กลยุทธ์สู่ “ความสำเร็จแบบไอดอล” ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด
ทุกวันนี้ หลายคนมีความใฝ่ฝันที่อยากจะเป็นไอดอลคนดัง เพราะเข้าใจว่าเป็นกันได้ง่าย ๆ ไม่ต้องลงทุนลงแรงมากมาย นั่นเป็นเพราะคนเหล่านั้นมองเพียง “จุดเริ่มต้น” และ “ความสำเร็จ” เท่านั้น แต่ไม่ได้มองขั้นตอนและกระบวนการระหว่างทาง ซึ่งไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบแน่นอน
อย่างอาชีพ YouTuber, Influencer หรือเน็ตไอดอล ที่กำลังกลายเป็นเทรนด์อาชีพในฝันของเด็กไทย เพราะเห็นตัวอย่างว่าแค่พูดหน้ากล้องได้ ก็มีทั้งเงินและชื่อเสียง แต่ไม่ทันได้คิดว่าเป็นว่าอาจจะไม่ยั่งยืน เนื่องจากขาดความรู้แบบ Know-how หรือความรู้เชิงขั้นตอน (Procedural knowledge) ซึ่งเกี่ยวกับลำดับขั้นตอนในการทำงานหนึ่ง ๆ Know-how แตกต่างจากความรู้ทั่วไป เพราะสามารถนำมาใช้สำหรับต่อยอดทำงานได้โดยตรง และใช้ในการแก้ปัญหาในการทำงานเป็นส่วนใหญ่
ดังนั้น การจะเป็นไอดอลไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ในเมื่อไม่มีความรู้เชิง Know-how หากหมดโอกาสก็ไปต่อได้ยาก แต่ก็ยังมีวิธีที่จะทำให้ยังไปต่อได้และยั่งยืนมากขึ้น
สร้างความน่าเชื่อถือ
เริ่มจากการพิสูจน์ให้ผู้อื่นเห็นว่าเราทำได้และทำได้ดีด้วย โดยใช้ความชอบและแรงบันดาลใจมาเป็นแรงผลักดัน ที่สำคัญคือเป็นตัวของตัวเอง และซื่อสัตย์ต่อตัวเอง จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ และทำให้ผู้อื่นศรัทธาในตัวเราได้ เพราะการฝืนทำอะไรที่ไม่ใช่ตัวเอง เราย่อมไม่สามารถที่จะทนทำได้นาน และสุดท้ายก็จะล้มเหลวไป
มี connection
connection ไม่ใช่สิ่งที่ต้องมีแต่ควรจะมี เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า connection เป็นบันไดที่ทำให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ง่ายขึ้น สร้างความได้เปรียบมากกว่าคนที่ไม่มี เพราะหลายต่อหลายครั้งที่การงานมาจากการแนะนำของคนที่เรารู้จัก หรืออย่างน้อยที่สุดก็ทำให้มีโอกาสและมีทางให้ไปต่อได้มากกว่าคนที่เริ่มต้นจากศูนย์
ตรงต่อเวลา
ไม่มีใครที่ชอบคนที่ทำงานแบบผัดวันประกันพรุ่งและไม่รักษาเวลา เนื่องจากในการทำงานทุกอย่างมีข้อจำกัดด้านเวลา เมื่อคนหนึ่งไม่รักษาเวลา ย่อมทำให้กระบวนการต่อจากนั้นต้องผิดแผนตามไปด้วย ยิ่งถ้าสัญญากันไว้แล้ว แต่เมื่อถึงเวลาต้องส่งงานกลับผิดคำพูด ก็ทำให้หมดความน่าเชื่อถือไปด้วย
มีความสม่ำเสมอ
ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เราต้องมีความสม่ำเสมอในการทำบางสิ่งบางอย่าง เพื่อเปลี่ยนความเคยชินเดิมเป็นนิสัยใหม่ เช่น ทฤษฎี 21 วัน ของ Dr. Maxwell Maltz ในหนังสือ Psycho-Cybernetics อธิบายถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนเรา ว่าการกระทำที่ต่อเนื่องอย่างน้อย 21 วัน จะตกผลึกเป็นนิสัยได้ และก็ควรจะทำต่อเนื่องไป
มีเพื่อนร่วมงานที่ดี
เพื่อนร่วมงานที่ดีจะช่วยสนับสนุนความฝันและการทำงานของเรา คอยช่วยเหลือ รวมถึงเป็นกำลังใจที่ดี เพราะในวันที่เราเกิดท้อแท้กับอุปสรรคขึ้นมา เพื่อคือคนที่ช่วยดึงเราให้ลุกขึ้นแล้วไปต่อได้ หากมีเพื่อนที่จริงใจด้วยแล้วจงรักษาไว้ให้ดี เพราะเขาจะกล้าบอกข้อเสียของเรา ให้เรานำไปพัฒนาและปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น
มีความพยายาม
“ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จก็อยู่ที่นั่น” ไม่ว่าจะต้องล้มแล้วต้องลุกอีกสักกี่ครั้ง ถ้าเรายังไม่ล้มเลิกความตั้งใจ ยังพยายามที่จะไปต่อ และพยายามให้มากกว่าเดิม ไม่ยอมแพ้ ไม่ท้อถอย ต้องมีสักวันที่ไปถึงเป้าหมาย ไม่ใช่ว่าพอเจออุปสรรคแล้วถอยทันทีโดยยังไม่คิดจะสู้ นี่ไม่ใช่วิถีของคนที่ประสบความสำเร็จ
สร้างงานที่มีคุณค่ามากกว่ามูลค่า
จริงอยู่ที่ว่าเราทำงานก็เพื่อแลกเงิน อย่างไรก็ตาม ต้องไม่เพียงแต่คำนึงว่าจะต้องขายได้เท่านั้น แต่ต้องมองถึงคุณค่าของผลงานที่เราสร้างด้วย ผลงานที่นำเสนอสิ่งดี ๆ เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น จะทำให้ทั้งผลงานชิ้นนั้นและผู้สร้างผลงานเป็นที่จดจำตลอดไป
พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
คนที่ไม่หยุดเรียนรู้จะนำหน้าคนอื่นอยู่ก้าวหนึ่ง (หรือมากกว่านั้น) เสมอ อีกทั้งในวงการมีเด็กเกิดใหม่ทุกวัน ถ้าเราไม่พัฒนาตัวเองก็จะถูกแทนที่ได้ง่าย ดังนั้น การจะประสบความสำเร็จได้ต้องหมั่นเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ ความชำนาญ และพัฒนาตัวเอง เพื่อให้มีความคิดและวิธีการใหม่ ๆ มาประยุกต์กับการทำงาน