หาคู่ออนไลน์ และตู้สลอตความรักที่ไม่จำกัดแค่ “พื้นที่”
- ความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์เคยเป็นหนึ่งในเหตุผลของการสมรส โดยปี ค.ศ. 1932 ได้มีการสำรวจคู่สมรส 5,000 คู่ในฟิลาเดลเฟียพบว่า 1 ใน 3 ของคู่สมรสนั้น ก่อนที่พวกเขาจะแต่งงานกันพวกเขาอาศัยอยู่ห่างกันเพียงในระยะ 5 ช่วงตึก
- ในปี ค.ศ. 2005-2012 มีการสำรวจพบว่าคู่แต่งงาน 1 ใน 3 ของอเมริกามีการพบกันและสร้างสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ หาคู่ออนไลน์
หาคู่ออนไลน์ คำนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่แล้วสำหรับปัจจุบัน ยิ่งในช่วงกักตัวโควิด-19 นั้นได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า หาคู่ออนไลน์ รักออนไลน์ เป็นหนึ่งในวิถีชีวิตยุคนี้แล้วจริงๆ โดยเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา แอปพลิเคชันหาคู่ออนไลน์ อย่างทินเดอร์ มีผู้เข้ามา swipe หรือปัดซ้าย ปัดขวา มากถึง 3 พันล้านครั้งทั่วโลก ซึ่งเป็นตัวเลขรายวันที่สูงที่สุดเท่าที่ทินเดอร์เคยมีมา อีกทั้งบริษัทสปีดเดท คิวปิดออนไลน์ต่างก็ยอมรับว่ามีการใช้วีดีโอคอลเพื่อเดทกันมากยิ่งขึ้นในช่วงกักตัว ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้กำลังจะดีไซน์นิยามความรักในแง่ “พื้นที่” ที่เคยเชื่อกันมาให้เปลี่ยนไป
“พื้นที่” นี้มีรัก
“พบกันครั้งแรกที่ไหน”
นี่คือประโยคคำถามสุดคลาสสิกที่คุณจะเจอะเจอได้ในทุกงานแต่งงาน งานพาแฟนไปเจอเพื่อน หรือแม้กระทั่งวันแรกของการพาแฟนไปพบพ่อแม่ ญาติพี่น้อง แน่ละว่าเพราะที่ผ่านๆ มานิยามความรักและการสร้างความสัมพันธ์ย่อมมีเรื่องของสถานที่ (Place) เป็นพื้นที่ (Space)หลักของการเล่าเรื่องราวที่จะดำเนินต่อไป
“อ้อ! เราพบกันในงานวันเลี้ยงรุ่นโรงเรียน แล้วก็ประทับใจ และก็แลกเบอร์โทร. คุยกันมาเรื่อยๆ ไปดูหนัง กินข้าว”
เหตุผลหนึ่งที่เรื่องความสัมพันธ์และความรักถูกผูกติดกับสถานที่มาแต่ไหนแต่ไร ก็เพราะที่ผ่านมาพื้นที่ทางกายภาพเป็นพื้นที่หลักในชีวิตของผู้คนและสังคมไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรม ดูหนังกินอาหาร ออกกำลังกายเคยมีงานเก็บข้อมูลสถิติความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ของคู่สมรส 5,000 คู่ในฟิลาเดลเฟียช่วงปี ค.ศ. 1932 พบว่า 1 ใน 3 ของคู่สมรสเป็นคู่ที่อยู่ห่างกันเพียงในระยะเพียง 5 ช่วงตึก และ 1 ใน 8 ของคู่สมรสอาศัยอยู่ในอาคารหลังเดียวกันเลยด้วยซ้ำตรงข้ามกับในปัจจุบันที่พื้นที่ทางกายภาพถูกแปรเปลี่ยนเป็น Cyber Space รักออนไลน์ การคบหาดูใจกันข้ามเมืองหรือข้ามรัฐข้ามซีกโลกจึงกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา มิหนำซ้ำบางครั้งการมีแฟนห่างออกไปไม่กี่ช่วงตึกดูจะกลายเป็นหนังโรแมนติกที่หลายคนอยากพบเจอ
เมื่อพื้นที่ที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกันเปลี่ยนไปสู่ Cyber Space พื้นที่ที่ยึดโยงผู้คนในสังคมเข้าไว้ด้วยกันถูกแทนที่ด้วยเครือข่ายออนไลน์ (Social Network) ดังนั้นประโยคคำตอบในงานแต่งงานอาจไม่ใช่สถานที่อีกต่อไป แต่การปัดซ้าย ปัดขวาเจอกันใน Tinder ความประทับใจใน 5 นาทีของ Speed Dating อาจจะกลายมาเป็นคำตอบสุดซึ้งที่เราจะได้ยินนับจากนี้ ยืนยันได้จากงานศึกษาของ John Cacioppoนักจิตวิทยามหาวิทยาลัยชิคาโก ซึ่งได้ระบุไว้ว่าในปี ค.ศ. 2005-2012 คู่แต่งงาน 1 ใน 3 ของสหรัฐอเมริกาพบกันผ่านเว็บไซต์หาคู่ออนไลน์ มิหนำซ้ำยอดการใช้บริการความรักออกนไลน์ของทุกสำนักคิวปิดก็พุ่งขึ้นเป็นเท่าตัวหลังจากปลดล็อคพื้นที่ให้บริการที่ไม่จำกัดประเทศ
และนั่นก็แปลได้ว่าวิธีการหาคู่ออนไลน์เป็นวิธีที่นิยมมากกว่าการรู้จักกันในสถานที่เชิงกายภาพเช่น สถานทำงาน รู้จักผ่านเพื่อนหรือในรั้วโรงเรียน ซึ่งนี่เป็นการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ครั้งใหญ่โดยอิทธิพล Digital Disruption อย่างเห็นได้ชัด พร้อมกับคำถามที่ชวนสงสัยว่าเมื่อเงื่อนไขเชิงพื้นที่เปลี่ยนไป นิยามความรักของเราจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่?
ความรักในยุค Digital Disruption
“คงจะมีรักจริงรออยู่ที่ดินแดนใดสักแห่ง”
นิยามความรักยุค Digital Disruption อาจจะทำให้ความขลังของเพลงดินแดนแห่งความรัก (Crescendo) หมดลงไป เพราะความรักในโลกออนไลน์ไม่ต้องรอการเดินทางหรือการออกตามหาคนที่มีรสนิยม ความชอบที่ใกล้เคียงกันให้มาแมตช์กัน แต่คุณสามารถเลือกรูปแบบของความรักได้มากมายจากเว็บไซต์หรือไม่ก็แอปพลิเคชันมากมายที่มีประชากรคนโสดทั้งโลกมารวมตัวกัน
การพบเจอในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันหาคู่ที่มีสิทธิประโยชน์ให้เลือกอยู่เยอะมากในตอนนี้ ทำให้บรรยากาศความรักแตกต่างกับการพบปะซึ่งหน้าในสถานศึกษา สำนักงาน งานเลี้ยง อย่างสิ้นเชิง เพราะในโลกออนไลน์เรามีอิสระและสามารถเป็นผู้มอง เป็นผู้เลือกเช่นในกรณีของแอปพลิเคชันหาคู่ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากอย่าง Tinder
แอปที่ใช้สัญลักษณ์ลูกไฟนี้ทำงานโดยผู้ใช้จะต้องสร้างโปรไฟล์โดยอัปโหลดรูปภาพพร้อมกรอกประวัติหรือข้อมูลอย่างย่อและเผยแพร่ในเครือข่ายของแอปพลิเคชันหลังจากนั้นผู้ใช้ก็จะสามารถระบุระยะและมองเห็นโพรไฟล์ของผู้ใช้งานคนอื่นและค่อยเลือกว่าจะปัดขวาอันหมายถึงเราอยากจะพบกับอีกฝ่ายซึ่งอีกฝ่ายที่ไม่รู้ว่าเราปัดจะได้พบกับเราได้นั้นก็ต่อเมื่ออีกฝ่ายปัดขวาเหมือนกันเป็นอันยอมรับการติดต่อเกิดการจับคู่และสามารถสนทนาสานสัมพันธ์กันต่อไป
การที่ต้องปัดคัดเลือกขวา “เอา” ซ้าย “ไม่เอา” คลับคล้ายกับการเลือกไพ่ระหว่างที่เราเลือกเราก็ต้องลุ้นว่าคนที่เราเลือกจะเลือกเรากลับมาไหมสอดคล้องกับทัศนะของ Tristan Harris ที่ว่าด้วยการเปรียบเทียบระหว่างสังคมออนไลน์กับตู้สล็อตการหยิบโทรศัพท์มือถือที่เชื่อมต่อระบบออนไลน์ไว้แต่ละทีเป็นการลุ้นเสมอว่าจะได้อะไร
การเข้าสู่สังคมออนไลน์มีแรงกระตุ้นปฏิกิริยาของผู้ใช้ผ่านความอยากรู้ในสิ่งที่คาดคะเนได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นการกดไลก์ กดแชร์ การติดแท็ก ความรักออนไลน์ก็เช่นกัน การปัดขวาหาคู่เสมือนเกมตู้สลอตในแง่ของการลุ้นผลลัพธ์ของบางอย่างเช่น “เราชอบคนนี้จังเลยเขาจะปัดขวาเรากลับไหมนะ” แต่หากเขาไม่ปัดก็คงไม่เป็นอะไรเพราะไพ่ของ Tinder มีคนผู้ใช้เลือกมากมายจนมีสิทธิที่จะเจอคนปัดกลับได้หากชอบในโพรไฟล์ของกันและกัน หรืออย่างแอปเดตออนไลน์จำพวก “Speed Dating” (สปีด เดตติ้ง) ก็เป็นการลุ้นผลลัพธ์จากการทำความรู้จักคนแปลกหน้าในเพียง 5 นาที ซึ่งอาจจะเป็น 5 นาทีที่เปลี่ยนให้ชีวิตเราไม่โสดอีกต่อไป
Slavoj Zizek นักปรัชญาร่วมสมัยที่สนใจในปรากฏการณ์สังคมก็ได้วิเคราะห์การพบปะออนไลน์ไว้อย่างน่าสนใจในแง่ของการที่ผู้คนมองเห็นกันผ่านภาพและข้อมูลอันเป็น “ตัวแทนบุคคล” นั้นมีผลทำให้ผู้คนเริ่มสร้างปัญหาอย่างอัตโนมัตินั่นคือ“การจัดการตัวตนและการสร้างตัวตนเป็นสินค้า” (Self-commodification and self-manipulation)
Zizek อธิบายเพิ่มว่าปัญหานี้เกิดจากการที่บุคคลมีความคิดที่จะต้องเสนอ “ภาพแทน” ในสิ่งที่คิดว่าอยากให้ผู้คนมองเห็นเราอย่างไร หากขยายความก็คือแทนที่แต่ละคนจะแสดงตัวตนของตัวเองจริงๆ กลับมุ่งไปที่การสร้างเพื่อรองรับผลมากกว่า เป็นกระบวนการสร้างตัวตนที่ต้องการทำให้คนอื่นประทับใจและปัดขวาเลือกเรา ทำให้เราตกอยู่ภายในกรอบคิดที่เราต้อง “ขายได้” อย่างไม่รู้ตัว จนเราแทบไม่รู้เลยว่าสังคมรักออนไลน์นั้นมีความแท้จริงขนาดไหนทั้งตัวเราเองและคนอื่นๆ ที่กำลังใช้งาน ในเมื่อภาพและประวัติย่อที่เห็นถูกคัดเลือกมาขายกันและกันเอง
คำถามเรื่องตัวตนนี้เกี่ยวโยงไปถึงสัมพันธ์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากเราทั้งคู่คลิกกัน สุดท้ายแล้วการค้นพบดินแดนความรักที่เราค้นหานี้ การหาคู่ออนไลน์ สิ่งที่ได้จะกลายเป็นสินค้าที่แต่ละคนสร้างมาขายให้เกิดความประทับใจหรือเปล่า และดินแดนนี้จะมีใครสักคนยืนอยู่ที่เราได้เห็นเขาในตัวตนที่เป็นจริงๆ หรือไม่ แล้วเราจะนิยามคำว่ารักในความหมายที่ซ่อนอยู่บนความสัมพันธ์ “ภาพแทน” แบบนี้อย่างไร
อ้างอิง
-Modern Romance by Aziz Ansari and Eric Klinenberg (ฉบับแปลเป็นภาษาไทยโดย สุนันทา วรรณสินธ์ สนพ.Open Worlds,2559)
-Digital Minimalism by Cal Newport (ฉบับแปลเป็นภาษาไทยโดย บุณยนุช ชมแป้น สนพ.Broccoli,2563)
–https://bigthink.com/videos/online-dating-and-synthetic-sex