รู้จักที่มา “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ”

รู้จักที่มา “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ”

รู้จักที่มา “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วัฒนธรรมการดื่มแอลกอฮอล์เพื่อสังสรรค์นั้นแทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตของสังคมไทยมายาวนาน ดังจะเห็นได้จากแทบทุกกิจกรรมในชีวิตของคนไทยล้วนมี “สุรา” เข้ามาเกี่ยวข้อง แม้ว่าจะเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ทั้งงานบวช งานบุญประเพณี งานแต่งงาน งานศพ งานขึ้นบ้านใหม่ ก็ล้วนฉลองกันด้วยสุราทั้งสิ้น และยังรวมไปถึงทัศนคติที่เกี่ยวข้องกับภาวะของอารมณ์ เช่น อกหัก กดดัน เครียด เสียใจ ดีใจ ก็ต้องมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเกี่ยวข้องเสมอ

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของการดื่มสุรานั้นมีต้นทุนจากการสูญเสียด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีทั้งต้นทุนการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ต้นทุนการสูญเสียประสิทธิภาพในการทำงานจากการขาดงานและสูญเสียประสิทธิภาพขณะทำงาน ต้นทุนค่ารักษาพยาบาล ต้นทุนทรัพย์สินที่เสียหายจากอุบัติเหตุจราจรทางบก และต้นทุนเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายและฟ้องร้องคดี

ถึงแม้ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะต้องจ่ายภาษีให้กับกรมสรรพสามิต แต่เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ต้นทุนการสูญเสียด้านเศรษฐกิจกับภาษีที่เก็บได้มา ไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่สังคมไทยได้สูญเสียไป จึงนำมาสู่การควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมาตรการทางกฎหมายในการลดปัญหาที่เกิดขึ้น

การรณรงค์ “งดดื่มสุรา” มีมาตั้งแต่เมื่อใด
การรณรงค์เรื่องงดดื่มสุรานั้น เริ่มมีโครงร่างให้เห็นตั้งแต่ปี 2546 เมื่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และองค์กรภาคี มีโครงการ “งดเหล้าเข้าพรรษา” ขึ้น ซึ่งพบว่ามีผู้เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก จึงเริ่มมีแนวคิดว่าหากภาครัฐมีการกำหนดให้มีวันสำหรับงดดื่มสุราขึ้น ก็จะช่วยสนับสนุนให้มีคนสนใจอยากจะเข้าร่วมโครงการเลิกเหล้ามากขึ้น

จนมาในปี 2547 กระแสรณรงค์ให้มีวันงดดื่มสุราก็มีขึ้นมาอีก เนื่องจากภาคีเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจำนวนหลายหมื่นคน จากกว่า 200 องค์กร เตรียมประกาศให้วันเข้าพรรษาในปีนั้น ซึ่งตรงกับวันที่ 1 ส.ค. เป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ แต่ก็ไม่ได้เสียงตอบรับจากทางภาครัฐ การรวมตัวครั้งนั้นจึงเป็นเพียงการรวมพลคนงดเหล้าเข้าพรรษาเท่านั้น โดยเป็นการรวมพลครั้งใหญ่ที่สุดในการประกาศเจตนารมณ์ต่อเรื่องนี้

ในปี 2551 ความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดวันงดดื่มสุราแห่งชาติก็ได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง โดยในวันที่ 7 ก.ค. 2551 เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา เครือข่ายนักวิชาการเพื่อเฝ้าระวังปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มูลนิธิเมาไม่ขับ และภาคีเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ได้เข้าพบนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช เพื่อเรียกร้องให้มีวันดังกล่าว

ทำให้ในวันรุ่งขึ้น มีมติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 8 ก.ค. 2551 ประกาศให้วันเข้าพรรษาของทุกปีเป็น “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” จากที่ปกติจะรณรงค์แค่ “งดเหล้าเข้าพรรษา” เท่านั้น เริ่มต้นบังคับใช้ในวันที่ 18 ก.ค. 2551 ซึ่งเป็นวันเข้าพรรษาในปีนั้น

สิ่งที่จะทำกันในวันงดดื่มสุราแห่งชาติ
ในวันเข้าพรรษาของทุกปี หรือที่เป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ทำให้ร้านค้า ร้านของชำ ตลอดจนสถานประกอบการทุกแห่งทั่วประเทศ ต้องหยุดให้บริการและห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 28 ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลในวันหรือเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด โดยคําแนะนําของคณะกรรมการ ทั้งนี้ ประกาศดังกลาวจะกําหนดเงื่อนไขหรือข้อยกเว้นใด ๆ เท่าที่จําเป็น ซึ่งถ้าฝ่าฝืนก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้มอบคำขวัญประจำวันงดดื่มสุราแห่งชาติเป็นประจำทุกปี โดยในปี 2563 นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้คำขวัญว่า “สุราพาคิดน้อย ด้อยความปลอดภัย” เพื่อเตือนใจให้ทุกคนตระหนักว่าสุรานั้นมีโทษ โดยเฉพาะเรื่องของการขาดสติสัมปชัญญะ ซึ่งจะนำมาซึ่งความไม่ปลอดภัย

การงดเหล้ายังเป็น 1 ในศีล 5 ข้อ ที่ชาวพุทธพึงรักษา หรือจริง ๆ ควรจะเป็นทุกคน หากไม่มองว่าเรื่องเหล้าเป็นเรื่องที่ผิดศีลและวันเข้าพรรษาเป็นวันของศาสนาพุทธ ก็ควรมองว่าเหล้านั้นมีแต่ทำลายสุขภาพ และทำร้ายคนรอบข้าง อย่างน้อยที่สุดในช่วงเข้าพรรษาตลอด 3 เดือน ก็ควร “งด-ลด-ละ-เลิก” เพื่อเป็นพื้นฐานที่ตั้งใจจะเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างถาวร

ฉะนั้น ใครที่มีความคิดที่จะเลิกดื่มเหล้า วันเข้าพรรษาในปีนี้ ตรงกับวันที่ 6 ก.ค. ก็ถือเป็นฤกษ์ดีที่คอเหล้าจะได้งดและเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันอย่างจริง ๆ จัง ๆ เสียที

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook