รู้หรือเปล่า? “เหล้าหวาน” (อามะซาเกะ) เคยเป็นเครื่องดื่มประจำฤดูร้อนในญี่ปุ่นสมัยก่อน

รู้หรือเปล่า? “เหล้าหวาน” (อามะซาเกะ) เคยเป็นเครื่องดื่มประจำฤดูร้อนในญี่ปุ่นสมัยก่อน

รู้หรือเปล่า? “เหล้าหวาน” (อามะซาเกะ) เคยเป็นเครื่องดื่มประจำฤดูร้อนในญี่ปุ่นสมัยก่อน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็น “เหล้า” แต่ เหล้าหวานหรือ “อามะซาเกะ” (甘酒, Amazake) ก็มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำไม่ถึง 1% ทำให้ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่เครื่องดื่มประเภทซอฟต์ดริงค์ที่ได้รับความนิยมทั้งในกลุ่มเด็กไปจนถึงกลุ่มผู้สูงอายุ และสามารถหาซื้อได้ง่ายตามตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติหรือร้านสะดวกซื้อทั่วไปในประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงเหล้าหวาน หลายคนมักเข้าใจมันว่าเป็นเครื่องดื่มประจำฤดูหนาวที่ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น แต่ในอดีต เหล้าหวานเป็นเครื่องดื่มประจำฤดูร้อนของญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมอย่างมากเลยทีเดียว

ความสำคัญของเหล้าหวานกับฤดูร้อนของญี่ปุ่น
เหล้าหวาน เป็นเครื่องดื่มที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน โดยในหนังสือนิฮนโชกิ (日本書紀, Nihonshoki) หรือหนังสือพงศาวดารญี่ปุ่นที่ถูกเขียนขึ้นในยุคนาระได้จดบันทึกเกี่ยวกับต้นกำเนิดของเหล้าหวานเอาไว้ว่า ในยุคโคฟุง เหล้าหวานเคยถูกเรียกในชื่อ “อามะโนะทามุซาเกะ” (天甜酒, Amanotamuzake) และก่อนหน้านั้นยังเคยถูกเรียกในชื่อ “ฮิโตะโยะซาเกะ” (一夜酒, Hitoyozake) และ “โคะสาเกะ” หรือ “โคะซาเกะ” (醴酒, Kosake, Kozake) ที่หมายถึงเหล้ารสเข้มข้นด้วย

เมื่อเข้าสู่ยุคเอโดะ วัฒนธรรมการดื่มเหล้าหวานได้แพร่กระจายและเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนทั่วไปมากขึ้น จนเกิดอาชีพพ่อค้าหาบเร่ขายเหล้าหวานเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โดยเหล้าหวานทำมาจากวัตถุดิบหลัก 2 อย่างคือ โคเมะโคจิ (米こうじ, Komekouji) และ สาเกคาสุ (酒粕, Sakekasu) ที่คุณค่าทางโภชนาการสูง ทำให้เหล้าหวานถูกขนานนามว่าเป็น “IV drip to drink” หมายถึง การให้วิตามินและสารอาหารเข้าสู่กระแสเลือดผ่านการดื่ม

คนญี่ปุ่นในยุคนั้นทราบถึงคุณประโยชน์ของเหล้าหวานผ่านการสังเกตความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย โดยมักจะดื่มเหล้าหวานเพื่อป้องกันอาการอ่อนเพลียในช่วงฤดูร้อน และไม่นิยมดื่มเหล้าหวานแบบร้อน แต่จะนิยมดื่มเหล้าหวานแบบเย็น ๆ ชื่นใจมากกว่า ทำให้เหล้าหวานกลายเป็นที่ยอมรับและเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพประจำบ้านของคนทุกชนชั้นตั้งแต่ระดับรัฐบาลโชกุนไปจนถึงประชาชนธรรมดา อีกทั้งยังมีการจำกัดราคาขายเหล้าหวานสูงสุดไม่เกิน 4 มง (文, Mon เป็นหน่วยเงินญี่ปุ่นในสมัยก่อน 1 มงจะเทียบเท่าประมาณ 12 เยนในปัจจุบัน) เพื่อให้เด็ก ๆ สามารถซื้อดื่มกันได้ง่ายอีกด้วย จึงอาจเรียกได้ว่า เหล้าหวานกลายเป็นเครื่องดื่มที่สำคัญต่อประเทศญี่ปุ่นในสมัยนั้นมาก ๆ เลยก็ว่าได้

นอกจากนี้ “เหล้าหวาน” ยังเป็นคำศัพท์ที่ถูกเขียนถึงในกลอนไฮกุประจำฤดูร้อน จึงเป็นอีกหนึ่งข้อยืนยันว่า เหล้าหวานเคยเป็นเครื่องดื่มประจำฤดูร้อนของประเทศญี่ปุ่นในสมัยก่อน

สรุปเนื้อหาจาก : gaku-sha

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook