่าย
2. จดบันทึกการดื่มของตนเอง (Recording)
สำหรับผู้ที่รู้ตัวเองว่าดื่มมากไปและต้องการลดปริมาณ ควรมีการบันทึกวัน ปริมาณในการดื่ม และวันที่ไม่ดื่มของตนเองไว้ เช่น ใน 1 สัปดาห์ มีวันที่ดื่มมากๆ 2 วัน ดื่มนิดหน่อย 3 วัน หรือไม่ดื่ม 2 วัน หากบันทึกไว้ในลักษณะนี้ จะทำให้เรามองเห็นรูปแบบการดื่มของตนเอง และควบคุมการดื่มของตนเองได้ง่ายขึ้น
3. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดความเครียดและความวิตกกังวลจากการที่ต้องต่อสู้กับไวรัสที่ไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่ แต่การจัดการกับความวิตกกังวลและความหงุดหงิดด้วยการดื่มแอลกอฮอล์อาจจะได้ผลลัพธ์ที่ตรงกันข้าม จึงควรระมัดระวัง และวางแผนปริมาณการดื่มให้ดีหากไม่สามารถจัดการด้วยตนเองได้ เพราะปัญหาการดื่มของแต่ละคนต่างกัน หากพบว่ามีความผิดปกติหรือมีความกังวลใจ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาวิธีการควบคุมและจัดการที่เหมาะสม
สรุปเนื้อหาจาก : news.yahoo