5 วิธีง่าย ๆ เลี่ยงภาวะ “หมดไฟ” ในการทำงาน

5 วิธีง่าย ๆ เลี่ยงภาวะ “หมดไฟ” ในการทำงาน

5 วิธีง่าย ๆ เลี่ยงภาวะ “หมดไฟ” ในการทำงาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภาวะหมดไฟสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทำงานทุกคน ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ มีอยู่ไม่กี่อย่าง หากไม่เป็นเพราะงานหนักเกินไป ก็เป็นเพราะสภาพแวดล้อมในที่ทำงานไม่ดี มีเจ้านายและเพื่อนร่วมงานแย่ ๆ จนทำให้ไม่มีความกระตือรือร้นที่อยากจะทำงานอีกต่อไป

หากไม่อยากให้ตนเองต้องเกิดอาการหมดไฟ ทั้งที่ยังรักในงานที่ทำอยู่ Tonkit360 มี 5 วิธีง่าย ๆ ในการเลี่ยงภาวะ “หมดไฟ” มาฝากกัน

1. นอนหลับ
อาการนอนไม่หลับ คือหนึ่งในสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังหมดไฟ และเมื่อไม่สามารถข่มตาให้หลับได้ สมองก็จะไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากนอนน้อยเกินไปก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพตามมา และยังส่งผลให้ตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ได้แย่ลงด้วย

การนอนหลับให้เพียงพอจึงสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของคุณ ซึ่งทางวิทยาศาสตร์มีการพิสูจน์แล้วว่าควรนอนให้ได้ประมาณ 7-9 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ จะได้ตื่นมาด้วยความสดชื่น พร้อมเริ่มต้นทำงานในวันใหม่

2. ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายส่งผลดีทั้งต่อร่างกายและจิตใจ หากออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยลดระดับความเครียดลงได้ ทำให้ความจำดีขึ้น และยังช่วยเพิ่มความ Productive ให้กับตนเองด้วย

นอกจากนี้ ก็ยังช่วยให้คุณรู้สึกดีที่ได้ดูแลตัวเองให้ดูดีขึ้น ช่วยปลุกพลังให้พร้อมสำหรับการทำงานหลังจากตื่นนอนในแต่ละวัน และยังช่วยป้องกันอาการหมดไฟที่เกิดจากความเหนื่อยล้าทั้งทางร่างกายและจิตใจได้ด้วย

3. หัวเราะ
รู้หรือไม่ว่าการหัวเราะช่วยลดความตึงเครียดได้ และยังส่งผลในเชิงบวกทั้งระยะสั้นและยาวด้วย ซึ่งผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่าการหัวเราะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารสื่อประสาทที่ช่วยต่อต้านความเครียด และภาวะเจ็บป่วยอื่น ๆ

ดังนั้น จึงควรหาโอกาสให้ตัวเองได้หัวเราะออกมาบ้าง เช่น พูดคุยกับเพื่อนร่วมงานที่เป็นคนฮา ๆ หรือดูหนังตลกคลายเครียดหลังจากเลิกงาน

4. เข้าสังคม
ควรหาเวลาเจอเพื่อนฝูงนอกที่ทำงานบ้าง เพื่อเป็นการเติมเต็มอารมณ์ของคุณ เพราะการมีสังคมแค่ที่ทำงาน และอุทิศตัวเองให้กับการทำงานเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีกิจกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากเรื่องงานเลย จะทำให้เกิดภาวะหมดไฟได้ง่าย ๆ

เมื่อถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ นอกจากพักผ่อนให้เต็มที่แล้ว ก็ควรออกไปมีกิจกรรมนอกบ้านกับเพื่อนฝูง ดูหนัง ฟังเพลง หรือไปแฮงก์เอาต์ด้วยกัน เพื่อเติมพลังให้กับตนเองก่อนเริ่มต้นการทำงานในสัปดาห์ถัดไป

5. หัดปฏิเสธ
บางครั้งการทำงานไม่ว่าอาชีพใดก็ตาม อาจจำเป็นต้องพูดปฏิเสธบ้างหากมีงานต่าง ๆ ประเดประดังเข้ามาพร้อมกันหมด ซึ่งสิ่งสำคัญคือการจัดลำดับความสำคัญของงานให้เป็น โดยเลือกทำงานที่สำคัญที่สุดหรือจำเป็นที่สุดก่อนเป็นลำดับแรก

หากไม่กล้าเอ่ยคำปฏิเสธออกไป และรับงานทุกอย่างมาไว้ที่ตัวเองคนเดียว ทั้งที่สามารถแจกจ่ายงานให้กับผู้อื่นได้ ก็อาจทำให้เกิดความเครียดจนส่งผลให้เกิดอาการหมดไฟโดยไม่รู้ตัว

ที่มา : forbes.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook