ฟิล์ม พิชเญศ ชายในสูทน้ำเงินที่พักงาน ปั่นจักรยาน เที่ยวไทยในหนึ่งปี
- ฟิล์ม-พิชเญศ ใจทหาร คือบุคคลที่โดยปกติใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน แต่วันหนึ่งเขาตัดสินใจเลือกที่จะออกจากวิถีประจำวันด้วยการให้เวลาตัวเองหนึ่งปี พักงานแล้วออกไปปั่นจักรยานเที่ยวให้ทั่วเมืองไทย
- แรงบันดาลใจในการปั่นจักรยานเที่ยวไทยเกิดจากเรื่องราวการปั่นรอบโลกที่ฟิล์มเคยได้อ่าน แต่เขาบอกว่าสิ่งสำคัญกว่าการอ่านหาแรงบันดาลใจคือการตัดสินใจว่า จะลงมือทำหรือไม่ทำ
“อีก 3 ปีนะ จะไป ปั่นจักรยาน ทั่วไทย จะไปทุกจังหวัดในคราวเดียว มีเวลาเตรียมตัว 3 ปี ในเมื่อเราก็ใช้จักรยานปั่นไปไหนมาไหนทุกวันอยู่แล้ว แค่เปลี่ยนเส้นทางและสถานที่ปั่นก็คงไหวแหละ” ส่วนหนึ่งของข้อความที่ ฟิล์ม-พิชเญศ ใจทหาร ชายวัย 30 ปี เล่าย้อนถึงความตั้งใจของตนลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว
ฟิล์ม คือเจ้าของเพจ The Way I Bike เพจที่เป็นเหมือนบันทึกการเดินทางโดยจักรยานของเขา ฟิล์มเริ่มต้น ปั่นจักรยาน ด้วยเส้นทางสั้นๆ อย่าง หอพักกับมหาวิทยาลัย ตั้งแต่สมัยเรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะพักไปชั่วครู่ด้วยเงื่อนไขของเวลาเข้างาน ปัจจุบันเขาหวนกลับมาใช้จักรยานอีกครั้ง คราวนี้จะเรียกว่าเป็นอวัยวะที่ 33 ของเขาก็คงจะไม่ผิดนัก
“เริ่มจากจักรยานพับคันเล็กก่อน เอาขึ้นรถไฟฟ้าได้ ยังไม่ได้ถึงขั้นเต็มตัว มีขึ้นรถไฟฟ้าบ้าง สลับกันไปกับการปั่น แต่พอทำไปสักพักก็รู้สึกว่าปั่นไปเองง่ายกว่า ไม่ต้องยกขึ้นยกลง ตั้งแต่นั้นก็หันมาใช้จักรยานเต็มตัวในการไปไหนมาไหนตลอด”
และนี่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของแผนการที่เริ่มขึ้นเมื่อกลางปี 2015 ฟิล์มตัดสินใจใช้เวลา 3 ปี “เก็บเงิน” เพื่อที่จะออกจากงานไป ปั่นจักรยาน ให้ครบ 77 จังหวัดทั่วไทยใน 1 ปี จาก ภาคตะวันออก – กลาง – อีสาน – เหนือ – ใต้ – ตะวันตก นี่คือเส้นทางที่ฟิล์มใช้เวลาร่วมปีรวม 345 วันของเขาบนจักรยาน
Sarakadee Lite ชวนฟิล์มมาพูดคุยถึงการเดินทางครั้งนั้น และบ่ายวันที่เรานัดกัน ฟิล์มมาพร้อมจักรยานและชุดสูทสีน้ำเงินคู่ใจ ปั่นอย่างใจเย็นออกจากบ้านย่านเกษตรฯ ในช่วงเช้า เพื่อมาหาเราที่ย่านท่าเตียน
ทำไมถึงสนใจการปั่นจักรยาน
รู้สึกว่าการ ปั่นจักรยาน มันเดินทางง่าย และเป็นอะไรที่เซฟด้วย เราคำนวณได้ว่าถ้าจะไปจุดนี้ต้องใช้เวลาเท่าไรเราเตรียมการล่วงหน้าได้ ก็เลยโอเคที่จะใช้ในชีวิตประจำวัน อีกอย่างคือพอเปลี่ยนงานใหม่ ได้มาทำงานกับร้านปลูกปั่น ซึ่งเป็นร้านน้ำผักผลไม้ที่ต้อง ปั่นจักรยาน ไปส่ง พอไปทำงานร้านนี้ก็ทำให้การ ปั่นจักรยาน ตอบโจทย์กับเรามากขึ้น
ก่อนหน้านี้เคยปั่นจักรยานทางไกลมาก่อนไหม
ได้ปั่นยาวๆ ที่แรกเลยตอนช่วงวันหยุดสั้นๆ ตอนนั้นรู้สึกว่าไม่ได้ไปทะเลนานแล้ว เลยปั่นจากกรุงเทพฯ ไปบางแสน อันนั้นคือครั้งแรกที่ได้ออกจากกรุงเทพฯ ไปไกลๆ ส่วนครั้งที่ 2 คือตัดสินใจว่าอยากลองปั่นกลับบ้าน ปั่นกลับไปบ้านที่พิษณุโลก แล้วหลังจากนั้นก็ปั่นต่อ อยากไปบ้านพ่อ ก็นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปถึงโคราช แล้วปั่นจากโคราชกลับมากรุงเทพฯ จริงๆ ตอนนั้นในใจก็อยากปั่นไปทุกจังหวัดในประเทศไทยแล้วแหละ การปั่นกลับบ้านก็เหมือนเป็นการลองทดสอบตัวเองนิดหน่อยว่าการไปปั่นไกลๆ แบบนี้เราไหวไหม เราโอเคไหมกับการเดินทางแบบนี้
แพลนการออกไป ปั่นจักรยาน 1 ปีเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
จริงๆ ต้องย้อนไปไกล ตั้งแต่สมัยเรียนบังเอิญได้ไปอ่านเรื่องการปั่นรอบโลก แล้วอยู่ๆ ก็มีความคิดว่า ถ้าเราได้ไปแบบนี้ก็คงดี แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้จริงจัง เป็นเหมือนการจุดประกาย แล้วก็มีอีกอันหนึ่งที่เราได้ไปเห็นคือ เขาปั่นจากกรุงเทพฯ กลับบ้าน ตรงนี้เลยเป็นจุดทดลองที่เราปั่นกลับบ้านด้วย อย่างการปั่นรอบโลก เราก็ยังรู้สึกว่าเป็นอะไรที่ใหญ่เกินกำลังอยู่เหมือนกัน เราจะทำได้หรือเปล่า ช่วงที่ได้กลับมาปั่นจักรยานก็เลยคิดว่าเราลองอะไรที่เราไหวก่อนไหม ลดสโคปลงมาหน่อย เลยคิดว่า แค่ในไทยเราก็ยังไม่ค่อยได้ไปไหน ลองไปในไทยให้ทั่วก่อน แล้วก็คิดว่าเป็นสิ่งที่เราทำได้ ก็ประเทศเราอยู่แล้ว ไม่ได้ต้องเข้าออกอะไรยุ่งยาก อีกอย่างเราใช้จักรยานในชีวิตประจำวันอยู่แล้วด้วย เลยรู้สึกว่าสิ่งที่เราคิดไว้ตอนนั้น ตอนนี้เราน่าจะทำได้แล้ว
วางแผนอะไรเป็นอันดับแรกเมื่อคิดว่าจะออกไปปั่นจักรยานทั่วไทย
คิดว่าถ้าไป 1 ปีแล้วไม่มีรายได้เลย เราจะใช้ชีวิตยังไง ก็เลยวางแผนว่าต้องเก็บเงินได้ประมานเท่าไรถึงจะใช้เพียงพอตลอด 1 ปีโดยไม่ต้องทำงาน ก็ไปกินอยู่แบบประหยัด ไม่ได้ฟุ่มเฟือย ใช้เท่าที่งบประมาณจำกัด จริงๆ อาจจะมีวิธีที่ง่ายกว่านี้ แต่เราไม่ได้ทำ คือทำคลิปลงยูทูป ก็จะมีรายได้เข้ามา เดินทางไปด้วย ได้รายได้ไปด้วย แต่เราไม่ได้เตรียมตรงนั้น เลยตัดสินใจว่าหนึ่งปีใช้เงินเท่านี้ก่อนประมานนี้ ทีนี้พอเราแพลนไว้ว่าปี 2018 จะเริ่มเดินทาง ตอนนั้น ปี 2015 มันก็ถึงจุดที่เราคิดแล้วว่าถ้าไม่เก็บเงินตั้งแต่ตอนนี้ จะไม่ได้ตามที่เราวางแผนไว้แน่ๆ ถ้าเก็บช้ากว่านี้จะทำได้หรือเปล่า ต้องอดๆ อยากๆ เก็บให้ได้เดือนละหมื่นหรือเปล่าถึงจะพอ คือเราวางแผนที่จะเก็บทีละเล็กทีละน้อยไม่ได้ต้องก้อนใหญ่ เก็บไปเรื่อยๆ จนถึงเดดไลน์ที่ว่า โอเคฉันจะไปแล้วนะ ก็ไปได้ คือต้องบอกว่าแพลนเก็บเงินที่คิดเองทั้งหมด ไม่ได้ปรึกษาใครเลย เพราะจริงๆ ก็ไม่รู้ว่าตัวเองจะไปได้จริงหรือเปล่า เลยยังไม่กล้าที่จะบอกใคร มีช่วงท้ายๆ ถึงไปปรึกษาเรื่องจักรยานกับรุ่นพี่ที่เชี่ยวชาญว่าควรจะเลือกยังไง เพราะเราก็ไม่ค่อยมีข้อมูลเท่าไร
จักรยานที่ปั่นเที่ยวคือคันเดียวกับที่ใช้ในชีวิตประจำวันไหม
ตอนที่ไปเที่ยวคือซื้อคันใหม่ ซื้อเสร็จแล้วไปเลย จักรยานมีหลายประเภท เช่น เสือหมอบ เสือภูเขา แต่จักรยานที่เหมาะกับการเดินทางคือจักรยาน Touring แต่จริงๆ แล้วจักรยานอะไรก็ใช้เดินทางไกลแบบนี้ได้ แต่มันก็จะมีเงื่อนไข เช่น บรรทุกสัมภาระได้เยอะไหม ถ้าไม่เยอะก็อาจจะไปได้สั้นๆ มันก็มีเงื่อนไขเท่าที่รถที่เราเลือกไปจะไปได้
ทำไมถึงกล้าที่จะออกจากงานมาปั่นจักรยาน
เคยอ่านแนวคิดว่าทำงาน 7 ปีหยุด 1 ปี แล้วเรารู้สึกว่าเราก็ทำงานมาตลอดเหมือนกัน หลังจากเรียนจบมาก็ทำงานมาตลอดไม่ได้หยุด อันนี้ก็เหมือนได้ไปพักผ่อนหนึ่งปี แล้วก็ได้ไปทำสิ่งที่อยากทำด้วย
ต้องเตรียมตัวนานก่อนจะไป มีช่วงอยากล้มเลิกบ้างไหม
ตอบได้เลยว่าไม่มี ไม่มีช่วงที่อยากหยุดเลย มันเป็นการตัดสินใจว่าเราจะทำแล้ว คงต้องเรียกว่าเป็นสิ่งที่เราชอบ เป็นสไตล์ที่เราชอบ เราเลยตัดสินใจที่จะทำ เลยไม่มีคำถามว่าเราจะไปทำไมอีกแล้ว มีแค่ว่าจะไปหรือไม่ไปแค่นั้นเลย
นอกจากเรื่องเงิน เตรียมตัวอย่างไรอีกบ้าง
ก็ต้องมีเตรียมจักรยาน สัมภาระต่างๆ แล้วก็เตรียมร่างกาย ซึ่งก็คือการ ปั่นจักรยาน ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว มันเป็นการเตรียมร่างกายไปในตัว เรื่องจักรยานก็ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญว่าจะต้องเตรียมยังไง สัมภาระก็มาลองดูตอนนั้น เอาจริงๆ ถ้ายังไม่ไปก็ไม่รู้ว่าจะต้องเอาอะไรไป ได้แต่คิดว่าเอาไปพอไหม ก็ต้องลองไปเรื่อยๆ อีกอย่างที่สำคัญคือ การตัดสินใจว่าจะไปที่ไหนก่อน สิ่งที่อยู่ในแพลนตอนนั้นคือจะไปจังหวัดไหนก่อนหลัง แต่จะไปทางไหน ผ่านอำเภอไหนบ้าง ยังไม่ชัดเจนสามารถเปลี่ยนได้ ถ้าเราเห็นในแผนที่ว่ามีจุดนี้ๆ น่าสนใจ ก็ไปต่อเลย อย่างตอนไปตราด ก็รู้สึกว่าดูแผนที่แล้วมันน่าสนใจจังเลย มันมีช่องแคบอยู่ตรงนี้นะ พื้นที่ตรงนั้นจะเป็นยังไง ก็เลยตัดสินใจว่าต้องไปถึงตรงนั้นให้ได้ อย่างดอยอินทนนท์ที่ใครๆ ก็ไปกันแล้ว แต่ผมยังไม่เคยไป ไปถึงเชียงใหม่ก็ต้องไปจุดนี้ หรือปายเคยเห็นแล้วก็อยากไป ใต้ก็เบตงอะไรแบบนี้ จริงๆ มีจุดน่าสนใจหลายจุดในประเทศเลยที่อยากจะไป
เลือกที่พักอย่างไรให้พอเพียงกับแผนการเงิน
ที่พักหลักที่ใช้ตอนนั้นคือ ตำรวจทางหลวง กับ อุทยานแห่งชาติ ตำรวจทางหลวงเขามีนโยบายสำหรับนักเดินทางให้ไปพักเหนื่อยแล้วตอนเช้าก็เดินทางต่อ จักรยานเขาก็ต้อนรับอยู่แล้ว เป็นนโยบายบริการประชาชน อุทยานแห่งชาติก็ให้กางเต็นท์ได้ มีค่ากางเต็นท์ไม่กี่สิบบาท ซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวด้วยเลยน่าไปนอนอยู่แล้ว แต่ก็จะมีบางคืนที่หาไม่ได้เลยจริงๆ ก็มีสถานีตำรวจ หรือวัดบ้าง แต่ก็ต้องขออนุญาตเขาก่อน ถ้าเขาสะดวกให้เรากางเต็นท์ได้ก็โอเค ไม่ได้จริงๆ ก็โรงแรม เดี๋ยวนี้มีโรงแรมหรือโฮสเทลเล็กๆ อยู่เยอะ
เตรียมการเรื่องอาหารอย่างไร
ผมกินปกติเลย สามมื้อ ไม่ได้กินอะไรเป็นพิเศษ ตอนปั่นถ้าหิวก็จะแวะซื้อขนมปัง อันนี้ผมไม่แน่ใจว่านักกีฬาเขาต้องกินยังไงนะ อาจจะเป็นเพราะตัวเองใช้จักรยานตั้งแต่ในเมืองอยู่แล้ว เลยจะรู้สึกว่าการไปปั่นข้างนอกก็เป็นแค่การเปลี่ยนสถานที่ในการปั่นเฉยๆ แค่นั้นเลยจริงๆ ก็รู้สึกว่าชีวิตปกติเหมือนเดิม จะมีนิดหน่อยช่วงขึ้นเขาอาจจะต้องเตรียมอาหารไปเผื่อหมดแรงเร็วหน่อย นอกจากนั้นก็เหมือนใช้ชีวิตปกติ
คำถามนี้ไม่ถามไม่ได้ ทำไมต้องใส่สูทสีน้ำเงินตลอดการปั่น 1 ปี
เป็นความชอบส่วนตัว ไม่ได้มีอะไร เหมือนกับว่ามันเป็นการเดินทางของเราเอง เป็นการท่องเที่ยวด้วย เป็นการใช้ชีวิตในสไตล์เรามากกว่า ไม่ได้จะต้องไปลงแข่งเลยรู้สึกว่ามันไปได้ในแบบที่เราต้องการ ออกแบบตามที่เราชอบ ไม่ได้ต้องใส่ชุดปั่น ชุดแบบนี้ก็มีอีก 2 ตัวไว้สลับกัน แล้วก็ซักตามโอกาสที่จะซักได้ แต่ก็จะเป็นชุดประมานนี้ อีกอย่าง สีน้ำเงิน เป็นสีที่ชอบ จริงๆ ก็ได้รับอิทธิพลจากหนังสือของ Kondo Marie (คนโด มาริเอะ) เขาให้เลือกอะไรที่ตอบโจทย์กับเรา เมื่อก่อนก็อะไรก็ได้ หลายรูปแบบหลากสีไปหมด พอได้อ่านก็รู้สึกว่าควรทำให้ชีวิตง่ายลงหน่อย มาดูว่าสีอะไรที่เราชอบที่สุดก็โฟกัสกับสีนั้น สีอื่นก็เป็นเปอร์เซ็นต์น้อยลง เลยจบที่สีน้ำเงิน
ชุดสูทเต็มตัวเป็นอุปสรรคในการปั่นบ้างไหม
จริงๆ ก็มองได้หลายอย่าง ถ้าเทียบกัน ชุดปั่นก็คงคล่องตัวกว่า จริงๆ ชุดไหนก็ปั่นได้ ถ้าไม่ได้ถึงขนาดทำให้เคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ ข้อดีของชุดนี้คือหน้าหนาวก็กันหนาวได้ หน้าร้อนก็กันแดดได้ ก็เป็นความชอบมากกว่า ไม่ได้มีการสื่ออะไร
เห็นวันแรกที่ออกเดินตรงกับวันเกิดเลย
เริ่มปั่นวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 2018 วันเกิดคือวันที่ 31 สิงหาคมเหมือนเป็นการเริ่มต้นใหม่ จริงๆ ก็สิ้นเดือนด้วย เราบอกที่ทำงานว่าเราจะหยุด ก็เป็นฤกษ์ที่ลงตัวของเรา
มีเพื่อนร่วมทางบ้างไหม
ไปคนเดียวครับ แต่ก็มีไปเจอเพื่อนร่วมทางระหว่างทางบ้าง ซึ่งเขาก็ไม่ได้ไปกับเราด้วย แต่ก็เจอกัน คุยกัน ให้คำแนะนำกัน มีทั้งคนที่ต้อนรับเรา ให้ที่นอนบ้าง เลี้ยงข้าวบ้าง มีน้ำใจระหว่างทาง เป็นสิ่งที่เราก็ไม่ได้คาดหวัง แต่เขาหยิบยื่นให้ก็ขอบคุณและยินดีมากครับ แต่จริงๆ ช่วงหลังๆ ที่ไปภาคใต้มีพี่คนหนึ่งอยากไปกับเราด้วย เขาไม่เคยปั่นทางไกล เป็นช่วงหนึ่งสั้นๆ ที่มีเพื่อนร่วมทางไปด้วยคนหนึ่ง ตั้งแต่ชุมพรขึ้นมาที่กาญจนบุรีซึ่งพี่เขามีเพื่อนอยู่ตามทาง เราก็ได้รู้จักเพื่อนเขาด้วย มีไปค้างบ้านเพื่อนเขาบ้างอะไรแบบนี้ เป็นช่วงสั้นๆ ที่มีเพื่อนร่วมทาง
ออกไปปั่น 1 ปี ต้องเจอทุกฤดู รับมืออย่างไร
จริงๆ ต้องเตรียมแค่ฤดูฝน ฤดูอื่นเมืองไทยไม่ได้หนักหนาเกินไปครับ มีชุดก็พอแล้ว ซึ่งชุดก็กันหนาวได้อยู่แล้ว หน้าร้อนก็อาจจะถอดออกหน่อย มีฤดูฝนที่ต้องตัดสินใจว่าฝนตกเท่านี้ถึงระดับที่รุนแรงต้องหยุดหรือเปล่า หรือว่าลุยไปได้ ซึ่งถ้าจะลุยก็มีเสื้อกันฝน แต่ก็ต้องตัดสินใจว่าจะลุยเพราะอะไร ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะหยุด แล้วให้ฝนหยุดไปเลยหรือซาที่สุดถึงไปปั่นต่อก็จะดีกว่า
ดูแลสุขภาพอย่างไร
เรื่องสุขภาพเป็นปัจจัยที่ผมคำนึงไว้แล้วว่า ต้องไม่ป่วย ไม่อย่างนั้นเราไปไม่ได้แน่ สำคัญทั้งเรื่องการกินการนอน ต้องนอนให้พอ ผมใช้หลักง่ายๆ แค่ “นอนแล้วตื่นขึ้นมาเอง” อันนั้นคือร่างกายเรียกตื่นขึ้นมาแล้ว และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือผักผลไม้ทุกมื้อ ทุกวัน ให้การขับถ่ายและระบบร่างกายโอเค ถ้าเกิดไปกินอะไรแล้วรู้สึกปวดท้อง ท้องเสีย อาการเริ่มมาก็จะกินยาไว้ก่อน ยาก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องพกติดตัวไปสักเล็กน้อย
จักรยานมีปัญหาบ้างหรือเปล่า
มีครับ หลายครั้งด้วย ที่พบบ่อยสุดคือยางรั่ว ซึ่งก็ต้องเปลี่ยนเอง ผมพอมีพื้นฐานเพราะเราไม่รู้ว่าจะไปรั่วที่ไหนอยู่แล้ว ปัญหาหนักสุดครั้งแรกที่เคยเจอคือไปรั่วที่สระแก้ว ตรงถ้ำเพชรโพธิ์ทอง อำเภอคลองหาด ก่อนจะถึงอรัญประเทศ แล้วตอนนั้นไม่มียาง เป็นยางนอกที่รั่ว ต้องเปลี่ยนเท่านั้น แต่จังหวะโชคดีคือไปยืนรอที่ถนนแล้วมีนักปั่นจักรยานผ่านมา เขาอาสาเอารถมารับไปที่บ้านเขาก่อน ดูว่าจะเปลี่ยนได้ไหมแต่สุดท้ายไม่ได้เพราะยางของผมเป็นไซซ์ที่ต้องไปร้านอะไหล่ในเมืองถึงจะมีขาย
อันนี้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ควรคำนึงว่าเราใช้อุปกรณ์ที่มีอะไหล่ไซซ์มาตรฐานที่หาได้ง่ายทั้งอำเภอเล็กอำเภอใหญ่หรือเปล่า ถ้าเราใช้อันที่ต้องเป็นร้านเฉพาะเท่านั้นถึงจะมีก็ยากหน่อย แล้วของผมดันไปใช้ยางที่ทั่วไปไม่ค่อยมี แต่พี่เขาก็ช่วยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้คือตัดยางในเอาไปรองให้ใช้ปั่นไปได้ชั่วคราวก่อน จนผมไปถึงอรัญประเทศถึงได้อะไหล่ยางใหม่มาเปลี่ยน จากนั้นก็เลยต้องพกยางนอกไปด้วยเพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก เลยต้องเตรียมการที่จะเปลี่ยนได้
มีที่หนักที่สุดอีกครั้งคือที่เชียงคาน สิ่งที่เกิดขึ้นคือตะแกรงหลังซึ่งเอาไว้บรรทุกสัมภาระทำให้ต้องรับน้ำหนักเยอะ ทำให้ตัวยึดมันหักออกมา เป็นเพราะรับน้ำหนักไม่ไหวแล้วจริงๆ ตอนปั่นก็รู้สึกว่าข้างหลังมันโยกผิดปกติ แต่ไม่รู้สาเหตุ ได้แต่รู้สึกว่ามันโอนเอน คิดว่าเป็นเพราะน้ำหนักเฉยๆ เลยไม่ได้อะไร จนมันหักแล้วตะแกรงโย้ออกมา ตอนนั้นโชคดีว่าไปถึงเชียงคานแล้ว และมีอยู่ร้านหนึ่งที่รับซ่อม แต่ก็ทำให้ต้องหยุดที่เชียงคานเพิ่มอีกหนึ่งวันเพื่อให้ทางร้านซ่อมให้ ซึ่งจากเชียงคานขึ้นเหนือลงใต้จนถึงตอนนี้ตะแกรงหลังก็ยังใช้ได้อยู่ พี่เขาเก่งมาก
เจออุบัติเหตุบ้างไหม
ครั้งเดียว อันนั้นเป็นผมเองที่ประมาท คือเราตั้งใจจะไปให้ถึงที่หนึ่งซึ่งมันค่อนข้างไกล และตอนนั้นดึกแล้ว ผมเผอิญไปอยู่ถนนเส้นหนึ่งที่กำลังจะขยายเป็น 4 เลน ทำให้มีการก่อสร้างอยู่ซ้ายมือ ทางที่เราขี่อยู่ก็จะขรุขระ เรารีบอยู่ แล้วดันตัดสินใจผิด เราเห็นมอเตอร์ไซค์ขี่ออกไปซะไกล เลยคิดว่า เห้ย ถนนตรงนี้มันปิดหรือเปล่า เลยขี่ออกไปตามมอเตอร์ไซค์ แล้วกลายเป็นจุดนั้น รถยังขับกันปกติ เราชะล่าใจว่าไปได้เพราะมอเตอร์ไซค์ยังไปเลย ขี่ไปสักพักก็รู้สึกว่าเราผิดแล้ว กว่าจะนึกได้ว่าเราอยู่ในจุดที่ไม่ควรอยู่รถยนต์ข้างหลังก็ขับมาแล้ว แต่คนขับเขามีสติมาก เขาเบี่ยงหลบผมไป รถเขาก็ปัดอยู่หน่อยๆ แต่ควบคุมได้ ต่างคนต่างไม่เป็นอะไร ต้องขอบคุณพี่เขาที่มีสติ ตอนนั้นก็ได้แต่ขอโทษ เป็นบทเรียนมาก
จริงๆ ทุกครั้งก่อนไปจะคิดว่ายังไงต้องปลอดภัยที่สุด เกิดอุบัติเหตุไม่ได้เพราะถ้าเกิดคือเราไม่ได้ไปต่อแน่นอน ไม่ว่าจะแรงหรือไม่แรง กับเราหรือคนอื่น เพราะเราก็ต้องจัดการรับผิดชอบ ถ้ามันเกิดขึ้น จุดที่ไม่แน่ใจต้องหยุดแล้วเช็กให้ชัวร์ก่อน ต้องไม่ทึกทักเอาเองว่าทางนี้ไปได้
อีกเรื่องหนึ่งที่คนส่วนใหญ่บอกกันคือ ถนนเมืองไทยไม่ควร ปั่นจักรยาน ซึ่งก็ถูกที่เขาบอกคนไทยขี่เร็วขับเร็ว เป็นเรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่ผมรู้สึกว่าถ้าทั้งจักรยาน ทั้งรถอยู่ในจุดที่ตัวเองควรอยู่ก็ไปได้ จักรยานกับมอเตอร์ไซค์ก็ต้องอยู่ชิดซ้ายเหมือนกัน ถ้าระวังไม่ไปกินเลนกันมันก็ไปได้ อย่างที่ผ่านมารถบรรทุกเขาก็อยู่ของเขา เราก็ไปของเรา ก็ไปได้นะ แต่เมืองนอกหลายประเทศก็มีเลนจักรยานให้เฉพาะ อันนั้นก็จะปลอดภัยชัวร์เพราะไม่มีใครข้ามแน่ๆ อยู่แล้ว แต่เมืองไทยสิ่งที่ควรทำคือการเลือกไปเส้นที่ดูแล้วปลอดภัย
จากที่ปั่นมาทางไหนที่โหดที่สุด
จริงๆ ต้องบอกว่าโหดที่สุดแต่น่าไปที่สุด คือโหดแต่ควรค่าที่จะไป คือเส้นจากจังหวัดตากไปแม่ฮ่องสอน มันเป็นทางขึ้นเขาที่โหดมาก แต่บรรยากาศธรรมชาติเลยเหมือนร่างกายเหนื่อยแต่ใจฟูลฟิลจริงๆ ก็มีแบบนี้หลายจุดนะครับ ก็รสนิยมแล้วแต่ชอบ ซึ่งถ้าให้ผมแนะนำอยากให้ไปคือ อ.สังคม อ.ปากชม อ.เชียงคาน อันนี้จริงๆ แล้วใครๆ ก็ไปนะ แต่แม้ว่าผมจะผ่านภูเขาจังหวัดไหนมาแล้ว จำได้เลยว่าจังหวะแรกที่ไปถึงเขาที่เชียงคาน มันเต็มอิ่มในใจขึ้นมายังไงไม่รู้ (น้ำเสียงตื่นเต้น) เหมือนไม่เคยเห็นมาก่อน ตั้งแต่ อ.เชียงคานไปถึง อ.ท่าลี่ ยังมีแนวภูเขาให้ได้รู้สึกแบบนี้ตลอด ต้องไปเจอด้วยตัวเองถึงจะรู้สึกว่ามันช่างสวยงามจังเลยธรรมชาติตรงนี้ อันนี้คือที่สุดจริงๆ สำหรับผมที่ควรไป แต่ก็มีที่สุดหลายแบบ
สิ่งที่คิดไว้ก่อนปั่น กับระหว่างปั่นเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
จริงๆ ผมเห็นภาพตอนจบไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า สุดท้ายจะไม่ต่างกันเท่าไรเราดีใจนะที่เราได้ทำสำเร็จอย่างที่ตั้งใจแล้ว แต่ก็รู้สึกว่าจะประมานนี้แหละ เหมือนบทเรียนบทหนึ่งในชีวิต ซึ่งเราก็ต้อง Go on ในพาร์ตอื่นด้านอื่นต่อไป ไม่ได้รู้สึกวิเศษว่าฉันเจ๋งกว่าใครถึงได้ไปทำอยู่แล้ว อย่างที่บอกว่ามันคือการตัดสินใจทำหรือไม่ทำ ซึ่งเราทำ มันคือการเลือกทำเท่านั้นเองครับ เป็นเรื่องธรรมดาเรื่องหนึ่งในชีวิตเฉยๆ ประมานนั้น
นิยามการเดินทาง 345 วันนี้ว่าอย่างไร
คนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าเป็นแรงบันดาลใจ แต่ถ้าถามผมตอนนี้แรงบันดาลใจมันเป็นแค่ส่วนหนึ่ง คือแรงบันดาลใจของผมมันเริ่มขึ้นเมื่อนานมาแล้ว ตอนที่เราได้เห็นเรื่องราวของใครสักคนที่ไปรอบโลก หรือ ปั่นจักรยาน กลับบ้าน มันจุดประกายแรงบันดาลใจของเรา ณ ตอนนั้น แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการตัดสินใจเลือกว่าจะทำหรือไม่ทำ
แรงบันดาลใจมันเป็นแค่โมเมนต์หนึ่งถ้าคิดว่าต้องไปปั่นให้ได้แล้วไม่ได้ลงมือทำมันก็ไม่เกิดขึ้นใช่ไหมครับ มันไม่ได้อยู่ที่แรงบันดาลใจเป็นตัวตัดสินใจด้วย มันอยู่ที่เราเลือกให้เป็นสิ่งที่เราคิดไว้อยู่แค่นั้นหรือจะให้มันเกิดขึ้นจริง ซึ่งผมคิดตั้งแต่แรกเลยนะครับว่าถ้าเป็นแรงบันดาลใจมันจะมีแต่เรื่องดีๆ หรือเปล่า แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่เราเจอจะมีทั้งทุกข์ยาก แฮปปี้ปนเปกันไปอยู่แล้ว ไม่ต่างจากการใช้ชีวิตทั่วไป
มาติดตามกันว่าเขาจะสวมสูทสีน้ำเงิน พร้อมพาจักรยานคู่ใจไปที่ไหนอีก หรือลองออกแบบการเดินทางในแบบของเราดูก็ได้ อย่างที่ฟิล์มบอกว่า “ถ้าเราเจอในสิ่งที่ใจเราต้องการแล้วนั้น เราจะทำสิ่งนั้น เพื่อสิ่งนั้น”
Fact File
ติดตามการเดินทางของฟิล์ม พิชเญศ ได้ที่ Facebook: The Way I Bike